กสทช. จับมือ อย. สังฟันโฆษณาถั่งเช่าเกินจริง ลั่นลวงโลกต้องกำจัดให้สิ้นซาก

พลโท ดร. พีระพงษ์ มานะกิจ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เปิดเผยว่า กสทช. ตรวจสอบพบการโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารถั่งเช่าซึ่งมีบุคคลในแวดวงบันเทิงเป็นพรีเซนเตอร์ อ้างว่าผลิตภัณฑ์ถั่งเช่าสามารถรักษาได้สารพัดโรค โดยกสทช. ไม่ได้นิ่งนอนใจ เมื่อการโฆษณาหลอกลวงผู้บริโภคครั้งใหญ่กลับมา กสทช. จะจับมือกับ อย. ให้แน่นกว่าเดิม และร่วมกันกวาดล้างการโฆษณาอีกครั้ง เพื่อกำจัดโฆษณาลวงโลกเหล่านี้ให้สิ้นซาก

ค่าปรับของ กสทช. กฎหมายกำหนดไว้สูงสุด คือ ไม่เกิน 5 ล้านบาท และปรับรายวันอีกวันละไม่เกิน 1 แสนบาท โดยที่ผ่านมามีสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมโดยปรับเป็นเงิน 5 แสนบาท ไปแล้ว 1 ราย และยังมีสถานีวิทยุอีก 2 ราย ที่โดนลงโทษปรับรายละ 1 แสนบาท นอกจากนี้กรณีของสถานีวิทยุหากมีประวัติการกระทำความผิดจะเหลืออายุใบอนุญาตเพียง 6 เดือน (จากปกติใบอนุญาตมีอายุ 1 ปี) ซึ่งขณะนี้มีสถานีถูกลดอายุใบอนุญาตไปแล้ว 150 ราย

นอกจากการโฆษณาถั่งเช่าแล้ว ยังมีการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเกี่ยวกับดวงตา อ้างรักษาสารพัดโรคตา ในกรณีนี้ กสทช. ได้รับความร่วมมือจากราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย ในการวินิจฉัยและให้ความเห็นเกี่ยวกับเนื้อความการโฆษณา จนนำไปสู่การลงโทษปรับ ตามมาตรา 37 ของ พ.ร.บ. การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 ซึ่งปัจจุบันมีสถานีวิทยุที่มีการโฆษณาในลักษณะนี้ และถูกปรับไปแล้ว 6 ราย รายละ 5 หมื่นบาท และอยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อเสนอปรับอีก 3 ราย

เภสัชกรหญิงสุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์ถั่งเช่าที่ อย. อนุญาตมี 2 กลุ่ม คือ ผลิตภัณฑ์สมุนไพร (ยาแผนโบราณ) และผลิตภัณฑ์อาหารที่มีถั่งเช่าเป็นส่วนประกอบ เพื่อบำรุงร่างกายทั่วไป เสริมจากการรับประทานอาหารตามปกติ ดังนั้น การโฆษณาว่า ผลิตภัณฑ์จากถั่งเช่าสามารถรักษาสารพัดโรค จึงเป็นการโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาต และโฆษณาโอ้อวดเกินจริง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ที่ผ่านมา 2563 อย. ดำเนินคดีโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหาร ผลิตภัณฑ์สมุนไพร และผลิตภัณฑ์สุขภาพประเภทอื่น ทางสื่อต่าง ๆ จำนวน 1,388 คดี ทั้งนี้ อย. จะเป็นผู้วินิจฉัยความผิดที่พบทางสื่อ และดำเนินคดีกับผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้จำหน่าย หรือผู้ทำการโฆษณา ตามกฎหมายที่ อย. รับผิดชอบ ส่วน กสทช. จะเป็นผู้ดำเนินการกับสถานีที่ออกอากาศตามกฎหมายที่ กสทช. รับผิดชอบ โดยตั้งแต่ปี 2561-2563 อย. ได้วินิจฉัยความผิดที่พบส่งให้ กสทช. ดำเนินการแล้ว 250 เรื่อง และเป็นผลิตภัณฑ์จากถั่งเช่า 58 เรื่อง

ทั้งนี้ อย. เตือนผู้บริโภคโดยเฉพาะผู้ป่วย ผู้สูงอายุ อย่าหลงเชื่อโฆษณาเหล่านี้ เพราะนอกจากจะเสียเงินแล้ว ยังอาจทำให้โรคหรืออาการที่เป็นอยู่แย่ลง เสียโอกาสในการรักษา เนื่องจากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องโดยแพทย์ เป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่าง

ที่ผ่านมา กสทช. ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข ในการจัดการปัญหาการโฆษณาอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพทางสื่อวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์มาตั้งแต่มาตั้งแต่กลางปี 2561 ซึ่งจนถึงปัจจุบันมีการตรวจจับการโฆษณาทางโทรทัศน์ดิจิตอลได้ 17 ราย จำนวน 77 โฆษณา โทรทัศน์ดาวเทียม 90 ราย จำนวน 190 โฆษณา และวิทยุ 2,150 ราย จำนวน 4,058 โฆษณา โดย กสทช. มีอำนาจในการกำกับดูแลการโฆษณาทางสื่อโทรทัศน์ และวิทยุกระจายเสียงเท่านั้น ในส่วนของการโฆษณาทางสื่ออินเทอร์เน็ต และสื่อสังคมออนไลน์ จะมีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) ร่วมมือกับ อย. ในการจัดการปัญหาการโฆษณา