Home Blog Page 97

AIS เลิศทุกมิติ คว้า 4 รางวัล Thailand Corporate Excellence Awards 2022

นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS เปิดเผยว่า AIS ได้รับ 2 รางวัลพระราชทาน และ 2 รางวัลใหญ่ จากเวที Thailand Corporate Excellence Awards 2022 จัดโดย สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย หรือ TMA ร่วมกับ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อมอบให้กับองค์กรที่มีความเป็นเลิศทางด้านการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ

รางวัลดังกล่าว สะท้อนให้เห็นความพร้อมขององค์กรในทุกมิติ ทั้งด้านบริหารจัดการ ด้านนวัตกรรม ด้านการตลาด และด้านการพัฒนาบุคลากร ถือเป็นความภูมิใจและพลังที่จะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลให้มีความแข็งแกร่งต่อไป

โดย AIS ได้รับรางวัล Thailand Corporate Excellence Awards 2022 ทั้งหมด 4 รางวัล นับเป็นองค์กรในกลุ่มอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยีและโทรคมนาคมแห่งเดียวที่ได้รับรางวัลความเป็นเลิศด้านการบริหารจัดการองค์กรในทุกมิติ ได้แก่

  • รางวัลพระราชทานในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รางวัล Thailand Corporate Excellence Awards 2022 สาขา ความเป็นเลิศด้านการพัฒนาการบริหารจัดการขององค์กร (Corporate Improvement Excellence) เป็นรางวัลที่มอบให้แก่องค์กรที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับนโยบายและเป้าหมายของ AIS ที่มุ่งดำเนินธุรกิจเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียกับองค์กรในทุกมิติ นับเป็นครั้งที่ 2 ที่ AIS สามารถคว้ารางวัลในสาขานี้ได้สำเร็จ หลังจากที่เคยได้รับรางวัลมาแล้วในปี 2020
  • รางวัลพระราชทานในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รางวัล Thailand Corporate Excellence Awards 2022 สาขา ความเป็นเลิศด้านการตลาด (Marketing Excellence) ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจในการนำศักยภาพของดิจิทัลโครงข่ายมาสร้างประสบการณ์ดิจิทัลให้กับคนไทย ด้วยสินค้า และบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลายของลูกค้า โดย AIS ได้รับรางวัลด้านการตลาดมาแล้วทั้งสิ้น 5 ครั้ง
  • รางวัล Thailand Corporate Excellence Awards 2022 สาขา ความเป็นเลิศด้านการจัดการทรัพยากรบุคคล (Human Resource Management Excellence) เป็นรางวัลที่สะท้อนให้เห็นถึงความพร้อมของงานบริหารงานทรัพยากรบุคคล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและเพิ่มขีดความสามารถของบุคลากรซึ่งเป็นหัวใจสำคัญต่อการขับเคลื่อนของธุรกิจ โดยมุ่งผลักดันให้พนักงานใช้ศักยภาพในการทำงานอย่างเต็มที่ พร้อมสนับสนุนการทำงานให้การดำเนินธุรกิจเกิดความคล่องตัว ทำให้ AIS สามารถคว้ารางวัลนี้มาได้แล้วถึง 5 ครั้ง
  • รางวัล Thailand Corporate Excellence Awards 2022 สาขา ความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมและการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ (Innovation Excellence) อีกหนึ่งรางวัลที่ AIS ได้รับมาแล้ว 4 ปี เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพด้านการนำนวัตกรรมด้านดิจิทัล เทคโนโลยีเพื่อพัฒนาทักษะบุคลากรให้มีความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงและการเติบโตของธุรกิจตามเป้าหมายในฐานะผู้นำด้านการให้บริการดิจิทัล

ทั้งนี้ เป็นการตอกย้ำถึงความสำเร็จด้านการบริหารจัดการองค์กรในทุกมิติ สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ที่กำลังเดินหน้าสู่การเป็นองค์กรโทรคมนาคมอัจฉริยะหรือ Cognitive Tech-Co

ตลาดหลักทรัพย์ฯ จับมือ บสส. ส่งเสริมความรู้ทางการเงินและการบริหารจัดการหนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ ธรัฐพร เตชะกิจขจร กรรมการผู้จัดการ บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (บสส.) หรือ SAM ลงนาม MOU ส่งเสริมความรู้ด้านการเงินและการบริหารจัดการหนี้ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงินแก่บุคลากร ผู้ใช้บริการ และประชาชนทั่วไปให้มีทักษะและความรู้ทางการเงิน การบริหารจัดการหนี้ในระดับพื้นฐานที่จำเป็น ส่งผลให้การวางแผนและบริหารจัดการทางการเงินในระดับครัวเรือนมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น

โดยโครงการนำร่องของความร่วมมือในเบื้องต้น ได้ร่วมกันพัฒนาเนื้อหาและผลิตสื่อ e-Learning เรื่องหนี้จำนวน 3 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตร “รู้ก่อนเป็นหนี้ จะได้ไม่รู้งี้ทีหลัง” หลักสูตร “เป็นหนี้แล้ว จัดการยังไง” หลักสูตร “แก้ปัญหาหนี้เสียยังไงดี” ซึ่งได้รับการสนับสนุนเนื้อหาจาก บจก.บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท และธนาคารแห่งประเทศไทย เผยแพร่ผ่านระบบ SET e-Learning Platform ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มเป้าหมายในวงกว้าง มุ่งหวังให้เกิดการเปลี่ยนทัศนคติและปรับพฤติกรรมทางการเงิน ให้มีค่าใช้จ่ายและหนี้สินลดลง เงินออมเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังร่วมกันพัฒนาเนื้อหาและเผยแพร่ความรู้ออนไลน์ผ่านคลิปสั้น การบรรยายให้ความรู้ และการสร้างพี่เลี้ยงการเงินอีกด้วย

ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจเรียนรู้ด้านการเงินและการบริหารจัดการหนี้ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.set.or.th/happymoney

ตลาดหลักทรัพย์ฯ จับมือ กบข. สร้าง “พี่เลี้ยงการเงิน”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) จัดอบรมโครงการ “Happy Money พี่เลี้ยงการเงิน” แก่สมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ โดยมี บุญเลิศ อันประเสริฐพร รองเลขาธิการ กลุ่มงานปฏิบัติการ รักษาการรองเลขาธิการกลุ่มงานสมาชิกสัมพันธ์ และสื่อสารองค์กร กบข. เปิดการอบรม และ เศรษฐพล ธรรมจินดา ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาความรู้ผู้ลงทุน ตลาดหลักทรัพย์ฯ ร่วมแนะนำเส้นทางการเรียนรู้สู่พี่เลี้ยงการเงิน เมื่อ 14 พ.ย. ที่ผ่านมา

โครงการพี่เลี้ยงการเงินจะได้รับการอบรมกับตลาดหลักทรัพย์ฯ ผ่าน SET e-Learning 2 หลักสูตร (10 ชั่วโมง) พร้อมการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมในกิจกรรม Workshop ฝึกปฏิบัติ (6 ชั่วโมง) และ Group Mentor (3 ชั่วโมง) เพื่อส่งเสริมความรู้ด้านการวางแผนการเงิน พัฒนาทักษะการให้คำแนะนำด้านการเงิน เป้าหมายเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่าย ให้เกิดการส่งต่อความรู้และสามารถขยายผลได้อย่างยั่งยืน องค์กรที่สนใจเข้าร่วมโครงการ “Happy Money พี่เลี้ยงการเงิน” ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.set.or.th/happymoney

“แม็คกรุ๊ป” คว้ารางวัลดีเด่น “องค์กรต้นแบบความยั่งยืนตลาดทุนไทยด้านสนับสนุนคนพิการ” ปี 2565

สะท้อนจุดยืนการส่งเสริม พัฒนาอาชีพและสร้างโอกาสแก่คนพิการในสังคม

นายเจมส์ ริชาร์ด อมตวิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แม็คกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ MC องค์กรธุรกิจค้าปลีก ประเภทสินค้าแฟชั่นและสินค้าไลฟ์สไตล์ “แม็คยีนส์” เข้ารับรางวัลดีเด่น “องค์กรต้นแบบความยั่งยืนตลาดทุนไทยด้านสนับสนุนคนพิการ” ปี 2565 โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) ร่วมกับกระทรวงแรงงาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กรมการจัดหางาน กรมส่งเสริมและพัฒนาชีวิตคนพิการ สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย และสมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย โดยได้รับเกียรติจาก นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธานและผู้มอบรางวัลในพิธี เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2565 ณ ห้องแกรนด์ บอลรูม โรงแรม แกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพฯ

สำหรับรางวัลดังกล่าว มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างแรงจูงใจให้สถานประกอบการที่มีความพร้อมและศักยภาพในภาคตลาดทุนจ้างงานคนพิการ พร้อมสนับสนุนอาชีพคนพิการให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งเพื่อเชิดชูเกียรติแก่หน่วยงานที่สนับสนุนส่งเสริมการจ้างงานและอาชีพคนพิการตามมาตรา 33 และมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 ทั้งยังช่วยพัฒนาอาชีพและสร้างโอกาสแก่คนพิการให้มีส่วนร่วมพร้อมลดความเหลื่อมล้ำได้อย่างเท่าเทียมและยั่งยืน

AIS ผนึกพันธมิตร SCG และ Huawei พัฒนาระบบขนส่งแบบไร้คนขับ สั่งการรถบรรทุกเครื่องยนต์ไฟฟ้าผ่าน 5G

