Home Blog Page 358

รู้เก็บรู้ออมรู้ใช้รู้ลงทุน : SET Awards 2020

0

วันก่อนตลาดหลักทรัพย์ฯร่วมกับนิตยสารการเงินธนาคาร ประกาศมอบรางวัล SET Awards 2020 ให้กับผู้บริหารและบริษัทจดทะเบียนที่มีความโดดเด่นและความเป็นเลิศในด้านต่างๆ ที่น่ายกย่องชื่นชม โดยปีนี้มีรายชื่อบริษัทใหม่ๆที่ได้รับรางวัลหลายบริษัท

สำหรับมือใหม่หัดลงทุนหรือนักลงทุนหน้าใหม่ที่กำลังศึกษาเพื่อเข้าลงทุนในตลาดหุ้น นอกจากการพิจารณาดูตัวเลขรายได้-กำไร-ขาดทุน และโอกาสในการเติบโตของธุรกิจแล้ว ควรพิจารณาความรู้ความสามารถวิสัยทัศน์และความมีธรรมาภิบาลของผู้บริหาร

รวมทั้งความโดดเด่นของบริษัทที่มีเหนือบริษัทอื่นๆ จนได้รับการยกย่องให้มีความเป็นเลิศในด้านต่างๆ เช่นที่ตลาดหลักทรัพย์ฯได้มีการคัดเลือกและมอบรางวัล SET Awards ให้กับผู้บริหารและบริษัทจดทะเบียนในทุกๆปี ซึ่งน่าจะเป็นอีกข้อมูลที่นักลงทุนใช้ประกอบการพิจารณาเลือกลงทุนระยะยาวในบริษัทใดบริษัทหนึ่งได้

ดังนั้น “คุณนายพารวย” สัปดาห์นี้ จึงขอร่วมชื่นชมกับบริษัทเหล่านี้ โดยบริษัทที่ได้รับรางวัลเกียรติยศแห่งความสำเร็จ (SET Award of Honor) Excellence in Investor Relations ปี 2017–2020 คือ บมจ.สมบูรณ์ แอ๊ดวานซ์ เทคโนโลยี (SAT)

ส่วนรางวัล Best Company Performance Awards ยอดเยี่ยม สำหรับบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ใน SET ที่มีมูลค่ามาร์เกตแคปสูงกว่า 100,000 ล้านบาท คือ บมจ.อินทัช โฮลดิ้งส์ (INTUCH) ขณะที่ Outstanding Company Performance Awards โดดเด่น คือ บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS) บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA)

ส่วน บจ.ที่มีมูลค่ามาร์เกตแคปสูงกว่า 30,000 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 100,000 ล้านบาท คือ CBG ขณะที่ บจ.ที่มีมูลค่ามาร์เกตแคปสูงกว่า 10,000 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 30,000 ล้านบาท ได้แก่ บมจ.เอสพีซีจี (SPCG) ส่วน บจ.ที่มีมูลค่ามาร์เกตแคปสูงกว่า 3,000 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 10,000 ล้านบาท คือ RJH และ บจ.ที่มีมูลค่ามาร์เกตแคปไม่เกิน 3,000 ล้านบาท ได้แก่ บมจ. เอส เอ็น ซี ฟอร์เมอร์ (SNC) ขณะที่ บจ.ในตลาด mai รางวัล Best Company Performance Awards คือ บมจ.อาฟเตอร์ ยู (AU)

สำหรับอีกรางวัลสำคัญคือ Best Innovative Company Awards ยอดเยี่ยม ได้แก่ บมจ.ฮิวแมนิก้า (HUMAN) ได้รางวัลจากนวัตกรรม HUMATRIX : THE ULTIMATE WORK-LIFE PLATFORM และ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) ได้รางวัลจาก Nautilus นวัตกรรมหุ่นยนต์สำหรับตรวจสอบ ซ่อมและบำรุงรักษาท่อส่งปิโตรเลียมใต้ทะเล

ส่วน บมจ.ราช กรุ๊ป (RATCH) ได้จากนวัตกรรมระบบผลิตไฟฟ้าและไอน้ำร่วม 3 ระบบ คือเครื่องกังหันแก๊ส เครื่องกังหันไอน้ำ และเครื่องยนต์แก๊ส

ขณะที่ บจ.ที่ได้ Outstanding Innovative Company Awardsโดดเด่น คือ บลจ.บางกอกแคปปิตอล จากนวัตกรรม แพลตฟอร์ม Global Wealth การจัดสรรสินทรัพย์เพื่อการสะสมความมั่งคั่งที่ยั่งยืนของคนไทย และ บมจ.ซาบีน่า (SABINA) ได้รางวัลจากนวัตกรรมชุดชั้นในเรียบเนียนไร้ตะเข็บ “เกาะเก่งไม่กลัวหลุด” รวมทั้ง บมจ.ทีเอ็มที สตีล (TMT) ได้รางวัลจากนวัตกรรม STAY FLAT เหล็กแผ่นเรียบพิเศษ

สัปดาห์หน้ามาต่อกันว่ามีบริษัทใดบ้าง ที่มีความโดดเด่นในด้านการดูแลให้ความสำคัญกับสิทธิ ของผู้ถือหุ้นจนได้รับรางวัล Best Investor Relations Awards ซึ่งถือเป็นเรื่องที่สำคัญมาก!!


ที่มา คอลัมน์ รู้เก็บรู้ออมรู้ใช้รู้ลงทุน..สู่ความมั่งคั่ง โดย คุณนายพารวย หน้าเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ซีพีเอฟ การ์ดไม่ตก คุมแรงงานไม่ออกนอกพื้นที่โรงงาน ย้ำกุ้งสดและผลิตภัณฑ์กุ้งปลอดภัยกินได้ไม่มีโรค

0

บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหารจำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ยืนยัน “การ์ดไม่ตก” คงมาตรการป้องโควิดเข้มงวด พร้อมยกระดับป้องกันโรคตั้งแต่ฟาร์มถึงโต๊ะอาหาร (From Farm to Table) และในโรงงานหลังล็อคดาวน์สมุทรสาคร ย้ำกุ้งสดและผลิตภัณฑ์กุ้งปลอดภัยกินได้ไม่มีโรค

