Home Blog Page 352

กสทช. จับมือ อย. สังฟันโฆษณาถั่งเช่าเกินจริง ลั่นลวงโลกต้องกำจัดให้สิ้นซาก

0

พลโท ดร. พีระพงษ์ มานะกิจ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เปิดเผยว่า กสทช. ตรวจสอบพบการโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารถั่งเช่าซึ่งมีบุคคลในแวดวงบันเทิงเป็นพรีเซนเตอร์ อ้างว่าผลิตภัณฑ์ถั่งเช่าสามารถรักษาได้สารพัดโรค โดยกสทช. ไม่ได้นิ่งนอนใจ เมื่อการโฆษณาหลอกลวงผู้บริโภคครั้งใหญ่กลับมา กสทช. จะจับมือกับ อย. ให้แน่นกว่าเดิม และร่วมกันกวาดล้างการโฆษณาอีกครั้ง เพื่อกำจัดโฆษณาลวงโลกเหล่านี้ให้สิ้นซาก

ค่าปรับของ กสทช. กฎหมายกำหนดไว้สูงสุด คือ ไม่เกิน 5 ล้านบาท และปรับรายวันอีกวันละไม่เกิน 1 แสนบาท โดยที่ผ่านมามีสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมโดยปรับเป็นเงิน 5 แสนบาท ไปแล้ว 1 ราย และยังมีสถานีวิทยุอีก 2 ราย ที่โดนลงโทษปรับรายละ 1 แสนบาท นอกจากนี้กรณีของสถานีวิทยุหากมีประวัติการกระทำความผิดจะเหลืออายุใบอนุญาตเพียง 6 เดือน (จากปกติใบอนุญาตมีอายุ 1 ปี) ซึ่งขณะนี้มีสถานีถูกลดอายุใบอนุญาตไปแล้ว 150 ราย

นอกจากการโฆษณาถั่งเช่าแล้ว ยังมีการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเกี่ยวกับดวงตา อ้างรักษาสารพัดโรคตา ในกรณีนี้ กสทช. ได้รับความร่วมมือจากราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย ในการวินิจฉัยและให้ความเห็นเกี่ยวกับเนื้อความการโฆษณา จนนำไปสู่การลงโทษปรับ ตามมาตรา 37 ของ พ.ร.บ. การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 ซึ่งปัจจุบันมีสถานีวิทยุที่มีการโฆษณาในลักษณะนี้ และถูกปรับไปแล้ว 6 ราย รายละ 5 หมื่นบาท และอยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อเสนอปรับอีก 3 ราย

เภสัชกรหญิงสุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์ถั่งเช่าที่ อย. อนุญาตมี 2 กลุ่ม คือ ผลิตภัณฑ์สมุนไพร (ยาแผนโบราณ) และผลิตภัณฑ์อาหารที่มีถั่งเช่าเป็นส่วนประกอบ เพื่อบำรุงร่างกายทั่วไป เสริมจากการรับประทานอาหารตามปกติ ดังนั้น การโฆษณาว่า ผลิตภัณฑ์จากถั่งเช่าสามารถรักษาสารพัดโรค จึงเป็นการโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาต และโฆษณาโอ้อวดเกินจริง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ที่ผ่านมา 2563 อย. ดำเนินคดีโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหาร ผลิตภัณฑ์สมุนไพร และผลิตภัณฑ์สุขภาพประเภทอื่น ทางสื่อต่าง ๆ จำนวน 1,388 คดี ทั้งนี้ อย. จะเป็นผู้วินิจฉัยความผิดที่พบทางสื่อ และดำเนินคดีกับผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้จำหน่าย หรือผู้ทำการโฆษณา ตามกฎหมายที่ อย. รับผิดชอบ ส่วน กสทช. จะเป็นผู้ดำเนินการกับสถานีที่ออกอากาศตามกฎหมายที่ กสทช. รับผิดชอบ โดยตั้งแต่ปี 2561-2563 อย. ได้วินิจฉัยความผิดที่พบส่งให้ กสทช. ดำเนินการแล้ว 250 เรื่อง และเป็นผลิตภัณฑ์จากถั่งเช่า 58 เรื่อง

ทั้งนี้ อย. เตือนผู้บริโภคโดยเฉพาะผู้ป่วย ผู้สูงอายุ อย่าหลงเชื่อโฆษณาเหล่านี้ เพราะนอกจากจะเสียเงินแล้ว ยังอาจทำให้โรคหรืออาการที่เป็นอยู่แย่ลง เสียโอกาสในการรักษา เนื่องจากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องโดยแพทย์ เป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่าง

ที่ผ่านมา กสทช. ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข ในการจัดการปัญหาการโฆษณาอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพทางสื่อวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์มาตั้งแต่มาตั้งแต่กลางปี 2561 ซึ่งจนถึงปัจจุบันมีการตรวจจับการโฆษณาทางโทรทัศน์ดิจิตอลได้ 17 ราย จำนวน 77 โฆษณา โทรทัศน์ดาวเทียม 90 ราย จำนวน 190 โฆษณา และวิทยุ 2,150 ราย จำนวน 4,058 โฆษณา โดย กสทช. มีอำนาจในการกำกับดูแลการโฆษณาทางสื่อโทรทัศน์ และวิทยุกระจายเสียงเท่านั้น ในส่วนของการโฆษณาทางสื่ออินเทอร์เน็ต และสื่อสังคมออนไลน์ จะมีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) ร่วมมือกับ อย. ในการจัดการปัญหาการโฆษณา

ซีพีเอฟ ตอกย้ำกระบวนการผลิตอาหารแปรรูปปลอดภัยครบวงจร หมดห่วงเรื่องโควิด-19

0

นายณฤกษ์ มางเขียว รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ธุรกิจอาหารสำเร็จรูป บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหารจำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ  เปิดเผยว่า โรงงานผลิตอาหารสำเร็จรูปของซีพีเอฟมีกระบวนการผลิตแบบระบบปิดโดยใช้เทคโนโลยีทันสมัย ตั้งแต่การคัดเลือกและเตรียมวัตถุดิบคุณภาพตามมาตรฐานที่กำหนด และต้องสด สะอาด ปราศจากสารเคมี โดยในแต่ละขั้นตอนผ่านการใช้ความร้อนเพื่อให้มั่นใจว่าปราศจากเชื้อแบคทีเรียและไวรัส มีการตรวจจับโลหะเพื่อป้องกันสิ่งแปลกปลอมที่อาจปะปนในอาหาร และลำเลียงเข้าห้องจัดเรียงสินค้าโดยใช้หุ่นยนต์อัตโนมัติ ก่อนที่ผลิตภัณฑ์จะถูกลำเลียงไปยังจุดต่างๆ ต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบอีกครั้ง ด้วยนวัตกรรมทันสมัยจากเครื่องตรวจสอบ วิเคราะห์ ที่ได้มาตรฐาน พร้อมนักวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ 

ทุกขั้นตอนผ่านการผลิตด้วยเทคโนโลยีการผลิตอาหารอัตโนมัติขั้นสูงเป็นที่ยอมรับในระดับสากล เพื่อสามารถรักษาคุณภาพของอาหารอย่างครบถ้วน อีกทั้งยังช่วยถนอมรสชาติและคุณภาพของอาหารเหมือนพึ่งปรุงสุกใหม่ นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์อาหารของซีพีเอฟมาจากการวิจัยและพัฒนา คิดค้นของนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์การอาหารให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่อร่อย มีคุณค่าทางอาหารแก่ผู้บริโภค

ด้วยลักษณะการดำเนินธุรกิจแบบครบวงจร บริษัทจึงมีศักยภาพในการควบคุมและตรวจสอบคุณภาพตลอดกระบวนการผลิตได้อย่างเป็นระบบ พร้อมนำระบบมาตรฐานสากลและมาตรฐานของกลุ่มลูกค้า ซึ่งได้รับรองจากหน่วยงานอิสระ (Third Party) มาประยุกต์ใช้ในการผลิตอาหาร  ขณะเดียวกัน ซีพีเอฟ ได้รับรองมาตรฐานที่ผ่านการรองรับมาตรฐานสากล อาทิ GMP มาตรฐานสุขลักษณะที่ดีในการผลิตอาหาร (Good Manufacturing Practice : GMP) ระบบการผลิตอาหารที่ปลอดภัย (Hazard Analysis Critical Control Point : HACCP) ระบบมาตรฐานบริหารงานคุณภาพ (ISO 9001) มาตรฐานสำหรับอุตสาหกรรมอาหารของประเทศอังกฤษ (British Retail Consortium : BRC) เป็นต้น ทั้งหมดนี้เป็นการดำเนินธุรกิจตามวิสัยทัศน์ “ครัวของโลก” ที่มุ่งมั่นใส่ใจส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการที่มีคุณภาพ ปลอดภัย สร้างความมั่นคงของอาหารในแนวทางที่สร้างคุณค่าและรักษาสมดุลทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

ออมสิน เผย 4 วันอนุมัติสินเชื่อเสริมพลังฐานราก 1.1 แสนราย

0

พร้อมปรับหลักเกณฑ์ให้คนเคยกู้สินเชื่อฉุกเฉินกู้อีกได้ ดีเดย์ 23 ม.ค.64 เป็นต้นไป ผ่าน MyMo

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้ห่วงใยสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งกระทรวงการคลังได้ออกมาตรการด้านการเงินเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ดำเนินการ โดยเฉพาะในส่วนของธนาคารออมสินมีมาตรการให้สินเชื่อเพิ่มเติมเพื่อประชาชนรายย่อย สินเชื่อเสริมพลังฐานราก วงเงิน 10,000 ล้านบาท ให้กู้สูงสุดรายละ 50,000 บาท ซึ่งเปิดให้ลงทะเบียนผ่านช่องทางแอปพลิเคชัน MyMo ตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2564 ที่ผ่านมานั้น ปรากฏว่ามีผู้สนใจยื่นกู้เป็นจำนวนมาก เพียง 4 วัน (15-18 มกราคม 2564) ธนาคารฯ ได้อนุมัติเงินกู้ไปแล้ว 110,000 ราย ซึ่งถือเป็นการให้กู้ยืมแบบดิจิทัล (Digital lending) ที่มีประสิทธิภาพอย่างมาก สะดวกและอนุมัติรวดเร็ว โดยขณะนี้ยังคงได้รับความสนใจอย่างมากมายและคาดว่าจะยังมีผู้สนใจอยู่อย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนรายย่อยและรองรับความต้องการที่มีเป็นจำนวนมากที่ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อเร่งด่วนที่คิดอัตราดอกเบี้ยต่ำได้ รวมถึงได้รับการอนุมัติที่รวดเร็ว ธนาคารจึงปรับหลักเกณฑ์การเข้าถึงสินเชื่อขึ้นใหม่เป็นกรณีพิเศษ โดยให้ผู้ที่เคยกู้สินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนา COVID-19 (สินเชื่อฉุกเฉิน) เมื่อปี 2563สามารถยื่นกู้ได้อีก ซึ่งการพิจารณาวงเงินสินเชื่อขึ้นอยู่กับเครดิตและประวัติการชำระ เปิดให้ลงทะเบียนขอสินเชื่อผ่านแอปพลิเคชัน MyMo ได้ตั้งแต่วันเสาร์ที่ 23 มกราคม 2564 นี้เป็นต้นไป

“การปรับเกณฑ์การให้สินเชื่อในครั้งนี้ เป็นความตั้งใจของธนาคารที่จะช่วยรายย่อย พ่อค้าแม่ค้า คนที่มีอาชีพอิสระที่เคยกู้สินเชื่อฉุกเฉินและได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในระลอกใหม่นี้ สามารถยื่นขอสินเชื่อเสริมพลังฐานรากได้ โดยให้รายละ 20,000 บาท หรือต้องมีประวัติการผ่อนชำระดีในช่วงที่ผ่านมา และไม่มีประวัติหนี้เสีย ซึ่งธนาคารจะพิจารณาช่วยเหลืออย่างเต็มที่”

ครม.อนุมัติ “เราชนะ” เริ่มเยียวยาต้นเดือนก.พ. ให้เป็นวงเงินรายสัปดาห์

0

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2564 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ซึ่งมีโครงการที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงการคลัง ได้แก่ โครงการเราชนะ เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพให้ประชาชนจากสถานการณ์โควิด-19 ระบาดระลอกใหม่ โดยจะสนับสนุนวงเงินช่วยเหลือให้แก่ประชาชน จำนวนประมาณ 31.1 ล้านคน วงเงินไม่เกิน 3,500 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นระยะเวลา 2 เดือน สำหรับเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 2564 วงเงินโครงการรวม 210,200 ล้านบาท

คาดว่าจะสามารถเริ่มสนับสนุนวงเงินให้แก่ผู้ได้รับสิทธิ์ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2564 โดยวงเงินช่วยเหลือเพื่อลดภาระค่าครองชีพดังกล่าว จะก่อให้เกิดการนำไปใช้เพื่อการใช้จ่ายสำหรับการอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภคที่จำเป็น และค่าใช้จ่ายสำหรับการเดินทาง อันจะก่อให้เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไปในคราวเดียวกัน

ส่วนเกณฑ์การคัดกรองผู้ได้รับสิทธิ์ จะพิจารณาจากความสามารถด้านรายได้ การมีระบบคุ้มครองทางสังคม และความช่วยเหลือจากภาครัฐที่ได้รับไปแล้วเป็นสำคัญ ซึ่งความช่วยเหลือจะครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่มอาชีพ เช่น ผู้ประกอบอาชีพอิสระ หาบเร่ แผงลอย รับจ้าง เกษตรกร เป็นต้น โดยผู้ได้รับสิทธิ์จะต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้

  1. เป็นผู้มีสัญชาติไทย อายุตั้งแต่ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ณ วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบโครงการฯ
  2. ไม่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ตามกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม ทั้งที่มีคุณสมบัติครบและไม่ครบตามเงื่อนไขการได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากสำนักงานประกันสังคม ณ วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบโครงการฯ
  3. ไม่เป็นข้าราชการ พนักงานราชการ พนักงาน ลูกจ้าง เจ้าหน้าที่ หรือผู้ปฏิบัติงานอื่นใดในหน่วยงานของรัฐที่ได้รับค่าตอบแทนจากหน่วยงานของรัฐโดยตรง ณ วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบโครงการฯ ทั้งนี้ หน่วยงานของรัฐให้หมายความถึงหน่วยงานของรัฐตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561
  4. ไม่เป็นข้าราชการการเมืองตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการการเมือง พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ณ วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบโครงการฯ
  5. ไม่เป็นผู้รับบำนาญปกติหรือเบี้ยหวัดจากส่วนราชการ
  6. ไม่เป็นผู้มีเงินได้พึงประเมินเกิน 300,000 บาท ตามฐานข้อมูลที่มีล่าสุด
  7. ไม่มีเงินฝากรวมกันทุกบัญชีเกิน 500,000 บาท ตามฐานข้อมูลที่มีล่าสุด

ทั้งนี้ เพื่อความรวดเร็ว ภาครัฐจะคัดกรองและตรวจสอบข้อมูลกลุ่มที่มีฐานข้อมูลอยู่แล้วเป็นอันดับแรก ได้แก่ กลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และกลุ่มผู้ที่มีแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ที่ได้ให้ความยินยอมให้นำข้อมูลไปประมวลผลหรือเปิดเผยเพื่อดำเนินมาตรการอื่น ๆ ของรัฐได้ สำหรับผู้ที่ไม่ได้อยู่ในฐานข้อมูลดังกล่าวสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ ผ่านเว็บไซต์ www.เราชนะ .com ได้ตั้งแต่วันที่ 29 มกราคม – 12 กุมภาพันธ์ 2564 ในช่วงเวลา 06.00 – 23.00 น.

เนื่องจากโครงการฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความช่วยเหลือด้วยการลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชน ภาครัฐจึงเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถสะสมวงเงินช่วยเหลือและสามารถใช้จ่ายได้จนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม 2564 โดยรูปแบบการจ่ายเงินจะมีลักษณะเป็นการจ่ายรายสัปดาห์เพื่อให้เกิดการกระจายการใช้จ่ายในแต่ละช่วงเวลาได้ ทั้งนี้ ภาครัฐจะดำเนินการจ่ายเงินให้แก่ผู้ได้รับสิทธิ์ในรูปแบบของวงเงินช่วยเหลือผ่าน 3 ช่องทาง ดังนี้