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า SCG โดย Circular Plus by CPAC Green Solution จับมือ AIS 5G และ Huawei พร้อมนำความเชี่ยวชาญจาก 2 พันธมิตร Yutong และ Waytous ร่วมต่อยอดความสำเร็จจากต้นแบบ Forklift ขับเคลื่อนระยะไกล สู่นวัตกรรมการขนส่งไร้คนขับ ด้วยศักยภาพ 5G ขับเคลื่อนรถบรรทุกเครื่องยนต์ไฟฟ้าที่ใช้ในการบริหารวางแผนเส้นทางเดินรถขนส่งวัตถุดิบภายในพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรม SCG จ.สระบุรี สอดคล้องการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคตด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ควบคู่ไปพร้อมการสร้างสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืน

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ SCG กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้ ซึ่ง SCG โดย Circular Plus by CPAC Green Solution ผนึกกำลังความเชี่ยวชาญจาก เอไอเอส ผู้นำเทคโนโลยี 5G ในไทย หัวเหว่ย ผู้นำด้านเทคโนโลยี ICT รวมทั้งพันธมิตรจากประเทศจีน Yutong ผู้ให้บริการรถไฟฟ้า และ Waytous ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในระบบยานยนต์ไร้คนขับสำหรับอุตสาหกรรม ในการพัฒนาระบบขนส่งด้วยยานยนต์ไร้คนขับสำหรับอุตสาหกรรม เพื่อขยายขีดความสามารถของอุตสาหกรรม ทั้งด้านการขนส่ง (Logistics) ในการวางแผนเส้นทางการขนส่งวัตถุดิบเชื่อมต่อระหว่างคันได้อย่างต่อเนื่อง รวดเร็ว ด้านความปลอดภัย โดยเฉพาะในงานที่มีความเสี่ยง ตลอดจนด้านสิ่งแวดล้อม ด้วยการเปลี่ยนมาใช้ยานยนต์พลังงานไฟฟ้าและเทคโนโลยีวางแผนการเดินทางอย่างแม่นยำ จึงช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้กว่า 35% ต่อปีเมื่อเทียบกับระบบเดิม สอดคล้องกับเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2593 (Net Zero 2050) ตามแนวทาง ESG 4 Plus (มุ่ง Net Zero – Go Green – Lean เหลื่อมล้ำ – ย้ำร่วมมือ ภายใต้หลักเชื่อมั่น และโปร่งใส) ของเอสซีจี

นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอไอเอส กล่าวว่า ความร่วมมือในโครงการ 5G Smart Autonomous Vehicles Solutions for Sustainable Industrial Advancement ครั้งนี้ โดยเอไอเอสได้ทำงานร่วมกับ Huawei ในฐานะ Strategic Partner ติดตั้งเครือข่าย AIS 5G Private Network เพื่อให้สามารถควบคุมการกระจายสัญญาณไปยังบริเวณไซต์งานของ SCG ได้อย่างเฉพาะเจาะจง และใช้ขีดความสามารถของ 5G คือ ความเร็ว,ความหน่วงในระดับต่ำกว่า 20 ms และการเชื่อมต่อกับเซ็นเซอร์ได้ในปริมาณมาก เมื่อผสมผสานเข้ากับแพลตฟอร์มอัจฉริยะที่ช่วยบริหารจัดการการวางแผนเส้นทางวิ่ง เพื่อขนส่งอุปกรณ์ในพื้นที่อุตสาหกรรม พร้อมเชื่อมต่อระหว่างคันได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีระยะเวลาว่างงานน้อยที่สุด ก็ยิ่งทำให้ช่วยเพิ่ม Productivity ในภาคอุตสาหกรรม และเพิ่มความปลอดภัยในงานที่มีความเสี่ยงสูงอย่างตอบโจทย์

นายอลัน เหลียว ประธานฝ่ายกลุ่มธุรกิจผู้ให้บริการเครือข่าย บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ความร่วมมือดังกล่าวจะนำเทคโนโลยี 5G มาประยุกต์ใช้จริงในด้านการบริหารจัดการการวางแผนเส้นทางวิ่งเพื่อขนส่งอุปกรณ์ในพื้นที่ ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากต่อภาคอุตสาหกรรม ช่วยพัฒนาระบบขนส่งด้วยรถบรรทุกเครื่องยนต์ไฟฟ้าไร้คนขับให้มีความปลอดภัย คล่องตัวและเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลมากยิ่งขึ้น หัวเว่ยจะนำความรู้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ที่มีมาช่วยยกระดับโครงการโซลูชัน 5G ยานยนต์อัจฉริยะของ SCG โดยจะทำงานร่วมกับพันธมิตรในอุตสาหกรรมเพื่อเสริมศักยภาพ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและลดการปล่อยคาร์บอนให้น้อยลง เป็นต้นแบบของ Green Manufacturing ให้กับทุกอุตสาหกรรมที่ดำเนินธุรกิจในประเทศไทย จุดประกายในการนำเทคโนโลยี 5G มาประยุกต์ใช้และสร้างมาตรฐานใหม่ ส่งเสริมอุตสาหกรรมสีเขียว ซึ่งจะเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสู่การปฏิรูปประเทศไทยให้มีความก้าวหน้า พัฒนาได้อย่างยั่งยืนและเป็นผู้นำด้านสังคมคาร์บอนต่ำของอาเซียน

