KCC ถือฤกษ์ดีวันที่ 5 เดือน 5 เทรดกระดาน mai

บมจ.บริหารสินทรัพย์ ไนท คลับ แคปปิตอล หรือ “KCC” หนึ่งในบริษัทที่มีความคร่ำหวอดในธุรกิจ AMC พร้อมเข้าเทรดวันแรกในตลาดหลักทรัพย์ mai วันที่ 5 พ.ค.นี้ ใช้ชื่อย่อหลักทรัพย์ในการซื้อขาย “KCC” เดินหน้านำเงินที่ได้จากการระดมทุนขยายพอร์ตหนี้ NPLs เพิ่ม ดันปีนี้พอร์ตทะลุ 1 พันล้าน มองอนาคตเติบโตต่อเนื่องตามปริมาณหนี้ NPLs ของระบบสถาบันการเงินไทย   ด้าน โบรกฯ ชั้นนำ ประเมินราคาเหมาะสมไว้ที่ 4.94-5.40 บาทต่อหุ้น

นายทวี กุลเลิศประเสริฐ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บริหารสินทรัพย์ ไนท คลับ แคปปิตอล   จำกัด (มหาชน) หรือ KCC เปิดเผยว่า บริษัทพร้อมเข้าซื้อขายวันแรกในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ในวันที่ 5 พ.ค.2565 นี้ โดยใช้ชื่อย่อ “KCC” ในการซื้อขายหลักทรัพย์ ด้วยเป้าหมายการทำธุรกิจที่ต้องการบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพด้วยความรวดเร็ว        มีประสิทธิภาพ และเติบโตอย่างต่อเนื่อง การบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพด้วยความโปร่งใส และมีความยุติธรรมต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องและเป็นหนึ่งในบริษัทบริหารสินทรัพย์ชั้นนำที่มีธรรมาภิบาล   ที่ดีของประเทศ จะสนับสนุนให้บริษัทเติบโตได้อย่างยั่งยืนและมั่นคงในอนาคต 

นอกจากนี้ บริษัทจะนำเงินระดมทุนที่ได้จากการเสนอขายหุ้น ไอพีโอ ไปลงทุนซื้อหนี้ NPLs โดยในปี 2565  โดยตั้งงบประมาณการลงทุนในสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ประมาณ 800 ล้านบาท ซึ่งจะหนุนให้พอร์ตหนี้ NPLs ของบริษัทฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นทะลุ 1,000 ล้านบาท จากสิ้นปี 2564 พอร์ตหนี้ NPLs ของบริษัทฯ อยู่ที่ 565.57      ล้านบาท และอนาคตมีโอกาสเติบโตได้อีกจากฐานทุนของบริษัทที่แข็งแกร่งขึ้น มีการจัดหาแหล่งเงินทุนที่หลากหลายเพื่อรองรับการขยายตัวทางธุรกิจของบริษัท และสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหุ้นและนักลงทุน  

นายทวี กล่าวอีกว่า คาดการณ์ว่าในช่วงปี 2565 สถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจทางการเงินจะมีการนำสินทรัพย์ด้อยคุณภาพมาเปิดประมูลมากขึ้น เนื่องจากแนวโน้มของหนี้เสียในระบบมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหลังจากเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ต่อเนื่องและภาวะเศรษฐกิจยังคงชะลอตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้ความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ลดลง จึงมั่นใจเป้าหมายผลการดำเนินงานปี 2565 จะเติบโตต่อเนื่องจากปี 2564 ที่มีรายได้จากการดำเนินงาน 125.75 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 52.42 ล้านบาท และหากดูผลงานในอดีตของบริษัทฯ ก็จะพบว่าเติบโตต่อเนื่องทุกๆ ปี โดยปี 2562 มีรายได้จากการดำเนินงาน 57.10 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 12.03 ล้านบาท ปี 2563 มีรายได้จากการดำเนินงาน 128.10 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 49.06 ล้านบาท     

ด้าน นายวัชรินทร์ เลิศสุวรรณกุล รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท แอดไวเซอรี่ พลัส จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน กล่าวว่า ปัจจัยพื้นฐานทางธุรกิจที่โดดเด่น มีจุดแข็งในความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ของผู้บริหารที่คร่ำหวอดในธุรกิจ AMC กว่า 20 ปี และในอนาคตมีโอกาสที่การลงทุนในเงินให้สินเชื่อจากการซื้อลูกหนี้จะเติบโตจากเม็ดเงินที่ได้จากการระดมทุนในครั้งนี้ ประกอบกับผลการดำเนินงานแข็งแกร่ง มีอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ในระดับ 89-90% มีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E Ratio) ณ สิ้นปี 2564 ในระดับต่ำเพียง 0.63 เท่า การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์           เอ็ม เอ ไอ (mai) จะหนุนให้บริษัทเติบโตได้ต่อเนื่องในอนาคต

นางสุพัตรา ภู่พัฒน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวาณิชธนกิจ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหรือ Lead Underwriter กล่าวว่า การเสนอขายหุ้น IPO ของ KCC ในช่วงที่ผ่านมา จำนวน 160 ล้านหุ้น ในราคาเสนอขาย 3.70 บาท/หุ้น ได้รับการตอบรับจากนักลงทุนเกินกว่าคาดหมาย ตอกย้ำถึงศักยภาพและความเชื่อมั่นในปัจจัยพื้นฐานของบริษัทฯ ที่เป็นหนึ่งในบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรม AMC ที่มีโอกาสเติบโตตามปริมาณหนี้ NPLs ของระบบสถาบันการเงินที่จะเพิ่มสูงขึ้น 

ด้านบริษัทหลักทรัพย์ชั้นนำจัดทำบทวิเคราะห์และประเมินกรอบราคาเหมาะสมของ KCC อยู่ในกรอบ ที่ 4.94-5.40 บาทต่อหุ้น 

โดย บทวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด ระบุว่า KCC เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพด้านธุรกิจและที่อยู่อาศัยมีศักยภาพในการเติบโตระยะยาวหลังระดมทุนนำเงินจากไอพีโอไปซื้อหนี้ NPLs และจะก้าวสู่การเติบโตใน 3 ปีข้างหน้า สอดคล้องกับแนวโน้ม NPLs ของสถาบันการเงินที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากผลกระทบของโควิด 19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยประเมินแนวโน้มกำไรสุทธิปี 2565-2566 จะเติบโต 32% เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน (YOY) และ94%YOY จากการเข้าซื้อหนี้ NPLs เข้ามาบริหารมากขึ้น หนุนแนวโน้มรายได้ดอกเบี้ยรับเติบโตโดดเด่น ประเมินราคาเหมาะสมปี 2565 ที่ 5.40 บาท 

“KCC จะมีฐานะการเงินที่แข็งแกร่งขึ้นหลังระดมทุนหนี้สินต่อทุน (D/E) จะลดลงเหลือ0.5เท่า จากสิ้นปีก่อนอยู่ที่ 0.63 เท่าและต่ำกว่านโยบายที่กำหนดไว้ 2 เท่าอยู่มาก รองรับการก่อหนี้เพื่อขยายธุรกิจในอนาคตได้”                          

บทวิเคราะห์ยังระบุ หากดูปริมาณหนี้ NPLs ในระบบสถาบันการเงินที่สิ้นปี 2564 มีกว่า 5.3 แสนล้านบาท จะพบว่าสัดส่วนสินทรัพย์ด้วยคุณภาพภาคธุรกิจ มีสัดส่วนมากถึง 73% ของสินทรัพย์ด้อยคุณภาพทั้งหมด และหากดูสถิติในอดีต NPLs ภาคธุรกิจตั้งแต่ปี 2554 – 2564 โตเฉลี่ย 5.9% ซึ่งจะเป็นผลบวกต่อ KCC ที่จะมีสินทรัพย์ด้อยคุณภาพมาให้บริหารเพิ่มขึ้นในอนาคต

ขณะที่ บริษัทหลักทรัพย์ คิงส์ฟอร์ด ระบุว่า KCCจะเป็นหนึ่งในธุรกิจ AMC ที่ดีที่สุดรายหนึ่ง เพราะถือว่าเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจ เห็นได้จากอัตรากำไรขั้นต้น และอัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (ROE) อยู่ในระดับสูง         และการที่ NPLs ในระบบที่เพิ่มขึ้นจากวิกฤตโควิด 19 จะสนับสนุนการเติบโตของKCCในช่วง 2 ปีนี้จากพอร์ต NPLs ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น และจะหนุนให้รายได้ดอกเบี้ยรับช่วง 2565-2566 สูงขึ้นมาอยู่ที่ 226 ล้านบาทเพิ่มขึ้น117% และ306 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 36% ตามลำดับ และประเมินกำไรสุทธิปี 2565-2566 จะเติบโตแข็งแกร่ง ขึ้นมาอยู่ที่ 72 ล้านบาท และ113 ล้านบาท ตามลำดับ และประเมินราคาเหมาะสมของ KCC ที่ 4.94 บาท ซึ่งเมื่อเทียบกับ PBVแล้วจะอยู่ที่ 2.55 เท่าในปี 2565 ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มซึ่งอยู่ที่ 3.33 เท่า