  • 1. กลุ่มผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จะได้รับวงเงินช่วยเหลือตลอดระยะโครงการฯ ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยแบ่งเป็น
    • 1.1 กลุ่มที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท/ปี ได้รับอยู่แล้ว 800 บาท/เดือน จะได้วงเงินช่วยเหลือเพิ่มอีก 675 บาท/สัปดาห์ (หรือ 2,700 บาท/คน/เดือน) วงเงินต่อคนตลอดระยะโครงการฯ จำนวน 5,400 บาท
    • 1.2 กลุ่มที่มีรายได้เกิน 30,000 แต่ไม่เกิน 100,000 บาท/ปี ได้รับอยู่แล้ว 700 บาท/เดือน จะได้วงเงินช่วยเหลือเพิ่มอีกคนละ 700 บาท/สัปดาห์ (หรือ 2,800 บาท/คน/เดือน) วงเงินต่อคนตลอดระยะโครงการฯ จำนวน 5,600 บาท ทั้งนี้ กลุ่มผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจะได้รับวงเงินช่วยเหลือทุก ๆ วันศุกร์ของแต่ละสัปดาห์ เริ่มตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นไป หรือจนกว่าจะครบวงเงิน
  • 2. กลุ่มผู้ที่มีแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ที่ได้ให้ความยินยอมให้นำข้อมูลไปประมวลผลหรือเปิดเผยเพื่อดำเนินมาตรการอื่น ๆ ของรัฐได้ (กลุ่มผู้ที่มีแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง”ฯ) ที่ผ่านการคัดกรองคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่กำหนดจะได้รับวงเงินช่วยเหลือผ่านระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์โดยภาครัฐ (g-Wallet) แอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” เป็นรายสัปดาห์ จำนวน 1,000 บาทต่อสัปดาห์ วงเงินต่อคนตลอดระยะโครงการ (หรือจนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม 2564) จำนวน 7,000 บาท

ทั้งนี้ กลุ่มผู้ที่มีแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” สามารถเข้าตรวจสอบสิทธิ์ผ่านเว็บไซต์ www.เราชนะ .com ได้ตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564 และจะเริ่มได้รับวงเงินช่วยเหลือทุก ๆ วันพฤหัสบดีของแต่ละสัปดาห์ เริ่มตั้งแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นไป หรือจนกว่าจะครบวงเงิน3. กลุ่มผู้ที่ไม่มีข้อมูลอยู่ในระบบฐานข้อมูลกลุ่มผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและกลุ่มผู้ที่มีแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง”ฯ (กลุ่มผู้ที่ไม่มีข้อมูลฯ) หลังจากลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์เราชนะ และผ่านการคัดกรองตามเกณฑ์ที่กำหนด จะต้องยืนยันตัวตนผ่านระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์โดยภาครัฐ (g-Wallet) แอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ก่อน จึงจะได้รับวงเงินช่วยเหลือเป็นรายสัปดาห์ จำนวน 1,000 บาทต่อสัปดาห์ วงเงินต่อคนตลอดระยะโครงการ (หรือจนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม 2564) จำนวน 7,000 บาท ทั้งนี้ กลุ่มผู้ที่ไม่มีข้อมูลฯ สามารถตรวจสอบสิทธิ์ผ่านเว็บไซต์ www.เราชนะ .com ได้ตั้งแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2564 และจะเริ่มได้รับวงเงินช่วยเหลือทุก ๆ วันพฤหัสบดีของแต่ละสัปดาห์ เริ่มตั้งแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นไป หรือจนกว่าจะครบวงเงินทั้งนี้ ผู้ได้รับสิทธิ์ตามโครงการฯ สามารถใช้วงเงินช่วยเหลือได้ที่ ร้านค้าธงฟ้าประชารัฐ, ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง และ ร้านค้าและผู้ให้บริการที่มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการเราชนะ ทั้งนี้ สำหรับร้านค้าและผู้ให้บริการที่สนใจสามารถลงทะเบียนผ่าน www.เราชนะ .com ตั้งแต่วันที่ 29 มกราคม – 31 มีนาคม 2564

Bitkub ปิดปรับปรุงเว็บและแอปฯ ฉุกเฉิน ไม่มีกำหนด หลังกลต.สั่งบริษัทแก้ไขระบบ คุ้มครองผู้ลงทุน

0

รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมา ปรากฏข้อมูลต่อก.ล.ต. ว่าเกิดกรณีปัญหากับระบบงานของ Bitkub โดยพบว่า มีกรณีที่ไม่สามารถให้บริการลูกค้าได้ตามปกติ และมีการหยุดชะงักของระบบงานสำคัญ ได้แก่ ระบบซื้อขายวันที่ 2 วันที่ 3 และวันที่ 16 มกราคม 2564 รวมทั้ง มีเรื่องร้องเรียนจำนวนมาก

คณะกรรมการ ก.ล.ต. ในการประชุมครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2564 อาศัยอำนาจตามมาตรา 35 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 มีมติให้บริษัทส่งแผนการแก้ไขให้ ก.ล.ต. และดำเนินการแก้ไขระบบงานที่เป็นประเด็นปัญหาให้แล้วเสร็จภายใน 5 วัน ได้แก่  

1)   แก้ไขการดำเนินการตามระบบงานต่าง ๆ ได้แก่ ระบบการซื้อขาย ระบบการฝากถอนเงินและสินทรัพย์ดิจิทัล ระบบการแสดงข้อมูลทรัพย์สินลูกค้า ระบบการให้บริการติดต่อลูกค้า ระบบการรับลูกค้า การยืนยันและพิสูจน์ตัวตนลูกค้า (KYC) และการเปิดบัญชี ระบบการจัดการเรื่องร้องเรียน และการจัดการบุคลากรให้เหมาะสมและเพียงพอกับปริมาณลูกค้าและธุรกรรม

2)   แก้ไขนโยบายการรับลูกค้าให้เหมาะสมกับระบบงานที่พร้อมให้บริการตามข้อตกลงระดับการให้บริการที่ตกลงไว้กับลูกค้า (Service Level Agreement)