Mr. Yu Zhiqiang ซีอีโอของ Mining Equipment กล่าวว่า YUTONG GROUP จะทำหน้าท่ี่จัดหารถบรรทุกสำหรับภาคอุตสาหกรรมที่เป็นระบบ EV พร้อม ที่ชาร์จและบริการหลังการขายที่เชื่อถือได้ เพื่อสร้างความคุ้มค่าสำหรับลูกค้าและพันธมิตร ทั้งนี้ YUTONG จำหน่ายรถยนต์เพื่อการพาณิชย์พลังงานใหม่ 160,000 คันทั่วโลก พร้อมด้วยประสบการณ์ด้านเครื่องจักรก่อสร้างมากว่า 64 ปี โดยเป็นรายแรกที่เปิดตัวรถบรรทุกขุด EV ตั้งแต่ปี 2561 โดยเป็นผู้นำในด้านการตลาด การวิจัย และพัฒนา การเลือกใช้วัสดุ การผลิต การควบคุมคุณภาพ และบริการ นอกจากนี้ยังเป็นผู้ผลิตที่ครองส่วนแบ่งการตลาดหลักของอุตสาหกรรมรถขุดไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอรี่โดยให้บริการพื้นที่ทำเหมืองและอุตสาหกรรมมากกว่า 100 แห่งทั่วโลก โดยมีอัตราความปลอดภัยกว่า 1,500 วัน

Prof. Chen Long ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอของ Waytous กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้จะเป็นการกำหนดมาตรฐานสำหรับอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีการทำงานด้วยระบบอัจฉริยะ คิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ทั้งนี้ WAYTOUS เป็นผู้ให้บริการทำเหมืองไร้คนขับของจีน ที่ก่อตั้งโดย Institute of Automation of the Chinese Academy of Sciences (CASIA) และยังได้ขยายธุรกิจไปสู่อุตสาหกรรมซีเมนต์ อุตสาหกรรมเหมืองแร่และอุตสาหกรรมหนักอื่นๆ

รายงานข่าว เปิดเผยว่า นวัตกรรมรถบรรทุกเครื่องยนต์ไฟฟ้าไร้คนขับ และ ระบบควบคุมรถระยะไกล (Unmanned EV Truck & Remote Control Vehicle) ผ่าน AIS 5G จะเริ่มนำมาใช้ในพื้นที่จริงตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป และเตรียมขยายผลสู่พื้นที่อุตสาหกรรมของ SCG อย่างต่อเนื่อง

โออาร์ หนุนแนวคิด BCG แปรรูปขยะพลาสติกในงานประชุม APEC 2022 เป็นเสื้อกีฬาส่งต่อให้เด็กนร.

OR นำขยะพลาสติก 290 กิโลกรัม ที่รวบรวมจากการประชุม APEC 2022 ผ่านโครงการ Care the Bear “ลดโลกร้อน” แปรรูปเป็นเสื้อกีฬาส่งต่อรอยยิ้มให้นักเรียนในพื้นที่โดยรอบสถานประกอบการทั่วประเทศ ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas: GHG) ได้ถึง 252 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

วิศน สุนทราจารย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านกลยุทธ์องค์กรและความยั่งยืน OR

นายวิศน สุนทราจารย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านกลยุทธ์องค์กรและความยั่งยืน บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR เปิดเผยว่า OR สนับสนุนแนวคิด Bio-Circular-Green Economy หรือ BCG Economy ในการประชุมเอเปค 2022 โดยจะนำขยะพลาสติกจำนวนรวม 290 กิโลกรัม ที่รวบรวมผ่านโครงการ Care the Bear “ลดโลกร้อน” ซึ่ง OR ได้ร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและองค์กรพันธมิตร ในการวางแผนบริหารจัดการขยะภายในงาน พร้อมจัดทำป้ายประชาสัมพันธ์วิธีการแยกขยะอย่างถูกต้อง รวมทั้งได้จัดตั้งจุดบริการคัดแยกขยะ ตามรูปแบบของโครงการ “แยก แลก ยิ้ม” ให้เพียงพอสำหรับการรองรับปริมาณขยะจากผู้เข้าร่วมงานเพื่อนำเข้าสู่กระบวนการอัพไซเคิลเพื่อแปรรูปเป็นเสื้อกีฬา ส่งต่อให้นักเรียนโดยรอบสถานประกอบการของ OR ทั่วประเทศ ซึ่งสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas: GHG) ได้ถึง 252 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า นอกจากเป็นการสนับสนุนการจัดประชุมรูปแบบคาร์บอนต่ำ (Low-Carbon) แล้ว ยังเป็นการส่งต่อรอยยิ้มให้กับชุมชน ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของ OR คือ “Empowering All toward Inclusive Growth” หรือ “เติมเต็มโอกาส เพื่อทุกการเติบโต ร่วมกัน” ที่ให้ความสำคัญกับสังคมชุมชนและสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไป

นอกจากนี้ ภายในบูธนิทรรศการของ OR ยังได้จัดแสดงผลิตภัณฑ์อัพไซเคิล เช่น โต๊ะ เฟอร์นิเจอร์ ที่ผลิตจากกากกาแฟซึ่งเป็นของเหลือทิ้ง ชุดผ้ากันเปื้อนของบาริสต้า ร้าน Café Amazon ที่ผลิตจากจากขวด PET จากกระบวนการอัพไซเคิล จึงถือเป็นโอกาสดีที่ OR ได้นำเสนอผลลัพธ์ของโครงการทางด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ให้แก่ผู้เข้าร่วมประชุม รวมถึงการผลักดันการลดขยะและของเสียจากภายในงานที่นำไปสู่การฝังกลบ เพื่อเป็นตัวอย่างการขับเคลื่อนไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้งยังเป็นตัวอย่างความร่วมมือของ APEC 2022 Thailand จากภาคเอกชนไทย ตามโมเดลเศรษฐกิจ Bio-Circular-Green (BCG) ของประเทศไทยสู่สายตาชาวโลก

ทั้งนี้ โครงการแยก แลก ยิ้ม เป็นโครงการที่ OR ริเริ่มและดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อร่วมสร้างจิตสำนึกและส่งเสริมการแยกขยะอย่างถูกต้องให้กับผู้ใช้บริการสถานีบริการ พีทีที สเตชั่น และประชาชนทั่วไป โดยผู้บริหารสถานีบริการฯ จะนำรายได้จากการขายขยะรีไซเคิลไปทำสาธารณะประโยชน์ให้กับชุมชนรอบสถานีบริการฯ ซึ่งนอกจากจะเป็นการช่วยลดปริมาณขยะ ลดการใช้ทรัพยากร ลดค่าใช้จ่ายในการกำจัดขยะ และรักษาสิ่งแวดล้อมจากการนำกลับมาใช้ใหม่ด้วยการคัดแยกขยะอย่างถูกต้องแล้ว ยังเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคได้มีส่วนร่วมในการสร้างรอยยิ้มให้กับชุมชนผู้ขาดแคลน ผ่านสถานีบริการน้ำมัน พีทีที สเตชั่น ทั่วประเทศ

รู้เก็บรู้ออม : Care the Bear สู่สายตาชาวโลก

ช่วงเวลานี้ เรากำลังอยู่ในบรรยากาศของสุดยอดการประชุม APEC 2022 ที่ประเทศไทยเราได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ถือเป็นโอกาสสำคัญที่จะได้ประชาสัมพันธ์ประเทศไทยสู่สายตาของนานาประเทศทั่วโลก

องค์กร ทั้งหน่วยงานรัฐ และเอกชน ที่มีส่วนร่วมกับการประชุม APEC นอกจากจะเป็นโอกาสที่ดีที่ได้ประชาสัมพันธ์ผลงานและชื่อเสียงขององค์กรนั้นๆสู่สากลแล้ว ยังถือได้ว่าเป็นความภาคภูมิใจขององค์กรที่ได้มีส่วนร่วมกับเหตุการณ์ครั้งสำคัญระดับโลก

“ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย” ได้ร่วมเป็น APEC Communication Partner สื่อสารการเป็นเจ้าภาพการจัดประชุมเอเปก 2022 และออกบูธแสดงศักยภาพของตลาดทุนไทย และบทบาทการส่งเสริมการเติบโตอย่างสมดุลและยั่งยืน ตอกย้ำความเป็นตลาดหลักทรัพย์ชั้นนำ

เป็นโอกาสครั้งสำคัญของตลาดหลักทรัพย์ฯที่ได้นำเสนอ โครงการ “Care the Bear” ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มความร่วมมือลดภาวะโลกร้อนสู่สายตาของชาวโลก

คุณภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ บอกว่า ตลท.ใช้โครงการ Care the Bear มาสนับสนุนการประชุมเอเปก ผ่านการจัดการพื้นที่ “ศูนย์ข่าวสีเขียว” รวมถึงพื้นที่จัดบูธนิทรรศการขององค์กรต่างๆ รวมพื้นที่กว่า 22,000 ตร.ม. เพื่อให้เกิดการประหยัดพลังงานและทรัพยากรในการจัดกิจกรรม ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

โดยส่งเสริมให้องค์กรที่ร่วมออกบูธในงาน รวมทั้งผู้ร่วมงาน เข้าใจและนำหลักปฏิบัติ 6 Cares ไปใช้ ได้แก่ 1.การเดินทางโดยรถสาธารณะหรือเดินทางมาร่วมกัน 2.การลดใช้กระดาษและพลาสติก 3.การงดการใช้โฟม 4.การลดใช้พลังงาน 5.การใช้วัสดุตกแต่งที่สามารถกลับมาใช้ใหม่ได้ และ 6.การลดขยะจากอาหารเหลือทิ้ง

