AIS ผนึกพลังภาคีเครือข่ายภาครัฐ-เอกชน ตัดวงจรมิจฉาชีพตั้งแต่ต้นทางปักหมุดประเทศไทยสู่ “ปีแห่งความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์”

0

AIS เดินหน้าภารกิจป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมไซเบอร์ เพื่อยกระดับความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ของประเทศ โดยร่วมกับ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ กสทช. ประกาศความร่วมมือ รวมพลังเครือข่ายปลอดภัย ขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ “ปีแห่งความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์” มุ่งเชิญชวนหน่วยงานทุกภาคส่วนรวมกว่า 100 องค์กร ผสานพลังตัดวงจรมิจฉาชีพตั้งแต่ต้นทาง ตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลเพื่อปกป้องประชาชนจากภัยทางเทคโนโลยี ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศ ตอกย้ำการสร้างเครือข่ายที่แข็งแกร่งและปลอดภัยในการใช้งานดิจิทัลทุกมิติ   

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า “รัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญในการรับมือภัยไซเบอร์ โดยเฉพาะแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่สร้างความเสียหายต่อประชาชน ที่ผ่านมาสภาความมั่นคงแห่งชาติ ได้เดินหน้าทำงานเชิงรุกผ่าน 3 แกนหลัก ทั้งการกำหนดและพัฒนากฎหมาย สร้างความร่วมมือและประสานงานระหว่างหน่วยงานต่างๆ และการยกระดับความมั่นคงระดับประเทศ โดยมีเป้าหมายเพื่อเร่งปราบปรามยาเสพติด อาชญากรรมข้ามชาติ และขจัดแก๊งคอลเซ็นเตอร์  ผ่านการดำเนินการทั้งในเชิงนโยบาย เชิงปฏิบัติ และความร่วมมือระหว่างประเทศ ภายใต้ปฏิบัติการ “Seal Stop Safe” ตลอดจนมาตรการซีลชายแดน ตัดวงจรแก๊งคอลเซ็นเตอร์, การแก้ไขกฎหมายควบคุมบัญชีม้า-ซิมม้า รวมถึงบูรณาการการทำงานร่วมกับองค์กรภาครัฐอย่าง กสทช., ธนาคารแห่งประเทศไทย, ปปง. และกระทรวงดิจิทัลฯ รวมถึงภาคเอกชน ธนาคาร บริษัทโทรคมนาคม และแพลตฟอร์มดิจิทัล 

รัฐบาลยังคงเดินหน้ายกระดับนโยบายความปลอดภัยทางไซเบอร์สู่ระดับชาติ และบูรณาการกับทุกหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เพื่อร่วมสร้างสังคมดิจิทัลที่ปลอดภัย ซึ่งเป็นภารกิจร่วมของทุกๆ คนในประเทศ ขอขอบคุณทุกท่านที่มาร่วมกันในวันนี้ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าพวกเราทุกภาคส่วน ได้ร่วมมือกันผลักดัน “ปีแห่งความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์” ให้เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ในการสร้างประเทศไทยที่ปลอดภัยในโลกดิจิทัลอย่างแท้จริง” 

ด้าน พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี กล่าวว่า “ในวันนี้ สังคมไทยกำลังเผชิญกับปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือภัยไซเบอร์ที่ถูกพัฒนาโดยกลุ่มมิจฉาชีพในหลายรูปแบบและทวีความรุนแรงมากขึ้น นำมาซึ่งความสูญเสียทั้งด้านข้อมูลส่วนบุคคลและทรัพย์สินเป็นมูลค่ามหาศาล จากสถิติการแจ้งความออนไลน์สะสมตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2565 – 30 เมษายน 2568 มีคดีออนไลน์ 887,315 เรื่อง รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 8.9 หมื่นล้านบาท เฉลี่ยความเสียหาย 77 ล้านบาทต่อวัน ไม่ว่าจะเป็นการถูกหลอกให้โอนเงินผ่านแอปพลิเคชันปลอม ถูกดูดเงินจากบัญชีโดยไม่รู้ตัว หรือแม้แต่ถูกล้วงข้อมูลส่วนตัวไปใช้ในทางมิชอบ จึงมีความจำเป็นต้องยกระดับมาตรการป้องกันและแก้ไขในทุกมิติ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนโดยเร็ว 

สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ดำเนินการเชิงรุก ทั้งในด้านการป้องกัน ปราบปราม และพัฒนาโครงสร้างการทำงานให้สอดรับกับพฤติกรรมอาชญากรรมยุคใหม่ ซึ่งได้จัดตั้งศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือ ศปอส.ตร. เพื่อรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ และเปิดปฏิบัติการเชิงรุก พร้อมใช้เทคโนโลยี AI และระบบวิเคราะห์ธุรกรรม เพื่อติดตามเส้นทางการเงินของขบวนการอาชญากรเหล่านี้ และยังได้ร่วมมือกับภาคีเครือข่าย รวมถึงผู้ให้บริการเครือข่ายอย่าง AIS เพื่อเชื่อมโยงการทำงานร่วมกันและขยายผลสู่การจับกุมผู้กระทำความผิดอย่างต่อเนื่อง โดยเชื่อมั่นว่าการยกระดับความร่วมมือสู่ปีแห่งความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ในครั้งนี้ จะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมไทยให้ปลอดภัยจากภัยไซเบอร์อย่างยั่งยืน” 

นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอไอเอส กล่าวว่า “AIS ในฐานะผู้ให้บริการดิจิทัลที่มีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงผู้ใช้งานสู่โลกออนไลน์ เรามุ่งมั่นเดินหน้าสร้างภูมิคุ้มกันทางไซเบอร์และทักษะออนไลน์อย่างต่อเนื่อง ภายใต้ภารกิจ “Cyber Wellness for THAIs” เพื่อเสริมสร้างการใช้งานที่ปลอดภัย ทั้งการปฏิบัติตามมาตรการของหน่วยงานภาครัฐ ควบคุมระดับเสาสัญญาณมือถือในพื้นที่ชายแดน ปฏิบัติการร่วมกับตำรวจลงพื้นที่ปราบปรามมิจฉาชีพและแก๊งคอลเซ็นเตอร์  พัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเสริมความปลอดภัยไซเบอร์ อาทิ บริการสายด่วน 1185 AIS Spam Report Center และ บริการ *1185# แจ้งอุ่นใจ ตัดสายโจร รวมถึงการสร้างภูมิคุ้มกันและพัฒนาทักษะดิจิทัลให้ประชาชนผ่านหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ และการสร้างตัวชี้วัดสุขภาวะด้านดิจิทัล 

การสร้างความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ไม่ใช่หน้าที่ขององค์กรใดองค์กรหนึ่ง แต่เป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทุกฝ่าย ความร่วมมือภายใต้ภารกิจ “ปีแห่งความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์” ในครั้งนี้เป็นการรวมพลังจากทุกภาคส่วน ภายใต้โมเดล 3 ประสาน ได้แก่ เรียนรู้ (Educate) สร้างความเข้าใจและทักษะในการป้องกันภัยไซเบอร์ให้กับเครือข่ายทั้ง Ecosystem เพื่อยับยั้งปัญหาดังกล่าวตั้งแต่ต้นทาง, ร่วมแรง (Collaborate) ผนึกกำลังกับพาร์ทเนอร์ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อร่วมสื่อสารและสร้างแรงขับเคลื่อนสังคม และ เร่งมือ (Motivate) รณรงค์ให้ทุกภาคส่วนขับเคลื่อนกฎระเบียบ หรือกติกา แก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นสังคมดิจิทัลที่มั่นคงและปลอดภัยอย่างยั่งยืน” 

 “ขอขอบคุณทุกท่านที่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของก้าวสำคัญในวันนี้ เราเชื่อมั่นใจว่าเมื่อทุกภาคส่วนมีความรู้ ความเข้าใจ และจุดมุ่งหมายร่วมกัน จะนำไปสู่การสร้างสังคมดิจิทัลที่มีคุณภาพและปลอดภัยในทุกมิติ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเราจะได้เดินหน้าร่วมกันต่อไป เพื่ออนาคตที่ปลอดภัยของประชาชนคนไทยทุกคน” นายสมชัย กล่าวทิ้งท้าย