คัดมาให้ 13 หุ้น PE ต่ำ น่าลงทุน ปลอดภัย รับ Bond yield พุ่ง

ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด

“ทรีนีตี้” แจกคัมภีร์ลงทุนหุ้นเดือน มี.ค.คัด 7 กลุ่ม 13 หุ้นปลอดภัยรับ Bond yield ขาขึ้น แนะกลยุทธ์ขึ้นขาย-ลงซื้อตามกรอบ ประเมินแนวต้านสำคัญที่ 1,540 จุด ส่วนแนวรับแรกมองที่ 1,480 จุด และแนวรับสำคัญมองที่ 1,450 จุด ครึ่งเดือนหลังถึงเวลาพิจารณาหุ้นขนาดใหญ่ หลังประมาณการ EPS  ทรงตัวได้ และแรงขายปรับพอร์ตของนักลงทุนต่างชาติเตรียมจบลง

นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด เปิดเผยทิศทางการลงทุนเดือน มี.ค.ว่า มองว่าตลาดหุ้นไทยจะผันผวนน้อยกว่าตลาดหุ้นอื่น ๆ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นเติบโตเช่น สหรัฐฯ และเอเชียเหนือ ซึ่งเป็นตลาดหุ้นที่ Sensitive ต่อการปรับเปลี่ยนของ Bond yield  

 “ดัชนีที่แนวรับ 1,450 – 1,480 จุด จะเป็นบริเวณดัชนีที่สามารถเข้าซื้อเพื่อรองรับกับปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ภายนอกได้ โดยเฉพาะประเด็นการปรับตัวสูงขึ้นของ Bond yield ทั่วโลก ในขณะเดียวกัน ประเมินแนวต้านสำคัญของดัชนีในเดือนนี้ที่ 1,540 จุด ซึ่งจะเป็นระดับที่ทำให้ค่า Earning yield gap     ของตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงสู่ระดับ -1SD สะท้อนถึงความตึงตัวในมิติ Valuation หากเห็นระดับดังกล่าว แนะนำเน้นขายทำกำไรออกมาก่อน”

สำหรับธีมการลงทุนที่เหมาะสมกับสถานการณ์  Bond yield พุ่งแรง และคาดการณ์เงินเฟ้อที่สูงขึ้นนั้น แนะนำลงทุนใน ธีม Reflation / Recovery / Reopening โดยจะต้องเป็นหุ้นที่ยังคงซื้อขายด้วย Valuation (PE) ในระดับต่ำด้วย เนื่องจากหุ้นเหล่านี้มีค่า Earning yield gap ในระดับสูงเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ย จึงสามารถทนทานต่อความเสี่ยงที่ Bond yield อาจปรับสูงขึ้นอีก

ทั้งนี้หุ้นที่น่าสนใจใน 7 กลุ่ม 13 หุ้น มีดังนี้

  • 1.กลุ่ม Hard commodities หุ้นที่เลือกคือ  PTTGC, TOP, SPRC, ESSO
  • 2.กลุ่ม Soft commodities หุ้นที่เลือกคือ STA 
  • 3.กลุ่มธนาคารหุ้นที่เลือกคือ KBANK, BBL  
  • 4.กลุ่มอาหารหุ้นที่เลือกคือ  CPF, TU 
  • 5.กลุ่มอสังหาฯ หุ้นที่เลือกคือ AP, ORI  
  • 6.กลุ่มเดินเรือ หุ้นที่เลือกคือ RCL
  • 7.กลุ่มสินค้า Consumer หุ้นที่เลือกคือ STGT

“Bond yield ที่ปรับขึ้นในช่วงที่ผ่านมานั้น เรายังคงมุมมองเป็นกลางและไม่ได้เป็นกังวลมากนัก เนื่องจากความผันผวนที่เกิดขึ้นนั้นถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำมาก เมื่อเทียบหลายช่วงในอดีต ส่วนคาดการณ์เงินเฟ้อสหรัฐ ฯ        ยังไม่ได้อยู่ในระดับที่น่ากังวลต่อการเข้มงวดนโยบายการเงินของ Fed เช่นกัน จึงมองเหตุการณ์ปัจจุบันยังคงห่างไกลกับสภาวะ Bond shock ในอดีต ที่มักมาพร้อมกับการปรับฐานของตลาดหุ้นครั้งใหญ่ ทั้งนี้ มองว่าการลงทุนในหุ้นยังคงเป็นสิ่งที่ดำเนินต่อไปได้ ตราบใดที่ Bond yield สหรัฐฯ รุ่น 10  ปียังปรับขึ้นไม่ถึงระดับ 2.0% และคาดการณ์เงินเฟ้อ 10 ปี ของสหรัฐฯ  ยังไม่แตะระดับ 2.5%”

สำหรับในช่วงครึ่งหลังของเดือนมี.ค.นี้ น่าจะเริ่มเป็นช่วงเวลาที่ดีของหุ้นขนาดใหญ่มากขึ้น หลังจากปรับตัว Underperform หุ้นขนาดกลาง-เล็ก มาตลอดนับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา เนื่องจากแรงขายของนักลงทุนต่างชาติน่าจะเริ่มหมดลง หลังผ่านพ้นการปรับตะกร้าของดัชนี FTSE ที่มีการลดน้ำหนักตลาดหุ้นไทยในรอบนี้ ประกอบกับในแง่ของปัจจัยพื้นฐานเริ่มเห็นประมาณการกำไรของหุ้นใหญ่ทรงตัวได้แล้ว จึงเป็นที่มาที่หุ้นแนะนำส่วนใหญ่ประจำเดือนนี้ค่อนข้างโน้มเอียงไปยังหุ้นขนาดใหญ่มากกว่า