3)   แก้ไขระบบงานที่สามารถรองรับการประกอบธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง (Business Continuity Plan) ให้ครอบคลุมถึงกรณีที่ระบบซื้อขายขัดข้อง สอดคล้องกับรูปแบบธุรกิจ ปริมาณลูกค้า และธุรกรรมในปัจจุบัน

4)   แก้ไขการดำเนินการตามระบบงานที่ช่วยเสริมสร้างและรักษากลไกการทำงาน ของระบบซื้อขายให้มีความเรียบร้อย (Market Surveillance)

ล่าสุด ทางBitkub ได้ประกาศปิดปรับปรุงระบบปิดปรับปรุงระบบแอปพลิเคชัน และเว็บไซต์ ฉุกเฉิน อย่างไม่มีกำหนด โดยให้เหตุลว่า เนื่องจากพบเหตุขัดข้องบางประการ ส่งผลให้ลูกค้าจะไม่สามารถเข้าใช้งานเว็ปไซต์และแอปพลิเคชัน Bitkub ได้ และจะประกาศให้ทราบทันทีหลังปรับปรุงระบบเสร็จ โดยสินทรัพย์ของลูกค้าจะยังปลอดภัยภายใต้การดูแลของบริษัท

กรมชลฯ เดินหน้าคุมค่าความเค็มแม่น้ำเจ้าพระยา ไม่กระทบผลิตน้ำประปา

0

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบัน อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ทั้ง 4 แห่ง คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 11,364 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 46 ของความจุอ่างฯ รวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 4,668 ล้าน ลบ.ม. ขณะนี้ทั้งประเทศมีการใช้น้ำไปแล้วประมาณ 1,843 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 46 ของแผนฯ เนื่องจากปีที่ผ่านน้ำต้นทุนมีจำกัด จำเป็นต้องสำรองน้ำไว้เพื่อการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศเป็นหลัก จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนช่วยกันประหยัดน้ำ และปฏิบัติตามแผนการบริหารจัดการน้ำอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดเพียงพอใช้ตลอดฤดูแล้งต่อเนื่องไปจนถึงต้นฤดูฝนหน้า

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน

สำหรับสถานการณ์ค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา หลังจากที่กรมชลประทานได้ร่วมกับการประปานครหลวง ปฏิบัติการ Water hammer ในช่วงวันที่ 13 – 16 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา ด้วยการระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยาปริมาณ 80 ลบ.ม.ต่อวินาที เพื่อผลักดันน้ำเค็มในแต่ละช่วงเวลา โดยจะหยุดสูบน้ำในช่วงที่น้ำขึ้น และบริหารจัดการด้านท้ายน้ำด้วยการเปิด-ปิดประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ตามจังหวะการขึ้นลงของน้ำให้สอดคล้องกัน ทำให้ปัจจุบัน วัดค่าความเค็มที่สถานีประปาสำแล ได้ 0.21 กรัมต่อลิตร ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ และไม่กระทบต่อน้ำดิบที่ใช้ผลิตประปาของการประปานครหลวง ทั้งนี้ ได้สั่งการให้โครงการชลประทานที่เกี่ยวข้องบริหารจัดการน้ำและอาคารชลประทาน เพื่อป้องกันความเค็มไม่ให้เข้าไปในพื้นที่การเกษตร ลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับประชาชนให้มากที่สุด

กรมชลประทาน จะเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำและค่าความเค็มในลุ่มน้ำต่างๆ อย่างใกล้ชิด พร้อมบริหารจัดการน้ำด้วยความประณีต เป็นธรรม เพื่อให้ทุกพื้นที่มีน้ำอุปโภคบริโภคตลอดช่วงฤดูแล้งปี 2564 อย่างเพียงพอ ภายใต้ปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่อย่างจำกัด จึงขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อให้มีปริมาณน้ำสำรองไว้ใช้ในยามขาดแคลนน้ำให้มากที่สุด หากหน่วยงานหรือประชาชนต้องการความช่วยเหลือสามารถติดต่อไปยังโครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทร.สายด่วนกรมชลประทาน 1460 ได้ตลอดเวลา

ฟาร์ม-โรงงาน-แรงงาน ของซีพีเอฟ ยกระดับมาตรการสูงสุด ผลิตอาหารปลอดภัย ป้องกันโควิด-19

0

นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ กล่าวว่า ในช่วงวิกฤตโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า (โควิด 19) ทำให้ความมั่นใจในการบริโภคอาหารทะเลและเนื้อสัตว์ลดลง ผู้บริโภคให้ความสำคัญเรื่องสุขอนามัยและความปลอดภัยของอาหารเป็นปัจจัยในการเลือกซื้อ ไม่ใช่เฉพาะอาหารทะเล ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของการระบาดของโรคฯ รอบใหม่ที่ตลาดกุ้ง-ปลา มหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร เท่านั้น แต่ยังขยายความระมัดระวังไปสู่เนื้อสัตว์ประเภทต่างๆ เช่น หมู ไก่ เป็ด ด้วย ซึ่งการชะลอการบริโภคเนื้อสัตว์และอาหารทะเลจะส่งผลต่อไปยังเกษตรกรไทยโดยตรง

ซีพีเอฟ ให้ความสำคัญสูงสุดกับการผลิตอาหารปลอดภัยและเพียงพอต่อการบริโภคของทุกคน ด้วยการนำระบบความปลอดภัยทางชีวภาพในการเลี้ยงสัตว์ (Farm Biosecurity) ซึ่งเป็นระบบป้องกันหรือลดความเสี่ยงในการนำเชื้อโรคเข้าสู่หรือกระจายโรคออกจากฟาร์มหรือโรงเรือน สถานที่เลี้ยงสัตว์ โรงฆ่าสัตว์ โรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์จากสัตว์ รวมไปถึงรถขนส่ง ภาชนะอุปกรณ์การจัดการขยะ ซากสัตว์และน้ำทิ้ง และเป็นวิธีการควบคุมโรคที่ได้ผลดีที่สุด เป็นแนวปฏิบัติพื้นฐานในการทำฟาร์มจนถึงกระบวนการผลิตอาหาร ซึ่งเป็นหลักประกันอาหารปลอดภัยสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ตลอดห่วงโซ่การผลิต

