เผย! ปัจจุบัน กว่า 44.04% คนไทยยังเสี่ยงภัยไซเบอร์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2566 บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (AIS) เปิดตัวมาตรวัดทักษะทางดิจิทัลฉบับแรกของไทย “ดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัล Thailand Cyber Wellness Index (TCWI)” โดยร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และนักวิชาการด้านเทคโนโลยี ด้านสุขภาพ ด้านสื่อสารมวลชน ด้านการศึกษา และด้านการวัดประเมินผล ระดมความคิดในการออกแบบกรอบการศึกษา ขั้นตอนและวิธีการเก็บผล กลุ่มตัวอย่าง รวมถึงการวิเคราะห์และสรุปผลการศึกษา จนออกมาเป็นดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัลของคนไทย ที่เป็นไปตามมาตรฐาน แม่นยำ และถูกต้องตรงกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งจะเป็นมาตรฐานใหม่ในการสร้างพลเมืองดิจิทัลและสังคมการใช้งานดิจิทัลที่ดียิ่งขึ้น พร้อมกันนี้ยังเดินหน้าผสานกำลังส่งมอบดัชนีนี้ไปยังเครือข่ายความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อร่วมกันนำองค์ความรู้ เสริมสร้างความเข้าใจในการใช้งานดิจิทัลให้แก่คนไทยทุกกลุ่มต่อไป
นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AIS กล่าวว่า ที่ผ่านมากว่า 4 ปี AIS อาสาจุดประกายสังคมเกี่ยวกับประเด็นนี้ ตั้งแต่วันที่ดิจิทัลเทคโนโลยีเริ่มเข้ามามีบทบาทต่อวิถีการใช้ชีวิต ผ่านโครงการ AIS อุ่นใจ CYBER ทั้งในด้านการสร้างความตระหนักรู้ถึงอันตรายและผลกระทบจากการใช้งาน การพัฒนาโซลูชันและบริการดิจิทัลเพื่อปกป้องและส่งเสริมการใช้งานอย่างปลอดภัย และการสร้างองค์ความรู้เพื่อส่งเสริมความฉลาดและทักษะของพลเมืองดิจิทัล
“จากการทำงานเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่องทำให้เราเห็นแนวทางแก้ปัญหาให้มีประสิทธิภาพและเกิดความยั่งยืน จึงเป็นที่มาของการพัฒนาดัชนีชี้วัดที่จะบ่งบอกถึงระดับความรู้และทักษะดิจิทัลในด้านต่างๆ ที่ชัดเจนของประชาชนในแต่ละกลุ่ม อันจะทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำเครื่องมือ และองค์ความรู้ส่งมอบให้กับคนไทยได้อย่างตรงกลุ่มเป้าหมายและสอดคล้องกับปัญหาเกิดขึ้น ในชื่อของ “ดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัล หรือ Thailand Cyber Wellness Index (TCWI)” ที่ถือเป็นฉบับแรกของประเทศไทย โดยมีพันธมิตรรายสำคัญอย่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี พร้อมนักวิชาการหลากหลายแขนง มาร่วมกันทำงานเพื่อยกระดับเรื่องดังกล่าวให้ทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วมต่อไป”
รศ.ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีหรือ มจธ. กล่าวว่า “เราทำงานร่วมกับ AIS มาอย่างต่อเนื่องในการสร้างองค์ความรู้จัดทำหลักสูตร อุ่นใจไซเบอร์ เพื่อสร้างทักษะดิจิทัลให้แก่คนไทย จนมาวันนี้ เรามีความภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการทำงานเพื่อพัฒนาเครื่องมือวัดผลถึงการใช้งานกับ ดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัล และเพื่อให้การศึกษาครั้งนี้เป็นไปตามหลักมาตรฐานของการวิจัย มีความถูกต้อง แม่นยำ เชื่อถือได้ จากการทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านเครือข่ายความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ทั้งด้านเทคโนโลยี ด้านสุขภาพ ด้านสื่อสารมวลชน ด้านการศึกษา และการวัดประเมินผล ในการออกแบบระเบียบวิธีวิจัย กรอบแนวคิด จนสามารถพัฒนาดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัลของคนไทยออกมาได้ 3 ระดับ ตั้งแต่ระดับ Advanced ระดับ Basic และระดับ Improvement ที่จะบ่งบอกถึงความสามารถในการใช้งานดิจิทัลของประชาชนไทยแต่ละกลุ่ม ในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ”
ดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัล Thailand Cyber Wellness Index ชี้ให้เห็นถึงทักษะดิจิทัล ที่ครอบคลุมพฤติกรรมการใช้งานดิจิทัลของคนไทย 7 ด้าน ประกอบด้วย ทักษะการใช้ดิจิทัล (Digital Use), ทักษะการรู้เท่าทันดิจิทัล (Digital Literacy), ทักษะ ด้านการสื่อสารและการทำงานร่วมกันบนดิจิทัล (Digital Communication and Collaboration), ทักษะด้านสิทธิทางดิจิทัล (Digital Rights), ทักษะด้านความมั่นคงความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security and Safety), ทักษะด้านการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ (Cyberbullying) และทักษะด้านความสัมพันธ์ทางดิจิทัล (Digital Relationship) ที่มีขั้นตอนวิธีการเก็บผลสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างที่มีความหลากหลายทั้งช่วงอายุ และกลุ่มอาชีพจากทุกจังหวัด ทั่วประเทศกว่า 21,862 คน ซึ่งวันนี้จากผลการศึกษาพบว่า ภาพรวมของคนไทยมีสุขภาวะทางดิจิทัล อยู่ในระดับพื้นฐาน แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีถึง 44.04% ที่ยังอยู่ในระดับต้องพัฒนา แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยจำเป็นต้องสร้างความรู้ความเข้าใจในการใช้ดิจิทัลให้กับประชาชนเพิ่มขึ้น”
นายสมชัย กล่าวว่า “จากผลการศึกษาดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัลของคนไทย ทำให้เราเห็นจุดที่ต้องพัฒนาทักษะเพิ่มความรู้ความเข้าใจให้กับผู้ใช้งานในอีกหลายประเด็น โดย AIS พร้อมด้วยพันธมิตรจะยังคงเดินหน้าทำงานเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง สุดท้ายต้องขอบคุณทุกภาคส่วนที่เข้ามามีส่วนสำคัญทำให้ดัชนีฉบับนี้เป็นสมบัติของประเทศไทย อันจะเป็นเสมือนหนึ่งเข็มทิศที่ช่วยให้พวกเรามองเห็นเส้นทางในการพัฒนาทักษะดิจิทัลให้กับคนไทยได้อย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ มีประสิทธิภาพและเกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริง”
ผู้สนใจสามารถอ่านรายละเอียดผลการศึกษาดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัลของคนไทย เพิ่มเติมที่ https://sustainability.ais.co.th/storage/update/report/advanc-ebook-thailand-cyber-wellness-th.pdf หรือองค์กรใดสนใจนำดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัล Thailand Cyber Wellness Index เพื่อใช้วัดผลและขับเคลื่อนองค์กร สามารถติดต่อมาได้ที่ [email protected]