Home Blog Page 105

ประเด็นคิดก่อนตัดสินใจ : กองทุน Thai ESG

0
บทความโดย สมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการ สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน

ตัวช่วยใหม่ : กองทุน Thai ESG

การปรากฏตัวของกองทุน Thai ESG อย่างฉับพลันเมื่อ 13-14 พฤศจิกายน 2566 โดยคาดว่าจะเริ่มขายระดมทุนได้ในต้นเดือนธันวาคมนี้ ถือเป็นข่าวดีที่ไม่ค่อยจะมีมาสู่ตลาดหุ้นไทยนานแล้ว แสดงถึงว่ารัฐบาลของท่านนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน มีความใส่ใจในสถานการณ์ตลาดทุน ว่ามีส่วนเกี่ยวพันไปถึงระบบเศรษฐกิจ (กำลังซื้อของผู้ลงทุน 2.5 ล้านคน  การระดมทุนของบริษัทจดทะเบียน) และภาวะการเงิน ตลอดจนค่าเงินของประเทศ จึงได้มอบหมายคุณกิตติรัตน์ ณ ระนอง เข้ามาดูแลหารือแก้ปัญหากับองค์กรหลักที่เกี่ยวข้อง ทั้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ก.ล.ต. FETCO และกระทรวงการคลัง

สรุปประเด็นสำคัญของกองทุน

จากการหารือกันในวันดังกล่าว ก็ได้ตัดสินใจให้มีกองทุน Thai ESG ตามรายละเอียดที่สำคัญ คือ 

  • เป็นกองทุนที่ลงทุนในหุ้นที่มี ESG ที่ดี และตราสารหนี้ประเภท ESG Bond
  • ให้ทุกคนมีสิทธิซื้อกองทุนนี้ แล้วนำไปหักลดหย่อนรายได้พึงประเมินที่นำไปคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คนละไม่เกิน 30% ของรายได้พึงประเมิน ซึ่งสิทธินี้ไม่เกินคนละ 100,000 บาทต่อปี เป็นส่วนที่เพิ่มเติมขึ้นมาต่างหาก ไม่ต้องไปรวมกับวงเงิน 500,000 บาท ที่เป็นเพดานการซื้อของ RMF + กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (หรือ กบข.) + ประกันชีวิตแบบบำนาญ + SSF
  • ต้องถือไว้ 8 ปีเต็มจริงๆ นับแบบวันชนวัน 
  • ให้สิทธิซื้อตั้งแต่ปี 2566 ถึงปี 2575 (รวมซื้อได้ 10 ปี) แต่ไม่มีข้อผูกมัดให้ต้องซื้อต่อเนื่อง

ประโยชน์จากการตั้งกองทุน Thai ESG

ผมมองว่าการดำเนินการนี้ถือเป็นผลบวกอย่างมากให้แก่หลายๆ ภารกิจของประเทศ ได้แก่ 

  • การสนับสนุนการออมระยะยาว เพื่อให้คนไทยได้ออมเงินไว้ในกองทุน Thai ESG เพื่อเก็บไว้ใช้จ่ายในอนาคต จากหลักเกณฑ์ที่ให้ถือไว้ 8 ปีเต็มนับแบบวันชนวัน ซึ่งระยะเวลาดังกล่าว ยาวนานพอให้รัฐบาลไม่น้อยกว่า 2 ชุดได้บริหารประเทศ ก็พอฝากความคาดหวังว่า จะสามารถฟื้นเศรษฐกิจไทยให้ดีขึ้นกว่าปัจจุบันวันที่ซื้อกองทุน Thai ESG 
  • นอกจากนั้น เม็ดเงินจากกองทุนที่เบื้องต้นคาดว่าจะมี 1 ถึง 1.5 หมื่นล้านบาทต่อปี ส่วนหนึ่งจะเข้าในหุ้น ESG อาจช่วยให้ตลาดหุ้นมีความแข็งแรงขึ้น  พอรองรับการขายของผู้ลงทุนต่างชาติได้ระดับหนึ่ง และถ้าข้ามเวลาไปเล็กน้อย ก็ถึงจังหวะที่รัฐบาลสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจจากมาตรการ e-Refund และตามมาด้วยมาตรการดิจิทัลวอลเล็ต 5 แสนล้านบาท ตลอดจนดำเนินการ พรบ.งบประมาณรายจ่ายปี 2567 ผ่านสภาฯ ได้เรียบร้อย ก็น่าจะช่วยให้ตลาดหุ้นแข็งแรงขึ้นกว่าเดิมได้ และหากต่างชาติมั่นใจหยุดขาย ก็มีโอกาสที่ตลาดจะเริ่มกลับเป็นบวกในปี 2567 
  • เป็นการแสดงออกอย่างเป็นรูปธรรมของการส่งเสริม ESG และสนับสนุนกิจการที่มี ESG ที่ดี ที่ครอบคลุมประเด็นสิ่งแวดล้อมอันเป็นภารกิจร่วมกันที่จะดูแลโลกใบนี้

ประเด็นพิจารณา น่าลงทุนหรือไม่

สำหรับท่านที่กำลังพิจารณาว่าจะลงทุนในกองทุน Thai ESG ดีหรือไม่  ผมมีประเด็นคิดที่อาจเป็นวัตถุดิบประกอบการตัดสินใจได้ดังนี้ครับ

  • กองทุนนี้ ลงทุนได้ทั้งหุ้นและหุ้นกู้ (ที่เน้นเรื่องที่ดี) ต้องถือไว้ 8 ปีเต็ม หากขายก่อนกำหนดจะต้องคืนสิทธิ์ยกเว้นภาษีที่เคยใช้ลดหย่อนไว้ และอาจมีเงินปรับเพิ่มเติม (ติดตามดูรายละเอียด) และถ้ามีกำไรก็ต้องเสียภาษีจากกำไรนั้นด้วย ดังนั้น ต้องประมาณการเงินส่วนตัวให้ดีว่า เงินเย็นจริงไม่รีบร้อนใช้ 
  • ท่านต้องดูว่า ตัวเรามีอัตราภาษีจ่ายขั้นสุดท้ายที่เท่าไร สมมติ 20% กรณีนี้ ถือว่าเราได้กำไรที่มากกว่า 20% ด้วยซ้ำ เพราะสมมติเราซื้อไป 100,000 บาท เราจะนำยอดไปหักลดหย่อนภาษีลงไปได้ทันที 20,000 บาท เท่ากับลงทุนไว้เพียง 80,000 บาท เมื่อคำนวณผลกำไร 20,000 บาท หารด้วยเงินลงทุนสุทธิ 80,000 บาท เท่ากับ กำไร 25% หรือคำนวณเป็นอัตราทบต้นต่อปี เท่ากับ 2.83%ต่อปี  แล้วเราไปลุ้นต่อว่าหลังจากซื้อไปแล้ว 8 ปี NAV ของกองทุนจะดีขึ้นหรือลดลงเท่าไร  
  • กรณีฐานภาษีเราเองสูงมาก เช่น 30-35% อันนี้คำนวณตามแนวข้างบน จะเท่ากับเรามีกำไร 42.85% กับ 53.84% ตามลำดับ คงตัดสินใจได้เลย โดยไม่ต้องคำนวณต่อปีให้นะครับ 
  • ที่เราต้องประเมินคาดการณ์ข้ามไปถึงปีที่ 8 ข้างหน้า เนื่องจากในระยะ 7 ปีกับอีก 364 วัน เราคงไม่ขายคืนกองทุนก่อนครบ 8 ปี เพราะจะโดนค่าปรับ โดนคืนภาษีที่ประหยัด หรือเก็บภาษีเพิ่มถ้ามีกำไร
  • ถ้าท่านเชื่อว่า เศรษฐกิจใน 8 ปีข้างหน้าต้องเติบโตไปกว่าปัจจุบัน หรือคาดว่าราคาหุ้นจะสูงขึ้นกว่านี้พอสมควร แบบนี้ก็คงต้องซื้อกองทุนโดยไม่ต้องคิดเยอะ เพราะยังมีกำไรจากประหยัดภาษีเงินได้อีกด้วย
  • หลายท่าน ยังไม่อยากฝันสูงว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้นมาก ขอใช้สถิติหุ้นประเทศไทยที่พวกเราบ่นกันทั้งประเทศว่าแย่มา 10 ปี ผมมีตัวเลขให้พิจารณาครับ สิ้นเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม ปี 2556  SET Index อยู่ที่ 1,371 และ 1,298 จุด ตามลำดับ  ถ้ามองแบบ conservative อาจสมมุติไปว่าถ้าอีก 10 ปีก็แทบไม่มีกำไรจากราคาหุ้นเหมือนเดิม แต่ผมเรียนฝากว่าตัวเลขดัชนีนั้นไม่ได้รวมเงินปันผลที่บริษัทจดทะเบียนจ่ายนะครับ ที่ผ่านมายังได้เงินปันผลเฉลี่ยได้ปีละ 3% ครับ ถ้ากองทุนเราได้รับปันผลตามเกณฑ์เฉลี่ย ก็หมายถึงเราควรได้ผลตอบแทนที่ยังไม่หักค่าบริหารกองทุน ประมาณ 3% ต่อปี ในขณะที่ถ้าเป็นกองประเภทตราสารหนี้ ESG ก็น่าจะมีผลตอบแทนดอกเบี้ยให้กองทุนเฉลี่ยปีละไม่น้อยกว่า 3% เช่นกันครับ
  • ค่าบริหารกองทุนนั้นมีหลายระดับตามลักษณะกองทุนที่ตั้งขึ้นมา ถ้าเป็นกองที่ลงในหุ้นกู้ก็น่าจะคิดค่าบริหารประมาณ 0.3-0.6% ต่อปี  ส่วนกองที่ลงหุ้นตามดัชนีหุ้นเป๊ะ (Passive Fund) ไม่ต้องใช้จังหวะฝีมือผู้จัดการ ก็คิดค่าจัดการประมาณปีละ 0.5% แต่ถ้าเป็นกองที่ใช้จังหวะฝีมือความคิดของผู้จัดการกองทุน ไม่เกาะไปเท่ากับดัชนีที่ใช้วัด ที่เรียกว่าเป็น Active Fund ก็จะมีค่าบริหารที่สูงขึ้นเป็นประมาณ 1.5% ถึง 2.1% ต่อปี ท่านต้องเลือกดูว่าจะใช้แบบไหนดีครับ แล้วนำไปหักลบกับคาดการณ์ผลตอบแทนกองทุนที่คิดไว้ใน Bullet ข้างบน 
  • แนะนำให้ดูเอกสารกองทุนด้วยว่า มีค่าธรรมเนียมอื่นๆ ด้วยไหม เช่น ค่าสับเปลี่ยนกอง (สำหรับผู้ลงทุนที่กะใช้จังหวะฝีมือตัวเองโยกข้ามกองทุน Thai ESG กองอื่น) หรือค่าธรรมเนียมตอนเราขายคืน (ฝั่งกองทุนใช้คำว่าการรับซื้อคืน) 
  • เมื่อคำนวนผลตอบแทนสุทธิหักค่าธรรมเนียมต่างๆ แล้ว  ต้องนำมารวมกับอัตรากำไรจากการหักลดหย่อนภาษีของเรา เช่น เฉลี่ยปีละ 2-5% ตามระดับฐานภาษีของเรา รวมแล้วดูน่าสนใจไหม ถ้าดูแล้วคุ้มก็ตัดสินใจลงทุนครับ

ท้ายนี้ ฝากท่านผู้อ่านไว้ว่า การลงทุนมีความเสี่ยงแต่ก็มีโอกาสด้วย ส่วนกองทุน Thai ESG นั้น เป็นตัวช่วยลดความเสี่ยงขาดทุนจากการประหยัดภาษี (ถ้ามี) ช่วยเพิ่มโอกาสและอัตรากำไรจากการลงทุนจากการประหยัดภาษี (ถ้ามี) แต่ที่สุดแล้ว ท่านผู้อ่านต้องตัดสินใจตามความพร้อมและตามตัวเลขคาดการณ์ของแต่ละท่านครับ

1 ทศวรรษ เชสเตอร์ ‘ปันรัก ปันน้ำใจ’ มุ่งทำดีเพื่อสังคม ส่งความสุขส่งท้ายปี 2566 ที่มูลนิธิหลวงตาน้อย 

0

บริษัท เชสเตอร์ ฟู้ด จำกัด หรือเชสเตอร์ (Chester’s) ในกลุ่ม บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ เดินหน้าโครงการ “เชสเตอร์ ปันรัก ปันน้ำใจ” ต่อเนื่องปีที่ 10 นำพนักงานจิตอาสากว่า 70 คน ร่วมร้อยเรียงความดี เลี้ยงอาหารกลางวันเด็กๆ และเจ้าหน้าที่ มูลนิธิหลวงตาน้อย จ.นครปฐม ด้วยเมนูยอดนิยมของร้านเชสเตอร์ พร้อมทั้งส่งเสริมการมีส่วนร่วมของพนักงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและประเทศชาติ ภายใต้หลักปรัชญา 3 ประโยชน์สู่ความยั่งยืนของเครือเจริญโภคภัณฑ์ 

นางสาวลลนา บุญงามศรี กรรมการผู้จัดการ เชสเตอร์ ฟู้ด กล่าวว่า บริษัทฯ และพนักงานจิตอาสา มีความยินดีเป็นอย่างมากที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในสังคม มุ่งมั่นทำความดีอย่างต่อเนื่องตลอด 10 ปี ในการช่วยเหลือเด็กพิการ เด็กกำพร้า และผู้ด้อยโอกาสในสังคม ครั้งนี้ได้ร่วมกับมูลนิธิหลวงตาน้อยเติมเต็มมื้ออร่อยจากเมนูเชสเตอร์ ได้แก่ ข้าวอบไก่ย่างและข้าวไก่เผ็ดเชสเตอร์ พร้อมกิจกรรมสันทนาการสนุกๆ สร้างเสียงหัวเราะและรอยยิ้มให้ทุกคน นอกจากนี้ ยังนำข้าวสารอาหารแห้ง เครื่องอุปโภคบริโภค ตลอดจนสิ่งของจำเป็นให้มูลนิธิฯ เป็นของขวัญส่งท้ายปี 2566 

“สำหรับในปีหน้า เชสเตอร์ มีความมุ่งมั่นดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม สานต่อโครงการ ‘เชสเตอร์ ปันรัก ปันน้ำใจ’ อย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนองค์กรหรือมูลนิธิต่างๆ ที่ช่วยเหลือสังคม ด้วยการส่งมอบอาหารผ่านเมนูยอดฮิต ซึ่งเป็นซิกเนเจอร์ของเชสเตอร์ เพื่อเปิดโอกาสให้คนไทยได้เข้าถึงอาหารคุณภาพดีและมีคุณค่าทางโภชนาการ” นางสาวลลนา กล่าว 

เชสเตอร์ ดำเนินโครงการ “เชสเตอร์ ปันรัก ปันน้ำใจ” มาตั้งแต่ปี 2556 จนถึงปัจจุบัน โดยผนึกกำลังพันธมิตร อาทิ โรงพยาบาล มูลนิธิ และสถานสงเคราะห์ต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล มอบอาหารพร้อมรับประทาน และจัดกิจกรรมสันทนาการ เพื่อสร้างสังคมแห่งการแบ่งปันแก่พนักงาน ร่วมยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนให้เติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน

คาดปีหน้ากุ้งไทยส่งออกสหรัฐฯ มากขึ้น เรียกร้องรบ.เจรจา EU คืนสิทธิ GSP

0

นายเอกพจน์ ยอดพินิจ นายกสมาคมกุ้งไทย นำทีมคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ เปิดเผยถึงสถานการณ์กุ้งของไทย ปี 2566 ว่า ผลผลิตกุ้งเลี้ยงโดยรวม อยู่ที่ 280,000 ตัน เท่ากับปีที่ผ่านมา เนื่องจากราคากุ้งตกต่ำ สวนทางต้นทุนที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรบางส่วนชะลอการลงกุ้ง เพื่อรอดูสถานการณ์ รวมถึงปัญหาโรคและสภาพอากาศแปรปรวน พร้อมแนะเกษตรกรลดต้นทุน เพิ่มผลิตภาพการผลิต และส่งเสริมการตลาดภายในให้เข้มแข็ง เตรียมรับมือผลกระทบราคากุ้งตกต่ำทั่วโลก

นายเอกพจน์ เปิดเผยว่า ปริมาณผลผลิตกุ้งคาดว่าจะได้ประมาณ 280,000 ตัน เท่ากับปีที่แล้ว เป็นผลผลิตกุ้งจากภาคใต้ตอนบน ร้อยละ 33 จากภาคตะวันออก ร้อยละ 25 ภาคใต้ตอนล่างฝั่งอันดามัน ร้อยละ 20 จากภาคกลาง ร้อยละ 12 ภาคใต้ตอนล่างฝั่งอ่าวไทย ร้อยละ 10 ส่วนผลผลิตกุ้งทั่วโลกคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 5.07 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 1 โดยประเทศจีนผลิตกุ้งได้เพิ่มขึ้นมาก เอกวาดอร์ เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ต่ำกว่าที่คาด ขณะที่ประเทศทางเอเชีย ได้แก่ เวียดนาม อินเดีย อินโดนีเซียผลิตกุ้งลดลงทุกประเทศ คาดปีหน้าผลผลิตกุ้งโลกจะลดลงประมาณ ร้อยละ 2 ดังแสดงในตารางที่ 1

ส่วนการส่งออกกุ้งเดือน ม.ค. – ต.ค. ปีนี้อยู่ที่ปริมาณ 109,663 ตัน มูลค่า 36,284 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2565 ที่ส่งออกปริมาณ 120,310 ตัน มูลค่า 42,341 ล้านบาท ปริมาณลดลง ร้อยละ 9 ส่วนมูลค่าลดลง ร้อยละ 14 ” (ดังแสดงในตารางที่ 2)

“เกษตรกรจำเป็นต้องปรับตัว ด้วยการลดต้นทุนให้ได้ ทั้งต้นทุนทางตรงและต้นทุนแฝง ที่เกิดจากความเสียหายจากโรค เพิ่มผลิตภาพการผลิต เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ รวมถึงสร้างตลาดภายในให้เข้มแข็ง เพื่อเตรียมรับผลกระทบจากราคากุ้งตกต่ำในปีหน้า โดยภาครัฐและเอกชนต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง ในการพัฒนาระบบโลจิสติกส์เพื่อกระจายสินค้าที่คงคุณภาพความสดของกุ้งไทยไปถึงผู้บริโภค ทั้งชาวไทยและนักท่องเที่ยว คาดการณ์ผลผลิตปีหน้าเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ประมาณ 290,000 ตัน และตลาดสหรัฐฯ มีสัญญาณดีขึ้น จากการฟ้องร้องเอดี/ซีวีดีประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ ทำให้ผู้นำเข้าเริ่มออเดอร์กุ้งไทย” นายกสมาคมกุ้งไทยกล่าว

นอกจากนี้ ปี 2567 กุ้งไทยมีโอกาสส่งออกไปสหรัฐอเมริการมากขึ้น หลังประเทศผู้ผลิตกุ้งรายใหญ่ของโลก ทั้ง เอกวาดอร์ อินเดีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม ถูกสหรัฐฯ เรียกสอบสวนการทุ่มตลาด (Anti-Dumping Duty : AD) การอุดหนุนการส่งออก (Countervailing Duty : CVD) เพื่อเรียกเก็บภาษีตอบโต้ คาดว่าจะมีผลิตในปีหน้า สถานการณ์ดังกล่าวจะก่อให้เกิดความเสี่ยงกับผู้นำเข้าของสหรัฐฯ ขณะที่ทั้ง 4 ประเทศข้างต้น ส่งออกไปยังตลาดอื่นทดแทน อาทิ จีน และญี่ปุ่น เพื่อลดความเสี่ยง ทำให้สหรัฐฯ หันมานำเข้ากุ้งจากไทยที่เป็นผู้ผลิตชั้นนำและผลิตกุ้งคุณภาพสูงมากขึ้น

นายเอกพจน์ กล่าวต่อไปว่า สมาคมผู้เลี้ยงกุ้งไทย ยังได้ส่งเสริมเกษตรกรจังหวัดสุราษฎร์ธานี นำร่องยกระดับการเลี้ยงกุ้งไทยสู่มาตรฐานสูงสุด คือ Aquaculture Stewardship Council (ASC) ซึ่งเป็นมาตรฐานที่สหรัฐฯ ใช้เป็นข้อกำหนดในการนำเข้ากุ้งจากต่างประเทศ

นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้รัฐบาลไทยเร่งเจรจากับสหภาพยุโรป (EU) ในการคืนสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ให้กับกุ้งที่นำเข้าจากประเทศไทย เนื่องจากปัจจุบันไทยส่งออกกุ้งไป EU ได้เพียง 900 ตัน/ปี จากที่เคยส่งออกได้ 60,000 ตัน/ปี ขณะเดียวกัน ยังขอให้สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเพื่อแก้ปัญหาโรคระบาดในกุ้ง เช่น โรคกุ้งตายด่วน หรือกลุ่มอาการตายด่วน (Shrimp Early Mortality Syndrome : EMS) อาการขี้ขาว (White Feces Syndrome WFS) โรคตัวแดงดวงขาว (White Spot Disease : WSD) และโรคหัวเหลือง (Yellow-head Virus : YHV) เป็นต้น

“อุตสาหกรรมกุ้งไทยกำลังเผชิญกับ Perfect Strom ประกอบด้วยปัญหา Over Supply (การบริโภคต่ำ) ต้นทุนการผลิตสูง ราคากุ้งตกต่ำ และโรคกุ้ง สมาคมฯและเกษตรกรจะทำหนังสือขอให้รัฐบาลยกวาระเหล่านี้เป็นวาระแห่งชาติ ต้องจัดการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ทวงคืนแชมป์ส่งออกกุ้งโลกกลับมาให้ได้” นายกสมาคมกุ้งไทย กล่าว

ด้าน นายบรรจง นิสภวาณิชย์ ที่ปรึกษาสมาคม และประธานสมาพันธ์การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไทย กล่าวว่า แม้ผลผลิตกุ้งไทยปี 2566 จะได้ผลผลิตเท่าเดิม แต่เมื่อดูจากปริมาณลูกกุ้งที่ลดลงร้อยละ 7 แสดงถึงประสิทธิภาพการผลิตของเกษตรกรที่สูงขึ้น ถือเป็นจุดแข็งของไทยที่มีสายพันธุ์ลูกกุ้งที่หลากหลาย ทั้งนี้ เกษตรกรต้องพิจารณาเลือกลูกุก้งที่เหมาะสมกับพื้นที่ ศักยภาพบ่อ และความสามารถในการจัดการการบ่อของแต่ละราย

“ปริมาณผลผลิตที่ทรงตัวในปีนี้ สาเหตุหลักเพราะปัญหาโรคกุ้งยังไม่สามารถแก้ไขได้อย่างเด็ดขาด รวมถึงปัญหาราคากุ้งตกต่ำ ขณะที่ต้นทุนการผลิต วัตถุดิบต่างๆ และราคาพลังงาน สูงขึ้น เกษตรกรบางรายสามารถปรับตัวโดยพยายามเลี้ยงกุ้งไซส์ใหญ่ขึ้นเพื่อหนีราคา แต่บางรายก็ชะลอการลงกุ้ง ซึ่งคาดว่าสถานการณ์จะยังคงเป็นอย่างนี้ต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า เนื่องจากผลผลิตกุ้งยังคงเข้าตลาดอย่างต่อเนื่องในขณะที่สภาพเศรษฐกิจตกต่ำ ภาวะเงินเฟ้อ และผู้นำเข้ากุ้งยังมีสต็อกเพียงพอ”

สำหรับปริมาณผลผลิตกุ้งรายภาคของประเทศไทย มีข้อมูลจากกรรมการสมาคมดังนี้

นายปกครอง เกิดสุข อุปนายกสมาคมกุ้งไทย และประธานที่ปรึกษาชมรมผู้เลี้ยงกุ้งจังหวัดกระบี่ กล่าวถึงสถานการณ์การเลี้ยงกุ้งภาคใต้ตอนล่างฝั่งอันดามันว่า “ผลผลิตปี 2566 คาดการณ์ว่ามีผลผลิตประมาณ 55,700 ตัน ลดลงจากปีที่ผ่านมาประมาณร้อยละ 6 พบการเสียหายปัญหาขี้ขาว และสภาพอากาศแปรปรวน ทำให้เกษตรกรจับกุ้งก่อนกำหนด และช่วงปลายปีที่ฝนตกมาก จะมีปัญหาความเค็ม ทำให้เกษตรกรทยอยจับและพักบ่อ

