นางสายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าฝ่ายงานประชาสัมพันธ์ AIS เปิดเผยว่า AIS เดินหน้าภารกิจคนไทยไร้ E-Waste ตามเป้าหมายการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนพร้อมร่วมดูแลสิ่งแวดล้อม เนื่องในวาระวัน Earth Day จึงเน้นย้ำสร้างความตระหนักรู้ให้คนไทยเข้าใจถึงปัญหาและผลกระทบของขยะอิเล็กทรอนิกส์ พร้อมยังคงเดินหน้าทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการช่วยกันนำขยะ E-Waste เข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลอย่างถูกวิธีแบบ Zero Landfill โดยล่าสุดได้ขยายจุดรับทิ้งไปยังหน่วยงานต่างๆ เพิ่มเติม ประกอบด้วย การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค , บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด , กลุ่มธุรกิจ TCP, สถาบันการเเพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และ บมจ.ศุภาลัย ทำให้วันนี้โครงการคนไทยไร้ E-Waste มีจุดรับทิ้งแล้วกว่า 2,478 จุดทั่วประเทศ พร้อมกันนี้ยังได้จับมือกับ ลาซาด้า ปล่อยแคมเปญ “ทิ้งรับ Code” ชวนคนไทยทิ้ง E-Waste แลกรับส่วนลดสุดพิเศษเมื่อช้อปปิ้งบนแพลตฟอร์ม ลาซาด้า
บริษัทมีเป้าหมายในการเป็นผู้ให้บริการดิจิทัลที่ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน พร้อมมีส่วนร่วมในการดูแลรับผิดชอบต่อสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม เพื่อเติบโตไปพร้อมกันอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ในด้านสิ่งแวดล้อม ได้มุ่งเน้นเรื่องการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Waste นอกเหนือจากการบริหารจัดการ E-Waste อย่างถูกวิธีตามมาตรฐานสากลแล้ว การจะขับเคลื่อนเรื่องนี้ให้เกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม หัวใจสำคัญอยู่ที่การทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ เพื่อขยายผล ร่วมกันปลูกจิตสำนึก อันจะนำมาซึ่งความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการกำจัดขยะ E-Waste ในวงกว้าง
“ในโอกาสวันคุ้มครองโลกหรือ Earth Day ซึ่งถือเป็นวาระสำคัญที่พวกเราควรรำลึกถึงสิ่งแวดล้อม และใคร่ครวญว่าเราจะต้องทำอะไรอีกบ้างเพื่อปกป้องธรรมชาติที่มอบแก่โลกใบนี้ รวมถึงหนึ่งในภารกิจสำคัญอย่างการลดอัตราการเกิดคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศ เอไอเอสจึงมุ่งทำทุกวิถีทางที่จะสนองตอบเป้าหมายดังกล่าว โดยได้ขยายจุดรับทิ้งขยะ E-Waste ต่อเนื่องร่วมกับพาร์ทเนอร์ชั้นนำ อาทิ โครงการบ้านในเครือ ศุภาลัย กว่า 15 โครงการ, ศูนย์บริการซัมซุง 35 สาขา, โรงงานและบริษัทในเครือกลุ่มธุรกิจ TCP รวมถึงหน่วยงานรัฐอย่าง สถาบันการเเพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ทำให้ปัจจุบันเรามีจุดรับทิ้งแล้วกว่า 2,478 จุดทั่วประเทศ และสามารถนำขยะอิเล็กทรอนิกส์เข้าสู่กระบวนการจัดการที่ถูกต้องตามมาตรฐานไปแล้วกว่า 307,414 ชิ้น จึงนับเป็นการทำงานร่วมกันเพื่อบูรณาการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์แบบองค์รวมตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ”
และ AIS ยังได้ร่วมกับลาซาด้า จัดกิจกรรม “ทิ้งรับ Code” เพื่อเชิญชวนคนไทยมาทิ้งขยะ E-Waste ผ่านจุดรับทิ้งเอไอเอสช้อปทุกสาขา ไม่ว่าจะเป็น โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต สายชาร์จ หูฟัง พาวเวอร์แบงก์ แบตเตอรี่มือถือ โดยทุกการทิ้ง 1 ชิ้น จะได้รับ Code ส่วนลดไปใช้จ่ายซื้อสินค้าได้ผ่านร้านค้าบน ลาซาด้า ซึ่งนับว่าเป็นการทำงานที่สอดประสาน ผ่านแนวทางความร่วมมือที่สร้างการมีส่วนร่วมที่เปิดกว้างเพื่อให้ทุกภาคส่วนได้เข้ามามีบทบาทในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมรวมถึงการจัดการกับขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างยั่งยืน
นางสาวญาณ์บดี จิตติกุลดิลก ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารและหัวหน้าฝ่ายการสร้างการเติบโตของลูกค้าและพันธมิตรทางธุรกิจ บริษัท ลาซาด้า จำกัด (ประเทศไทย) กล่าวว่า ลาซาด้าได้ร่วมจัดกิจกรรม “AIS x Lazada ทิ้งรับ Code” โดยเชิญชวนคนไทยนำเอาขยะ E-Waste มาทิ้งที่ AIS Shop ทั่วประเทศ โดยขยะ 1 ชิ้น ได้รับ 1 Code ซึ่งมีส่วนลดมูลค่า 40 บาท สำหรับใช้ซื้อสินค้าใน Lazada จำนวน 15,000 สิทธิ์ มากไปกว่านั้นความร่วมมือในครั้งนี้ยังสอดรับกับพันธกิจของลาซาด้าที่ทำมาอย่างต่อเนื่องเพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการฟื้นฟูและดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมของพวกเราให้เติบโตต่อไปอย่างยั่งยืน
