ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ในฐานะโฆษกกรมชลประทาน เปิดเผยว่า บริเวณประเทศไทยตอนบนมีฝนตกหนาแน่น ส่งผลทำให้มีปริมาณน้ำไหลหลากจากพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำเจ้าพระยาไหลลงเหนือเขื่อนเจ้าพระยาในอัตราเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สถานการณ์น้ำวานนี้ (31 สิงหาคม 2565) เวลา 06.00 น. ตรวจวัดปริมาณน้ำไหลผ่านสถานีวัดน้ำ C.2 จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,846 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)/วินาที สมทบกับแม่น้ำสะแกกรังผ่านสถานีวัดน้ำ Ct.19 จ.อุทัยธานี วัดได้ 103 ลบ.ม./วินาที ระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา อยู่ที่ระดับ +15.89 ม.รทก. ระดับท้าย +13.46 ม.รทก. ปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา 1,678 ลบ.ม./วินาที คาดการณ์ปริมาณน้ำไหลผ่านสถานี C.2 จ.นครสวรรค์ อยู่ระหว่าง 1,800 – 1,900 ลบ.ม./วินาที แม่น้ำสะแกกรัง สถานี Ct.19 อัตรา 100 ลบ.ม./วินาที และลำน้ำสาขาอัตรา 200 ลบ.ม./วินาที ซึ่งจะทำให้ปริมาณน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยามีปริมาณระหว่าง 2,100 – 2,200 ลบ.ม./วินาที การรับน้ำเข้าระบบชลประทานทั้งสองฝั่งรวมจำนวน 200 ลบ.ม./วินาที
กรมชลประทานได้ดำเนินการภายใต้เกณฑ์การบริหารจัดการน้ำของเขื่อนเจ้าพระยา โดย พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธานคณะอนุกรรมการอำนวยการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอนุญาตให้กรมชลประทานปรับเพิ่มการระบายน้ำไม่เกิน 2,000 ลบ.ม./วินาที แบบขั้นบันไดพร้อมทั้งบริหารจัดการน้ำและควบคุมปริมาณ การระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาให้อยู่ในเกณฑ์ดังกล่าวอย่างเต็มศักยภาพของพื้นที่เพื่อลดผลกระทบต่อพื้นที่ชุมชนและพื้นที่การเกษตร โดยปรับเพิ่มปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาตั้งแต่วันที่ 4 กันยายน 2565 ในอัตรา 1,800 – 2,000 ลบ.ม./วินาที ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนเพิ่มสูงขึ้น บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ คลองโผงเผง จ.อ่างทอง , คลองบางบาล และ ต.หัวเวียง อ.เสนา ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา (แม่น้ำน้อย) อาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชุมชน ระดับน้ำบริเวณพื้นที่ดังกล่าวจะเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบัน 0.40 – 0.50 เมตร ในช่วงวันที่ 5 – 6 กันยายน 2565 ทั้งนี้ หากมีปริมาณน้ำเหนือเพิ่มขึ้น ที่จะส่งผลให้ มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยามากกว่า 2,000 ลบ.ม./วินาทีแจ้งให้ทราบต่อไป
อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำกรมชลประทานได้แจ้งเตือน 11 จังหวัดในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้แก่ จังหวัดอุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ และ กรุงเทพมหานคร รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำน้อย ขอให้เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด