รู้เก็บรู้ออม : ปลูกป้องป่า…เปลี่ยนโลก!!

สัปดาห์ที่แล้ว “คุณนายพารวย” พูดถึงการจัดทำ รายชื่อหุ้นยั่งยืน ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยเป็นการคัดเลือกบริษัทจดทะเบียนที่มีการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ความรับผิดชอบต่อสังคม และมีการบริหารงานตามหลักบรรษัทภิบาล

เมื่อพูดถึงเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมและส่วนรวมแล้ว ตลาดหลักทรัพย์ฯเองมีโครงการดีๆ อยู่หลายโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงถึงการใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม หนึ่งในนั้นคือโครงการ CARE THE WILD “ปลูกป้อง Plant & Protect” ซึ่งเพิ่งจะครบรอบ 1 ปี หลังเปิดตัวโครงการไปเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.2563

อีกบทบาทหนึ่งของตลาดหลักทรัพย์ฯ ในการพัฒนาตลาดทุนให้เกิดประโยชน์กับผู้เกี่ยวข้องในทุกมิติของสังคม ควบคู่ไปกับการผลักดันให้เกิดภาวะสมดุลของโลก ผนึกกำลังทุกภาคส่วนเพื่อดำเนินการร่วมบนเป้าหมายร่วมในการสร้างความเปลี่ยนแปลง

CARE THE WILD เป็นแพลตฟอร์มระดมทุนเพื่อการปลูกต้นไม้ให้ได้ป่า สร้างสมดุลระบบนิเวศจากต้นทางด้วยการปลูกป่าและดูแลปกป้องต้นไม้ที่ปลูกให้รอด 100% เป็นเวลาอย่างน้อย 6 ปี ด้วยหลักธรรมาภิบาล มีชุมชนเป็นผู้ดูแลต้นไม้ เพื่อชุมชนได้รับประโยชน์จากป่า ทั้งในด้านอาหาร หรือสร้างมูลค่าเพิ่มจากพืชพันธุ์

และเมื่อเร็วๆนี้ ทางตลาดหลักทรัพย์ฯได้จัดเสวนาหัวข้อ Climate Care Forum #2 “ปลูก ป้อง ป่าเปลี่ยนโลก” ในโอกาสครบรอบ 1 ปี ของโครงการ CARE THE WILD ร่วมค้นหาคำตอบพร้อมแลกเปลี่ยนแนวคิด เพื่อหาทางออกของปัญหาสิ่งแวดล้อม ป่าไม้สามารถช่วยแก้ปัญหาโลกร้อนได้จริงหรือไม่ วิกฤติที่เราจะก้าวข้ามทำอย่างไรให้ได้ป่าจริง

นพเก้า สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ย้ำว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่ได้ทำแค่อีเวนต์ปลูกป่า แต่คาดหวังที่จะให้ต้นไม้รอดและกลายเป็นป่าขึ้นจริง โดยจับมือกับสำนักจัดการป่าชุมชน กรมป่าไม้ เนื่องจากพื้นที่ที่จะไปปลูกไม้แต่ละแห่ง ต้องเป็นพื้นที่ที่ถูกต้องตามกฎหมาย นอกจากนี้ ยังต้องได้รับความร่วมมือจากภาคธุรกิจที่เข้ามาสนับสนุนและมีส่วนร่วมในการดูแลป่า ตลอดจนนักวิชาการ คณะทำงานด้านการพัฒนาชุมชน และการใช้ เทคโนโลยีที่ช่วยตรวจสอบความคืบหน้า และทำให้เห็นผลลัพธ์ของการปลูกป่า

อาจารย์ยักษ์ หรือ ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร ผู้ก่อตั้งมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ศูนย์การเรียนกสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง (โรงเรียนปูทะเลย์มหาวิชชาลัย) ให้ความเห็นว่า การอยู่ร่วมกันของคนและป่าเป็นแนวทางช่วยฟื้นคืนพื้นที่ป่า ควบคู่ไปกับการเปลี่ยนรูปแบบการทำเกษตรกรรมที่อยู่ร่วมกับป่าได้อย่างยั่งยืน

ด้าน เข็มอัปสร สิริสุขะ ศิลปิน และนักขับเคลื่อนด้านสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า คนในชุมชนเป็นตัวแปรสำคัญที่จะทำให้การปลูกป่าประสบความสำเร็จ เพราะเขาคือคนที่อยู่ในพื้นที่ ถ้าเขาเห็นด้วยกับเรา เห็นความจริงใจจากเรา ก็จะทำให้โครงการไปต่อได้

ปัจจุบันโครงการ CARE THE WILD มีพันธมิตรและเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคสังคม เข้าร่วม 15 ราย เกิดการระดมทุนและปลูกป่าไปแล้ว 145 ไร่ (29,000 ต้น) บน 7 พื้นที่ จะช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ ได้เท่ากับ 261,000 Kg CO2e

อยากเชิญชวนภาคธุรกิจและผู้สนใจร่วมปลูกต้นไม้เพื่อให้ได้ป่าจริงกับโครงการ CARE THE WILD เพราะยังมีพื้นที่ป่าอีกมากมายที่รอการสนับสนุนจากทุกคนและทุกภาคส่วน เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ SETSocialImpact.com สังคมยั่งยืน…เศรษฐกิจยั่งยืน.

คุณนายพารวย

ที่มา คอลัมน์ รู้เก็บรู้ออมรู้ใช้รู้ลงทุน..สู่ความมั่งคั่ง หน้าเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