ซีพีเอฟ หนุนภูมิปัญญาท้องถิ่น ดันผลิตภัณฑ์ชุมชน เติมรายได้ ต่อยอดรักษ์ป่า ร่วมฝ่าโควิด

“เราต้องการผลักดันให้คนในชุมชน เห็นคุณค่าของการอนุรักษ์ป่า ผ่านการทำโครงการที่ทำให้มีรายได้ จากการสร้างอาชีพ การท่องเที่ยว เพื่อเป็นตัวจุดประกายว่า ทำไมเราต้องอนุรักษ์ป่า ทำไปแล้วได้อะไร”

เสียงสะท้อนจากชาวบ้านต.บางหญ้าแพรก จ.สมุทรสาคร “ชัชวาล ชาวสมุทร “อายุ 55 ปีหรือ น้าหนุ่ย อาชีพต่อเรือประมงจำลองขาย และมีส่วนร่วมอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลนในพื้นที่ มาตั้งแต่จุดเริ่มต้นของการแก้ปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่ง ปลูกต้นไม้ไม่ขึ้น จนถึงปัจจุบันที่มีป่าชายเลน ทั้งต้นแสมขาว ต้นแสมทะเล เขียวเต็มแนวชายฝั่ง

น้าหนุ่ย หนึ่งในคณะกรรมการอนุรักษ์ป่าชายเลน ในโครงการ “ซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน” เป็นตัวแทนของชุมชนในพื้นที่ ที่ทำงานอนุรักษ์และฟื้นฟูป่า ร่วมกับ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ และภาครัฐ คือ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ซึ่งในระยะที่หนึ่งของโครงการ (ปี 2557 -2561) อนุรักษ์ป่าไปแล้ว 500 ไร่ และปลูกใหม่ 104 ไร่ และในระยะที่สอง(2562-2566) บริษัท ชุมชน และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จะร่วมกันอนุรักษ์ป่า 14,000 ไร่ และปลูกป่าเพิ่มเติมอีก 266 ไร่

ซีพีเอฟสานต่อความยั่งยืนของโครงการฯ สนับสนุนตั้งกองทุนอนุรักษ์ป่าชายเลนที่บริหารโดยคณะกรรมการของชุมชนเอง พัฒนาพื้นที่เป็นแหล่งท่องเที่ยววิถีชุมชนต.บางหญ้าแพรก และส่งเสริมการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ของชุมชนจำหน่ายให้แก่นักท่องเที่ยว เพื่อให้ชุมชนพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน และมีรายได้เติมกองทุนฯเพื่อดูแลป่า

น้าหนุ่ย บอกว่า เกลือสปาขัดผิว เกลือหอมอโรม่า มีทั้งกลิ่นดอกโมก กลิ่นมะลิ สบู่เกลือบาธบอมบ์ ถ่านไบโอชาร์ดูดกลิ่น เป็นสินค้าที่ชุมชนช่วยกันคิด ปรับปรุงคุณภาพและรูปแบบให้ดูน่าใช้ หรือแม้แต่เรือประมงจำลอง อาชีพที่ต้องใช้ประสบการณ์และฝีมือ เป็นส่วนเติมเต็ม อัตลักษณ์ของชุมชนบางหญ้าแพรก ซึ่งสามารถดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยวได้อยู่แล้ว

ด้วยวิถีอาชีพดั้งเดิมของชาวบางหญ้าแพรก คือ ทำประมงพื้นบ้าน ทำนาเกลือ ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ จึงมาจากแนวคิดใช้วัสดุธรรมชาติในท้องถิ่น เช่น เกลือ มาผลิตเป็นสินค้าชนิดต่างๆ เกลือสปาสมุนไพรผลิตจากดอกเกลือแท้ ผสมสมุนไพร 5 ชนิด คือ ขมิ้นชัน ขมิ้นอ้อย ไพล ว่านนางคำ ทานาคา ใช้ขัดผิว ถ่านไบโอชาร์ สินค้าขึ้นชื่อของท้องถิ่น ทำจากเปลือกผลไม้ กิ่งไม้ ลูกไม้ต่างๆ ผ่านกระบวนการเผาด้วยกรรมวิธีที่แตกต่างจากถ่านหุงข้าว ทำให้เกิดประจุไฟฟ้าที่มีคุณสมบัติดูดซับกลิ่นได้ดี

