นายปราโมทย์ รู้ทวีผล รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ เปิดเผยว่า บริษัทดำเนินธุรกิจควบคู่กับความรับผิดชอบต่อสังคม ภายใต้กลยุทธ์สู่ความยั่งยืน 3 เสาหลัก คือ อาหารมั่นคง สังคมพึ่งตน และดินน้ำป่าคงอยู่ พร้อมทั้งปลูกฝังให้พนักงานคิดสร้างสรรค์โครงการเพื่อตอบแทนสังคมและเป็นประโยชน์ต่อชุมชนในพื้นที่ที่บริษัทตั้งอยู่ ซึ่งโครงการ สร้าง สาน สุข วิถีชุมชน ศูนย์เรียนรู้เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง บ้านซับรวงไทร จังหวัดชัยภูมิ เป็นอีกหนึ่งโครงการที่สนับสนุนเกษตรกรและชุมชน หมู่ที่ 4 ต.นาเสียว อ.เมืองชัยภูมิ จ.ชัยภูมิ รวมตัวกันปลูกผักปลอดภัยปราศจากสารเคมี 100 % เป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหารในระดับชุมชน ผลิตอาหารปลอดภัย สร้างอาชีพ และส่งเสริมการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ ( Sustainable Development Goals : SDGs) ในประเด็นขจัดความยากจน การมีสุขภาพที่ดี และมีแบบแผนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
ซีพีเอฟ ร่วมกับเกษตรกร ชุมชนในพื้นที่ และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง แก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อใช้ในการเกษตร โดยตั้งแต่ปี 2561 ซีพีเอฟสนับสนุนการทำหอกระจายน้ำ หอพักน้ำเพื่อการเกษตร ระบบจ่ายน้ำด้วยท่อ PE เพื่อกระจายน้ำใช้ในการเกษตรได้อย่างทั่วถึง รวมทั้งหาแนวทางช่วยลดต้นทุนค่าปุ๋ยของเกษตรกร ด้วยการทำโครงการ “ปุ๋ยเปลือกไข่ สู่ชุมชน และเกษตรกร” โดยซีพีเอฟสนับสนุนมูลไก่และเปลือกไข่ภายใต้การผลิตร่วมกับชุมชน เพื่อนำไปทำเป็นปุ๋ยอินทรีย์ใส่ในแปลงเกษตร เป็นการบริหารจัดการของเสียแบบบูรณาการด้วยการนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ ชุมชนในพื้นที่สามารถเข้าถึงการบริโภคผักปลอดภัยและนำมาสู่การมีสุขภาพที่ดี เกษตรกรที่ปลูกผักมีรายได้และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น หลังจากที่บริษัทฯเข้าไปดูแลเรื่องการจัดการระบบน้ำ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพทางการเกษตร สามารถผลิตผักปลอดภัยตามความต้องการของลูกค้าได้อย่างสม่ำเสมอ
นายชูชีพ ชัยภูมิ ประธานศูนย์เรียนรู้เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง บ้านซับรวงไทร กล่าวว่า ปัจจุบัน กลุ่มปลูกผักปลอดภัยบ้านซับรวงไทร มีสมาชิก 44 ราย ครอบคลุมพื้นที่เพาะปลูกประมาณ 29 ไร่ ได้รับการสนับสนุนจากซีพีเอฟดูแลระบบการจัดการน้ำเพื่อใช้ในการเพาะปลูกมาตั้งแต่ปี 2561 ทำให้มีน้ำใช้ในการเพาะปลูกพืชได้ตลอดทั้งปี รวมทั้งได้รับการสนับสนุนมูลไก่และเปลือกไข่เพื่อทำปุ๋ย ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการซื้อปุ๋ย และจากการวิเคราะห์ทางเคมีพบว่าปุ๋ยที่เกิดจากการผสมด้วยมูลไก่และเปลือกไข่ มีธาตุไนโตรเจนและฟอสฟอรัสสูง เป็นธาตุอาหารที่ทำให้พืชผักโตเร็ว และผลผลิตเพิ่มขึ้นประมาณ 20% ทำให้ชุมชนมีรายได้จากการจำหน่ายผักอย่างน้อย 15,000 บาทต่อเดือน เป็นรายได้เสริมจากอาชีพหลัก คือ ทำนา ทำไร่อ้อย ไร่มันสำปะหลัง ซึ่งเป็นพืชที่ราคาผันผวน
“ ขอขอบคุณซีพีเอฟ ที่เห็นประโยชน์และความสำคัญของการที่คนในชุมชนรวมตัวกันเป็นกลุ่มปลูกผักบ้านซับรวงไทร พร้อมกับเข้ามาสนับสนุนในทุกๆด้านอย่างเต็มกำลัง อาทิ สนับสนุนอุปกรณ์เก็บน้ำและกระจายน้ำ หาแนวทางเพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการซื้อปุ๋ยของเกษตรกร ร่วมกันก่อตั้งและสร้างตลาดชุมชน ดูแลวางแผนการตลาด ช่องทางการจำหน่าย ทำให้ชุมชนของเราก้าวไกลและก้าวหน้ายิ่งขึ้น ผู้สูงอายุที่ไม่มีกำลังไปทำไร่ทำนา สามารถปลูกผักปลอดภัยไว้บริโภคเองและนำผลผลิตมาจำหน่ายสร้างรายได้ ”
นางเมืองพร ชนะพาล ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4 ต.นาเสียว อายุ 48 ปี มีอาชีพทำการเกษตร ทำนาข้าว สวนอ้อยและไร่มันสำปะหลัง กล่าวว่า ตนเป็นรุ่นบุกเบิกที่มีการรวมตัวของคนในชุมชนเพื่อปลูกผักปลอดภัย จากนั้นทางซีพีเอฟเข้ามาช่วยเหลือและสนับสนุนอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับพักน้ำไว้ใช้เพาะปลูก และยังสนับสนุนมูลไก่ เปลือกไข่ และน้ำหมักเพื่อนำมาทำเป็นปุ๋ยให้ชาวบ้านใช้ประโยชน์แทนการใช้ปุ๋ยเคมี ลดค่าใช้จ่ายของครัวเรือนลงได้อย่างมาก ส่วนผลผลิตผักที่ได้ ทางซีพีเอฟเข้ามาช่วยดูแลเรื่องการตลาด การจำหน่าย แนะนำลูกค้าให้ ขอบคุณซีพีเอฟที่เข้ามาช่วยเหลืออย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง คนในชุมชนเองก็มีโอกาสได้ทำงานกับซีพีเอฟ ไม่ต้องเดินทางไปทำงานต่างฟื้นที่ไกลๆ ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ซึ่งไม่สามารถทำงานหนักได้ สามารถทำหน้าที่ดูแลแปลงผักและมีรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตผัก
โครงการสร้าง สาน สุข วิถีชุมชน ศูนย์เรียนรู้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง บ้านซับรวงไทร จังหวัดชัยภูมิ เป็นโครงการที่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมจากการประกวดรางวัลสามประโยชน์สู่ความยั่งยืน ปี 2563 ( CPF CSR Awards 2020) และรางวัลซีพีเพื่อความยั่งยืน ประจำปี 2563 สามารถเป็นต้นแบบและเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับชุมชนอื่นๆต่อไป เพื่อส่งเสริมการสร้างความมั่นคงทางอาหารระดับชุมชนและพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน