กรมชลฯ ร่วมจัดประชุมวิชาการนานาชาติ THA 2022

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2565 พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุข องคมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมวิชาการระดับนานาชาติ THA 2022 ในหัวข้อ “การมุ่งสู่การจัดการน้ำและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างยั่งยืนหลังโควิด-19” (THA 2022 International Conference on Moving Towards a Sustainable Water and Climate Change Management After COVID-19) ระหว่างวันที่ 26 – 28 มกราคม 2565 ผ่านรูปแบบออนไลน์ โดยมี นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน และผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมงาน โดยถ่ายทอดการประชุมผ่านระบบ ZOOM มาที่กรมชลประทานด้วย

การประชุมครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ใหม่ในการบริหารจัดการน้ำ ภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและกระแสการพัฒนาอย่างยั่งยืนในช่วงหลังโควิด-19 และเพื่อเป็นเวทีนำเสนอและเผยแพร่ผลงานวิจัย สำหรับนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ ผู้ปฏิบัติงาน และผู้กำหนดนโยบาย นักวิชาการ ทั้งทางภาครัฐและเอกชนในสาขาที่เกี่ยวข้องจากนานาชาติ ให้ร่วมแบ่งปันและนำเสนอมุมมอง ประสบการณ์ ความก้าวหน้าในงานวิจัยและต่อยอดงานวิจัยเพื่อประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม และส่งเสริมการดำเนินงานตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ

ดร.ชคพล สิงห์โต นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ ส่วนวิศวกรรม สำนักบริหารโครงการ กรมชลประทาน นำเสนอบทความเรื่อง “โครงการผันน้ำแบบชุมชนมีส่วนร่วมในทุ่งหน่วงน้ำบางระกำ” (Participatory Water Diversion Project In BangRakam Flood-Prone Field) ที่ได้รับรางวัลเลิศรัฐ (Best of the best) สาขาการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ประเภทรางวัลสัมฤทธิผลประชาชนมีส่วนร่วม ประจำปี 2564 โดยได้ดำเนินโครงการนี้มาตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปัจจุบัน ใช้พื้นที่ลุ่มต่ำซึ่งเป็นพื้นที่นาที่อยู่ระหว่างลุ่มน้ำยมและลุ่มน้ำน่านในเขตจังหวัดสุโขทัยและจังหวัดพิษณุโลก เป็นพื้นที่รองรับน้ำเพื่อป้องกันและบรรเทาอุทกภัยที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี อาศัยแนวคิดการเปลี่ยนรูปแบบการบริหารจัดการจากการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ เป็นการปันประโยชน์ (Benefit sharing) ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วม พัฒนาจากวิถีชีวิตของเกษตรกรในพื้นที่ลุ่มต่ำ โดยไม่ใช้สิ่งก่อสร้างและบูรณาการทุกภาคส่วนในการปรับปฏิทินการเพาะปลูก ด้วยการเริ่มปลูกฤดูนาปีให้เร็วขึ้น จากเดือนพฤษภาคมเป็นเมษายน เพื่อให้เก็บเกี่ยวข้าวได้ภายในกลางเดือนสิงหาคม ก่อนฤดูน้ำหลากจะมาของทุกปี ใช้พื้นที่หลังเก็บเกี่ยวเป็นพื้นที่หน่วงน้ำที่ได้รับการยินยอมจากชุมชนและการบูรณาการระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ทั้งนี้ กรมชลประทานจะต่อยอดด้วยการประยุกต์ใช้ปัจจัยแห่งความสำเร็จที่เกิดขึ้นเพื่อขับเคลื่อน “บางระกำโมเดล” มุ่งแก้ไขปัญหาในพื้นที่อย่างเหมาะสมต่อไป

นอกจากนี้ กรมชลประทาน ร่วมส่งบทความทั้งสิ้น 8 บทความ และได้รับคัดเลือกเพื่อเผยแพร่ทั้ง 8 บทความ ประกอบด้วย 1. Model of water leakage beneath reservoir and above diversion water tunnel; Mae Prajum reservoir area. 2. Telemetry system for irrigation. 3. The Calibration Curve for Irrigation Reservoirs by Survey Tool Innovation. 4. Applying Flood-prone Fields for Flood Management in Chao Praya River Basin. 5. INWEPF-THAI Innovative Rice Cultivation to Sustain Green Approaches for food security and alleviate poverty under Global Warming Challenges. 6. THAICID Academic Network and their Supporting Roles on Irrigation and Drainage toward Sustainable Water Management. 7. Aquatic weed removal with a rake to optimize water delivery. 8. An Implementation of Automatic Flap Gate Weir Type III-A & III-B toward Structural
Irrigation Water Management Best Practice. และคลิปวิดีโอแสดงผลงาน บทบาทหน้าที่ของกรมชลประทานในการบริหารจัดการน้ำชลประทาน การพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่เพื่อการจัดการ ผลของการดำเนินการ และกรณีตัวอย่างที่มีส่วนช่วยให้ประเทศบรรลุเป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDG6) ด้วย