นายไพโรจน์ อภิรักษ์นุสิทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ธุรกิจสัตว์น้ำ ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า บริษัทยังคงมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 อย่างเข้มงวดโดยยกระดับมาตรการความปลอดภัยสูงสุดตั้งแต่เดือนมีนาคมจนถึงปัจจุบัน ตลอดจนเข้มงวดเรื่องสุขอนามัยของพนักงานทั้งก่อนและหลังปฏิบัติงาน ทำให้แรงงานทุกคนปลอดภัย กระบวนการผลิตไม่สะดุด และส่งมอบอาหารปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภคได้เพียงพอและต่อเนื่อง

หลังประกาศจังหวัดสมุทรสาครประกาศล๊อคดาวน์ ซีพีเอฟ มีการดำเนินการขอให้แรงงานทั้งหมดไม่ออกนอกพื้นที่โรงงาน และบริษัทจัดการด้านอาหารให้ เพื่อลดโอกาสการปะปนกับบุคคลอื่น เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับอาหารปลอดภัย ตรวจสอบย้อนกลับได้ตลอดกระบวนการผลิต” นายไพโรจน์ กล่าว

ซีพีเอฟ ในฐานะผู้ผลิตกุ้งครบวงจรชั้นนำ มีการควบคุมการผลิตตั้งแต่ต้นทางการผลิตคือ อาหารสัตว์ ต้องตรวจสอบที่มาของแหล่งวัตถุดิบได้ การจัดการฟาร์มเลี้ยงในระบบไบโอซีเคียวริตี้ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีช่วยป้องกันโรคในสัตว์น้ำ ควบคู่ไปกับนวัตกรรม 3 สะอาด คือ บ่อสะอาด ลูกกุ้งสะอาด และน้ำสะอาด เพื่อให้การเลี้ยงถูกสุขอนามัยตามหลักวิชาการ ช่วยให้กุ้งแข็งแรง ต้านทานโรคสูง ไร้สารตกค้าง จนถึงปลายทางการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารตามมาตรฐานสากล สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ตลอดห่วงโซ่การผลิต

นอกจากนี้ แรงงานทุกคนของซีพีเอฟเป็นแรงงานถูกกฎหมาย ภายใต้บันทึกความตกลงระหว่างบริษัทฯ กับประเทศต้นทางแรงงาน ผ่านหน่วยงานที่รัฐบาลแต่ละประเทศให้การรับรอง และมีการนำเข้ามาถูกต้องตามมาตรฐานแรงงานไทย ประกอบกับความพร้อมของโรงงาน ทำให้สามารถติดตามตรวจสอบและควบคุมกระบวนการได้ทั้งหมด

นายไพโรจน์ กล่าวว่า ซีพีเอฟ ยังให้ความรู้เกษตรกรซึ่งเป็นต้นทางการผลิตกุ้ง ในการป้องกันโควิดอย่างต่อเนื่องด้วย ทั้งการลงกุ้งเลี้ยง การปฏิบัติต่อแรงงาน การจับกุ้ง โดยกระบวนส่งมอบทั้งหมดเป็นไปอย่างรัดกุม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ระบบ Logistic ของบริษัทที่สามารถขนส่งกุ้ง “ซีพีแปซิฟิค” จากปากบ่อส่งตรงถึงมือผู้บริโภค ลดการสัมผัสคนได้มาก

“ขอให้ผู้บริโภคมั่นใจในการบริโภคสัตว์น้ำทั้งกุ้งสดและกุ้งแปรรูป ด้วยการเลือกรับประทานสัตว์น้ำจากผู้ผลิตที่มีคุณภาพ ตรวจสอบย้อนกลับได้ ผลิตภัณฑ์มีความสด สะอาดและปรุงสุกร้อนเสมอ และไม่ต้องกังวลเนื่องจากมีโอกาสน้อยที่อาหารจะปนเปื้อนเชื้อโควิด-19” นายไพโรจน์ กล่าว

AIS ยันเจตนารมณ์ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน หลังติดโผ 4 ดัชนียั่งยืนหลักต่อเนื่อง

0

นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าวว่า ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา เอไอเอสให้ความสำคัญกับแนวทางในการดำเนินธุรกิจแบบเติบโตไปพร้อมกันทุกภาคส่วนอย่างยั่งยืน หรือ Sustainability Development ที่ครอบคลุมในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ, สังคม และสิ่งแวดล้อม อย่างสมดุล  ภายใต้หลักบรรษัทภิบาลที่ดี เพื่อเป็นรากฐานในการพัฒนาประเทศไทย สร้างคุณค่าแก่สังคมไทยในทุกภาคส่วน

ความยั่งยืนถือเป็นประเด็นสำคัญอย่างยิ่งในปัจจุบัน ทุกองค์กรต้องมองถึงผลกระทบในระยะยาวที่จะเกิดต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมควบคู่กันอย่างเหมาะสมและยั่งยืน ไม่ใช่เพียงผลกำไร ขาดทุน ในระยะสั้นเท่านั้น เอไอเอส มุ่งนำความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีดิจิทัล อาทิ 5G, ไฟเบอร์บรอดแบนด์และบริการดิจิทัล มาสร้างสรรค์ความเป็นเลิศเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคและเศรษฐกิจดิจิทัล รวมถึงมุ่งสร้างประโยชน์และคุณค่าให้แก่ชุมชน สังคม ในการเรียนรู้และสร้างแรงบันดาลใจ พร้อมยึดมั่นในการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ที่ผ่านมา เอไอเอส เดินหน้าผลักดันการสร้างสังคม Digital ที่เป็นประโยชน์และสร้างสรรค์อย่างต่อเนื่อง ภายใต้โครงการ อุ่นใจไซเบอร์ ด้วยเป้าหมายในการสร้างภูมิคุ้มกัน รณรงค์ ปลูกจิตสำนึก พร้อมพัฒนาเครื่องมือคัดกรอง Content ที่ไม่เหมาะสมจากโลกดิจิทัล นอกจากนี้ยังผลักดันการบริหารจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ (E-Waste) เพื่อนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี และไม่เกิดอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม ผ่านโครงการ “คนไทยไร้ E-Waste” ที่ถูกยกระดับเป็นวาระแห่งชาติ ผ่านการทำงานร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมภาคีเครือข่ายหลัก อาทิ TBCSD, TRBN , ไปรษณีย์ไทย พร้อมภาคเอกชน และภาคประชาชน ในการสร้างการตระหนักรู้และขยายจุดรับทิ้งขยะ E-Waste ทั่วประเทศรวมแล้วกว่า 2,400 จุด