นายจองชุง ปาร์ค ผู้อำนวยการฝ่ายบริการลูกค้า บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด กล่าวว่า ซัมซุงวางกลยุทธ์ในการจัดการกับ E-Waste ออกเป็น 3 ด้าน ได้แก่ 1.Educate หรือ การสร้างการตระหนักรู้ถึงขยะอิเล็กทรอนิกส์ในวงกว้าง 2. Encourage หรือ การส่งเสริมให้ทิ้งขยะ E-Waste อย่างถูกวิธีโดยในมิตินี้ได้จับมือกับทาง AIS นำเอาจุดรับทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์มาไว้ใน ศูนย์บริการซัมซุง 35 แห่ง และ 3.Identity หรือ สร้างภาพจำที่ดีให้ลูกค้าที่ต้องการทิ้งขยะดังกล่าวมีจุดทิ้งที่มั่นใจได้ว่าจะสามารถรวบรวมไปทำลายได้อย่างถูกต้องตามมาตรฐานสากล ซึ่งความร่วมมือครั้งนี้เรามีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสังคมแห่งการยั่งยืนใน Ecosystems ยุคปัจจุบัน
นายสราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP กล่าวว่า “กลุ่มธุรกิจ TCP ตระหนักถึงปัญหาขยะล้นเมืองและพร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดปัญหานี้อย่างเต็มที่ ปัจจุบันภายในกลุ่มธุรกิจ TCP ได้รณรงค์และสร้างวัฒนธรรมการคัดแยกขยะกับพนักงานทั่วประเทศอย่างต่อเนื่องทุกปี สำหรับภายนอกเรามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับ AIS ในการนำจุดรับทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์มาจัดวางภายในกลุ่มธุรกิจ TCP เพื่อให้ขยะเหล่านั้นได้ถูกกำจัดอย่างถูกวิธี ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ สิ่งนี้สอดคล้องกับกรอบการพัฒนาที่ยั่งยืน “TCP Sustainability Framework” ในด้าน Harmony ที่มุ่งเน้นการจัดการและดูแลด้านสิ่งแวดล้อม โดยคำนึงถึงการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับสิ่งแวดล้อมและชุมชนอย่างยั่งยืน”
นางสาวธัญวรัตน์ ปัญญารัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายการตลาดและการขาย บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทมีเป้าหมายดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญด้านการจัดการเรื่องสิ่งแวดล้อม รูปแบบ Waste Management ในกระบวนการก่อสร้าง เช่น ลดปริมาณความสูญเสียของวัสดุก่อสร้าง และจัดการกับเศษวัสดุก่อสร้างให้เกิดมูลค่าสูงสุด รวมทั้งลดผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อม สู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก (SDGs) ภารกิจร่วมกับ AIS ครั้งนี้ เพื่อมุ่งจัดการปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านกิจกรรม E-Waste Green Network โดยมีการนำจุดรับทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ จัดวางภายในโครงการนำร่องของบริษัท 15 โครงการ ให้แก่ลูกบ้าน และที่สำนักงานใหญ่ อาคาร ศุภาลัย แกรนด์ ทาวเวอร์ สำหรับพนักงานของศุภาลัยรวมถึงผู้เช่าสำนักงาน เพื่อเป็นการรณรงค์ให้มีการทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกวิธี และยังสามารถนำไปกำจัดหรือเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลอย่างถูกต้องตามมาตรฐานสากล
พร้อมกันนี้ ทางสถาบันการเเพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับการสนับสนุนที่ดีจาก AIS ที่นำเอาจุดรับทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์มาจัดวางตามจุดต่างๆ ภายในโรงพยาบาลรามาธิบดีจักรีนฤบดินทร์ ซึ่งขยะอิเล็กทรอนิกส์ถือเป็นขยะอันตราย หากประชาชนนำไปกำจัดอย่างไม่ถูกวิธีหรือถูกทิ้งปนกับขยะทั่วไป สามารถส่งผลให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพร่างกาย จากการปนเปื้อนของสารเคมี และยังส่งผลเสียกับสภาพแวดล้อมตามมา ทางสถาบันการเเพทย์จักรีนฤบดินทร์ฯ เชื่อว่านี่จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการจัดการกับภัยเงียบจากขยะชนิดนี้ให้ลดลงและหมดไปเพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับประชาชน