ที่ปรึกษาด้านธุรกิจ ศบค. เตรียมชง เปิดห้างสรรพสินค้า ร้านตัดผม หวั่นยืดเยื้ออีกสองเดือน คนตกงานทะลุสิบล้าน

นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) เปิดเผยหลังเป็นประธานการประชุมคณะที่ปรึกษาด้านธุรกิจภาคเอกชนในศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ว่า ภาคเอกชนมีข้อเสนอมาตรการรับมือกับสถานการณ์ช่วงเวลานี้, ประเมินมาตรการระยะที่1-3 ที่รัฐบาลประกาศใช้ และการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังสถานการณ์คลี่คลายแล้ว

จึงได้แบ่งการทำงานออกเป็น 5 กลุ่มเพื่อรวบรวมข้อเสนอมากลั่นกรอง และประชุมอีกครั้งวันที่ 20 เม.ย. 2563 ก่อนเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี

ประกอบด้วย

  1. กลุ่มมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ มีนายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย เป็นผู้ดูแล
  2. กลุ่มมาตรการเพื่อการกลับมาเปิดธุรกิจใหม่ มีนายกลินทร์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เป็นผู้ดูแล
  3. กลุ่มมาตรการเพื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) มีนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เป็นผู้ดูแล
  4. กลุ่มมาตรการเพื่อการแก้ไขปัญหาด้วยดิจิทัล มีนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นผู้ดูแล
  5. กลุ่มมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ที่มีนายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ เป็นผู้ดูแล

นายกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในช่วงสัปดาห์นี้ จะรวบรวมธุรกิจที่จะขอให้เปิดดำเนินการได้ โดยเน้นธุรกิจที่มีความจำเป็นกับชีวิตประจำวัน เช่น ห้างสรรพสินค้า ร้านตัดผม แต่ถ้าหากเปิดจะต้องมีวิธีการให้ปลอดภัย ส่วนจำนวนคนตกงานตอนนี้มีจำนวน 7 ล้านคน หากยืดเยื้อไปอีก 2-3 เดือน จะมีคนตกงานถึง 10ล้านคน

และเสนอขอให้เอกชนนำค่าใช้จ่ายสำหรับป้องกันโควิด-19 มาหักค่าใช้จ่ายได้ 3 เท่า, ขอให้ออกเกณฑ์การประชุมกรรมการบริษัทผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (อี-มีทติ้ง) โดยกรรมการไม่จำเป็นต้องอยู่ในประเทศไทยทั้งหมด เพราะปัจจุบันแม้จะประชุมทางไกลกันได้แต่ทุกคนยังต้องอยู่ในประเทศไทย แต่กรรมการต่างชาติไม่สามารถเข้าประเทศได้ รวมถึง ขอขยายการลดหย่อนภาษีจากเงินบริจาคการกุศลสำหรับปีนี้ เป็นไม่มีเพดาน

ด้านนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน ส.อ.ท. เปิดเผยว่า ทางกลุ่ม เสนอขอให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.) ค้ำประกันในสัดส่วน 80% เพื่อให้ธนาคารเชื่อมั่นและกล้าปล่อยสินเชื่อให้เอสเอ็มอี, ปรับลดค่าไฟฟ้า 5% ทั่วประเทศและลดค่าไฟผันแปร (ค่าเอฟที) , ลดเงินนำส่งกองทุนประกันสังคมในส่วนของนายจ้างให้เหลือ 1% เพื่อให้เหมือนกับที่ลดให้ในส่วนลูกจ้างไปแล้ว

และเสนอให้ช่วยเหลือแรงงานที่เงินเดือนไม่เกิน 15,000 บาท โดยขอให้รัฐจ่ายให้ 50% และบริษัทจ่าย 25% ของค่าจ้าง และนำค่าจ้างมาหักค่าใช้จ่ายในการคำนวณได้ 3 เท่า ขอให้งดเก็บภาษีเงินได้กรณีเอสเอ็มอีเป็นเวลา 2 ปี เพราะปีนี้ ผลประกอบการคงจะขาดทุนกัน, ขอเลื่อนการส่งงานออกไป 4 เดือนในโครงการที่ทำสัญญากับรัฐแต่ไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากผลกระทบของโรคระบาด, ลดอัตราภาษีจดจำนองเหลือ 0.01% และอนุญาตให้จ้างงานเป็นรายชั่วโมงได้ จ้างงานวันละ 4-8 ชม/วัน

นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า จะจัดทำโครงร่างปัญหาที่เอสเอ็มอีเข้าถึงสินเชื่อผ่อนปรน(ซอฟท์โลน) ไม่ได้ไปพลางก่อน เพื่อรอให้พระราชกำหนดให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทย ปล่อยสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำพิเศษ วงเงิน 500,000 ล้านบาทให้แก่ ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ประกาศออกมาใช้ก่อน จึงจะทราบได้ว่า ธนาคารจะผ่อนปรนเงื่อนไขในเรื่องหลักประกันได้แค่ไหน รวมถึงประเด็นที่บอกว่ารัฐจะชดเชยความเสียหายบางส่วนกรณีหนี้เสีย 60-70% ก็ต้องรอ พ.ร.ก.ออกมาก่อนเพราะในสภาพความจริงจะต้องมีสูตรในการคำนวณด้วย

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เสนอให้เน้นการใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลเข้ามาเป็นตัวช่วยในการพัฒนาฝีมือแรงงานทั้งลักษณะการยกระดับและการฝึกฝน วางโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลให้ครอบคลุมเพื่อเป็นพื้นฐานการเข้าถึงการเรียนรู้ การหาเครื่องมือที่จะเป็นสื่อการเรียน การเข้าถึงบิ๊กดาต้า ระบบกฎหมายที่จะเข้ามาดูแลให้เกิดความปลอดภัยของข้อมูล