นายประสิทธิ์ กล่าวต่อไปว่า ระบบความปลอดภัยทางชีวภาพถูกนำไปใช้ในฟาร์มระบบปิด สุกร ไก่เนื้อ ไก่ไข่และกุ้ง ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิตตามเป้าหมายความปลอดภัยในห่วงโซ่การผลิตตั้งแต่เนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์อาหาร ตลอดจนผลิตได้อย่างต่อเนื่องไม่หยุดชะงัก สร้างความมั่นคงทางอาหาร และพร้อมถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีให้แก่เกษตรกรและคู่ค้าในห่วงโซ่การผลิต เพิ่มความปลอดภัยของวัตถุดิบในการผลิตอาหารอย่างรอบด้าน

นอกจากนี้ ซีพีเอฟ ยังมีการป้องกันไข้หวัดนกในธุรกิจไก่เนื้อ โดยประยุกต์ระบบ Compartment ขององค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (World Organisation for Animal Health ) ที่ให้ความสำคัญกับการเฝ้าระวังและควบคุมโรคฯ ในฟาร์มและพื้นที่กันชนในรัศมี 1 กม. และระบบการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) ซึ่งเป็นมาตรฐานการจัดการด้านความปลอดภัยทางชีวภาพสูงสุด และสามารถป้องกันโรคอื่นๆ ได้ ขณะที่ธุรกิจสัตว์น้ำ บริษัทฯพัฒนาระบบ CPF Combine Model ภายใต้แนวทาง “3 สะอาด” ซึ่งประกอบด้วย พื้นบ่อสะอาด น้ำสะอาด และ ลูกกุ้งสะอาด ซึ่งเป็นระบบที่ช่วยให้กุ้งอยู่สบาย กินอาหารได้ดี มีอัตราการเติบโตที่ดี รวมถึงการใช้จุลินทรีย์ในการเลี้ยง (Probiotic) ลดความเสี่ยงการเกิดโรคของกุ้ง โดยไม่ใช้ยาปฏิชีวนะในระหว่างการเลี้ยง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ซีพีเอฟ ยังยกระดับมาตรการความปลอดภัยขั้นสูงสุด ตามแนวทางปฏิบัติของภาครัฐและของเครือเจริญโภคภัณฑ์ โดยพนักงานทุกคนในฟาร์มและโรงงานต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เช่น การสวมหน้ากากอนามัย วัดอุณหภูมิก่อนเข้าปฏิบัติงาน ใช้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือทุกครั้งก่อนเข้าพื้นที่ รถขนส่งสินค้าทุกคันต้องผ่านการล้างทำความสะอาดและฆ่าเชื้อด้วยน้ำยาที่บริเวณล้อรถ และจัดจุดเทียบส่งสินค้าที่บริเวณลานรับและกระจายสินค้า ขณะที่ในกระบวนการผลิตมีการทำความสะอาด วัตถุดิบ กระบวนการผลิต ห้องบรรจุ และอุปกรณ์เครื่องมือทั้งหมดอย่างละเอียด เพื่อป้องกันแรงงานทุกคนและทุกขึ้นตอนการผลิตให้ปลอดภัยจากโรคโควิด-19

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังให้พนักงานสามารถทำงานที่บ้าน (Work from Home) โดยขึ้นกับความเหมาะสมของงาน และมีมาตรการป้องกันที่เข้มงวดด้านสุขอนามัยตลอดเวลา ตั้งแต่ที่บ้าน การเดินทางไป-กลับ การปฏิบัติตัวในระหว่างทำงาน การรับประทานอาหาร การรักษาระยะห่างทางสังคม (social distancing) ระยะห่างทางบุคคล (Physical Distancing) และมีการสื่อสารให้พนักงานรับทราบข้อมูลข่าวสารสถานการณ์อย่างทั่วถึง และมีกรอกข้อมูลการเดินทางในแอพพลิเคชั่น CPF Connect ตรวจสอบและติดตามข้อมูลการเดินทาง สำหรับการประเมินความเสี่ยงได้ทันท่วงที ซึ่งบริษัทฯ ยังสนับสนุนแนวทางปฏิบัติให้กับเกษตรกรและคู่ค้าดำเนินการไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อให้ห่วงโซ่การผลิตอาหารของบริษัทฯ ตรวจสอบย้อนกลับได้อย่างแม่นยำและปลอดภัยอย่างยั่งยืน

สยามแม็คโคร ติวเข้มพนง.เดลิเวอรี่ ลูกค้ามั่นใจบริการปลอดภัยโควิด

0

นางศิริพร เดชสิงห์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานการสื่อสารองค์กร บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน)เปิดเผยว่า สถานการณ์โควิด-19 ระบาดรอบใหม่ ทำให้ปริมาณผู้ใช้บริการเดลิเวอรี่ เพิ่มจำนวนมากขึ้น แม็คโครจึงได้ยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยและสุขอนามัยขั้นสูงสุด ครอบคลุมการบริการตลอดกระบวนการ ทั้งพนักงาน รถขนส่ง และอุปกรณ์ ผ่าน 3 มาตรการหลัก พร้อมทั้งวางมาตรการเสริม สร้างความมั่นใจให้กับพนักงานและลูกค้าผู้รับสินค้า ที่ใช้บริการ “คุณสั่ง เราส่ง” ผ่าน www.makroclick.com”

แม็คโครให้ความสำคัญกับการดำเนินมาตรการป้องกันโควิด-19 อย่างเข้มข้น ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ครอบคลุมถึงบริการเดลิเวอรี่ ภายใต้แนวทางปฏิบัติ ของกรมอนามัย กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ลูกค้ามั่นใจและเพื่อสุขอนามัยที่ดีของพนักงาน

มาตรการหลัก ประกอบด้วย 1.มาตรการด้านพนักงาน ต้องผ่านการตรวจวัดอุณหภูมิ, ล้างมือก่อนเข้าทำงาน, ใส่หมวกคลุมผม เฟซชิลด์ หน้ากากอนามัย ถุงมือยางลดการปนเปื้อน, ขออนุญาตลูกค้าใช้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ ก่อนและหลัง การเซ็นรับสินค้า 2.มาตรการด้านรถขนส่ง ทำความสะอาดห้องโดยสารและรอบคันรถ, ทำความสะอาดล้อรถ, ทำความสะอาดภายในตู้และกล่องบรรจุสินค้า 3.มาตรการด้านอุปกรณ์ ทำความสะอาดอุปกรณ์จัดส่งสินค้าด้วยเจลแอลกอฮอล์และน้ำยาฆ่าเชื้อทุกครั้ง, ตรวจสอบคุณภาพด้านความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ

นอกจากมาตรการเพื่อความปลอดภัยในด้านการบริการเดลิเวอรี่แล้ว แต่ละสาขาของแม็คโคร ศูนย์กระจายสินค้าที่ตั้งอยู่ทั่วประเทศ ยังคงระดับความเข้มข้นของมาตรการป้องกันโควิด-19 อย่างสูงสุด ดังนั้นลูกค้า และ ประชาชน มั่นใจในแม็คโคร ได้ถึงการเป็นแหล่งรวมอาหารสดปลอดภัยเพื่อคนไทย

ทีมหมอ-พยาบาลขอบคุณ CPF ส่งอาหารจากใจ สนับสนุนภารกิจสู้ภัยโควิด-19

0

ตลอดระเวลา 1 เดือนที่สถานการณ์การระบาดไวรัสโควิด-19 เกิดขึ้นเป็นวงกว้าง เป็นภารกิจที่เร่งรัดทีมแพทย์ พยาบาล และบุคลากรด้านสาธารณสุขในการตรวจหาผู้ติดเชื้อ เพื่อเฝ้าระวัง ควบคุมและสกัดกั้นการแพร่ระบาดของไวรัสให้มากที่สุด ขณะที่ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ร่วมส่งมอบผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมทาน ภายใต้โครงการ “CPF ส่งอาหารจากใจ ร่วมต้านภัยโควิด-19” ให้แก่ทีมแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางด้านสาธารณสุข ของ 15 โรงพยาบาลใน 6 จังหวัดที่เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด ประกอบด้วย จ.สมุทรสาคร สมุทรสงคราม นครปฐม ราชบุรี สุพรรณบุรี และกาญจนบุรี เพื่อแทนความห่วงใย สร้างขวัญกำลังใจให้นักรบแนวหน้าที่กำลังต่อสู้กับการระบาดครั้งนี้อย่างต่อเนื่อง 

เมื่อเร็วๆ นี้ โรงพยาบาลพระจอมเกล้า จ.เพชรบุรี ได้โพสต์เฟซบุ๊ค ขอบคุณซีพีเอฟ เป็นหนึ่งในองค์กรเอกชนที่มาสนับสนุนผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมทาน ให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาล สายธารน้ำใจของคนไทยช่วยให้บุคลากรของโรงพยาบาลทุกคนมีขวัญและกำลังใจทุ่มเททำงานหนักต่อสู้กับโควิด-19 และสามารถผ่านพ้นช่วงเวลาอันยากลำบากในครั้งนี้ไปด้วยกัน 

นอกจากนี้ เว็บไซต์ และเฟซบุ๊ค  โรงพยาบาลดำเนินสะดวก โรงพยาบาลนครปฐม โรงพยาบาลราชบุรี โรงพยาบาลบ้านโป่ง และโรงพยาบาลอื่นๆ ก็ได้แสดงความขอบคุณซีพีเอฟที่มาช่วยแบ่งเบาภารกิจด้านอาหารให้แก่โรงพยาบาล ซึ่งช่วยเพิ่มพลัง เพิ่มความเข้มแข็งให้กับบุคลากรของโรงพยาบาลที่เป็นด่านหน้าในการดำเนินภารกิจสู้ภัยโควิด-19 อย่างเสียสละ ท่ามกลางความเสี่ยงต่อการติดเชื้ออีกด้วย  

ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563 ซีพีเอฟ ได้จัดส่งอาหารพร้อมรับประทาน ให้แก่ทีมแพทย์ พยาบาล ของโรงพยาบาลสมุทรสาครจุดเริ่มต้นของการระบาดระลอกใหม่ ต่อมา ได้ขยายส่งมอบอาหารให้แก่โรงพยาบาลอีก 14 แห่ง ประกอบด้วย โรงพยาบาลกระทุ่มแบน โรงพยาบาลนครปฐม โรงพยาบาลบางเลน   โรงพยาบาลราชบุรี โรงพยาบาลดำเนินสะดวก โรงพยาบาลบ้านโป่ง  โรงพยาบาลบ้านแพ้ว  โรงพยาบาลสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า โรงพยาบาลนภาลัย โรงพยาบาลพระจอมเกล้า  โรงพยาบาลมะการักษ์ โรงพยาบาลพหลพลพยุหาเสนา  โรงพยาบาลพระยายมราช และโรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 17  ทั้งนี้ ซีพีเอฟส่งอาหารให้แก่ทั้ง 15 โรงพยาบาลรวมทั้งสิ้น 61,200 แพ็ค  

