ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (เอไอเอส) ร่วมกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดตัวศูนย์ 5G R&D ในชื่อ “AIS 5G PLAY GROUND & 5G GARAGE” แห่งแรกของสถาบันการศึกษาในเมืองไทย ณ อาคาร 100 ปี วิศวฯ จุฬา ที่ติดตั้ง LIVE Private Network ด้วยสถานีฐาน 5G กับ 2 คลื่นความถี่ 2600 MHzและ 26 GHz (mmWave) พร้อมกิจกรรมส่งเสริมการวิจัยนวัตกรรม 5G ให้นิสิตและคณาจารย์ หนุนภาคอุตสาหกรรม เสริมแกร่งประเทศ
นายวสิษฐ์ วัฒนศัพท์ หัวหน้าฝ่ายงานปฏิบัติการและสนับสนุนด้านเทคนิคทั่วประเทศ เอไอเอส กล่าวว่า เอไอเอสรู้สึกเป็นเกียรติและภาคภูมิใจอย่างยิ่ง ที่ได้มีส่วนสนับสนุนภาคการศึกษา เปิดพื้นที่เพื่อพัฒนาความพร้อมให้แก่นิสิต นักศึกษา นักพัฒนา รวมถึง ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในแวดวงของเทคโนโลยี Digital ของไทย ได้มีโอกาสลงมือทดลอง ทดสอบ เพื่อพัฒนาไอเดียด้วยเทคโนโลยีอย่าง AI,ML,VR,AR,MR,IoT,Metaverse,Robotic ,ฯลฯ บนเครือข่าย 5G
การเปิดตัว “AIS 5G PLAY GROUND & 5G GARAGE” มีเป้าหมายเพื่อเป็นพื้นที่ทดลอง ทดสอบ 5G บนสภาพแวดล้อมจริงด้วย LIVE Private Network ซึ่งนิสิต นักศึกษา คณาจารย์ รวมถึงนักพัฒนา ใน 5G Ecosystem สามารถใช้เป็นพื้นที่ศึกษา เรียนรู้ ทดลอง ทดสอบ เทคโนโลยีต่างๆทั้ง AI,ML,VR,AR,MR,IoT,Metaverse, Robotic, ฯลฯ บน 5G ได้อย่างไม่มีข้อจำกัด เพราะได้ติดตั้งสถานีฐาน 5G ที่เลือกเอาคลื่น 2600 MHz และ คลื่น 26 GHz (mmWave) ที่เหมาะกับการพัฒนา Use case ในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น Industrial solutions, Holograms Solutions หรือ Fixed Wireless Access-FWA เพราะช่วงความถี่อย่าง 26 GHz มีปริมาณ Bandwidth มหาศาลและความหน่วงต่ำมาก (Low Latency), การสนับสนุนอุปกรณ์ส่งสัญญาณอย่าง 5G CPE , องค์ความรู้เกี่ยวกับโครงสร้างการทำงานของเทคโนโลยี 5G, พร้อมทั้งการสัมมนา workshop จาก Guest Speaker หลากหลายวงการ เพื่อพัฒนาความรู้ ความชำนาญในทางเทคนิค ทั้ง Hard Skill และ Soft Skill รวมไปถึงการเชิญชวนร่วม Co-Develop บริการต้นแบบบน 5G อีกด้วย
นายวสิษฐ กล่าวอีกว่า การที่ภาคการศึกษา ให้ความสำคัญกับการฝึกฝน สร้างทักษะเพื่อเตรียมรองรับเทคโนโลยี 5G ถือเป็นวิสัยทัศน์ที่ถูกต้องอย่างยิ่ง เพราะ 5G คือเทคโนโลยีที่จะช่วยยกระดับขีดความสามารถของอุตสาหกรรมต่างๆ ที่จะร่วมขับเคลื่อนประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ จากคุณสมบัติ 3 ส่วน คือ ความเร็วที่เพิ่มขึ้น, ขยายขีดความสามารถการเชื่อมต่อของ IoT และ ทำให้เครือข่ายตอบสนองได้รวดเร็วและเสถียรที่สุด ดังนั้นการศึกษาให้มากที่สุดย่อมทำให้เกิดความเชี่ยวชาญ สามารถนำมาประยุกต์ใช้ ได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาแนวคิดจากต่างประเทศเพียงอย่างเดียว ซึ่ง เอไอเอสพร้อมสนับสนุนอย่างเต็มที่
ด้าน ศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การมีสถานที่ ซึ่งมีสภาพแวดล้อมเสมือนจริงอย่าง AIS 5G Playground และ 5G Garage ที่มีความครอบคลุมของคลื่นความถี่ของ 5G แบบ LIVE Network ถือว่าตอบโจทย์และสามารถส่งเสริมให้นิสิต และ คณาจารย์ ได้ใช้เป็นแหล่งทำงานวิจัย แลกเปลี่ยน เรียนรู้ สร้างสรรค์นวัตกรรมบน Sandbox ได้อย่างดี ที่สำคัญถือเป็นการผสมผสานองค์ความรู้ทั้งภาคทฤษฎีจากเราและภาคปฏิบัติที่เกิดจากประสบการณ์ในการทำงานจริงของ AIS ที่จะมาช่วยเสริมทักษะให้แก่นิสิตและคณาจารย์ ในการพัฒนานวัตกรรมเพื่อประเทศไทย ผ่าน 5G ได้อย่างตอบโจทย์ที่สุดต่อไป