นานาประเทศจะได้เห็นต้นแบบการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม การใช้ทรัพยากรและพลังงานอย่างคุ้มค่า และบริหารจัดการขยะอย่างครบวงจรและเป็นรูปธรรม ซึ่งเกิดจากการบูรณาการทำงานร่วมกับกระทรวงต่างประเทศ, ตลาดหลักทรัพย์ฯ กับพันธมิตรตลาดทุน ได้แก่ กลุ่มบริษัทบางจากที่ร่วมประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจก พร้อมจัดหาคาร์บอนเครดิตมาชดเชย, เอสซีจี สนับสนุนนวัตกรรมกระดาษรีไซเคิลได้ สำหรับตกแต่งงานประชุมเพื่อการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือโออาร์ ที่นำขยะพลาสติกสู่กระบวนการ Circular Economy หลังเสร็จสิ้นงาน

ศูนย์ข่าวสีเขียวจะเป็นพื้นที่ศูนย์ข่าวของการประชุม รองรับสื่อมวลชนจากทั่วโลกกว่า 3,000 คน ช่วยสะท้อนศักยภาพของไทยในการขับเคลื่อนความยั่งยืนโดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านบูธและนิทรรศการของภาคส่วนต่างๆที่ผลิตจากวัสดุหมุนเวียน คำนึงถึงการใช้ทรัพยากรให้ได้ประโยชน์สูงสุด ขณะที่การบริหารจัดการขยะจะทำอย่างครบวงจร สามารถติดตามผลและนำไปสู่เป้าหมายในการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก ลดโลกร้อน

แสดงให้เห็นถึงการขับเคลื่อนความยั่งยืนดูแลสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย ที่ปฏิบัติได้จริง วัดผลได้ เป็นต้นแบบและนำไปสู่การสร้างมาตรฐานใหม่ในการจัดการสิ่งแวดล้อมขององค์กรต่างๆ และขับเคลื่อนสู่สังคมคาร์บอนต่ำในอนาคต

องค์กรที่สนใจอยากเข้าร่วมโครงการสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.carethebear.com

คุณนายพารวย

CPF คว้ารางวัล “องค์กรต้นแบบความยั่งยืนในตลาดทุนไทย ด้านสนับสนุนคนพิการ” ดีเด่น ปี 2565

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ได้รับรางวัล “องค์กรต้นแบบความยั่งยืนในตลาดทุนไทย ด้านสนับสนุนคนพิการ” ระดับดีเด่นประจำปี 2565 จาก สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อเชิดชูเกียรติองค์กรธุรกิจในตลาดทุนไทยที่มีศักยภาพในการสนับสนุนกลุ่มผู้เปราะบางและผู้พิสามารถช่วยเหลือและพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งพิธีมอบรางวัลได้รับเกียรติจากนายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นผู้มอบรางวัล

พิมลรัตน์ รีพัฒนาวิจิตรกุล ประธานผู้บริหารทรัพยากรบุคคล ซีพีเอฟ

นางสาวพิมลรัตน์ รีพัฒนาวิจิตรกุล ประธานผู้บริหารทรัพยากรบุคคล ซีพีเอฟ กล่าวว่า การได้รับรางวัล “องค์กรต้นแบบความยั่งยืนในตลาดทุนไทย ด้านสนับสนุนคนพิการ จาก ก.ล.ต. เป็นรางวัลที่ชื่นชม ซีพีเอฟ ในฐานะเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่มีแนวปฏิบัติที่ดีในการเปิดโอกาสให้คนพิการมีอาชีพและรายได้ที่มั่นคง ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 โดยดำเนินโครงการจัดจ้างคนพิการ ตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปัจจุบัน และในปี 2565 ซีพีเอฟจัดจ้างคนพิการ 681 คน ซึ่งจำนวนสูงกว่าที่กฎหมายกำหนด เพื่อทำงานในสถานประกอบการของซีพีเอฟ หรือทำงานสาธารณประโยชน์ในชุมชนตนเอง เพื่อสนับสนุนให้คนพิการสามารถพึ่งพาตนเองได้ ลดภาระของครอบครัวและสังคม มีส่วนช่วยให้คนพิการได้รับการปฏิบัติอย่างเสมอภาค และสามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานได้อย่างเท่าเทียม

“รางวัลที่ได้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของซีพีเอฟ ซึ่งมีนโยบายและแนวปฏิบัติที่ให้ความสำคัญกับความหลากหลาย และยอมรับความแตกต่างอย่างเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ โดยบริษัทสนับสนุนให้คนพิการสามารถใช้ศักยภาพของตนเอง มีรายได้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รวมถึงการมีส่วนร่วมทำประโยชน์ให้กับชุมชนที่ตนเองอยู่ และส่งเสริมให้คนพิการสามารถดำรงอยู่ในสังคมอย่างมีศักดิ์ศรี”