และ ถือเป็นความภาคภูมิใจของบริษํท ที่ได้รับการยอมรับจากสถาบันจัดอันดับความยั่งยืนชั้นนำทั้งในไทย และ ต่างประเทศ จาก 4 สถาบันหลัก ประกอบด้วย

–         หุ้นยั่งยืน หรือ Thailand Sustainability Investment (THSIประจำปี 2563 โดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่สะท้อนถึงการให้ความสำคัญในการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืนโดยคำนึงสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) ผ่านกระบวนการดำเนินงาน ทั้ง 4 ระดับ ได้แก่ การกำหนดนโยบาย การตั้งเป้าหมายและการนำนโยบายไปปฏิบัติ การวัดผลลัพธ์จากการดำเนินการ และการเปิดเผยข้อมูลของบริษัท โดย           เอไอเอสติดอันดับต่อเนื่องถึง 6 ปี

–         ดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability IndicesDJSIปี 2563 ในกลุ่มดัชนีโลก (World Index) และดัชนีตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market Index) ของกลุ่มธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมของประเทศไทย สะท้อนวิสัยทัศน์และนโยบายในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน รวมทั้งคำนึงถึง เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของบริษัทให้เติบโตไปพร้อมๆกัน จนได้รับการยอมรับในระดับสากล โดยเอไอเอสติดอันดับต่อเนื่อง

–         ดัชนีความยั่งยืน FTSE4Good Index Series จากฟุตซี่ รัสเซล (FTSE Russell) ปี 2563 ซึ่งได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในกลุ่มนักลงทุน  โดยเอไอเอสติดอันดับต่อเนื่อง 6 ปี

–         ดัชนีความยั่งยืน ESG 100  ซึ่งใช้หลักเกณฑ์ในการพิจารณาจากข้อมูลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม ธรรมภิบาล (ESG) พร้อมผลประกอบการของบริษัทควบคู่ไปพร้อมกัน โดยใช้  เรตติ้งโมเดลที่พัฒนาขึ้นจากหลักการตามมาตรฐานการประเมินความยั่งยืนของ GISR (Global Initiative For Sustainability Ratings)  โดยเอไอเอสติดอันดับต่อเนื่อง 6 ปี

“ความสำเร็จครั้งนี้ เกิดจากการรวมพลังของบุคลากรในองค์กรตั้งแต่ผู้บริหาร พนักงาน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่ได้นำหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืนมาปรับประยุกต์ใช้ในการทำงานตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ ทำให้เกิดแรงขับเคลื่อนที่มีพลัง โดยเราจะยังคงเดินหน้าปฏิบัติตามพันธกิจนี้อย่างต่อเนื่องต่อไป” นายสมชัย กล่าวย้ำ

CPF การันตี “กุ้งซีพี แปซิฟิก” ปลอดภัย ส่งตรงจากปากบ่อถึงมือผู้บริโภค

0

นายไพโรจน์ อภิรักษ์นุสิทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ธุรกิจสัตว์น้ำ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์เกิดโควิด-19 ในตลาดกลางขายกุ้งจังหวัดสมุทรสาคร อาจทำให้หลายคนเกิดความกังวลกับการเลือกซื้อกุ้งเพื่อการบริโภค ในขณะที่ “กุ้ง ซีพีแปซิฟิก” เป็นกุ้งที่สด สะอาด ปลอดภัยกับผู้บริโภคทุกคน และเป็นกุ้งที่จับจากปากบ่อส่งตรงถึงมือผู้บริโภคทันที ณ ร้านซีพีเฟรชมาร์ท ซึ่งมีมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 อย่างเข้มงวด

ทั้งนี้ กระบวนการผลิต “กุ้งซีพีแปซิฟิก” จะเริ่มต้นตั้งแต่กระบวนการเลี้ยงที่ดีด้วยระบบ CPF Combine Model ภายใต้แนวทาง “3 สะอาด” ซึ่งประกอบด้วย พื้นบ่อสะอาด น้ำสะอาด และ ลูกกุ้งสะอาด ปรับปรุงสภาพแวดล้อมของบ่อเลี้ยงกุ้งให้สะอาดขึ้น ช่วยให้กุ้งอยู่สบาย กินอาหารได้ดี มีอัตราการเติบโตที่ดี รวมถึง การใช้โปรไบโอติก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเลี้ยง ลดความเสี่ยงการเกิดโรคของกุ้ง โดยไม่ใช้ยาปฏิชีวนะในระหว่างการเลี้ยง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

สำหรับในสถานการณ์โควิด-19 ซีพีเอฟ ให้ความรู้เกษตรกรซึ่งเป็นต้นทางของการผลิตกุ้งในการป้องกันโควิดอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เกิดการระบาดครั้งแรก ไม่ว่าจะเป็นการแนะนำการลงกุ้งเข้าเลี้ยง มาตรการป้องกันโรคของแรงงาน วิธีการจับกุ้ง ฯลฯ โดยกระบวนการทั้งหมดเป็นไปอย่างรอบคอบรัดกุม โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบ Logistic ของบริษัทที่สามารถขนส่งกุ้ง “ซีพีแปซิฟิก” จากปากบ่อส่งตรงถึงมือผู้บริโภค ช่วยลดการสัมผัสของคนจำนวนมาก ตอบโจทย์วิถีปกติใหม่ (New Normal) ที่ต้องเว้นระยะห่าง (Social Distancing) ลดการสัมผัสและลดการปนเปื้อนให้มากที่สุด เพราะความปลอดภัยของอาหารเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวด

“ซีพีเอฟ ให้ความสำคัญต่อความปลอดภัยทางอาหาร การดูแลห่วงโซ่อุปทานการผลิตกุ้งอย่างรอบด้านจะเริ่มตั้งแต่การส่งเสริมการใช้วัตถุดิบผลิตอาหารสัตว์ที่ตรวจสอบแหล่งที่มาได้ สู่ฟาร์มเลี้ยงตามหลักวิชาการและมาตรฐานสากล และการพัฒนาพันธุ์กุ้งที่โตไว สะอาด แข็งแรง ต้านทานโรค ไร้สารตกค้าง เป็นผลิตภัณฑ์สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ตลอดห่วงโซ่การผลิต” นายไพโรจน์กล่าวทิ้งท้าย

เครือซีพี เดินหน้ามุ่งสู่เป้าหมายความยั่งยืนภายในปี 2030

0

เครือเจริญโภคภัณฑ์ จัดงาน “CG Network Recognition  Awards” ซึ่งถือเป็นการจัดงานมอบเกียรติบัตรเชิดชูผู้บริหารตั้งแต่ระดับกลางขึ้นไปจากกลุ่มธุรกิจของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ทั้งบริษัทจดทะเบียนและไม่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อเป็นการแสดงความขอบคุณและสร้างขวัญกำลังใจให้กับผู้ปฏิบัติงานที่มีส่วนร่วมเป็นกำลังสำคัญในการเป็นเครือข่ายสนับสนุนการดำเนินงานด้านธรรมาภิบาลของเครือฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญที่จะขับเคลื่อนเครือฯให้บรรลุเป้าหมายความยั่งยืนของเครือฯภายในปี 2030 โดยได้รับเกียรติจาก คุณ สุภกิต เจียรวนนท์ ประธานกรรมการ เครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นผู้มอบเกียรติบัตร ทั้งนี้มีผู้ได้รับเกียรติบัตรจำนวน 72 คนจาก 18 กลุ่มธุรกิจของเครือฯ

คุณ รงค์รุจา สายเชื้อ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านธรรมาภิบาล สำนักบริหารความยั่งยืน ธรรมาภิบาลและสื่อสารองค์กร เครือฯ กล่าวสรุปผลการดำเนินงานด้านธรรมาภิบาลของเครือฯในปี 2563 ว่า  เครือเจริญโภคภัณฑ์มีความก้าวหน้าและสามารถบรรลุเป้าหมายการดำเนินงานด้านธรรมาภิบาลที่ตั้งไว้ได้อย่างมีประสิทธิภาพผ่านการขับเคลื่อนภารกิจที่สำคัญ 3 ด้าน คือ การพัฒนาศักยภาพ การสร้างวัฒนธรรมองค์กร และการเปิดเผยข้อมูลและการสร้างความสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

ในด้านการพัฒนาศักยภาพ สามารถบรรลุเป้าหมายได้ครบสมบูรณ์ มีการดำเนินการพัฒนาโครงสร้างการกำกับดูแลกิจการที่ดีให้กลุ่มธุรกิจในเครือฯที่ไม่ได้จดทะเบียนที่ชัดเจนมากขึ้นทำให้เกิดความโปร่งใสของการปฏิบัติงาน มีการพัฒนาระบบการกำกับดูแล กระบวนการติดตามและการรายงานผล รวมไปถึงการพัฒนานโยบายและแนวทางปฏิบัติที่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ธรรมาภิบาล โดยปีนี้ยังเป็นปีแรกที่ได้มีการจัดทำการประเมินตนเองเกี่ยวกับการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งเป็นการจัดทำแนวปฏิบัติในการป้องกันความเสี่ยงจากการทุจริตคอร์รัปชั่นด้วย

ด้านการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ถือเป็นเป้าหมายสำคัญของปีนี้ มีผลการดำเนินงานเป็นที่น่าภูมิใจ โดยพนักงานในเครือฯ 350,000 คนทั่วโลก ได้ร่วมทำการทดสอบและเข้ารับการอบรมจริยธรรมธุรกิจ หรือ Code of Conduct (CoC ) ซึ่งผลการดำเนินการในด้านการสร้างการเรียนรู้และทดสอบกับพนักงานทั่วโลกเป็นไปตามเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้ พร้อมกันนี้ยังได้มีการจัดฝึกอบรม Top Executive Training 4 หลักสูตร และ Manager Training 4 หลักสูตร ตลอดจนมีการจัด CEO Interview สัมภาษณ์ผู้นำองค์กรในการผลักดันนโยบายด้านการกำกับและส่งเสริมกิจการที่ดี

สำหรับการเปิดเผยข้อมูลและการสร้างความสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยได้มีการจัดทำรายงานประจำปี CG Report เผยแพร่สาธารณะเพื่อแสดงให้เห็นถึงความโปร่งใสของการดำเนินธุรกิจ และจัดทำจดหมายข่าว (Newsletter) รูปแบบออนไลน์ CG Voices รวมไปถึงการเพิ่มช่องทางการสื่อสารด้านธรรมาภิบาลให้กับพนักงานในเครือฯผ่านแพลทฟอร์ม CPG Connect และเว็บไซต์ We are CP

ซีพีเอฟ ชู “บัลลังก์โมเดล” สร้าง สมาร์ทฟาร์มเมอร์ ปลูกข้าวโพดยั่งยืน

0

บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ร่วมกับ บริษัท กรุงเทพโปรดิ๊วส จำกัด (มหาชน) ภายใต้กลุ่มธุรกิจการค้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ เดินหน้า ส่งเสริมเกษตรกรรายย่อย ในเทศบาลตำบลบัลลังก์ อ.โนนไทย จ.นครราชสีมา ใช้ความรู้และเทคโนโลยีทันสมัย เพิ่มประสิทธิภาพปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม ปลดล็อกปัญหาความยากจน ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร ภายใต้ โครงการ “เกษตรกรพึ่งตน ข้าวโพดยั่งยืน” ขับเคลื่อนห่วงโซ่การผลิตอาหารอย่างรับผิดชอบ ตรวจสอบย้อนกลับได้ ระบุวัตถุดิบผลิตอาหารสัตว์มาจากพื้นที่ปลูกถูกต้องมีเอกสารสิทธิ์ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม พัฒนาศักยภาพเกษตรกร เป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์เติบโตอย่างยั่งยืนในวิถีใหม่

นายวรพจน์ สุรัตวิศิษฏ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงเทพโปรดิ๊วส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในปีนี้ ซึ่งนับเป็นปีที่ 5 ของการดำเนินโครงการ “เกษตรกรพึ่งตน ข้าวโพดยั่งยืน”​ เกษตรกรรายย่อยที่เข้าร่วมโครงการฯ 800 ครอบครัวในพื้นที่เทศบาลตำบลบัลลังก์ อ.โนนไทย จ.นครราชสีมา และใกล้เคียง ครอบคลุมพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 15,000 ไร่ ต่างพอใจกับผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในฤดูกาลนี้มาก ได้ผลผลิตที่ดีเต็มเม็ดเต็มหน่วย ทั้งจากปริมาณฝนที่เพียงพอ และที่สำคัญ เกษตรกรมีความรู้ความเข้าใจในการจัดการปลูกมากขึ้น ผ่านการใช้เครื่องมือ และการวิเคราะห์ข้อมูลจาก Chatbot เข้ามาช่วยเกษตรกรรายย่อยได้เข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการปลูก การเก็บเกี่ยว จนถึงการจัดจำหน่ายผลผลิต

