AIS แจ้งผลประกอบการไตรมาส แรกปี65 เตรียมอัดงบ 3.5 หมื่นล. ขยายศักยภาพ 5G

นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS เปิดเผยว่า การดำเนินธุรกิจในช่วงไตรมาสแรกของปี 65 พบว่า บริษัทยังต้องเผชิญกับความท้าทายกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะภาวะเงินเฟ้อที่เกิดจากปัจจัยทั้งในและต่างประเทศซึ่งส่งผลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค รวมถึงสถานการณ์แพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้ผลประกอบการของ AIS ในไตรมาสแรก รายได้รวมอยู่ที่ 45,279 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 1.3 เทียบกับปีก่อน กำไรสุทธิ อยู่ที่ 6,311 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 5.0 เมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันกับปีก่อน

บริษัทมีกำไรสุทธิ  6,311  ล้านบาท ลดลงร้อยละ 5.0 เป็นผลจากการลงทุนในคลื่นความถี่เพิ่มเติมในปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม AIS ยังคงสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งที่สุดในอุตสาหกรรม และยังคงเดินหน้าพัฒนานวัตกรรมพร้อมความครอบคลุมของโครงข่าย 5G และ เน็ตบ้าน อย่างต่อเนื่อง

“เริ่มต้นในไตรมาสแรกของปีนี้ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าประเทศยังคงเจอกับสถานการณ์ความท้าทายอย่างรอบด้านทั้งภายในและภายนอก ทำให้ภาพรวมรายได้ของ AIS มีอัตราการเติบโตลดลงเล็กน้อย แต่ถึงอย่างไรก็ตามเราก็ยังคงเดินหน้าลงทุนขยายศักยภาพโครงข่ายของ 5G ให้เกิดประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน เพราะเราเชื่อว่าดิจิทัลเทคโนโลยี คือโครงสร้างพื้นฐานที่จะสร้างการเติบโตให้กับประเทศได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว โดยวันนี้ AIS ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า เราได้ก้าวข้ามจากผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่มาเป็นผู้ให้บริการดิจิทัล และเรากำลังทำให้เห็นถึงศักยภาพของ AIS 5G ที่จะมาเปลี่ยนประสบการณ์ของคนไทยอีกครั้งด้วยนวัตกรรม Metaverse ที่วันนี้เราได้เชื่อมต่อโลกจริงและโลกเสมือนเข้ามาไว้ด้วยกันเป็นครั้งแรกของโลก หรือแม้แต่บริการที่ไม่เพียงจะสร้างประสบการณ์ดิจิทัลให้กับคนไทย แต่ยังสร้างโอกาสการเติบโตในรูปแบบใหม่ๆ ให้กับหลากหลายอุตสาหกรรม ซึ่งจะมีผลกับการส่งเสริมการเติบโต Digital Economy ของประเทศด้วยนั่นเอง”

นายสมชาย กล่าวว่า AIS ยังคงลงทุนขยายโครงข่าย 5G/4G ของเอไอเอสอย่างต่อเนื่องเพื่อเสริมความเป็นผู้นำ ส่งผลให้ต้นทุนการให้บริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 เทียบกับปีก่อน ในส่วนของค่าใช้จ่ายด้านการขายและบริหาร ลดลงร้อยละ 0.8 จากปีก่อน ส่งผลให้เอไอเอสมีกำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ย และค่าเสื่อม (EBITDA) อยู่ที่ 22,404 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 0.8 จากปีก่อน โดยมีผลการดำเนินงานแยกตามรายธุรกิจดังนี้

  • ธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ มีรายได้ลดลงที่ร้อยละ 1.7 จากปีก่อน เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจที่กำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัว ประกอบกับการแข่งขันที่ยังคงรุนแรงต่อเนื่องโดยเฉพาะการแข่งขันด้านราคา ในส่วนของจำนวนลูกค้ายังคงเติบโตอย่างแข็งแรง โดยมีจำนวนผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นกว่า 506,500 เลขหมายในไตรมาสนี้ ส่งผลให้ปัจจุบันมีจำนวนลูกค้าโทรศัพท์มือถือรวมที่ 44.6 ล้านเลขหมาย สำหรับ 5G วันนี้ AIS ให้บริการครบทั้ง 77 จังหวัด และมีความครอบคลุมที่ร้อยละ 78 ของจำนวนประชากร มีจำนวนผู้ใช้งานมากกว่า 2.8 ล้านราย เพิ่มจาก 2.2 ล้านราย เมื่อปลายปี 2564
  • ธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ที่ยังคงเป็นกลุ่มธุรกิจที่สามารถสร้างการเติบโตเหนือตลาดได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีรายได้เติบโตร้อยละ 27 เทียบกับปีก่อน มีจำนวนลูกค้าที่เพิ่มขึ้น 93,100 ราย โดยปัจจุบันมีลูกค้ารวม 1,865,100 ราย ตั้งเป้ามีฐานลูกค้า 2.2 ล้านรายในปีนี้ อีกทั้งเอไอเอสไฟเบอร์ยังมุ่งเน้นคุณภาพของการให้บริการโดยการการันตีการให้บริการลูกค้าภายใน 24 ชั่วโมง พร้อมยกระดับตลาดอินเทอร์เน็ตบ้านไปด้วยแพ็กเกจความเร็วในระดับ 2Gbps เป็นรายแรกในไทย และล่าสุดกับการเปิดตัวบริการ Wi-Fi อัจฉริยะที่นำระบบ AI เข้ามาจัดสรร Data Traffic การใช้งานอินเทอร์เน็ตภายในบ้าน ถือเป็นการยกระดับมาตรฐานใหม่ของตลาดอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้ก้าวไปอีกขั้น โดยไม่เน้นเพียงการแข่งขันด้านราคา
  • ธุรกิจบริการลูกค้าองค์กร รายได้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง คิดเป็นร้อยละ 31 เทียบกับปีก่อน ด้วยเป้าหมายการเติบโตขยายธุรกิจสอดรับเป้าหมายการเป็น Cognitive Telco ผ่าน 5 กลยุทธ์หลักที่จะเน้นหนักมากขึ้น ได้แก่ การนำเครือข่าย 5G มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้ธุรกิจ, การสร้าง Intelligent Network, การสร้าง Digital Infrastructure และแพลตฟอร์ม, การเป็นผู้ใช้ Data และการสร้างทีมงานที่มีความเป็นมืออาชีพ ผ่านการทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ที่หลากหลายเพื่อสร้างความสมบูรณ์ของ Digital Business Ecosystem ที่สมบูรณ์แบบมากที่สุดของประเทศ

AIS ยังคงเดินหน้าตามแผนงานการก้าวสู่องค์กรโทรคมนาคมอัจฉริยะหรือ Cognitive Telco อย่างต่อเนื่อง ด้วยงบลงทุนกว่า 30,000-35,000 ล้านบาท ในการขยายศักยภาพ 5G เพื่อสร้างประสบการณ์ดิจิทัลให้กับคนไทยด้วยนวัตกรรม Metaverse ที่กำลังเข้ามาสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับหลากหลายอุตสาหกรรม รวมถึงรองรับการเติบโตของกลุ่มธุรกิจทั้งโทรศัพท์เคลื่อนที่ ธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ธุรกิจบริการลูกค้าองค์กร และธุรกิจดิจิทัลเซอร์วิส