กรมชลฯ เดินหน้าแก้แล้งลุ่มน้ำยมตอนล่าง สร้างประตูระบายน้ำ 4 แห่งเสร็จปี 65-67

รายงานข่าว เปิดเผยว่า นายชูชาติ รักจิตร รองอธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วย นายสุริยพล นุชอนงค์ ผู้อำนวยการกองพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง และนายวรพจน์ เพชรนรชาติ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 3 ลงพื้นที่ติดตาม 4 โครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลกและพิจิตร พร้อมเร่งรัดงานให้แล้วเสร็จตามแผน หวังเพิ่มแหล่งเก็บกักน้ำในแม่น้ำยม บรรเทาปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งในพื้นที่อย่างยั่งยืน

นายชูชาติ เปิดเผยว่า สภาพพื้นท่ี่ตอนล่างของลุ่มน้ำยม ไม่เอื้ออำนวยต่อการสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ กรมชลประทาน จึงวางแผนดำเนินการก่อสร้างประตูระบายน้ำตลอดช่วงแม่น้ำยม เพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง และทำหน้าที่หน่วงชะลอน้ำเพื่อผันน้ำเข้าทุ่งหรือแก้มลิงในช่วงฤดูน้ำหลาก เพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัยและการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ ที่มักเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี ซึ่งปัจจุบันกรมชลประทานได้ดำเนินการก่อสร้างโครงการประตูระบายน้ำแล้ว 4 แห่ง ได้แก่ โครงการประตูระบายน้ำท่านางงาม ตำบลท่านางงาม อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก มีลักษณะเป็นประตูระบายน้ำอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กชนิดประตูเหล็กบานโค้ง จำนวน 5 บาน สามารถเก็บกักน้ำได้ประมาณ 7.60 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ระยะเวลาในการก่อสร้าง 5 ปี (พ.ศ.2562 –2566) หากก่อสร้างแล้วเสร็จ จะมีพื้นที่รับประโยชน์ประมาณ 51,375 ไร่ ประชาชนได้รับประโยชน์กว่า 2,568 ครัวเรือน ปัจจุบันคืบหน้าแล้ว ร้อยละ 55 ทั้งนี้ ได้สั่งการให้เร่งรัดการก่อสร้างประตูระบายน้ำให้แล้วเสร็จ ให้สามารถใช้บริหารจัดการน้ำได้ในปี 2565
 
โครงการประตูระบายน้ำท่าแห ตำบลกำแพงดิน อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร มีลักษณะเป็นประตูระบายน้ำอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กชนิดบานเหล็กตรง จำนวน 4 บาน สามารถเก็บกักน้ำได้ประมาณ 12.60 ล้าน ลบ.ม. ระยะเวลาในการก่อสร้าง 6 ปี (พ.ศ.2562 – 2567) หากก่อสร้างแล้วเสร็จ จะมีพื้นที่รับประโยชน์ประมาณ 81,111 ไร่ ประชาชนได้รับประโยชน์ 1,412 ครัวเรือน ปัจจุบันคืบหน้าแล้ว ร้อยละ 43 ซึ่งได้สั่งการให้เร่งรัดดำเนินการก่อสร้างประตูระบายน้ำให้แล้วเสร็จ ให้สามารถใช้บริหารจัดการน้ำได้ในปี 2565 นี้เช่นเดียวกัน

โครงการก่อสร้างประตูระบายน้ำบ้านวังจิก ตำบลวังจิก อำเภอโพธิ์ประทับช้าง จังหวัดพิจิตร มีลักษณะเป็นประตูระบายน้ำคอนกรีตเสริมเหล็กบานประตูเหล็กโค้ง จำนวน 5 บาน ระยะเวลาในการก่อสร้าง 8 ปี (พ.ศ.2559 – 2566) หากก่อสร้างแล้วเสร็จ จะสามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้ 37,397 ไร่ มีความคืบหน้าแล้ว ร้อยละ 47 เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำสามารถดำเนินการได้ตามแผน จึงได้เร่งรัดงานก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในต้นปี 2566
 
และโครงการประตูระบายน้ำโพธิ์ประทับช้าง ตำบลไผ่ท่าโพ อำเภอโพธิ์ประทับช้าง จังหวัดพิจิตร มีลักษณะเป็นประตูระบายน้ำคอนกรีตเสริมเหล็กบานระบายเหล็กชนิดโค้ง จำนวน 5 บาน ระยะเวลาในการก่อสร้าง 5 ปี (พ.ศ.2564 – 2568) หากก่อสร้างแล้วเสร็จ จะสามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้ 28,868 ไร่ ปัจจุบันคืบหน้าแล้ว ร้อยละ 16 เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำสามารถดำเนินการได้ตามแผน จึงได้สั่งการให้ปรับแผนงานก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในปี 2567

“ปัจจุบันได้เร่งรัดการก่อสร้างและปรับแผนการก่อสร้างแล้วเสร็จเร็วขึ้น รวมทั้งเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเร่งด่วนในขณะที่งานก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จ ได้สั่งการให้มีการก่อสร้างทำนบดินชั่วคราวปิดกั้นลำน้ำ เพื่อเก็บกักน้ำไว้ให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ในช่วงฤดูแล้ง เชื่อว่าหากประตูระบายน้ำทั้ง 4 แห่ง ดำเนินการแล้วเสร็จ จะสามารถสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนได้มีแหล่งน้ำต้นทุนและเก็บกักน้ำไว้ใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค และการเกษตรอย่างไม่ขาดแคลน เป็นการบรรเทาปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งได้อย่างยั่งยืน”