เปิดสูตรโต “เอพริล เบเกอรี่-เกรนเน่ย์” ในร้านเซเว่นฯ ส่งสินค้าคุณภาพและช่องทางการตลาดใหม่ สู้โควิด

การนำสินค้าเข้าวางจำหน่ายในช่องทาง “โมเดิร์นเทรด” ยังคงเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้ความสนใจ เนื่องจากเป็นช่องทางที่เพิ่มโอกาสสร้างการเติบโตได้อย่างรวดเร็ว แต่ผู้ประกอบการหลายรายยังคงขาดองค์ความรู้ในการเริ่มต้นและเทคนิคในการเติบโต ศูนย์ 7 สนับสนุน SME ภายใต้การขับเคลื่อนของ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่นและเซเว่น เดลิเวอรี่ จึงได้จับมือ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) และสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) ผนึกกำลังจัดกิจกรรมดีๆ เพื่อให้ความรู้ผู้ประกอบการ SME ภายใต้ชื่อ “DIPROM MOVE TO MODERN TRADE” พร้อมเชิญ 2 SME ชื่อดังอย่าง อร -กนกกัญจน์ มธุรพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท สิงหา ฟู้ด อินดัสทรีส์(ประเทศไทย) จำกัด เจ้าของแบรนด์ “เอพริล เบเกอรี่” (April’s Bakery) ขนมเปี๊ยะเลื่องชื่อ และ เจิ้น-โสรัจ มหรรณพกุลกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟูลเกิ้ล จำกัด เจ้าของธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพชื่อดังแบรนด์ เกรนเน่ย์ (Grainey) ที่เติบโตในตลาดโมเดิร์นเทรดช่วงโควิด-19 ได้แบบก้าวกระโดด มาร่วมเสวนาแชร์ประสบการณ์และถ่ายทอดกลยุทธ์การทำตลาด ในหัวข้อ “SME How to : ปั้นธุรกิจโต ด้วยเทรนด์การตลาดยุคใหม่”

โสรัจ มหรรณพกุลกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟูลเกิ้ล จำกัด

เดินหน้าเต็มสูบ มุ่งสู่โมเดิร์นเทรด

เจิ้น เล่าย้อนความให้ฟังถึงเส้นทางการเข้าสู่ตลาดโมเดิร์นเทรดว่า เกรนเน่ย์ เป็นสินค้าที่ได้แรงบันดาลใจมาจากตนเอง ซึ่งเคยมีน้ำหนักตัวกว่า 100 กิโลกรัม ประกอบกับการมองเห็นเทรนด์ตลาดสินค้าเพื่อสุขภาพในต่างประเทศ ว่ามีอัตราการเติบโต จึงเดินหน้าทำธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพ โดยในช่วงแรกเน้นการทำตลาดต่างประเทศ แต่เมื่อเกิดวิกฤตโควิด-19 ทำให้เราส่งออกไม่ได้ จึงต้องหันมาทำตลาดในประเทศแทน และตลาดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศก็คือตลาดโมเดิร์นเทรด ซึ่งเซเว่น อีเลฟเว่น ถือเป็นตลาดโมเดิร์นเทรดที่เข้าถึงกลุ่มคนได้ง่าย จึงตัดสินใจนำสินค้าเข้าไปนำเสนอ ทั้งที่ไม่มีความรู้เรื่องการนำสินค้าเข้าโมเดิร์นเทรด แต่ด้วยราคาที่อาจจะสูงเกินไป อาจทำให้ขายได้ยาก ทางทีมเซเว่น อีเลฟเว่น จึงให้กลับไปคิดว่าจะทำอย่างไรให้สามารถขายได้ในราคา 10 บาท ซึ่งเราก็ทำการคิดค้นจนสำเร็จและนำสินค้าตัวแรก “กราโนล่า บาร์” ไปจำหน่ายใน เซเว่น อีเลฟเว่น ได้ในที่สุด และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี

เช่นเดียวกับ อร ที่เล่าให้ฟังว่า จากแอร์โฮสเตสต้องลาออกด้วยปัญหาด้านสุขภาพ จึงต้องมองหาอาชีพให้กับตัวเอง ด้วยความชื่นชอบทำขนมจึงออกมาทำขนมขาย โดยพัฒนาสูตรขนมขึ้นมาจนได้เป็นขนมเปี๊ยะ “สูตรพายหมูแดงฮ่องกง” ซึ่งเมื่อกว่า 10 ปีที่ผ่านมายังไม่มีใครทำขาย จึงทำให้ได้รับการตอบรับที่ดี ช่วงแรกเปิดขายตามห้างสรรพสินค้า ในขณะเดียวกันก็มองหาช่องทางการขายอื่นเพิ่มเติม และตลาดโมเดิร์นเทรดอย่างร้านสะดวกซื้อก็เป็นอีกช่องทางที่น่าสนใจ โดยเราตั้งเป้าที่จะเข้าเซเว่น อีเลฟเว่น เป็นอันดับแรก เพราะเป็นตลาดขนาดใหญ่ มีสาขากระจายทั่วทุกภูมิภาค ผู้บริโภคเข้าถึงได้ง่าย จึงเดินหน้าค้นคว้าหาความรู้เกี่ยวกับการเข้าตลาดร้านสะดวกซื้อ พร้อมกับไปขอรับคำปรึกษาจาก เซเว่น อีเลฟเว่น ซึ่งก็ได้รับคำแนะนำที่ดี จนทำให้สามารถนำสินค้าเข้ามาจำหน่ายได้สำเร็จ

กนกกัญจน์ มธุรพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท สิงหา ฟู้ด อินดัสทรีส์(ประเทศไทย) จำกัด

เจาะบล็อกเกอร์เฉพาะกลุ่มบุกเป้าหมายใหม่-ปั้นสินค้าน่าถ่ายรูป

แม้ว่าสินค้าจะได้รับการตอบรับที่ดี แต่ทุกธุรกิจก็ต้องเผชิญกับปัญหาและอุปสรรค เพื่อให้ได้เรียนรู้และแก้ปัญหาซึ่งผู้ประกอบการทั้ง 2 คนก็ต้องผ่านบทเรียนนี้เช่นกัน เจิ้น เล่าให้ฟังว่า โควิด-19 ทำให้เรารู้ว่าในวิกฤตยังมีโอกาส โดยเราพบว่าช่วงโควิดเป็นช่วงที่ทุกคนต้องอยู่บ้าน และกลุ่มนักเรียน นักศึกษา จะใช้เวลาส่วนใหญ่ดูไลฟ์เกม เราจึงเจาะทำการตลาดในกลุ่มนี้โดยการเข้าไปเป็นผู้สนับสนุนเหล่าเกมเมอร์ต่างๆ ที่มีกลุ่มผู้ติดตามจำนวนมาก ถือเป็นสินค้าเพื่อสุขภาพรายแรกที่ทำการตลาดผ่านเกมเมอร์ จนเกิดกระแสแห่ซื้อสินค้าจนของขาดตลาด ทำให้บริษัทมีอัตราการเติบโตถึง 300% ทำให้เราเรียนรู้ว่า การทำการตลาดไม่จำเป็นต้องทำกับกลุ่มเฉพาะประเภทสินค้า แต่ให้ดูว่าช่องทางการทำตลาดนั้นเข้าถึงกลุ่มคนได้มากน้อยเพียงใด เพื่อสร้างการรับรู้และจดจำ และนำมาสู่การบริโภคในที่สุด

ด้าน อร กล่าวเสริมว่า ช่วงวิกฤตโควิด-19 จำเป็นต้องปิดโรงงานบางแห่ง เนื่องจากห้างปิด ทำให้รายได้หายไปส่วนหนึ่ง ขณะที่รายจ่ายยังคงมีอยู่ เราจึงมองหาช่องทางการตลาดอื่นเพิ่มเติม พร้อมผลิตสินค้าใหม่ๆ ออกสู่ตลาด โดยจากการสังเกตพฤติกรรมผู้บริโภคพบว่า คนรุ่นใหม่ชอบการถ่ายภาพ หากเราผลิตสินค้าที่น่ารับประทาน ถ่ายภาพออกมาสวย รสชาติอร่อย พร้อมทำการตลาดผ่านบล็อกเกอร์ที่ได้รับความสนใจในช่องทางต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ช่องทาง Instagram , Facebook , TikTok ก็น่าจะช่วยเพิ่มยอดขายได้ ซึ่งก็ได้รับการตอบรับดีเกินคาด จนทำให้สินค้าขาดตลาด ซึ่งทาง เซเว่น อีเลฟเว่น ก็แนะนำให้เราเพิ่มกำลังการผลิตและกำลังคน เพื่อผลิตสินค้าให้ได้ตามความต้องการของตลาด เรียกได้ว่าหากไม่มีช่องทางขายทางโมเดิร์นเทรด ธุรกิจเราคงไม่สามารถทำยอดขายได้หลัก 100 ล้านบาทต่อปีและไม่สามารถเติบโตมาได้จนถึงปัจจุบัน

คุณภาพต้องเป๊ะ-พร้อมเปลี่ยนแปลงให้ทันโลก

เมื่อมาถึงคำถาม How to ทำธุรกิจอย่างไรให้ประสบความสำเร็จ ทั้ง 2 ผู้ประกอบการก็เปิดเผยแบบหมดเปลือกว่า สิ่งที่ทำให้ อร ประสบความสำเร็จได้ก็คือ คุณภาพ เราทำธุรกิจด้านอาหาร หากเราผลิตสินค้าที่ไม่มีคุณภาพ ผู้บริโภคก็จะไม่กลับมาซื้อสินค้าของเราซ้ำอย่างแน่นอน นอกจากนี้ยังต้องเปิดใจและไม่ปิดบังเรื่องต่างๆ กับคู่ค้า โดยเฉพาะเรื่องปัญหา เพื่อจะได้ร่วมกันแก้ไข ไม่ได้กระทบกับธุรกิจที่ทำร่วมกัน พร้อมกับมองหาช่องทางการตลาดอื่นเพิ่มเติม เพื่อกระจายความเสี่ยงธุรกิจ

ขณะที่ เจิ้น มุ่งเน้นไปที่การศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมแบบรอบด้านทั้ง ด้านการตลาด ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภค รวมถึงมองหาโอกาสในการขยายช่องทางการตลาดใหม่ๆ ไม่จำกัดแค่ช่องทางใดช่องทางหนึ่ง รวมถึงต้องมีความพร้อมอยู่เสมอ กล่าวคือ พร้อมที่จะปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในตลาดโมเดิร์นเทรดที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว เพราะความสำเร็จที่แท้จริงไม่ใช่แค่การเข้าตลาดโมเดิร์นเทรดได้ แต่การอยู่ในตลาดนี้ได้นานต่างหากคือความสำเร็จที่แท้จริง

สำหรับกิจกรรมอบรมให้ความรู้ผู้ประกอบการ SME ภายใต้ชื่อ “DIPROM MOVE TO MODERN TRADE” ถือเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมดีๆ ที่เปรียบเสมือนทางลัดสู่ตลาดขนาดใหญ่อย่างโมเดิร์นเทรด เพื่อสร้างการเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืนในอนาคต