ซีพีเอฟ ร่วมกับ SeaBOS ขับเคลื่อนห่วงโซ่อุปทานอาหารทะเลสู่ความยั่งยืน พร้อมเปิดรายงานฉบับแรก

รายงานข่าว เปิดเผยว่า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ร่วมกับ SeaBOS เปิดตัวรายงานการดำเนินงานฉบับแรก (SeaBOS Progress report 2017-2022) โชว์การผนึกพลังระหว่างนักวิทยาศาสตร์ และ 10 องค์กรธุรกิจสัตว์น้ำชั้นนำระดับโลก ขับเคลื่อนห่วงโซ่อุปทานอาหารทะเลสู่ความยั่งยืน และปกป้องฟื้นฟูมหาสมุทรตลอดช่วง 5 ปี

น.สพ.สุจินต์ ธรรมศาสตร์ ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการ ธุรกิจสัตว์น้ำ CPF กล่าวว่า บริษัทฯ ในฐานะ 1 ใน 10 ขององค์กรธุรกิจที่ร่วมก่อตั้งกลุ่ม Seafood Business for Ocean Stewardship (SeaBOS) ได้ร่วมเปิดตัวรายงานความก้าวหน้าของการดำเนินงานฉบับแรกของกลุ่ม นับตั้งแต่มีการก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2017 ซึ่งนำเสนอความร่วมมือระดับสากลระหว่างภาควิชาการและภาคธุรกิจ ในการพิทักษ์มหาสมุทรทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทางทะเล รวมถึงความก้าวหน้าตลอดระยะเวลา 5 ปีจนถึงปัจจุบัน การวิเคราะห์ความท้าทาย และโอกาส เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาห่วงโซ่ผลิตอาหารทะเลด้วยกระบวนการที่รับผิดชอบ และสร้างความยั่งยืนตลอดตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ ก้าวสู่เป้าหมายในการปกป้องมหาสมุทร ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมทางทะเลซึ่งเป็นรากฐานของความมั่นคงด้านอาหารของสังคมโลก บรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอกาาศ (Climate Change)

ทั้งนี้ ซีพีเอฟ ในฐานะเป็นผู้สนับสนุนคณะทำงานด้านการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างมีความรับผิดชอบของเครือข่าย SeaBOS ซึ่งเป็น 1 ใน 6 คณะทำงาน (Taskforce) นับเป็นหนึ่งประเด็นที่สำคัญการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมอาหารทะเล โดยคณะทำงานที่ซีพีเอฟ เข้าร่วม มุ่งเป้าไปที่การพัฒนาวิธีแก้ปัญหาการใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์น้ำ เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพในมนุษย์และสัตว์ สอดคล้องกับหลักสวัสดิภาพสัตว์ที่ซีพีเอฟได้ยึดถือและนำไปใช้ในการดำเนินธุรกิจอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ คณะทำงานนี้ยังมีหน้าที่ในการร่วมกับรัฐบาลเพื่อขจัดปัญหาต่างๆที่คุกคามความยั่งยืนทางทะเล

ทั้งนี้ คณะทำงานกำลังร่าง จรรยาบรรณด้านยาปฏิชีวนะของ SeaBOS (SeaBOS Antibiotics Code of Conduct) ซึ่งจะแล้วเสร็จในเดือนตุลาคม 2565 นี้ เพื่อให้บริษัทสมาชิก SeaBOS นำไปประยุกต์ใช้กับการดำเนินธุรกิจ รวมถึงขยายผลสู่คู่ค้าธุรกิจในห่วงโซ่อุปทาน ทั้งส่วนการผลิตอาหารสัตว์และฟาร์มสัตว์น้ำ

ซีพีเอฟได้จัดลำดับความสำคัญการดำเนินนโยบายการใช้ยาต้านจุลชีพในสัตว์ อาทิ 1.) ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิดของสัตวแพทย์และใช้เพื่อการรักษาเท่าที่จำเป็นเท่านั้น 2.) หลีกเลี่ยงการใช้ยาต้านจุลชีพประเภทที่ใช้ทั้งในคนและสัตว์ (share-class antimicrobials) และใช้เมื่อจำเป็นอย่างระมัดระวัง โดยจะเลือกใช้ยาสำหรับสัตว์เป็นลำดับแรก 3.) ทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญระดับโลกเพื่อหาแนวทางใหม่ที่ดีกว่าในการดูแลสัตว์ตามหลักการสวัสดิภาพสัตว์ (animal welfare) อันจะเป็นการลดความจำเป็นในการใช้ยาต้านจุลชีพ เป็นต้น โดยบริษัทจะทำงานตลอดห่วงโซ่การผลิตอาหารโปรตีนทั่วโลก และร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการปกป้องสุขภาพของคน สัตว์ และสังคมโลกอย่างเหมาะสม ตามหลักการ ‘’สุขภาพหนึ่งเดียว” (One health)

นอกจากการยุติการใช้ยาปฏิชีวนะในห่วงโซ่อาหารทะเลแล้ว กลุ่ม SeaBOS ยังมีคณะทำงานด้านต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนสู่การทำประมงและผลิตอาหารทะเลอย่างยั่งยืน เช่น การจัดทำข้อตกลงร่วมกันในการส่งเสริมการทำประมงอย่างถูกกฎหมาย ขจัดแรงงานผิดกฎหมาย พัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับ งดเว้นจากการใช้ยาปฏิชีวนะ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกด้วยการสรรหานวัตกรรมใหม่ๆ

น.สพ.สุจินต์ กล่าวว่า ซีพีเอฟ ได้ริเริ่มหลายกิจกรรมเพื่อสนับสนุนการประมงยั่งยืน สอดคล้องกับเป้าหมายของกลุ่ม เช่น ร่วมมือกับ “มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน หรือ LPN เปิดช่องทางศูนย์ฮอทไลน์ Labour Voices by LPN ให้แรงงานของบริษัทได้แสดงความคิดเห็น รวมถึงข้อร้องเรียนผ่านองค์กรที่เป็นกลาง และร่วมมือกับ 6 องค์กรจัดตั้งและดำเนินงานศูนย์ ศูนย์สวัสดิภาพและธรรมาภิบาลแรงงานประมงสงขลา (Fishermen Life Enhancement Center หรือ ศูนย์ FLEC) ตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน เพื่อร่วมดูแลและยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานต่างชาติและครอบครัวในอุตสาหกรรมประมง จังหวัดสงขลา ซึ่งจะนำไปสู่การขจัดและป้องกันการใช้แรงงานผิดกฎหมายทุกรูปแบบในภาคอุตสาหกรรมอาหารทะเลของประเทศ นอกจากนี้ซีพีเอฟยังร่วมกับ กรมประมง ภาคเอกชน และเรือประมง เพื่อร่วมจัดการขยะทะเล ขยะชายฝั่ง และขยะพลาสติกอย่างยั่งยืน