โปรแกรม Chatbot เป็นหนึ่งเทคโนโลยีช่วยตอบโจทย์ในการพัฒนาศักยภาพเกษตรกรรายย่อยในวิถีใหม่ ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยของเกษตรกร ได้เข้าถึงและรับทราบข้อมูลที่เป็นประโยชน์ของเกษตรกร ได้แก่ ข้อมูลราคารับซื้อรายวัน สภาพอากาศ ที่จะเป็นตัวช่วยให้เกษตรกรในกำหนดเวลาปลูกและเก็บเกี่ยว เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพสูงสุด ผลผลิตต่อไร่ดี และ ราคารับซื้อข้าวโพดของโรงงานผลิตอาหารสัตว์ของซีพีเอฟ จะช่วยให้ เกษตรกรได้รับรู้ความเคลื่อนไหวของตลาดและราคารับซื้อข้าวโพดที่เป็นปัจจุบัน ช่วยป้องกันปัญหาเกษตรกรถูกเอาเปรียบ และมีทางเลือกในการจำหน่ายผลผลิตหรือเลือกขายให้กับโรงงานผลิตอาหารสัตว์ของซีพีเอฟโดยตรงได้

นายวิเชียร ใกล้สันเทียะ เกษตรกรในเทศบาลบัลลังก์ ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 140 ไร่ กล่าวว่า โครงการเกษตรกรพึ่งตน ข้าวโพดยั่งยืน และการเปิดรับซื้อผลผลิตโดยตรงของซีพีเอฟ เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มาก ช่วยแก้ปัญหาการถูกกดราคาผลผลิต การวัดความชื้น การชั่งน้ำหนักของโรงงานที่เป็นธรรมและได้มาตรฐาน ทำให้เกษตรกรมีกำลังใจที่จะพัฒนาคุณภาพผลผลิตให้ดีตามที่โครงการฯ เข้ามาช่วยแนะนำ ทำให้ผลผลิตที่เก็บเกี่ยวในปีนี้ดีขึ้น นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ส่งเสริมของบริษัท ยังให้ความสำคัญกับดิน โดยมีการเข้ามาช่วยวิเคราะห์คุณภาพของดิน และให้คำแนะนำการใช้ปุ๋ยขี้ไก่และการฝังกลมตอซังข้าวโพด ไม่เผาแปลงเพาะปลูก ทำให้คุณภาพของดินดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

“บัลลังก์โมเดล” นับเป็นพื้นที่แรกในการนำองค์ความรู้และเทคโนโลยีทันสมัยมาใช้เพื่อพัฒนาเกษตรกรรายย่อยสู่การเป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์ ตั้งแต่ การวิเคราะห์แร่ธาตุและอาหารในดินเพื่อทำสูตรปุ๋ยที่เหมาะสมให้ได้ผลผลิตดีที่สุด การนำเทคโนโลยี GIS (Geographic Information System) มาใช้ในการเก็บข้อมูลและวิเคราะห์สภาพพื้นที่เพาะปลูกอย่างรอบด้าน เพื่อนำไปสู่การจัดการเพื่อเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ล่าสุด นำโปรแกรม Chatbot มาใช้ นอกจากนี้ บริษัทยังมีการสนับสนุนเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ ด้วยการจัดหารถเก็บเกี่ยวและรถขนส่ง รวมถึงช่วยเหลือค่าใช้จ่ายค่าเก็บเกี่ยวและค่าขนส่งบางส่วน เพื่อลดภาระต้นทุน แก้ปัญหาแรงงานขาดแคลน เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคง มีคุณภาพชีวิตที่ดี และร่วมสนับสนุนการผลิตวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ตามแนวทางการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืน

โครงการ “เกษตรกรพึ่งตน ข้าวโพดยั่งยืน” เป็นความร่วมมือระหว่าง ซีพีเอฟ กับ บริษัท กรุงเทพโปรดิ๊วส จำกัด (มหาชน) ผู้จัดหาวัตถุดิบอาหารสัตว์ให้ซีพีเอฟ ที่ต้องการถ่ายทอดความรู้แก่เกษตรกรปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์บนพื้นที่มีเอกสารสิทธิ์ ได้ทำการเกษตรให้ได้ผลผลิตที่ดี มีคุณภาพ บนพื้นฐานการเกษตรที่ดีตามมาตรฐาน เพื่อให้เกษตรกรมีผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น ต้นทุนการผลิตลดลง ใช้สารเคมีทางการเกษตรอย่างเหมาะสม และได้ต่อยอดร่วมมือกับภาครัฐ และเทศบาลตำบลบัลลังก์ อ.โนนไทย จ.นครราชสีมา สร้าง “บัลลังก์โมเดล”​ ตั้งแต่ปี 2559 เพื่อสนับสนุนเกษตรกรในเทศบาลตำบลบัลลังก์ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์​ยั่งยืนแบบครบวงจร โดยมีเป้าหมายที่จะสร้างต้นแบบกลุ่มเกษตรกรที่มีความรู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตามหลักวิชาการไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม มีการบริหารจัดการในรูปแบบเกษตรแปลงใหญ่ นำเทคโนโลยีทันสมัยมาใช้ เพื่อเพิ่มคุณภาพผลผลิต ลดต้นทุน ปลดล็อกปัญหาราคาตกต่ำ และความยากจนของเกษตรกร ควบคู่กับการสร้างความพร้อมให้เกษตรกรไทยเข้าสู่ยุคเกษตรทันสมัย โดยใช้ข้อมูลเพื่อช่วยในการตัดสินใจ และมีส่วนร่วมสนับสนุนการสร้างห่วงโซ่อาหารที่รับผิดชอบและยั่งยืน

