กรมสุขภาพจิตเตือนภัยนักเซลฟี่ ใช้แอพเพิ่มสวย ใส ก่อนโพสต์ เรียกยอดไลค์ เสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้า เครียด หวาดระแวง ชี้น่าห่วง โดยเฉพาะวัยรุ่น ทำให้การพัฒนาตัวเองยาก ขาดภาวะการเป็นผู้นำ ไร้ความคิดสร้างสรรค์ กระทบอนาคตประเทศชาติ
นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า เป็นห่วงพฤติกรรมการเซลฟี่ของผู้คนในสังคมออนไลน์ ที่กำลังกลายเป็นพฤติกรรมเคยชิน ซึ่งเป็นการสื่อสารแสดงออกถึงตัวตนบุคคลโดยถ่ายรูปตนเองทางทางต่างๆแล้วแชร์ภาพ เผยแพร่ในโซเชี่ยล การเซลฟี่นั้นมีความสำคัญกับความคิดในเรื่องของตัวตนอย่างมาก มีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตและความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง
หากเซลฟี่โดยไม่ได้หวังผลอะไร ย่อมไม่มีผลเสีย เก็บไว้เป็นความประทับใจ แต่หากเซลฟี่มีความถี่มาก เพื่อเรียกยอดไลค์หรือเขียนข้อความแสดงความเห็นต่างๆ จนเกิดการหมกมุ่น อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นใจในตัวเอง หากโพสต์รูปตัวเองแล้ว คนกดไลค์น้อย ไม่เป็นไปตามคาดหวัง และโพลต์ใหม่ก็ยังไม่ได้รับการตอบรับ จะทำให้บุคคลนั้นขาดความมั่นใจ ไม่ชอบ ไม่พอใจรูปลักษณ์ตัวเอง เกิดความกังวล ชีวิตไม่มีความสุข เมื่อสะสมไปเรื่อยๆก็อาจทำให้เกิดความผิดปกติทางจิตใจและอารมณ์ได้ง่าย เช่นหวาดระแวง เครียด ซึมเศร้า เป็นภัยเงียบที่น่าเป็นห่วง
กรณีเป็นเยาวชน วัยรุ่น จะมีผลกระทบต่ออนาคตได้ เด็กที่ขาดความมั่นใจในตัวเอง จะมีผลให้พัฒนาตัวเองยาก ขาดภาวะการเป็นผู้นำ ซึ่งมีความสำคัญมากในการใช้ชีวิตทั้งการทำงาน ครอบครัว โอกาสที่จะคิดพัฒนานวตกรรมสร้างสรรค์ ต่างๆ จึงเป็นไปได้ยากขึ้น มีผลต่อการพัฒนาประเทศในอนาคตอย่างคาดไม่ถึง
แพทย์หญิงกุสุมาวดี คำเกลี้ยง ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น กล่าวว่า การถ่ายภาพเซลฟี่ เหมือนการส่องกระจก พฤติกรรมที่น่าเป็นห่วงมี 2 เรื่อง คือ1. ถ่ายเซลฟี่ร่วมกับการใช้แอปแต่งเติมหน้าตัวเองให้ดูดี มีสีสันสดใสขึ้นตามความต้องการ เช่นตาดำโต หน้าเรียว แก้มชมพู ปากแดง ถือว่าเป็นภาพตัวตนในอุดมคติ ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง เป็นการหลอกทั้งตัวเองและหลอกคนอื่น หากใช้บ่อย จะมีผลทำให้ขาดความมั่นใจในการเผชิญหน้าจริงกับผู้คนทั้งในโลกโซเชี่ยล และโลกความเป็นจริง
และ 2. การใช้แอพถ่ายเซลฟี่บ่อยถี่จนเกินไป เป็นสัญญานของคนที่หมกมุ่น ไม่พอใจในรูปร่างหน้าตัวอย่างอย่างผิดปกติ เรียกว่ากลุ่มอาการบีดีดี (Body Dysmorphic Disorder :BDD) คนกลุ่มนี้จะนิยมการใช้แอปถ่ายเซลฟี่ เพราะรูปที่ได้จะตอบโจทย์ ใช้ตรวจสอบรูปร่างหน้าตาของตัวเองได้บ่อยตามต้องการ จะมีพฤติกรรมหมกมุ่น ไม่พอใจในรูปร่างหน้าตาตัวเองและใช้แอปเซลฟี่ตลอดเวลา จนเสียการเสียงาน บางรายถึงขั้นหลุดจากโลกความเป็นจริง
จนไม่สามารถใช้ชีวิตแบบคนปกติ
สังคมออนไลน์มีส่วนทำให้คนมีโอกาสได้เห็นหน้าตาตัวเองบ่อยขึ้นกว่าแต่ก่อน จนระแวงในหน้าตาของตัวเองว่าจะสวยหรือหล่อมั้ย
การเซลฟี่ที่ถี่มากเกินไป อาจสะท้อนถึงความกังวลและความไม่มั่นใจในตัวเอง กระตุ้นให้เรารู้สึกว่าต้องทำให้ตัวเองสวยสร้างความมั่นใจตัวเอง หลายคนตัดสินใจทำศัลยกรรมใบหน้า ให้หน้าตาสวยเข้ารูป หรือทำให้สวยเหมือนในรูปที่ตัวเองเซลฟี่
ผู่้ปกครองควรสอนลูกหลานให้อย่าติดเซลฟี่ โดย 1. สอนเด็กให้มองและยอมรับในความแตกต่างของคนที่ไม่เท่ากัน ไม่เหมือนกัน ไม่นำตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่น 2. ควรเลี้ยงดูบุตรหลาน โดยให้ความรัก ความอบอุ่น เด็กจะให้ความสำคัญ กับคนรอบข้างที่เป็นสิ่งแวดล้อมจริงในชีวิตประจำวัน 3. ฝึกเด็กให้รู้จักระเบียบวินัย รู้จักควบคุมตัวเองในการใช้เวลาในโลกออนไลน์ ประการสำคัญผู้ปกครองต้องเป็นตัวอย่างที่ดีในการควบคุมพฤติกรรมการถ่ายเซลฟี่ของตนเอง 4.สอนให้เด็ก
รู้จักคบเพื่อนในโลกแห่งความเป็นจริง ฝึกทักษะทางสังคมเช่นการยิ้ม การชื่นชมคนอื่น สอนการแบ่งปัน และ 5.ฝึกให้เด็กมีเอกลักษณ์เป็นของตนเองในโลกแห่งความเป็นจริง โดยชวนทำกิจกรรมร่วมกับคนในครอบครัว เช่น ออกกำลังกาย ดูหนัง ฟังเพลง ทำงานศิลปะ ทำอาหาร ทำงานบ้าน หรือจิตอาสาอื่นๆ เพื่อให้เด็กมองเห็นคุณค่าและเกิดความภาคภูมิใจในตัวเอง