ซีพีเอฟให้ความสำคัญกับการสร้างวัฒนธรรมการทำงานที่เคารพในความแตกต่างและหลากหลาย พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้พนักงานคนพิการได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกคณะกรรมการสวัสดิการในสถานประกอบการ เพื่อร่วมเสนอแนะให้บริษัทปรับปรุงสภาพแวดล้อมการทำงานที่เหมาะสม นอกจากนี้บริษัทยังส่งทีมงานลงพื้นที่เยี่ยมครอบครัวของพนักงานคนพิการเพื่อให้มั่นใจว่าพนักงานคนพิการมีความเป็นอยู่ที่ดี

ทั้งนี้ ก.ล.ต.ได้ริเริ่มมอบรางวัลดังกล่าวปีนี้เป็นปีแรก ในโอกาสครบรอบการก่อตั้ง 30 ปี เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาคธุรกิจในตลาดทุนดำเนินธุรกิจโดยผนวกแนวคิดการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Environmental, Social, Governance) สนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ นอกจากนี้ ในปี 2564 ที่ผ่านมา บริษัทฯ รับโล่ประกาศเกียรติคุณ องค์กรสนับสนุนคนพิการดีเด่น ระดับดีเยี่ยม ต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 จากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สะท้อนการเป็นองค์กรที่สนับสนุนความหลากหลายและแตกต่าง ตลอดจนร่วมพัฒนากลุ่มเปราะบางเป็นพลังของสังคม

OR คว้ารางวัลดีเด่น องค์กรต้นแบบความยั่งยืนในตลาดทุนไทยด้านสนับสนุนคนพิการ ปี 65

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน มอบรางวัล องค์กรต้นแบบความยั่งยืนในตลาดทุนไทยด้านสนับสนุนคนพิการ ประเภท “ดีเด่น” ประจำปี 2565 ให้แก่ นายสุชาติ ระมาศ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์

รางวัลนี้จัดโดยสำนักงานสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ร่วมกับ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กรมการจัดหางาน กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงแรงงาน สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย และสมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย มอบให้กับองค์กรที่ส่งเสริมและสนับสนุนการจ้างงานคนพิการ โดยพิจารณาจากข้อมูลการดำเนินการสนับสนุนและส่งเสริมการจ้างงานคนพิการตามมาตรา 33 และมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 ไม่ต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด มากกว่า 1 ปี

นายสุชาติ ระมาศ ผู้อำนวยการใหญ่ โออาร์

ที่ผ่านมา โออาร์ ได้จัดจ้างเหมาบริการตามมาตรา 35 เพื่อส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ประจำปี 2565 รวมจำนวน 20 อัตรา โดยจ้างผู้พิการจากมูลนิธิเมาไม่ขับ จำนวน 15 คน เพื่อช่วยรณรงค์และประชาสัมพันธ์ ในประเด็นเรื่องพฤติกรรมการเมาแล้วขับ และประเด็นการบังคับใช้กฎหมายการลดอุบัติเหตุบนท้องถนน รวมถึงร่วมลงพื้นที่เยี่ยมคนพิการที่ประสบผลจากอุบัติเหตุ เพื่อให้กำลังใจตลอดจนแนะแนวให้คำปรึกษา อีกทั้งยังได้จ้างผู้พิการจากมูลนิธิอารยสถาปัตย์ จำนวน 5 คน เพื่อสนับสนุนการจัดทำเส้นทางท่องเที่ยว โดยมี พีทีที สเตชั่น ซึ่งออกแบบโดยมีองค์ประกอบที่ช่วยให้ผู้พิการหรือประชาชนในทุกสภาพร่างกายสามารถใช้เป็นศูนย์กลาง จุดแวะพักหรือจุดรวมพลได้ รวมถึงช่วยเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข่าวสารหรือกิจกรรมผ่านช่องทางสื่อในเครือข่ายมูลนิธิอารยสถาปัตย์ รวมถึงสื่อต่างๆ

นอกจากนี้ ยังได้จ้างผู้พิการเพื่อเป็นบาริสต้าในร้านคาเฟ่อเมซอนจำนวน 34 คน เปิดโอกาสให้ผู้พิการได้พัฒนาทักษะการทำงาน รวมถึงอบรมให้ความรู้จากการฝึกปฏิบัติเป็นบาริสต้าตามมาตรฐานของร้านคาเฟ่อมซอนให้แก่ผู้พิการเพื่อให้สามารถสร้างรายได้และอาชีพอีกด้วย

การได้รับรางวัลครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงจุดยืนของ โออาร์ ที่มุ่งมั่นร่วมช่วยเหลือสังคม รวมถึงผู้ด้อยโอกาสโดยเฉพาะกลุ่มผู้พิการและกลุ่มเปราะบาง สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ “เติมเต็มโอกาส เพื่อทุกการเติบโตร่วมกัน (Empowering All Toward Inclusive Growth) และดำเนินตามเป้าหมายของ โออาร์ (OR 2030 Goals) ที่ต้องการยืนหยัดเพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของ ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมให้ดียิ่งขึ้น