แต่วันนี้ … โควิด -19 ทำให้รายได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนเป็นศูนย์ ป้าปราณี หอมทอง อายุ 71 ปี มีอาชีพทำนาเกลือ แต่ตอนนี้เข้าฤดูฝน ป้าต้องหยุดทำนาเกลือตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ไปจนถึงตุลาคม

ป้าณี บอกว่า ตอนที่ไม่มีโควิด-19 ซีพีเอฟช่วยจัดกรุ๊ปนักท่องเที่ยวมาเที่ยวชมฐานการเรียนรู้ต่างๆของชุมชนบางหญ้าแพรก ทั้งทำสปาเกลือ ต่อเรือประมง ทำถ่านไบโอชาร์ ชาวบ้านก็มีรายได้จากสาธิตวิธีการให้นักท่องเที่ยวชม ป้าณีเป็นอีกคนหนึ่งที่ร่วมกิจกรรมฟื้นฟูป่าชายเลนในพื้นที่มาเกือบทุกกิจกรรม จนต่อยอดมาสู่การเป็นเส้นทางท่องเที่ยววิถีชุมชนตำบลบางหญ้าแพรก ป้าณีก็มีส่วนร่วมดูแลฐานสาธิตสปาผิวด้วยเกลือสปา แต่ตอนนี้มีโควิด นักท่องเที่ยวเข้ามาไม่ได้เลย รายได้จากที่เคยได้หรือขายผลิตภัณฑ์เป็นศูููนย์ ตัวป้าเองเป็นอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ด้วย ยังพอมีรายได้จากการเป็นอสม. ส่งข้าวให้ผู้ที่ถูกกักตัวอยู่ที่บ้าน อยากให้สถานการณ์กลับมาปกติเร็วๆ จะได้มีรายได้จากการขายผลิตภัณฑ์ได้เหมือนเดิม

ขณะที่ลุงวิรัตน์ ใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน ทำถ่านไบโอชาร์ ลุงเคยมีรายได้เสริมจากการขายถ่านให้ชุมชนนำไปผลิตเป็นถุงสวยงามเพื่อบรรจุถ่านดูดกลิ่น ใช้แขวนในตู้เสื้อผ้า ตู้รองเท้า ตู้เย็น วันนี้ลุงต้องหยุดเผาถ่านเช่นกัน เพราะไม่มีชาวบ้านมาซื้อถ่านไปทำผลิตภัณฑ์ ถึงจะไม่ได้กระทบรายได้ของลุง เพราะมีอาชีพเลี้ยงกุ้งเป็นหลัก แต่ลุงบอกว่าโควิด-19 ทำให้กิจกรรมต่างๆของชุมชนหยุดลง

ในสถานการณ์ที่โควิด-19 ทำให้กิจกรรมต่างๆต้องหยุดลง รวมทั้งชุมชนบางหญ้าแพรกแห่งนี้ที่ได้รับผลกระทบ แต่ทั้งลุงหนุ่ย ป้าณี ลุงวิรัตน์ และชาวชุมชน ยืนยันว่า พร้อมเดินหน้าดูแลป่าชายเลนในพื้นที่ต่อไป

เพราะนี่คือทรัพยากรธรรมชาติที่มีคุณค่าที่ต้องรักษาไว้เพื่อส่งต่อให้กับรุ่นลูกหลาน เช่นเดียวกับ กองทุนอนุรักษ์ป่าชายเลน เป็นความตั้งใจของชาวบ้านที่จะนำเงินกองทุนฯส่วนหนึ่งใช้ดูแลรักษาป่า และอีกส่วนหนึ่งจะต่อยอดสร้างอาชีพให้กับคนในชุมชนอีกหลายๆคน ช่วยอุดหนุนผลิตภัณฑ์ของชุมชน เพื่อเป็นกำลังใจและสร้างความเข้มแข็งให้ชาวชุมชนที่จะช่วยดูแลป่าชายเลนต่อไป ผู้สนใจสามารถติดต่อ ตัวแทนชาวชุมชนบางหญ้าแพรก คุณเมธา พุฒคง 095 -524 9245