รู้เก็บรู้ออมรู้ใช้รู้ลงทุน : เด็กจบใหม่ออมอย่างไร!!

เว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์ www.set.or.th หน้า “ห้องเรียนนักลงทุน” มีข้อแนะนำสำหรับ “การออม” ของเด็กจบใหม่เงินเดือน 15,000 บาท ที่ “คุณนายพารวย” เห็นว่าจะเป็นประโยชน์ให้น้องๆนำมาใช้เป็นแนวทางปฏิบัติ โดยสามารถสร้างวินัยการออมง่ายๆ เริ่มจากคาถาที่ต้องยึดในหัวใจคือ “ออมก่อนใช้” และต้องออมให้ได้อย่างน้อย 10% ของเงินเดือน

นอกจากนี้ ยังมี “3 ขั้นตอน วางแผนการออมฉบับเด็กจบใหม่” ที่น่าสนใจดังนี้ 1.ต้องจัดลำดับความสำคัญของเป้าหมาย โดยเลือกเป้าหมายสำคัญที่ต้องการทำให้สำเร็จก่อน ถ้าในอนาคตมีรายได้มากขึ้น จึงค่อยๆเพิ่มเงินออมให้มากขึ้น โดยสิ่งสำคัญที่สุดคือควรเก็บเงินสำรองฉุกเฉินเป็นลำดับแรก ก่อนนำเงินที่เหลือไปเติมเต็มเป้าหมายอื่นๆ

2.ศึกษาทางเลือกการออมและลงทุนที่มีช่องทางหลากหลาย เพราะการทิ้งเงินออมไว้ในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ เท่ากับว่าเราปล่อยโอกาสดีๆที่จะทำให้เงินออมงอกเงย เพราะปัจจุบันดอกเบี้ยเงินฝากต่ำมากและจะต่ำอย่างนี้ไปอีกนาน ดังนั้น จึงควรทิ้งเงินฝากไว้แค่พอให้ใช้จ่ายประจำวันและเผื่อฉุกเฉินเท่านั้น

โดยทางเลือกการออมเงินและการลงทุนเริ่มตั้งแต่การออมภาคบังคับผ่านกองทุนประกันสังคมและการออมเงินกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของนายจ้างที่จะมีผู้จัดการกองทุนมืออาชีพบริหารจัดการเงินลงทุนให้ หรือออมผ่านเงินฝากประจำแบบปลอดภาษี หรือลงทุนกับสหกรณ์ออมทรัพย์

และที่ “คุณนายพารวย” เคยแนะนำสำหรับมือใหม่หัดลงทุนคือเข้าโปรแกรมลงทุนออมหุ้นกับบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หรือออมกับกองทุนรวมทุกเดือนกับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) รวมทั้งการออมในรูปการทำประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์

3.วางแผนออมเงินสม่ำเสมอ โดยเลือกช่องทางการออมที่สอดคล้องกับเป้าหมายและความเสี่ยงที่เรายอมรับได้ วิธีง่ายๆที่แนะนำคือ “สมัครบริการที่ช่วยหักเงินออมจากเงินเดือนโดยอัตโนมัติ” ซึ่งช่วยให้เรามีวินัยการออมทุกเดือน และหากไปใช้กับบัญชีลงทุน ก็จะช่วยให้เงินทำงานสร้างดอกผลอย่างต่อเนื่อง ขณะที่เรายังทำงานประจำไปด้วยได้

ตัวอย่าง เช่น นายเอ อายุ 22 ปี พนักงานเอกชน ได้เงินเดือน 15,000 บาท และคาดว่าเงินเดือนจะปรับขึ้น 10% ต่อปี โดยนายเอตั้งเป้าหมายต้องการมีเงินออมเพื่อเกษียณอย่างน้อย 4 ล้านบาท ภายในเวลา 38 ปี เพื่อมีเงินใช้จ่ายหลังเกษียณ เดือนละ 15,000 บาท ไปอีก 20 ปี

โดยกำหนดแผนการออมเพื่อให้ได้ผลตอบแทนบรรลุเป้าหมาย ดังนี้ 1.ออมเงินผ่าน PVD โดยสะสม 5% ของเงินเดือน หรือเพิ่มเป็น 10% เมื่อรายได้เพิ่ม 2.ออมเงินผ่านการลงทุนรูปแบบอื่น เช่น ลงทุนในหุ้นเดือนละ 434 บาท มีอัตราผลตอบแทนที่คาดหวังเฉลี่ย 12.88% ต่อปี และลงทุนในกองทุนรวมนโยบายผสมระหว่างหุ้น 80% และตราสารหนี้ 20% อีกเดือนละ 1,998 บาท โดยมีอัตราผลตอบแทนที่คาดหวังเฉลี่ย 6.86% ต่อปี ก็จะทำให้บรรลุเป้าหมายได้

เริ่มออมเงินตั้งแต่วัยเริ่มต้นทำงาน ก็จะทำให้เรามีเวลาในการออมที่ยาวนานขึ้น แถมมีทางเลือกลงทุนที่หลากหลายกว่า เพราะลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงได้เต็มที่ คัมภีร์ “ออมก่อนรวยกว่า” และนำเงินออมมาลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนจะนำเราไปสู่อิสรภาพทางการเงินได้เร็วขึ้น!!


ที่มา คอลัมน์ รู้เก็บรู้ออมรู้ใช้รู้ลงทุน..สู่ความมั่งคั่ง โดย คุณนายพารวย หน้าเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