สภาเภสัชกรรม เตือนรัฐปรับระบบจัดการบริหารยา รับมือปัญหาขาดแคลนยาในภาวะฉุกเฉิน

ปรากฏสัญญาณการขาดแคลนยาจำเป็นบางรายการ และอุตสาหกรรมยาในประเทศเริ่มประสบปัญหาในการจัดหาวัตถุดิบยา

สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 การดูแลรักษาผู้ติดเชื้อนับเป็นภารกิจเร่งด่วนอันดับหนึ่ง ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ร่วมกันจัดระบบการบริหารจัดการยา ทั้งการจัดหาและการกระจายยา เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาเหล่านี้ได้

ขณะเดียวกัน ไม่เพียงแต่ยาที่ใช้รักษาผู้ติดเชื้อ COVID-19 เท่านั้นที่มีความสำคัญเร่งด่วน ยาประเภทอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นยาช่วยชีวิต และยาที่ใช้ในกลุ่มโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ก็มีความจำเป็นที่ผู้ป่วยต้องเข้าถึงยาและต้องได้รับยาอย่างต่อเนื่องด้วยเช่นกัน

ภายใต้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เริ่มปรากฏสัญญาณการขาดแคลนยาจำเป็นบางรายการ และอุตสาหกรรมยาในประเทศเริ่มประสบปัญหาในการจัดหาวัตถุดิบยา สืบเนื่องจากประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นจีน อินเดีย ยุโรป และสหรัฐอเมริกา ได้ใช้มาตรการปิดประเทศ ทำให้เกิดปัญหาการจัดส่งวัตถุดิบยา ผลิตภัณฑ์ยา และบรรจุภัณฑ์ ประกอบกับประเทศไทยเริ่มมีนโยบายให้สถานพยาบาลจ่ายยาโรคเรื้อรังให้แก่ผู้ป่วยล่วงหน้า 6 เดือน ทำให้มีการสำรองยาในสถานพยาบาลบางแห่งมากผิดปกติ

กระทรวงสาธารณสุขจำเป็นต้องเร่งจัดระบบการบริหารจัดการยาที่ต่างไปจากภาวะปกติ

สภาเภสัชกรรม และแผนงานพัฒนาวิชาการและสร้างความเข้มแข็งกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) มีข้อกังวลว่า หากไม่มีการวางระบบจัดการยาและกระจายยาอย่างเหมาะสม ไทยอาจต้องเผชิญภาวะขาดแคลนยา โดยได้จัดประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในภาคราชการและเอกชน เพื่อจัดทำข้อเสนอต่อรัฐบาลในการจัดการ สรุปได้ดังนี้

  • รัฐบาลต้องจัดให้มีกลไกกลางในการจัดหาและกระจายยาในรายการที่จำเป็น โดยเชื่อมโยงการบริหารระดับนโยบาย ระดับบริหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ เช่น องค์การเภสัชกรรม สมาคมไทยอุตสาหกรรมผลิตยาแผนปัจจุบัน สภาเภสัชกรรม และนักวิชาการด้านยา
  • กระทรวงสาธารณสุขต้องมีนโยบายให้สถานบริการสั่งซื้อยาล่วงหน้า 6 เดือน แต่ทยอยการจัดส่งทุก 1-2 เดือน เพื่อให้โรงงานเตรียมจัดหาวัตถุดิบในการผลิตล่วงหน้า
  • ให้สถานบริการเร่งรัดการจ่ายเงินให้รวดเร็วภายในไม่เกิน 1 เดือน หลังจากได้รับใบแจ้งหนี้ เพื่อให้อุตสาหกรรมยาสามารถสำรองวัตถุดิบยาได้ 6 เดือน จากเดิมที่สำรองวัตถุดิบยาไว้ที่ 3 เดือน
  • ในกรณีจำเป็นตามคำเรียกร้องของสมาคมผู้ผลิตยาแผนปัจจุบัน ให้รัฐบาลประสานกับประเทศจีน อินเดีย และประเทศผู้ผลิตวัตถุดิบ เพื่อซื้อวัตถุดิบยาในลักษณะรัฐบาลต่อรัฐบาล หรือจัดเครื่องบินไปรับวัตถุดิบยา ผลิตภัณฑ์ยา รวมถึงบรรจุภัณฑ์
  • ให้อุตสาหกรรมยา รวมทั้งองค์การเภสัชกรรม สำรองวัตถุดิบในการผลิตยา 6 เดือน

ทั้งนี้ ปัญหาการเข้าถึงยาโรคเรื้อรังเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ต้องแก้ไขโดยด่วนเช่นเดียวกับการบริหารจัดการรายการยาสำหรับโรค COVID-19 ไม่เช่นนั้นอีกไม่ถึง 1 เดือน จะเกิดปัญหาโกลาหลของห้องยาและผู้ป่วยอย่างแน่นอน จึงนำเสนอให้รัฐบาลพิจารณาจัดการโดยด่วน