นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) เปิดเผยหลังเป็นประธานการประชุมคณะที่ปรึกษาด้านธุรกิจภาคเอกชนในศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ว่า ภาคเอกชนมีข้อเสนอมาตรการรับมือกับสถานการณ์ช่วงเวลานี้, ประเมินมาตรการระยะที่1-3 ที่รัฐบาลประกาศใช้ และการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังสถานการณ์คลี่คลายแล้ว
จึงได้แบ่งการทำงานออกเป็น 5 กลุ่มเพื่อรวบรวมข้อเสนอมากลั่นกรอง และประชุมอีกครั้งวันที่ 20 เม.ย. 2563 ก่อนเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี
ประกอบด้วย
- กลุ่มมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ มีนายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย เป็นผู้ดูแล
- กลุ่มมาตรการเพื่อการกลับมาเปิดธุรกิจใหม่ มีนายกลินทร์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เป็นผู้ดูแล
- กลุ่มมาตรการเพื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) มีนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เป็นผู้ดูแล
- กลุ่มมาตรการเพื่อการแก้ไขปัญหาด้วยดิจิทัล มีนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นผู้ดูแล
- กลุ่มมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ที่มีนายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เป็นผู้ดูแล
นายกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในช่วงสัปดาห์นี้ จะรวบรวมธุรกิจที่จะขอให้เปิดดำเนินการได้ โดยเน้นธุรกิจที่มีความจำเป็นกับชีวิตประจำวัน เช่น ห้างสรรพสินค้า ร้านตัดผม แต่ถ้าหากเปิดจะต้องมีวิธีการให้ปลอดภัย ส่วนจำนวนคนตกงานตอนนี้มีจำนวน 7 ล้านคน หากยืดเยื้อไปอีก 2-3 เดือน จะมีคนตกงานถึง 10ล้านคน
และเสนอขอให้เอกชนนำค่าใช้จ่ายสำหรับป้องกันโควิด-19 มาหักค่าใช้จ่ายได้ 3 เท่า, ขอให้ออกเกณฑ์การประชุมกรรมการบริษัทผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (อี-มีทติ้ง) โดยกรรมการไม่จำเป็นต้องอยู่ในประเทศไทยทั้งหมด เพราะปัจจุบันแม้จะประชุมทางไกลกันได้แต่ทุกคนยังต้องอยู่ในประเทศไทย แต่กรรมการต่างชาติไม่สามารถเข้าประเทศได้ รวมถึง ขอขยายการลดหย่อนภาษีจากเงินบริจาคการกุศลสำหรับปีนี้ เป็นไม่มีเพดาน
ด้านนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน ส.อ.ท. เปิดเผยว่า ทางกลุ่ม เสนอขอให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.) ค้ำประกันในสัดส่วน 80% เพื่อให้ธนาคารเชื่อมั่นและกล้าปล่อยสินเชื่อให้เอสเอ็มอี, ปรับลดค่าไฟฟ้า 5% ทั่วประเทศและลดค่าไฟผันแปร (ค่าเอฟที) , ลดเงินนำส่งกองทุนประกันสังคมในส่วนของนายจ้างให้เหลือ 1% เพื่อให้เหมือนกับที่ลดให้ในส่วนลูกจ้างไปแล้ว
และเสนอให้ช่วยเหลือแรงงานที่เงินเดือนไม่เกิน 15,000 บาท โดยขอให้รัฐจ่ายให้ 50% และบริษัทจ่าย 25% ของค่าจ้าง และนำค่าจ้างมาหักค่าใช้จ่ายในการคำนวณได้ 3 เท่า ขอให้งดเก็บภาษีเงินได้กรณีเอสเอ็มอีเป็นเวลา 2 ปี เพราะปีนี้ ผลประกอบการคงจะขาดทุนกัน, ขอเลื่อนการส่งงานออกไป 4 เดือนในโครงการที่ทำสัญญากับรัฐแต่ไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากผลกระทบของโรคระบาด, ลดอัตราภาษีจดจำนองเหลือ 0.01% และอนุญาตให้จ้างงานเป็นรายชั่วโมงได้ จ้างงานวันละ 4-8 ชม/วัน
นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า จะจัดทำโครงร่างปัญหาที่เอสเอ็มอีเข้าถึงสินเชื่อผ่อนปรน(ซอฟท์โลน) ไม่ได้ไปพลางก่อน เพื่อรอให้พระราชกำหนดให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทย ปล่อยสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำพิเศษ วงเงิน 500,000 ล้านบาทให้แก่ ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ประกาศออกมาใช้ก่อน จึงจะทราบได้ว่า ธนาคารจะผ่อนปรนเงื่อนไขในเรื่องหลักประกันได้แค่ไหน รวมถึงประเด็นที่บอกว่ารัฐจะชดเชยความเสียหายบางส่วนกรณีหนี้เสีย 60-70% ก็ต้องรอ พ.ร.ก.ออกมาก่อนเพราะในสภาพความจริงจะต้องมีสูตรในการคำนวณด้วย
นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เสนอให้เน้นการใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลเข้ามาเป็นตัวช่วยในการพัฒนาฝีมือแรงงานทั้งลักษณะการยกระดับและการฝึกฝน วางโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลให้ครอบคลุมเพื่อเป็นพื้นฐานการเข้าถึงการเรียนรู้ การหาเครื่องมือที่จะเป็นสื่อการเรียน การเข้าถึงบิ๊กดาต้า ระบบกฎหมายที่จะเข้ามาดูแลให้เกิดความปลอดภัยของข้อมูล