โครงการ “CPF ส่งอาหารจากใจ ร่วมต้านภัยโควิด-19”  ริเริ่มโดย นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร ซีพีเอฟ ที่นำความเชี่ยวชาญในการผลิตและส่งมอบอาหาร เป็นกำลังใจให้ทีมแพทย์ พยาบาล และบุคลากรด้านสาธารณสุข ซึ่งเป็นฮีโร่ของคนไทยในการต่อสู้กับวิกฤติโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 โดยก่อนหน้านี้          ซีพีเอฟ ได้ส่งมอบอาหารพร้อมทานให้แก่บุคลากรทางแพทย์ของ​โรงพยาบาลรัฐที่ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ในกรุงเทพและจังหวัดต่างๆ รวม 200 แห่ง และยังได้ต่อยอดมาช่วยดูแลสมาชิกในครอบครัวของนักรบเสื้อกาวน์ จัดส่งผลิตภัณฑ์อาหารสด อาหารพร้อมปรุง เป็นเสบียงอาหารให้ถึงบ้านหมอ-พยาบาล 20,000 ครอบครัวทั่วประเทศ รวมทั้ง จัดส่งอาหารให้โรงพยาบาลที่อยู่ติดชายแดนไทย-เมียนมา ในจ.ตาก อีก 5 แห่ง โดยมุ่งหวังว่าการสนับสนุนความเสียสละของนักรบเสื้อกาวน์ในรูปแบบต่างๆ เป็นอีกพลังที่ช่วยให้ประเทศไทยสามารถผ่านพ้นวิกฤตนี้ครั้งนี้ และเดินหน้าต่อไปได้

เทสโก้โลตัส รักษ์โลก จัดแคมเปญ ขวด 10 ใบ แลกไข่ไก่ 1 ฟอง

0

คุณสลิลลา สีหพันธุ์ ประธานกรรมการฝ่ายกิจการบรรษัท เทสโก้ โลตัส เปิดเผยว่า เป้าหมายของเทสโก้ โลตัส คือการลดขยะจากการบริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งขยะพลาสติก และขยะอาหาร เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) จึงเป็นที่มาของการติดตั้งเครื่องรับขวดพลาสติกแบบอัตโนมัติ (Reverse Vending Machine) ในสาขาเพื่อเก็บบรรจุภัณฑ์กลับเข้าระบบและนำไปรีไซเคิลต่อไป

สำหรับเครื่องรับขวดพลาสติกแบบอัตโนมัตินั้น เทสโก้ โลตัสได้มีการทดลองติดตั้งมาตั้งแต่เดือนกันยายน 2561 จนปัจจุบันมีเครื่องในสาขาแล้ว 15 แห่ง และตั้งแต่เดือนมกราคม-พฤศจิกายน 2563 สามารถเก็บขวดพลาสติกได้แล้วกว่า 800,000 ใบเพื่อนำกลับมารีไซเคิลเป็นถุงผ้าสำหรับช้อปปิ้ง โดยลูกค้าที่นำขวดพลาสติกมารีไซเคิล จะได้รับแต้มคลับการ์ด 25 แต้มต่อขวด 1 ขวด ซึ่งแต้มคลับการ์ดสามารถนำไปแลกเป็นส่วนลด และสิทธิพิเศษต่าง ๆ ได้

อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารเทสโก้ โลตัส พบด้วยว่า พฤติกรรมของลูกค้ายุคใหม่ ต้องการ instant reward หรือการตอบแทนโดยทันที จึงเป็นที่มาของการพัฒนาเครื่องรับขวดพลาสติกเจนเนอเรชั่นใหม่ ภายใต้โครงการ “ข.ขวด แลก ข.ไข่” ให้ลูกค้าสามารถ แลกไข่ไก่ฟรี 1 ฟองสำหรับขวดพลาสติกทุก ๆ 10 ขวดที่นำมารีไซเคิล โดยสามารถนำคูปองจากเครื่องมาติดต่อรับไข่ไก่ได้ที่จุดบริการลูกค้า ในเบื้องต้นได้ทำการติดตั้งเครื่องจำนวน 6 เครื่องที่เทสโก้ โลตัส สาขา บางแค, พระราม4, รัตนาธิเบศร์, ตราด, สระบุรี, กุมภาวาปี พร้อมทั้งได้มอบเครื่องจำนวน 4 เครื่อง ให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี เพื่อสร้างโมเดลการรีไซเคิลขยะในชุมชนด้วย

นอกจากขวดน้ำพลาสติกแล้ว เทสโก้ โลตัส ยังให้ความสำคัญกับบรรจุภัณฑ์ประเภทอื่น ๆ อาทิ ถุงพลาสติกและฟิล์มพลาสติกสะอาด โดยได้ร่วมกับโครงการ “มือวิเศษ x วน” ติดตั้งถังวนถุงที่เป็นจุด drop point ในไฮเปอร์มาร์เก็ตทุกสาขาทั้งในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลรวม 40 แห่งตั้งแต่ เดือนมิถุนายน – พฤศจิกายน 2563 สามารถเก็บบรรจุภัณฑ์พลาสติก 300 กิโลกรัมกลับเข้าระบบเพื่อนำไปรีไซเคิลเป็นถุงพลาสติกแบบหนาใช้ซ้ำ

ส่วนกล่องกระดาษและลังที่ไม่ใช้แล้ว ได้ร่วมมือกับพันธมิตร SCG ติดตั้งจุดรับในไฮเปอร์มาร์เก็ตทุกสาขาทั่วประเทศ เพื่อนำกล่องและลังไปรีไซเคิลต่อไปเช่นกัน