โออาร์ เพิ่มการเข้าถึงสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า นำร่องเปิด EV Station PluZ ในศูนย์การค้าโรบินสัน ไลฟ์สไตล์ ราชพฤกษ์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายทรงพล เทพนำโสมนัสส์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านธุรกิจเอนเนอร์ยี่โซลูชัน บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์ นายพีรเวท ณ ระนอง ผู้จัดการส่วนกลยุทธ์และพัฒนาธุรกิจ EV อีโคซิสเท็ม โออาร์ และ นายธนพล กมลธนากุล ผู้จัดการส่วนการตลาดและพัฒนาเครือข่าย EV อีโคซิสเท็ม โออาร์ ร่วมกับ นางสาวศันสนีย์ นิ่มพิทักษ์พงษ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส สายพัฒนาพื้นที่เช่าศูนย์การค้าโรบินสันไลฟ์สไตล์ ในเครือเซ็นทรัล รีเทล นางชื่นสุข ไกรปราบ ผู้อำนวยการ สายการตลาด ศูนย์การค้าโรบินสันไลฟ์สไตล์ ในเครือเซ็นทรัล รีเทล และ นางสาวพิชญามณฑ์ แสนสุข ผู้อำนวยการฝ่ายพื้นที่เช่า ศูนย์การค้าโรบินสันไลฟ์สไตล์ ในเครือเซ็นทรัล รีเทล ร่วมงานเปิดตัวการติดตั้งสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า EV station PluZ โดยติดตั้งในพื้นที่ลานจอดรถ ณ ศูนย์การค้าโรบินสัน ไลฟ์สไตล์ สาขาราชพฤกษ์ ซึ่งเปิดตัวนำร่องเป็นแห่งแรก เพื่อร่วมผลักดันและส่งเสริมการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า พร้อมอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงจุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าให้แก่ผู้บริโภคมากขึ้น

นายทรงพล เปิดเผยว่า โออาร์ มุ่งเน้นการขยายสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า EV Station PluZ ในประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับความต้องการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในปัจจุบันที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางในการดำเนินธุรกิจที่ต้องการสร้าง Seamless Mobility หรือ การสร้างความแข็งแกร่งทางด้านพลังงานแบบผสมผสาน เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานในการเคลื่อนที่ในรูปแบบต่างๆ เป็นไปอย่างไร้รอยต่อ โดยมีแผนเดินหน้าขยายจำนวนสาขา EV Station PluZ ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ซึ่งไม่ด้จำกัดเพียงในพื้นที่ของสถานีบริการ พีทีที สเตชั่น เท่านั้น แต่ยังต้องครอบคลุมไปถึงในพื้นที่เชิงพาณิชย์ที่สำคัญทั่วประเทศ เช่น ศูนย์การค้า เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกและตอบโจทย์การดำเนินชีวิตของผู้คนในสังคมปัจจุบัน โดยผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าสามารถเข้าใช้บริการในสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าได้ง่ายดายยิ่งขึ้น แม้แต่การมาเดินเล่นหรือทำธุระที่ศูนย์การค้าก็ยังสามารถใช้บริการจาก EV Station PluZ ได้ นับเป็นไปตามหนึ่งในพันธกิจที่สำคัญของ โออาร์ คือ All Lifestyles หรือ การสร้างทางเลือกสำหรับการดำเนินชีวิตแบบครบวงจรเพื่อตอบโจทย์การใช้ชีวิตทุกรูปแบบ และเติมเต็มทุกความต้องการของผู้บริโภค

สำหรับการขยายสาขาในศูนย์การค้าโรบินสันไลฟ์สไตล์ โออาร์ มีเป้าหมายที่จะขยายสาขา รวม 31 สาขาทั่วประเทศ ซึ่งคาดว่าจะทยอยติดตั้งแล้วเสร็จภายในไตรมาสแรกของปี 2566 นอกจากนี้ โออาร์ ยังคงเดินหน้าแสวงหาความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจในการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย EV Station PluZ จำนวน 7,000 เครื่องชาร์จ ภายในปี 2573 และยังคงมีแผนขยายสาขาออกไปยังพื้นที่เชิงพาณิชย์ที่มีศักยภาพนอกสถานีบริการ พีทีที สเตชั่น อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น ศูนย์การค้า โรงแรม รีสอร์ต ร้านอาหาร และอาคารสำนักงาน เพื่อให้ครอบคลุมความต้องการของผู้บริโภคให้ได้มากที่สุด อีกทั้งยังได้พัฒนา Ultra EV ผลิตภัณฑ์ Home Charger และ Application EV Station PluZ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้รถ EV ในทุกมิติ รวมไปถึงการส่งเสริมรูปแบบการเดินทางด้วย EV Bike ให้เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายภายในประเทศ และยังมีแผนต่อยอดการดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการใช้รถ EV อย่างต่อเนื่องเพื่อที่ก้าวสู่การเป็นผู้นำในระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า (EV Ecosystem) อย่างแท้จริง นายทรงพล กล่าวเพิ่มเติม