นายวสิษฐ์ วัฒนศัพท์ หัวหน้าฝ่ายงานปฏิบัติการและสนับสนุนเทคนิคทั่วประเทศ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS เปิดเผยว่า จากความร่วมมือระหว่าง AIS และ ZTE Corporation ผู้พัฒนาดิจิทัลเทคโนโลยีระดับโลกจากประเทศจีน ที่ได้เปิดตัว A-Z Center หรือศูนย์นวัตกรรม 5G แห่งแรกในประเทศไทย เพื่อพัฒนานวัตกรรมดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด โชว์ผลการทดลอง ทดสอบอีก 1 คุณสมบัติหลักของ 5G คือ URLLC (Ultra-Reliable and Low Latency Communications) ครั้งแรกในไทย ที่เครือข่าย AIS 5G บนคลื่น 2.6 GHz ให้สามารถมีความหน่วงเวลาในการส่งข้อมูลอยู่ที่ระดับถึง 1 มิลลิวินาที
“นอกเหนือจากการพัฒนาคุณภาพการให้บริการอย่างดีที่สุดแล้ว การเดินหน้านำนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามายกระดับเทคโนโลยี 5G ก็ถือเป็นหน้าที่สำคัญเพื่อรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลในอนาคตอย่างยั่งยืน จึงเป็นที่มาของความร่วมมือในการทำงานกับพาร์ทเนอร์ระดับโลกอย่าง ZTE เพื่อยกระดับโครงข่าย 5G ของไทยให้ก้าวสู่โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลมาตรฐานระดับโลก พร้อมก้าวสู่โครงข่ายอัจฉริยะที่ควบคุมสั่งการได้ด้วยตัวเองแบบ real time (5G Smart Autonomous Network) นำมาสู่โซลูชันหลากหลายรูปแบบเพื่อภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม ภาคประชาชน”
การประสบความสำเร็จในการร่วมทดลอง ทดสอบ กับอีกหนึ่งคุณสมบัติหลักของ 5G คือ URLLC ครั้งแรกในไทย ที่ทำให้เครือข่าย AIS 5G บนคลื่น 2.6 GHz สามารถมีความหน่วงเวลาในการส่งข้อมูลอยู่ที่ระดับ 1 มิลลิวินาที เหมาะกับการรับ-ส่งข้อมูลได้เร็วขึ้น เสถียรมากขึ้น โดยเฉพาะในรูปแบบการใช้งานที่ต้องการความแม่นยำสูง (Critical application) อย่างบริการสำหรับลูกค้าทั่วไป ที่ต้องการความหน่วงต่ำ เช่น Mobile Cloud Gaming ที่ต้องการ Interactive แบบตอบสนองอย่างรวดเร็ว Real Time หรือ สำหรับลูกค้าภาคอุตสาหกรรม เช่น การควบคุมเครื่องจักรในโรงงาน การควบคุมรถยนต์ไร้คนขับ หรือการผ่าตัดทางไกล เป็นต้น
นายวสิษฐ์ กล่าวว่า ขณะนี้การทดลองในเครือข่าย AIS 5G พร้อมรองรับ URLLC ที่ 1 มิลลิวินาทีเรียบร้อยแล้ว ดังนั้นหากมีการพัฒนาหรือเริ่มนำ Terminal ที่เหมาะสมกับบริการที่ต้องการใช้ความหน่วงต่ำในระดับดังกล่าวเข้ามาให้บริการ ก็จะเท่ากับว่า สามารถใช้บริการได้ทันที
นายหาน จือ หมิง ประธาน บริษัท แซดทีอี (ประเทศไทย) กล่าวว่า ความร่วมมือในฐานะพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์กับ AIS ในการพัฒนาเทคโนโลยี 5G ทำให้เชื่อมั่นว่า ประเทศไทยจะมีขีดความสามารถที่แข็งแกร่งอย่างรวดเร็วจาก นวัตกรรมที่หลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเอาโครงข่าย 5G มาวางรากฐานด้านการวิจัยและพัฒนา ที่ช่วยทำให้เกิด Use Case ใหม่ๆ ในอนาคตที่พร้อมรองรับทั้งความต้องการของลูกค้าทั่วไปและการเพิ่มโอกาสให้กับภาคอุตสาหกรรม