เอกชนประสานเสียงร่วมลดโลกร้อน ขับเคลื่อนวิถีเศรษฐกิจยั่งยืน

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานสมาคมเครือข่ายโกลบอล คอมแพ็ก ประเทศไทย และประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย กล่าวในงานสัมมนา ‘ภาคธุรกิจไทยในวิถียั่งยืน’ ว่า การขับเคลื่อนวิถีเศรษฐกิจยั่งยืนต้องเริ่มจากการตระหนักรู้ เพราะหากองค์กร ผู้นำ พนักงานไม่ตระหนักรู้อก็จะไม่มีการเริ่มต้นโครงการแก้ไข รักษาสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ สำหรับกลุ่มเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ได้ตั้งเป้าหมายให้เป็นองค์กรลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ในปีพ.ศ. 2573

ซีพีได้จัดตั้งสำนักงานด้านความยั่งยืนและพัฒนาชุมชนเครือเจริญโภคภัณฑ์ที่จ.น่านขึ้นเป็นแห่งแรก เพื่อเป็นศูนย์รวมของความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการเริ่มโครงการ ‘Sustainable Coffee’ เนื่องจาก จ.น่านมีปัญหาชลประทานด้านต้นทุนขนส่งสูง จึงต้องหาพืชที่เหมาะ ซึ่งการทำกาแฟจะมีมูลค่าเพิ่มเพราะต่อยอดไปได้หลายอย่าง ทำให้เกิดการจ้างงานและยกระดับคุณภาพชีวิตเศรษฐกิจชุมชน

ความยั่งยืนที่ตนมองนั้นมี 3 เรื่องหลัก คือ 1. โลกที่กำลังร้อนขึ้นจากอุณหภูมิที่สูง เรื่องนี้ต้องให้ความสำคัญมากขึ้น เพราะหากอุณหภูมิสูงขึ้น 1-2 องศาเซลเซียสสิ่งมีชีวิตกว่า 3.2 หมื่นสปีชีส์จะเสี่ยงสูญพันธุ์ 2. ลดความเหลื่อมล้ำ 3. การศึกษา หากร่วมมือทำก็จะทำให้สังคมและสิ่งแวดล้อมยั่งยืนได้ ซึพีเองก็มีเป้าหมายชัดเจนเรื่องลดโลกร้อน และต่อไปจะเน้นลงทุนและใช้พลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้น

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) คือแนวทางที่ภาคเอกชนต้องเดินเพราะถือเป็นความยั่งยืนของธุรกิจระยะยาวซึ่ง ส.อ.ท.ได้ร่วมโครงการความร่วมมือภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อแก้ไขปัญหาขยะและพลาสติกอย่างยั่งยืน
 

ด้านนายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ประเด็นสำคัญของความยั่งยืน คือทุกคนต้องมีส่วนร่วม มองผลประโยชน์ส่วนรวม เช่น PM 2.5 เป็นเรื่องของทุกคน ภาครัฐและเอกชนต้องร่วมมือกัน นอกจากนี้ การบริหารจัดการน้ำ ถือเป็นเรื่องสำคัญของประเทศ ทุกภาคส่วนควรเก็บกักน้ำเพิ่มจาก 10% เป็น 20% เพื่อแก้ไขวิกฤตน้ำในระยะสั้น และในระยะยาวต้องรณรงค์ให้ทุกคนใส่ใจสิ่งแวดล้อม ปลูกป่า ใช้น้ำกันอย่างคุ้มค่าที่สุดในทุกภาคส่วน