ซีพีเอฟ ปลดล็อกศักยภาพบุคลากรสร้างผู้นำแห่งอนาคต

0

จัดเสวนาพิเศษ The Creator : Be a Leader Who Creates Future Leaders

บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ จัดเสวนาพิเศษ ในหัวข้อ The Creator : Be a Leader Who Creates Future Leaders เพื่อสนับสนุนให้ผู้นำได้ปลดล็อกศักยภาพของตน สู่การเป็นนักสร้างผู้นำรุ่นใหม่ให้ประสบความสำเร็จในงานตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยผู้เข้าร่วมเสวนาจะได้เรียนรู้ประสบการณ์ตรงของผู้นำจากองค์กรขนาดใหญ่ และผู้นำจากบริษัทสตาร์ทอัพที่เติบโตเป็นองค์กรชั้นนำ สามารถบริหารคนรุ่นใหม่ด้วยมุมมองการเป็นผู้นำแบบชี้แนะแต่ไม่ชี้นำ เพื่อก้าวสู่การสร้างคนรุ่นใหม่ให้กลายเป็นผู้นำแห่งอนาคต

นางสาวพิมลรัตน์ รีพัฒนาวิจิตรกุล รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ด้านทรัพยากรบุคคล ซีพีเอฟ กล่าวว่า ซีพีเอฟ ต้องการสร้างผู้นำรุ่นใหม่ โดยเน้นการทำงานแบบรวดเร็วควบคู่กับคุณภาพ เพื่อให้องค์กรขับเคลื่อนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยปกติแล้วจะมีการประชุมร่วมกันระหว่างผู้บริหารในโครงการต่างๆเป็นประจำทุกเดือน แต่ครั้งนี้เป็นการเชิญวิทยากรผู้มีประสบการณ์ทั้งในด้านองค์กรและสตาร์ทอัพมาให้ถ่ายทอดเรื่องการทำงานจนประสบความสำเร็จ พร้อมทั้งเปิดให้ผู้เข้าร่วมเสวนาได้ถ่ายทอดประสบการณ์และพูดคุยถึงปัญหาที่พบในการทำงาน

“ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่จัดให้มีวิทยากรภายนอกมาร่วมเสวนา ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้ร่วมงานอย่างมาก และในครั้งถัดไปทีมงานจะรวบรวมและจัดหัวข้อเสวนาโดยใช้ผลการสำรวจความคิดเห็นว่าผู้นำแต่ละท่านต้องการเพิ่มเติมทักษะด้านใดแก่ผู้นำรุ่นใหม่ที่ต้องการจะสร้าง เพื่อให้เหมาะสมและสอดคล้องกับค่านิยมขององค์กร ซึ่งในที่สุดจะทำให้เกิดการต่อยอดและนำไปพัฒนาการทำงาน เป็นประโยชน์สูงสุดให้องค์กรต่อไป ” นางสาวพิมลรัตน์กล่าว

สำหรับวิทยากรที่ร่วมให้ความรู้ในครั้งนี้ ได้แก่ นายอภิรัตน์ หวานชะเอม Chief Digital Officer บริษัท SCG Cement-Building Materials จำกัด (SCG-CBM) ที่ร่วมเสวนาในหัวข้อ การบริหาร Talent ที่เป็นคนรุ่นใหม่ และการสร้าง Talent ใน way ใหม่ ขณะที่ นายณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ ผู้ก่อตั้งและ CEO ของบริษัท Ookbee ร่วมแบ่งปันในหัวข้อ คนรุ่นใหม่นำองค์กรและนำคนรุ่นใหม่ ให้สามารถ drive performance, fail fast learn fast โดยผู้เข้าร่วมเสวนาได้แลกเปลี่ยนมุมมองการเป็นผู้นำ เรียนรู้เส้นทางการเดินทางสู่การเป็นสุดยอดผู้นำ สร้างการเปลี่ยนแปลงให้องค์กรอยู่รอดในยุค Digital Disruption และรู้วิธีปลดล็อคศักยภาพทีมงานก้าวสู่การสร้าง Agile & Innovation Culture

นายพงษ์ศักดิ์ ไตรภูธร หนึ่งในนักสร้างผู้นำที่เข้าร่วมงาน กล่าวว่า การเสวนาในครั้งนี้มีประโยชน์มากทำให้ได้รู้แนวความคิดของผู้นำที่ประสบความสำเร็จ ขณะที่ตนมีน้องในทีมที่ต้องดูแล จึงต้องคอยให้คำแนะนำ ให้โอกาสได้ลองผิด ลองถูกและร่วมรับผิดชอบในผลลัพธ์ หากเกิดความผิดพลาดก็ต้องเรียนรู้และหาแนวทางแก้ไข ส่วนเรื่องของการชี้แนะหรือชี้นำขึ้นอยู่กับบริบทนั้นๆ เพราะในบางครั้งจำเป็นต้องชี้นำหากน้องมีประสบการณ์ในงานน้อย ส่วนถ้าเป็นเรื่องใหม่ก็ต้องแลกเปลี่ยนเรียนรู้ไปพร้อมกัน

ขณะที่นางสาววิภาวินี ชัยสุทธิโรจน์ อีกหนึ่งนักสร้างผู้นำ กล่าวว่า ได้เรียนรู้แนวทางการเป็นผู้นำที่ดี และการบริหารทีมที่จะสามารถนำไปปรับใช้ได้ ที่สำคัญคือการให้โอกาสทุกคนได้แสดงศักยภาพซึ่งจะทำให้เกิดการเป็นผู้นำ ตนเองรู้สึกประทับใจที่ได้มาเข้าร่วมการเสวนาในครั้งนี้ ได้ความรู้ใหม่ๆ เปิดประสบการณ์ที่แตกต่างที่จะสามารถนำไปต่อยอดในงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ การสร้างนักสร้างผู้นำ เป็นหนึ่งในกลยุทธด้านการพัฒนาบุคลากรของซีพีเอฟ ด้วยตระหนักดีว่า “คน” คือปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน

ซีพี เฟรชมาร์ท ยกระดับอาหารคุณภาพดี มาตรฐาน “ซูเปอร์มาเก็ตที่รัก”

0

ซีพี เฟรชมาร์ท เปิดกลยุทธ์รุกตลาด “ซูเปอร์มาเก็ตเรือธง” (Flagship Store) แหล่งรวมอาหารสด สะอาด ปลอดภัย ยกระดับคุณภาพพรีเมี่ยมรับสังคม “วิถีปกติใหม่” (New Normal) ส่งตรงถึงบ้านด้วยระบบสั่งซื้อออนไลน์ เสิร์ฟอาหารจากใจให้คนไทยทุกคน

ตั้งแต่ปี 2561 ซีพี เฟรชมาร์ท เดินหน้าแผนการตลาดเชิงรุกอย่างต่อเนื่องเพื่อขยายฐานลูกค้า ด้วยการปรับรูปแบบร้าน จัดระบบและบริหารจัดการสินค้าและบริการด้วยความรวดเร็ว ควบคู่ไปกับการรับผิดชอบต่อสังคมและใสใจสิ่งแวดล้อม สู่รูปโฉมใหม่โดยยกระดับให้เป็นซูเปอร์มาเก็ตเต็มรูปแบบมากขึ้น สินค้ามีความหลากหลายทั้งเนื้อสัตว์ ผักสด ผลไม้ และสินค้าอุปโภค เพื่อขยายฐานลูกค้ากลุ่มผู้ประกอบการ ร้านอาหาร ภัตตาคารและผู้บริโภค เพื่อตอบโจทย์กระแสความต้องการของลูกค้ายุค “ดิจิทัล” ที่ดูแลตัวเองมากขึ้นและให้ความสำคัญกับอาหารสด สะอาด ปลอดภัย

ซีพี เฟรชมาร์ท มีการทยอยปรับปรุงตกแต่งสาขาเดิมเพื่ออำนวยความสะดวกลูกค้า โดยเน้นผลิตภัณฑ์และอาหารสดคุณภาพดีปลอดภัยให้ชุมชน ร้านอาหาร สามารถเข้าถึงได้ ปัจจุบันมีสาขารวมทั้งสิ้น 350 แห่ง เพื่อรองรับความต้องการของชุมชนทั้งสินค้า ตลอดจนบริการสั่งซื้อออนไลน์ส่งถึงบ้านและร้านอาหารฟรี

ล่าสุด ซีพี เฟรชมาร์ท ได้รับการคัดเลือกจากผู้บริโภคให้เป็น 1 ใน 3 “ซูเปอร์มาเก็ตที่รัก” ในปี 2563 ดำเนินการคัดเลือกโดยเครือข่ายกินเปลี่ยนโลก มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และองค์การอ็อกแฟม ประเทศไทย (Oxfam Thailand) โดยประเมินซูเปอร์มาร์เก็ตไทยจำนวน 8 แห่ง ใน 3 มิติ คือ 1. ความรับผิดชอบต่อสวัสดิการผู้บริโภค เช่น ความปลอดภัยของอาหาร ส่วนประกอบและที่มาของอาหาร กลไกการรับเรื่องร้องเรียน 2. ความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมสำหรับคู่ค้า เช่น การส่งเสริมอาหารยั่งยืน การใช้ยาและสารเคมี การบริหารจัดการน้ำ และ 3.ความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมของห้างค้าปลีก เช่น บรรจุภัณฑ์พลาสติก การจัดการน้ำทิ้ง ความสัมพันธ์กับชุมชน

นายสุจริต มัยลาภ รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ธุรกิจการค้าในประเทศ ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า กระแสโลกยุคดิจิทัล และ disruption เป็นปัจจัยสำคัญในการกระตุ้นให้บริษัทต่างๆ ต้องหานวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้า ซีพีเอฟ ในฐานะบริษัทผู้ผลิตอาหารและอาหารสดระดับโลกด้วยมาตรฐานสากล มีเป้าหมายในการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการให้มีความชัดเจนมากขึ้นให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค ทั้งรูปแบบการให้บริการที่ร้าน การสั่งซื้อออนไลน์และส่งสินค้าที่บ้าน

“การปรับตัวของ ซีพี เฟรชมาร์ท นอกจากจะอำนวยความสะดวกให้ผู้บริโภคและคู่ค้าของเราในระบบนิเวศสังคมไร้เงินสด หรือ Cashless Society แล้ว ยังมุ่งมั่นอำนวยความสะดวกด้วยบริการที่สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า เพื่อสร้างความพึงพอใจให้กับกลุ่มเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ” นายสุจริต กล่าว

นอกจากนี้ ในช่วงวิกฤตโควิด-19 ซีพี เฟรชมาร์ท ยังให้การสนับสนุนคู่ค้ากว่า 100 ราย อย่างใกล้ชิด เช่น การจ่ายเงินค่าสินค้าตรงเวลา ส่งเสริมการขายสินค้า เป็นต้น ช่วยให้คู่ค้าสามารถวางแผนธุรกิจได้ต่อเนื่องและสามารถรักษาธุรกิจไว้ได้

ซีพีเอฟ ปั้นเชฟอาชีวะสู่มืออาชีพ ต่อยอดความรู้ เติมเต็มความฝัน

0

บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ โดย ซีพี เฟรชมาร์ท ร่วมกับศูนย์บ่มเพาะของวิทยาลัยอาชีวศึกษาเสาวภา จัดโครงการ ปั้นฝันเชฟน้อยสู่มืออาชีพ (Young Chef rising star) เสริมสร้างทักษะการทำอาหาร การเลือกใช้วัตถุดิบปลอดภัย รวมถึงทักษะการขายให้กับน้องๆนักศึกษาอาชีวะภาควิชาคหกรรม โดยมีทีมเถ้าแก่กลาง ซีพี เฟรชมาร์ท เขตพระนครดูแลใกล้ชิด ได้ดำเนินโครงการมาตั้งแต่เดือนกันยายน 2563 จนถึงรอบตัดสิน และได้ผู้ชนะ 3 คนที่จะมีเมนูของตนวางขายจริงในร้านดัง 

ตลอดระยะเวลาของการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้การทำอาหารจากเชฟมืออาชีพ หลักการเลือกใช้วัตถุดิบเพื่อนำมาประกอบเป็นเมนูต่างๆ อย่างสร้างสรรค์ รวมถึงทักษะการขาย เพื่อให้น้องๆ อาชีวะสามารถเป็นเชฟได้อย่างมืออาชีพและต่อยอดประกอบธุรกิจของตนเองได้ในอนาคต โดยในรอบตัดสิน ผู้เข้าแข่งขันทุกคนได้รับโจทย์ในการสร้างสรรค์เมนูจาก “ไก่เบญจา” โดยเมนูของผู้ชนะจะถูกเลือกให้เป็นเมนูประจำร้านอาหารนารา ไทย คูซีน พร้อมรับเงินรางวัลมูลค่า 5,000 บาท 

ผลการตัดสินในครั้งนี้ พิจารณาจากความโดดเด่นในด้านของการนำเสนอเมนูอาหาร การควบคุมต้นทุน นำวัตถุดิบประกอบเมนูอย่างสร้างสรรค์ รสชาติล้ำเลิศ และการจัดจานอาหารที่มีความดึงดูดน่าทาน ปรากฏว่ามีผู้ชนะทั้งหมด 3 คน ได้แก่ 

1.) นายคุณานนท์ สีงาม จากเมนู ไก่ย่างพริกเผา ห่อใบเตยซอสไข่เค็ม  

2.) นางสาววรรษมน แมสซิลี จากเมนูข้าวมันส้มตำไก่ย่างพริกแกงเผ็ด  

3.) นายเจษฎาภรณ์ สังเวียนดี จากเมนูเบญจาพาเพลิน  

นางนราวดี ศรีกาญจนา เจ้าของร้านอาหารนารา ไทย คูซีน กล่าวว่า ในปัจจุบันอาหารอร่อยอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ เนื่องจากผู้บริโภคให้ความสนใจหน้าตาอาหารด้วย และถึงแม้ว่าโจทย์ที่ใช้ในการแข่งขันจะมีไก่ย่างชูโรง แต่น้องๆ ก็สามารถรังสรรค์เมนูต่างๆ ออกมาได้อย่างลงตัว สร้างมูลค่าเพิ่มให้เมนูอาหารได้อย่างน่าประทับใจ จึงตัดสินเลือกทั้ง 3 เมนูเพื่อนำไปขายจริงในร้านนารา ไทย คูซีน กว่า 13 สาขา 

นายพาสกร ชูมี ผู้จัดการฝ่ายครัวกลาง ซีพีเอฟ เชฟที่ให้คำแนะนำกับน้องๆ กล่าวว่า น้องๆอาชีวะที่เข้าร่วมโครงการฯ มีความสามารถเฉพาะตัว จึงไม่ใช่เรื่องยากที่จะปั้นน้องๆ ให้เป็นมืออาชีพ โดยได้มีการแนะนำเทคนิคในการทำอาหาร การเลือกใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพ ซึ่งในการรังสรรค์แต่ละเมนูต้องคำนึงถึงวัตถุดิบเป็นสิ่งสำคัญ รวมถึงคุณภาพ ความปลอดภัย มีมาตรฐาน ที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคว่าอาหารที่ส่งมอบนั้นมีความสะอาดและปลอดภัยตลอดห่วงโซ่อาหาร 

ด้านนางสาววรรษมน แมสซิลี ตัวแทนผู้ชนะในโครงการฯ กล่าวว่า รู้สึกดีใจกับความสำเร็จครั้งนี้ ตั้งแต่เข้าร่วมโครงการมีอุปสรรคความท้าทายมากมาย เช่น การเลือกใช้วัตถุดิบอย่างไรให้เหมาะสม มีปรับสูตรอาหารหลายครั้งเพื่อให้ได้รสชาติลงตัว โดยมีเชฟมืออาชีพของซีพีเอฟคอยให้คำแนะนำและสนับสนุนในทุกๆด้าน จนในที่สุดก็ได้เมนูอาหารที่ถูกคัดเลือกและได้นำไปขายจริง จึงอยากขอขอบคุณซีพีเอฟ และซีพี เฟรชมาร์ท ที่จัดโครงการดีๆ เปิดโอกาสให้นักศึกษาอาชีวะได้เรียนรู้ประสบการณ์จากมืออาชีพต่อยอดสู่สากล./ 

ซีพีเอฟ ทุ่มวิจัยพัฒนาเลี้ยงสุกรเพื่ออุตสากรรมเติบโตอย่างยั่งยืน

0

มองโรคระบาดยังทำให้สุกรขาดตลาด ราคาปีหน้ายังยืนสูง

นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า ปัจจุบัน โครงสร้างอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรเปลี่ยนแปลงไปจากอดีต การยั่งยืนได้ต้องอาศัยการวิจัยและพัฒนาที่มีประสิทธิภาพ ครอบคลุมตั้งแต่การบริหารต้นทุนให้ลดลง จากการสรรหาวัตถุดิบ การพัฒนาสายพันธุ์ให้ได้มาซึ่งพันธุ์ที่แข็งแรง และการเลี้ยงสุกรที่ต้องมีมาตรฐานอาชีวอนามัยเพื่อป้องกันโรคระบาด นอกเหนือไปจากการมีฟาร์มและการจัดการการเลี้ยงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมแหล่งน้ำในการผลิตที่เพียงพอ

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ โรคระบาดในอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรยังไม่มีวัคซีนป้องกัน ทั้งโรคเพิร์ส (PRRS) และโดยเฉพาะโรคแอฟริกันสไวน์ฟีเวอร์ (ASF) ที่ทำให้การเลี้ยงสุกรในประเทศจีนและเวียดนามเสียหาย ส่งผลให้เกิดภาวะสุกรขาดตลาดอย่างมาก การพยายามกลับมาเลี้ยงใหม่ก็อาจจะยังประสบความเสียหายได้หากระบบการเลี้ยงไม่มีมาตรการป้องกันด้านชีวอนามัยที่เคร่งครัด ซีพีเอฟจึงมุ่งมั่นในการวิจัยและพัฒนามาตรฐานการเลี้ยงที่มีมาตรฐานชีวอนามัยที่สูง ประกอบกับการพัฒนาพันธุ์สุกรให้แข็งแรง มีความต้านทานโรคสูงอย่างต่อเนื่อง

นายประสิทธิ์ กล่าวว่า การที่โรค ASF ทำให้สุกรขาดตลาดในประเทศจีน เวียดนามและประเทศเพื่อนบ้านของไทยส่งผลให้มีการนำเข้าสุกรจากประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างมาก และความต้องการยังมีมาต่อเนื่อง ทำให้ราคาสุกรในไทยปรับตัวสูงขึ้นในช่วงนี้ การจะเร่งเลี้ยงสุกรในหลายประเทศให้มีผลผลิตเท่าก่อนมีโรค ASF ในภูมิภาคนี้อาจใช้เวลาอีกประมาณ 2-3 ปี และสุกรอาจไม่ใช่สินค้าโภคภัณฑ์พื้นฐานอีกต่อไป ความสามารถในการเลี้ยงให้ปลอดโรคและมีต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ จะเป็นปัจจัยหลักสำหรับความสำเร็จของธุรกิจสุกร จึงมองว่าในภูมิภาคนี้ราคาสุกรใน 1-2 ปีข้างหน้าจะยังคงอยู่ในระดับสูงจากภาวะสุกรขาดตลาด