นางสาวพัชรินทร์ จินดาพรรณ เลขาธิการสมาคมกุ้งไทย และประธานสหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งจันทบุรีกล่าวว่า “ผลผลิตกุ้งปี 2566 ในพื้นที่ภาคตะวันออก มีประมาณ 69,900 ตัน เท่ากับปีที่ผ่านมา จากปัญหาโรคตัวแรงดวงขาว ขี้ขาว และ หัวเหลือง เกษตรกรต้องจับกุ้งก่อนกำหนด ทำให้ผลผลิตต่อไร่ต่ำ รวมถึงปัญหาราคากุ้งตกต่ำ ทำให้เกษตรกรชะลอการเลี้ยง หรือปล่อยกุ้งลดลง

ส่วนผลผลิตภาคกลาง ประมาณ 34,200 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา จากปัญหาราคากุ้งตกต่ำ ทำให้เกษตรกรบางส่วนยืดเวลาการเลี้ยงเพื่อให้ได้กุ้งไซส์ใหญ่ อย่างไรก็ตาม ปัญหาสภาพอากาศแปรปรวนทำให้กุ้งโตช้า และมีความเสียหายจากโรคระบาด”

นายพิชญพันธุ์ สลิลปราโมทย์ กรรมการบริหารสมาคม และประธานชมรมผู้เลี้ยงกุ้งสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า “ผลผลิตกุ้งพื้นที่ภาคใต้ตอนบนปี 2566 ประมาณ 93,000 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 4 และ จากปัญหาราคากุ้งตกต่ำ ทำให้เกษตรกรพยายามเลี้ยงกุ้งขาวให้ได้ขนาดใหญ่ เกษตรกรบางส่วนหันไปเลี้ยงกุ้งกุลาดำเนื่องจากราคาดีทั้งปี”

นายปรีชา สุขเกษม กรรมการสมาคมกุ้งไทย กล่าวว่า “ผลผลิตกุ้งภาคใต้ตอนล่างฝั่งอ่าวไทย 28,100 ตัน ลดลงร้อยละ 4 ผู้เลี้ยงประสบปัญหาราคากุ้งตกต่ำ โรคระบาด และสภาพอากาศแปรปรวน เกษตรกรลดความหนาแน่นลงเพื่อเลี้ยงกุ้งไซส์ใหญ่ ช่วงปลายปีฝนที่ตกหนักส่งผลให้น้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติ มีความเค็มต่ำ เกษตรกรทยอยจับกุ้งแล้วพักบ่อเพื่อเตรียมเลี้ยงครอปต่อไปในปีหน้า”

ตลาดหลักทรัพย์ฯ จัดงาน SET ESG Professionals Forum 2023 เปิด 5 ความท้าทายด้านความยั่งยืนของตลาดทุนไทย

0

ตลาดหลักทรัพย์ฯ ร่วมกับเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญด้านความยั่งยืน SET ESG Experts Pool จัดงาน SET ESG Professionals Forum 2023 ภายใต้แนวคิด Together for Change เพื่อรวมพลังสร้างการเปลี่ยนแปลง นับเป็นเวทีระดมความร่วมมือของ ESG Professionals ที่ใหญ่ที่สุดในไทย เผยถึงเวลาเร่งสร้างคนและขยายความร่วมมือเพื่อให้เท่าทันต่อวิกฤตและการเปลี่ยนแปลง และองค์กรธุรกิจต้องให้ความสำคัญใน 5 เรื่องท้าทายได้แก่ การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานที่ยืดหยุ่น (Resilient Value Chain) การปรับตัวเพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero การใช้โอกาสจาก Thailand Taxonomy เพื่อแก้ไขปัญหา Greenwashing การให้ความสำคัญต่อกระบวนการเปิดเผยข้อมูล ESG และภาคการศึกษาที่จะกลายเป็นหัวใจสำคัญในเรื่องการพัฒนาความยั่งยืน

ศ.(พิเศษ) ดร. กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ประธานอนุกรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืน และกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวในปาฐกถาพิเศษ ‘Moving the Mountain for Sustainable Impact, Yes, We Can!’ ว่า ขณะนี้ถนนทุกสายล้วนมุ่งสู่ความยั่งยืน แม้เผชิญกับอุปสรรคใหม่ การมีเพื่อนร่วมทางสนับสนุนกันย่อมดีกว่าเดินทางคนเดียว ขอให้ยึดหลักการ 3 ข้อ ประกอบด้วย 1) มองมิติความยั่งยืน (ESG) คือ สิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และบรรษัทภิบาล (Governance) ที่เชื่อมโยงและไม่แยกขาดจากกัน 2) มองกว้างและมองไกลเกินกว่าห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจ โดยมองผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทั้งตัวองค์กรและส่วนรวม และ 3) ทลายกำแพงอคติ ก้าวข้ามอัตตาเดิม เรียนรู้และร่วมมือให้เกิดพลัง สร้างการเปลี่ยนแปลงที่เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจ ยกระดับตลาดทุนไทยให้เท่าทันและทัดเทียมกับนานาชาติ และก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีและมีความหมายต่อทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ภายในงาน SET ESG Professionals Forum 2023: Together for Change ยังได้มีการนำเสนอ 5 แนวโน้มความท้าทายในการพัฒนาธุรกิจสู่ความยั่งยืนของตลาดทุนในปัจจุบัน ซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่ตกผลึกจากความคิดและการทำงานร่วมกันของสมาชิก SET ESG Experts Pool ตลอดปี 2566 โดยมีประเด็นสำคัญ ดังนี้

  1. การปรับเปลี่ยนแนวทางการบริหารและจัดการห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจ (Supply Chain) จากแบบเดิม ๆ ให้กลายเป็นห่วงโซ่คุณค่าที่ยืดหยุ่น (Resilient Value Chain) พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว ผ่านความร่วมมือของผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมดตลอดห่วงโซ่คุณค่าในการปรับปรุงการดำเนินธุรกิจที่ใส่ใจในทุกมิติ
  2. การปรับตัวขององค์กรธุรกิจในมิติสิ่งแวดล้อม เพื่อรับมือมาตรฐานและกฎเกณฑ์ระดับโลกที่เพิ่มขึ้น โดยควรเริ่มตั้งแต่การคำนวนปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกรณีฐาน (Baseline Emission) การตั้งเป้าหมาย และการปรับแผนกลยุทธ์ของธุรกิจ เพื่อคว้าโอกาสจากการเปลี่ยนแปลง
  3. การสร้างโอกาสจาก Thailand Taxonomy ที่เปรียบเสมือน “ไม้บรรทัด” ที่ช่วยสร้างแนวทางสื่อสารว่าการดำเนินการของธุรกิจสร้างผลเชิงบวกจริง ไม่ได้เป็นการบิดเบือน (Greenwashing) รวมถึงช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการเข้าถึงแหล่งทุน/ระดมทุน ตลอดจนสร้างภาพลักษณ์และชื่อเสียงที่ดีให้กับธุรกิจ
  4. เกณฑ์การเปิดเผยข้อมูล ESG จะเข้มขึ้นมากขึ้น ภาคธุรกิจต้องให้ความสำคัญต่อ “กระบวนการ” ที่ได้มาของข้อมูล ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการเปิดเผยข้อมูล และสามารถสะท้อนถึงประสิทธิภาพการดำเนินงานด้านความยั่งยืนขององค์กรอย่างแท้จริง
  5. บทบาทของภาคการศึกษาที่จะยิ่งทวีความสำคัญ ในการแก้ปัญหาร่วมกันระหว่างองค์กร หน่วยงาน และภาคส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะช่องว่างระหว่างภาคการศึกษาและภาคธุรกิจ ที่จำเป็นต้องผลิตคนทำงาน บุคลากรที่มีคุณภาพเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของธุรกิจและประเทศ

ดร. ศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อน ESG อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ “คนทำงาน” ซึ่งเป็นฟันเฟื่องสำคัญในการขับเคลื่อนให้องค์กรดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืน ซึ่งบุคลากรต้องเข้าใจและขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดความยั่งยืนจริง โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ มุ่งสร้างและพัฒนาคนที่มีคุณภาพเพื่อสอดรับความต้องการของตลาดทุนมาโดยตลอดแต่ยังไม่เพียงพอต่อการรับมือกับวิกฤตและการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว จึงต้องมีความร่วมมือจากภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อต่อยอด ถ่ายทอด และขยายความรู้ให้กว้างและเร็วที่สุด และเป็นสิ่งที่ต้องรีบดำเนินการตั้งแต่วันนี้ นอกจากนี้ ยังได้รวบรวมบุคลากรที่ทำงานด้านความยั่งยืนในภาคตลาดทุน (SET ESG Experts Pool) เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนการพัฒนา ESG ในวงกว้าง ตลอดจนการผลักดันธุรกิจสู่ความยั่งยืน ตลาดหลักทรัพย์ฯ สนับสนุนให้ทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญและดำเนินงานด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม คำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียรอบด้านและปฏิบัติตามหลักบรรษัทภิบาลอย่างต่อเนื่อง สร้างความรู้ความเข้าใจ พัฒนาเครื่องมือด้าน ESG และการประเมิน SET ESG Ratings เพื่อสนับสนุนภาคธุรกิจและการลงทุน รวมถึงวางระบบ Infrastructure เช่น ESG Data Platform เพื่อรวมศูนย์จัดการข้อมูลความยั่งยืน เป็นต้น

งาน SET ESG Professionals Forum 2023: Together for Change จัดขึ้นในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 เวลา 13.00-17.00 น. ณ อาคารตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นเวทีระดมความร่วมมือและสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้จากมุมมองของ ESG Professionals ผู้ปฏิบัติงานจริงในองค์กร นำไปสู่การพัฒนาทักษะความเป็นมืออาชีพด้านความยั่งยืน โดยการยกระดับการทำงาน ESG ในองค์กร พลังความร่วมมือและความริเริ่มจากเวทีจะยังสามารถนำไปสู่การผลักดันวาระสำคัญด้านความยั่งยืนของประเทศและความร่วมมือในการขับเคลื่อนตลาดทุนสู่ความยั่งยืน ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถรับฟังงามสัมมนาย้อนหลังผ่านช่องทางออนไลน์ Facebook & YouTube: SET Thailand

เตือน “หมูเถื่อน” อันตรายเสี่ยงสารปนเปื้อน แนะผู้บริโภคเลือกซื้อเนื้อหมูปลอดภัย

0

ผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตและปรับปรุงพันธุ์สัตว์เศรษฐกิจ ม.เกษตรฯ เตือน “หมูเถื่อน“ อันตราย เสี่ยงสารปนเปื้อน สารเร่งเนื้อแดง แนะผู้บริโภค เลือกซื้อเนื้อหมูอย่างปลอดภัย ลดความเสี่ยงด้านสุขภาพ พร้อมย้ำ หมูเถื่อน ทำลายความมั่นคงทางอาหารของไทย

รศ.ดร.ศกร คุณวุฒิฤทธิรณ ภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า หมูเถื่อน คือ เนื้อหมูที่นำเข้ามาในประเทศอย่างผิดกฎหมาย ไม่ผ่านกระบวนการหรือมาตรการตรวจสอบคุณภาพ แหล่งที่มา การปนเปื้อน ความสะอาด และความปลอดภัย นอกจากไม่รับผิดชอบต่อผู้บริโภคแล้วยังไม่รับผิดชอบต่อธุรกิจและอุตสาหกรรมภายในประเทศ

รศ.ดร.ศกร คุณวุฒิฤทธิรณ

หมูเถื่อน ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในการบริโภคและตลาดภายในประเทศ ทำให้ความต้องการใช้ผลผลิตในประเทศลดลง กระทบต่อเนื่องมายังอุตสาหกรรมการเลี้ยงการผลิต มีผลต่อรายได้ของเกษตรกร บั่นทอนความเชื่อมั่นและความสามารถในการผลิต เพราะผู้ผลิตสูญเสียโอกาสและกำไรจากการค้า ไม่มีแรงจูงใจในการขับเคลื่อนกิจการ ในระยะยาวการผลิตจะหายไป ประเทศไทยจะกลายเป็นเพียงผู้ที่ซื้อมาและขายไป ไม่มีความมั่นคงทางอาหาร (Food Security)

สำหรับผู้ประกอบการที่ซื้อสินค้าลักลอบนำเข้าเพื่อจำหน่ายต่อให้กับผู้บริโภค โดยไม่ใส่ใจถึงความปลอดภัย คำนึงเพียงต้นทุนถูกและได้กำไรสูง ขอให้คิดและคาดหวังถึงผลตอบสนองของลูกค้าในระยะยาวมากกว่าแค่ระยะสั้น เพราะการตัดสินใจอุดหนุนสินค้าลักลอบนำเข้าเพียงไม่กี่ครั้งจะเป็นการทำลายความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ในทางกลับกันหากผู้ประกอบการเลือกใช้เนื้อสัตว์ที่ผลิตในประเทศซึ่งมีความปลอดภัยสูง นอกจากจะช่วยเกษตรกรไทยแล้ว ยังช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคด้วย

ด้านผู้บริโภคจะไม่สามารถแยกได้ว่าเนื้อสัตว์ที่บริโภค เป็นเนื้อสัตว์ลักลอบนำเข้าหรือผลิตภายในประเทศ โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ที่ผ่านการปรุงแล้วจะสังเกตได้ยากขึ้น เพราะวิธีการหมัก การปรุง ทำให้เนื้อสัตว์ถูกกลบด้วยกลิ่นเครื่องเทศต่างๆ ผู้บริโภคที่เลือกซื้อโดยไม่รู้ว่าเป็นเนื้อหมูเถื่อนจะก่อให้เกิดความเสี่ยงด้านความปลอดภัยในอาหาร ขณะที่ผู้บริโภคหลายคนมีความเข้าใจผิดว่า หากนำเนื้อสัตว์ไปผ่านกระบวนการให้ความร้อนจะสามารถทำลายเชื้อโรคและสารปนเปื้อนได้หมด แต่ความจริงไม่สามารถทำลายความเสี่ยงจากสิ่งเจือปนอื่นๆ ที่ปนเปื้อนมาด้วย เช่น สารเคมี สารเร่งเนื้อแดง เป็นต้น

รศ.ดร.ศกร แนะวิธีการเลือกซื้อเนื้อสัตว์อย่างปลอดภัยเพื่อลดความเสี่ยง ดังนี้

  1. สังเกตราคาสินค้าต้องไม่ถูกเกินไปจนผิดปกติ
  2. สังเกตที่เนื้อสัตว์ ความสดให้ดูที่สี เนื้อหมูที่ดี มีโครงสร้างใช้นิ้วกดเนื้อจะแน่น ไม่มีรอยบุ๋ม สีไม่ซีดจนเกินไปหรือเขียวคล้ำ มีสีแดงสดตามธรรมชาติ ไม่แดงจนเกินไป เพราะอาจมีการใส่สารเร่งสี และไม่มีลักษณะของการฉ่ำน้ำ และไม่มีกลิ่นที่ผิดปกติ
  3. สินค้าที่บรรจุแพ็คเกจมาตรฐาน มีการรับรองจากหน่วยงานด้านความปลอดภัยทางอาหาร มีตราสัญลักษณ์ ตราสินค้า หรือแบรนด์ที่ได้รับความนิยม ที่มีความน่าเชื่อถือก็สามารถลดความเสี่ยงได้

ขณะที่ผู้บริโภคที่นิยมซื้อเนื้อสัตว์ราคาถูก มากกว่าเลือกคุณภาพและความปลอดภัย มีความเสี่ยงต่อชีวิตและสุขภาพ ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นในทันที สารปนเปื้อนบางอย่างหากเกิดการสะสมจะกลายเป็นตัวกระตุ้นโรคและปัญหาสุขภาพที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ เช่น มะเร็ง หรือ ระบบย่อยอาหาร ความเสี่ยงเหล่านี้ เป็นต้นทุนที่จ่ายน้อยแต่ต้องจ่ายต่อเนื่องและระยะยาว อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าจะส่งเสริมให้ทุกคนนิยมสินค้าราคาแพง แต่ขอให้ตระหนักถึงการบริโภคสินค้าที่ดีต่อสุขภาพ มีคุณภาพเพียงพอและมีราคาที่สามารถจ่ายได้อย่างเหมาะสม

รศ.ดร.ศกร กล่าวเพิ่มเติมว่า ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชนต้องช่วยกันรณรงค์ให้กับผู้บริโภคเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญด้านความปลอดภัยของเนื้อหมูไทย หรือสินค้านำเข้าที่ถูกต้องตามกฎหมาย ถึงแม้จะมีราคาที่สูงกว่า แต่ก็มั่นใจได้ในคุณภาพที่ดีและปลอดภัยต่อสุขภาพ ซึ่งคุ้มค่าต่อการจ่าย

ห้าดาว จับมือ BSGF เดินหน้าโครงการ “ทอดไม่ทิ้ง” ส่งต่อน้ำมันใช้แล้วผลิตเชื้อเพลิงอากาศยาน

0

ห้าดาว (Five star) ร่วมมือกับ BSGF ผู้ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพแบบยั่งยืน ส่งต่อนำน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว ไม่ทิ้ง ไม่ทอด มาผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel : SAF) ภายใต้โครงการ “ทอดไม่ทิ้ง” พร้อมขับเคลื่อนร้านห้าดาว 5,000 สาขาทั่วประเทศ เข้าร่วมโครงการภายในปี 2567 ผลักดันนวัตกรรมสีเขียว เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

นายสุนทร จักษุกรรฐ์ กรรมการผู้จัดการ ธุรกิจห้าดาวและร้านอาหาร บริษัท ซีพีเอฟ เรสเทอรองท์ แอนด์ ฟู้ดเชน จำกัด ในกลุ่ม บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า ห้าดาวร่วมโครงการ “ทอดไม่ทิ้ง” กับบริษัท บีเอสจีเอฟ จำกัด หรือ BSGF ภายใต้การร่วมลงทุนของ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กับ บริษัท ธนโชคออยล์ ไลท์ จำกัด และ บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน) เพื่อดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel) หรือ SAF จากน้ำมันใช้แล้ว โดย BSGF เป็นผู้ที่รับน้ำมันจากห้าดาวและเถ้าแก่ห้าดาวถึงจุดขาย ในเฟสแรกห้าดาวร่วมกับเถ้าแก่ห้าดาวรวม 139 สาขา ทั้งในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เข้าร่วมโครงการทอดไม่ทิ้ง และตั้งเป้าขยายสาขาเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 5,000 สาขา ภายในปี 2567

“ธุรกิจห้าดาว ผู้ดำเนินธุรกิจจุดจำหน่ายอาหารในรูปแบบแฟรนไชส์ ที่ช่วยสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้คนไทยเป็นเถ้าแก่เติบโตบนเส้นทางธุรกิจอย่างยั่งยืน มานานกว่า 39 ปี ปัจจุบันมีผู้แฟรนไชส์รวม 5,000 รายในประเทศไทย ห้าดาวมีนโยบายสำคัญในการตัดวงจรน้ำมันทอดซ้ำ ที่ถือเป็นอีกหนึ่งความใส่ใจสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ความร่วมมือกับบางจากในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันนวัตกรรมสีเขียวเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน” นายสุนทร กล่าว

ทางด้าน นายนิพนธ์ เลิศทัศนีย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บางจาก กล่าวว่า โครงการ “ทอดไม่ทิ้ง” โดย BSGF เป็นการรณรงค์ให้ประชาชน “ไม่ทิ้ง” น้ำมันปรุงอาหารใช้แล้วสู่พื้นที่สาธารณะ ป้องกันปัญหาการทิ้งของเสียอย่างไม่ถูกวิธี ที่จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และ “ไม่ทอดซ้ำ” ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพ โดยเชิญชวนประชาชนและผู้ประกอบการนำน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว มาจำหน่ายที่สถานีบริการบางจากหรือจุดรับซื้อที่บริษัทฯ กำหนด เพื่อนำไปผลิตเป็นน้ำมันเครื่องบิน SAF ที่ตอบโจทย์โมเดลเศรษฐกิจ BCG ทั้ง Bio-Circular-Green Economy เศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว ได้อย่างครบวงจร

รู้เก็บรู้ออม : SET Awards 2566

0

ผ่านไปสดๆ ร้อนๆ สำหรับพิธีมอบรางวัล SET Awards ประจำปี 2566 โดย “ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย” ร่วมกับ วารสารการเงินธนาคาร เมื่อวันที่ 21 พ.ย. ที่ผ่านมา งาน SET Awards ถือเป็นงานสำคัญที่จัดขึ้นต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2546 ถึงปัจจุบัน โดยทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในตลาดทุนต่างให้การยกย่องและยอมรับ เพราะเป็นรางวัลเกียรติยศที่ทรงคุณค่าสะท้อนให้เห็นถึงความแข็งแกร่งและความยั่งยืนของตลาดทุนไทย

โดย “ภากร ปีตธวัชชัย” กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ กล่าวว่า SET Awards ประจำปี 2566 ซึ่งปีนี้ ก้าวสู่ปีที่ 20 ภายใต้แนวคิด “Benchmark of Excellence” สู่การสร้างมาตรฐานแห่งความเป็นเลิศ ที่ประกอบด้วยการพัฒนามาตรฐานแห่งความเป็นเลิศ, การขับเคลื่อนความสำเร็จสู่ตลาดทุนไทยและการสร้างความยั่งยืนให้กับตลาดทุนไทย

โดยบริษัทที่ได้รับรางวัล SET Awards ทุกบริษัทได้แสดงให้เห็นถึงมาตรฐานที่เป็นเลิศด้านธุรกิจและความยั่งยืน ถือเป็นส่วนสำคัญในการยกระดับตลาดทุนไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน และชื่นชมผู้ได้รับรางวัล Best CEO Awards ที่สามารถนำพาองค์กรเดินหน้าภายใต้สถานการณ์ที่ธุรกิจต้องปรับตัว รับมือกับปัจจัยเสี่ยงรอบด้าน สู่การเป็นองค์กรต้นแบบในการสร้างแรงจูงใจ พัฒนาคุณภาพองค์กร คิดค้นนวัตกรรม สร้างผลประกอบการที่ดีควบคู่กับการดำเนินงานด้วยความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสีย ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคมและบรรษัทภิบาล (ESG) สอดคล้องวิสัยทัศน์ตลาดหลักทรัพย์ฯในการพัฒนาตลาดทุนไทยให้เป็นประโยชน์แก่ทุกภาคส่วน “To Make the Capital Market ‘Work’ for Everyone”

รางวัล SET Awards แบ่งเป็น 2 กลุ่มรางวัล คือ กลุ่มรางวัล Business Excellence ปีนี้มีบริษัทได้รับรางวัลยอดเยี่ยม 31 บริษัท เป็นบริษัทใน SET 17 บริษัท, mai 7 บริษัท บริษัทหลักทรัพย์ 4 บริษัท (รวมบริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน), บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน 2 บริษัทและกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ 1 กอง

มีบริษัทที่ได้รางวัล SET Award of Honor 4 บริษัท ได้แก่ บมจ.หลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร (KKPS) บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) บมจ.แพลนบี มีเดีย (PLANB) และ บมจ. ปตท. (PTT) ส่วน CEO ที่ได้รางวัล Best CEO Awards ของ SET คือ คุณปิยจิต รักอริยะพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เซ็ปเป้ (SAPPE) ขณะที่ Best CEO Awards ของ mai ตกเป็นของคุณเกตติวิทย์ สิทธิสุนทรวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ลีโอ โกลบอล โลจิสติกส์ (LEO)

กลุ่มรางวัล Sustainability Excellence มี บจ.ได้รับรางวัลด้านความยั่งยืน 35บริษัทโดยมี 10 บจ. ที่ยอดเยี่ยมต่อเนื่องตั้งแต่ 3 ปีและได้รางวัล Sustainability Awards of Honorได้แก่ บมจ.อมตะ คอร์ปอเรชัน (AMATA) บมจ. บ้านปู (BANPU) บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) บมจ.ปตท. (PTT) บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม(PTTEP) บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) บมจ.สมบูรณ์ แอ๊ดวานซ์ เทคโนโลยี (SAT) บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) และ บมจ. ไทยออยล์ (TOP) ผู้สนใจสามารถดูรายชื่อผู้ที่ได้รับรางวัล SET Awards และรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.set.or.th/setawards

“คุณนายพารวย” ขอร่วมแสดงความยินดีกับทุกบริษัทที่ได้รับรางวัลอันทรงคุณค่านี้ มั่นใจว่าจะเป็น ความภาคภูมิใจขององค์กร ผู้ถือหุ้น ผู้บริหาร พนักงานบริษัท  ตลอดจนคู่ค้าลูกค้าและผู้มีส่วนร่วมกับบริษัท  ที่ได้เห็นผลถึงความตั้งใจจริงและการทุ่มเทแรงกายแรงใจ ทำงานหนักกันมาตลอดทั้งปี!!

คุณนายพารวย

ที่มา คอลัมน์ "รู้เก็บรู้ออมรู้ใช้รู้ลงทุน..สู่ความมั่งคั่ง"  หน้าเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ดมกลิ่นกาแฟอย่างไรให้ได้แชมป์โลก? เปิดเส้นทางพนักงานสาว ซีพี ออลล์ กับการคว้าแชมป์นักดมกลิ่นกาแฟโลก หรือ World Aromaster Championship 2023 เวทีการแข่งขัน Sensory Test ระดับโลก

0

หากเอ่ยถึงคำว่า  “Sensory Test”  หลายๆคนคงไม่คุ้นเคยกับคำนี้ แต่หากถามคนในวงการอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม  คงรู้จักและคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี เพราะ Sensory Test  เป็นการทดสอบคุณภาพอาหารโดยใช้ประสาทสัมผัสของมนุษย์เป็นเครื่องมือแปลผลทางความรู้สึก ไม่ว่าจะเป็นจากการมองเห็น การดมกลิ่น การรับรส การสัมผัส หรือแม้กระทั่งการได้ยิน เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาปรับปรุงและควบคุมคุณภาพ ซึ่งปัจจุบันอาชีพนี้เริ่มเป็นที่สนใจสนใจมากยิ่งขึ้น

ล่าสุดเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา สถาบัน SOCOF หรือ  School of Coffee Flavorist  สถาบันสอนกาแฟเพื่อเพิ่มทักษะความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์การสอนด้านกาแฟให้กับผู้ที่สนใจที่มีมาตรฐานในระดับสากล SCA, SCENTONE, GCS จากประเทศเกาหลี ได้จัดการแข่งขันนักดมกลิ่นกาแฟโลกหรือ World Aromaster Championship 2023 ขึ้น ณ จ.เชียงใหม่ เพื่อค้นหาบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญและมีทักษะด้านประสาทสัมผัสและด้านการอธิบายรสชาติจาก Scentone และในเวทีนี้เองที่ “พชรวรรณ คงเจริญ หรือ ปอย” สาวไทย 1 ใน 3 ตัวแทน Aromaster ของประเทศไทย ได้แสดงให้เห็นถึงทักษะด้าน Sensory Test ที่สั่งสมมานานกว่า10 ฝ่าด่านคู่แข่งจากทั่วโลก คว้าแชมป์ World Aromaster Championship 2023 ไปครอง

ปอย-พชรวรรณ คงเจริญ เล่าว่า “ปีนี้ถือว่าเป็นปีที่แรกที่ตนเองสมัครเข้าแข่งขัน รู้สึกมีความภูมิใจและดีใจที่เราสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศที่สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศมาได้”

สำหรับเส้นทางการเป็นนัก Aromaster ของ “ปอย-พชรวรรณ” นั้น เริ่มจากการที่เป็นคนที่หลงรักเสน่ห์และรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ของกาแฟ อีกทั้งการได้มีโอกาสทำงานที่สำนักพัฒนาและประกันคุณภาพผลิตภัณฑ์ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญพัฒนาผลิตภัณฑ์ รับผิดชอบงานในส่วนของการควบคุมคุณภาพเมล็ดกาแฟ การคิดค้นและพัฒนาสูตรเมล็ดกาแฟ มีส่วนร่วมในการออกผลิตภัณฑ์ สินค้าใหม่ๆในกลุ่มของกาแฟที่จำหน่ายผ่าน All CAFÉ ในร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ซึ่งเป็นงานที่ตรงกับสิ่งที่ตนเองสนใจ และจากการที่ได้รับมอบหมายให้ทำงานด้านนี้ทำให้ต้องเรียนรู้และพัฒนาตนเองตลอดเวลา รวมทั้งการได้รับการสนับสนุนจากบริษัทฯส่งตนให้ไปเรียนรู้เพิ่มเติมทำให้ปัจจุบันนี้นอกจาก ปอย-พชรวรรณ จะเป็นนัก Aromaster หรือผู้เชี่ยวชาญด้านการดมและชิมกาแฟแล้ว ยังได้รับหน้าที่เป็นผู้ตัดสินคุณภาพของเมล็ดกาแฟ หรือเรียกว่า “Q Grader”  ซึ่งต้องมีการทดสอบเพื่อรับรองความถูกต้องที่ได้มาตรฐานทุกๆ 3 ปี อีกด้วย

“การรักษามาตราฐาน ความมีวินัย เป็นหัวใจสำคัญของ Aromaster”

ปอย-พชรวรรณ บอกเล่าถึงคุณสมบัติของนักดมกลิ่น หรือ Aromaster ว่า “คุณสมบัติของ Aromaster ทางด้านกาแฟจะคล้ายๆกับคุณสมบัติผู้ทดสอบชิมอาหาร คือ ควรมีประสาทสัมผัสที่ดี สามารถเรียนรู้ จดจำ และบรรยายคุณลักษณะของตัวอย่างกาแฟได้ มีประสบการณ์และมีคลังคำศัพท์ที่เกี่ยวกับ กลิ่น รส กาแฟเป็นอย่างดี เพราะฉะนั้น Aromaster ทางด้านกาแฟ จะต้องเป็นคนที่ชิมกาแฟบ่อยๆ ฝึกฝนการดมกลิ่นที่อยู่ในการแฟบ่อยๆ จนเกิดการสั่งสมเป็นประสบการณ์และมีคลังคำศัพท์ที่สามารถนำมาใช้ได้และต้องมีความขยัน อดทน ในการฝึกซ้อมอย่างสม่ำเสมอ”

…และหลังจากที่ได้รับความรู้ ได้รับโอกาสในการทำงานและได้พัฒนาสินค้าที่มีคุณภาพเพื่อส่งต่อให้กับลูกค้าแล้ว การนำความรู้และความเชี่ยวชาญที่ตนเองมี ยังได้นำไปส่งต่อให้กับผู้อื่นอีกด้วย…

“จาการเป็นผู้ที่ได้รับโอกาส ได้รับความรู้ ฝึกฝนตนเองจนมีความสามารถด้านการเป็น Aromaster ทำให้ตนเองอยากจะแบ่งปันความรู้ที่มีส่งต่อให้กับผู้อื่น โดยการทำหน้าที่เป็นวิทยากรให้ความรู้ให้กับกลุ่มเกษตรกร ในการทดสอบรสชาติกาแฟ รวมถึงร่วมพัฒนารสชาติกาแฟตั้งแต่ต้นน้ำจนสู่ปลายน้ำให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกกาแฟบ้านกองกาย จังหวัดเชียงใหม่ และได้นำทักษะในการตัดสินกาแฟพัฒนากระบวนการผลิตและการแปรรูปเมล็ดกาแฟ ให้มีกลิ่นและรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทำให้เมล็ดกาแฟจากบ้านกองกายมีคะแนนสูงขึ้นและได้รับรางวัลประกวดกาแฟ อันดับ 4 ประเภทนวัตกรรม เหรียญทองแดง ในรายการประกวด Thailand coffee excellence 2023 ที่ผ่านมา”

ผลประกอบการ บจ. งวด 9 เดือน อ่อนตัว โดนผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ลดลง และเศรษฐกิจชะลอตัว

0

บริษัทจดทะเบียน (บจ.) รายงานผลการดำเนินงานงวด 9 เดือน ปี 2566 ภาพรวมรายได้และกำไรสุทธิลดลงกว่าปีก่อน โดยถูกกดดันจากหมวดธุรกิจพลังงานและผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ ขณะที่หากไม่รวมธุรกิจพลังงาน ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ บจ. จะมีผลประกอบการคงตัว โดยได้ปัจจัยบวกจากกลุ่มธุรกิจธนาคาร การท่องเที่ยวและเทคโนโลยี

แมนพงศ์ เสนาณรงค์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์

นายแมนพงศ์ เสนาณรงค์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า บริษัทจดทะเบียน (บจ.) จำนวน 815 บริษัท คิดเป็น 97.26% จากทั้งหมด 836 บริษัท (รวม SET และ mai ที่มีกำหนดส่งงบการเงิน ณ สิ้นงวด 30 กันยายน 2566 และไม่รวมกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน) นำส่งผลการดำเนินงานงวด 9 เดือน ปี 2566 พบว่ามี บจ. รายงานกำไรสุทธิ 614 บริษัท คิดเป็น 73.27% ของ บจ. ที่นำส่งงบการเงินทั้งหมด

ผลการดำเนินงานงวด 9 เดือนปี 2566 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน บจ. ใน SET มียอดขาย 12,729,782 ล้านบาท ลดลง 3.4% ต้นทุนการผลิตปรับลดลง 2.9% ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารเพิ่มสูงขึ้น 5.8% ซึ่งส่งผลให้ บจ. มีกำไรจากการดำเนินงานหลัก (Core profit) 1,249,191 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 740,814 ล้านบาท ลดลง 16.0% และ 10.6% ตามลำดับ สำหรับฐานะการเงินของกิจการ ณ 30 กันยายน 2566 บจ. ไทยมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน หรือ D/E ratio (ไม่รวมอุตสาหกรรมการเงิน) อยู่ที่ระดับ 1.55 เท่า ลดลงจาก 1.58 เท่าของงวด 9 เดือนปี 2565

“ภาพรวมผลประกอบการที่อ่อนตัวลงทั้งยอดขายและกำไรสุทธิ เป็นผลกระทบจากราคาน้ำมันและการชะลอตัวของเศรษฐกิจต่างประเทศ ซึ่งส่งผลลบต่อธุรกิจพลังงาน ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ รวมถึงธุรกิจที่มีการส่งออก ทั้งนี้ หากไม่รวมธุรกิจดังกล่าว ภาพรวมมีผลประกอบการทรงตัว โดยมีปัจจัยบวกจากหมวดธุรกิจธนาคารซึ่งเติบโตตามอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ธุรกิจประกันภัยฟื้นตัวจากสถาณการณ์โควิด ธุรกิจท่องเที่ยวจากการเปิดประเทศ และธุรกิจเทคโนโลยีที่มีความต้องการสูงในยุคดิจิทัล” นายแมนพงศ์กล่าว

ด้านผลการดำเนินงานของ บจ. ในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) งวด 9 เดือนปี 2566 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มียอดขายรวม 145,338 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.2% ต้นทุนการผลิต 107,737 ล้านบาท ลดลง 0.3% ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร 28,319 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.4% ส่งผลให้มีกำไรจากการดำเนินงานอยู่ที่ 9,282 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 5,479 ล้านบาท ลดลง ลดลง 12.9% และ 35.0% ตามลำดับ

CPF คว้ารางวัล SOS Awards 2023 สนับสนุนอาหารส่วนเกิน คุณภาพปลอดภัย ส่งมอบชุมชน-กลุ่มเปราะบางในกทม.

0

บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ เดินหน้าสนับสนุนอาหารส่วนเกินที่มีคุณภาพ ปลอดภัย มีโภชนาการที่ดี รสชาติอร่อย จากศูนย์กระจายสินค้า มอบผ่านมูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ หรือ SOS นำไปปรุงอาหารให้แก่ชุมชน ผู้มีรายได้น้อย และกลุ่มเปราะบาง ทั่วกรุงเทพฯ ส่งเสริมการเข้าถึงอาหารในทุกสถานการณ์ ผ่านโครงการ “Circular Meal…มื้อนี้เปลี่ยนโลก” รับรางวัล SOS Awards 2023 ประเภท “OUTSTANDING FOOD RESCUE AWARD – BIG MANUFACTURING GROUP” จาก SOS เป็นปีที่ 2 ตอกย้ำความมุ่งมั่นร่วมผนึกภาคีเครือข่ายปฏิวัติระบบอาหารประเทศไทยสู่ความยั่งยืน ในงานสัมมนา “Zero Summit 2023 SOS RE- DEFINING FOOD SYSTEM – สู่นิยามใหม่ของระบบอาหาร”

นายทวิช ทัฬหะกาญจนากุล ผู้อำนวยการโลจิสติกส์และศูนย์กระจายสินค้า บริษัท ซีพีเอฟ โกลบอล ฟู้ด โซลูชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ CPFGS ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของซีพีเอฟ เปิดเผยว่า ซีพีเอฟและซีพีเอฟจีเอส ในฐานะผู้สนับสนุนการจัดงานและเป็นหนึ่งในภาคีเครือข่ายที่ได้ร่วมงานกับ SOS มาอย่างต่อเนื่อง และได้เห็นความก้าวหน้าของ SOS และภาคี ในการร่วมผลักดันการเปลี่ยนแปลงระบบการจัดการอาหารส่วนเกิน โดยตั้งแต่ปี 2564 จนถึงปัจจุบัน บริษัทฯได้ส่งมอบอาหารกว่า 174,400 มื้อ สามารถช่วยเหลือกลุ่มคนเปราะบางตลอดระยะเวลาดำเนินโครงการฯ กว่า 55,000 คน มากกว่า 70 ชุมชน และลดการเกิดขยะอาหารในกระบวนการจัดการได้กว่า 41 ตัน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 103 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือ เทียบเท่าการปลูกต้นไม้กว่า 10,800 ต้น (อ้างอิงจาก CDM ภาคป่าไม้ โดย อบก. และ ม.เกษตรศาสตร์ 2554)

จากความมุ่งมั่นของซีพีเอฟ และ SOS ที่ให้ความสำคัญกับการจัดการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) ข้อที่ 12 โดยขยายการสนับสนุนอาหารจากศูนย์กระจายสินค้าซีพีเอฟจีเอส บางน้ำเปรี้ยวและมหาชัย รวมถึงต่อยอดกิจกรรมไปในพื้นที่อื่นๆ อาทิ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อส่งมอบอาหารมื้อที่ดีที่สุด ในช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดให้แก่ผู้ที่ขาดแคลน ดังเช่นในวันอาหารโลก (World Food Day) เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ซีพีเอฟและซีพีเอฟจีเอส ผนึกกำลังกับ SOS และ GEPP มอบอาหารให้บุคลากรที่ช่วยพิทักษ์ปกป้องแหล่งน้ำสำคัญของประเทศ สอดรับกับธีมสากล Water is life water is Food ซึ่งตลอดการดำเนินโครงการ Circular Meal มื้อนี้เปลี่ยนโลก บริษัทฯเก็บกลับบรรจุภัณฑ์หลังจากการส่งมอบอาหารแล้วมากกว่า 20,000 ชิ้น สู่การจัดการที่เหมาะสมต่อไป

“ความร่วมมือนี้ยังคงพัฒนาและเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างระบบอาหารที่ยั่งยืนให้แก่โลก ตามแนวทาง Waste to Value สร้างคุณค่าปราศจากขยะ เพื่อนำไปสู่เป้าหมาย Zero Food waste to Land fill ภายในปี 2030” นายทวิช กล่าว

สำหรับงานสัมมนา “Zero Summit 2023 SOS RE- DEFINING FOOD SYSTEM – สู่นิยามใหม่ของระบบอาหาร” เพื่อร่วมผนึกกำลังปฏิวัติระบบอาหารประเทศไทยสู่ความยั่งยืน ซึ่งซีพีเอฟและซีพีเอฟจีเอส เป็นหนึ่งใน 700 พันธมิตร ที่ร่วมสนับสนุน SOS ส่งมอบอาหารส่วนเกินมาโดยตลอด