รู้เก็บรู้ออม : ตลาดรองหนุนความมั่นคง!!

มีคนจำนวนมากคิดว่า ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือตลาดหุ้นไทยคือตลาดทุน (Capital Market) แต่จริงๆแล้ว ตลาดหลักทรัพย์ฯนั้นเป็นเพียงส่วนประกอบหนึ่งของระบบนิเวศของตลาดทุนเท่านั้น ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงเป็นองค์กรหนึ่งในหลายองค์กรที่รวมอยู่ในตลาดทุน

บทบาทหน้าที่ของตลาดหลักทรัพย์ฯนั้น ในด้านของผู้ประกอบการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นแหล่งระดมทุน และแหล่งรวมเครื่องมือทางการเงินสำหรับผู้ประกอบการ ส่วนด้านของนักลงทุน ตลาดหลักทรัพย์ฯจะทำหน้าที่เป็นแหล่งเพิ่มพูนความมั่งคั่งทางการเงิน

คุณแมนพงศ์ เสนาณรงค์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์ฯ กล่าวถึงเรื่องนี้ระหว่างการอบรมความรู้เกี่ยวกับตลาดทุนไทยว่า โครงสร้างตลาดทุนไทย ประกอบด้วยตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ โดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงาน ก.ล.ต. ซึ่งได้รับอำนาจการกำกับดูแลมาจากรัฐบาลและในตลาดหุ้นเองก็มีหน่วยงานต่างๆ เป็นองค์ประกอบ

ตลาดทุนไทย เป็นกลไกสำคัญในการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมให้กับประเทศไทย โดยมีตลาดหลักทรัพย์ฯ ทำหน้าที่เป็น “ตลาดรอง” ที่ช่วยสนับสนุนกลไกนี้มาตลอดระยะเวลาหลายสิบปีนับตั้งแต่ก่อตั้งตลาดหลักทรัพย์ฯขึ้น

ที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์ฯเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2566 มาร์เกตแคปโตขึ้นมาอยู่ที่ 18.7 ล้านล้านบาท เทียบกับปี 2556 ที่มีมาร์เกตแคปอยู่ที่ 11.6 ล้านล้านบาท สาเหตุหลักมาจากจำนวนบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่เพิ่มเป็น 886 บริษัทในปัจจุบัน จากจำนวน 615 บริษัทในปี 2556 และการเติบโตของ บจ. แต่ละราย

อย่างไรก็ดี ตลาดหลักทรัพย์ฯเองได้พัฒนาและสร้างการเติบโตให้กับตัวเอง เพื่อให้สามารถแข่งกับตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกได้ ตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศเองก็มีการปรับตัวให้รองรับความต้องการของตลาดทุน นักลงทุน และผู้ประกอบการในประเทศนั้นๆ

เช่น ตลาดหุ้น KRX ของเกาหลีใต้ เป็นตลาดหลักทรัพย์แห่งแรกในภูมิภาคที่มีการซื้อขายคาร์บอนเครดิตตลาดหุ้นของจีน ตั้งกระดานซื้อขายใหม่ชื่อ SSE Star Market สำหรับธุรกิจเอสเอ็มอีโดยเฉพาะ รวมถึงตลาดหุ้นอินโดนีเซียที่มีพัฒนาการการเติบโตที่น่าสนใจ และโดดเด่นที่สุดในภูมิภาคเอเชีย

สำหรับตลาดหลักทรัพย์ของไทย มีการพัฒนาในฟากของ บจ. และผู้ประกอบการมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการพัฒนาเชิงคุณภาพ ผ่านการกำกับดูแลและให้คำปรึกษา เพื่อให้ บจ.มีมาตรฐานด้านโครงสร้างธุรกิจ ด้านการทำบัญชี ด้านการเปิดเผยข้อมูล และด้านบรรษัทภิบาล

ขณะที่ด้านของผู้ลงทุน ตลาดหลักทรัพย์ฯก็มีการให้ความรู้ด้านการลงทุน ช่วยติดตามและเฝ้าระวัง พร้อมกับส่งสัญญาณเตือนผู้ลงทุนในกรณีที่อาจเกิดปัญหาจากการลงทุนซึ่งอาจสร้างความเสียหายให้กับผู้ลงทุนเอง

ทั้งหมดนี้ เป็นเพราะตลาดหลักทรัพย์ฯ ตระหนักดีถึงบทบาทและหน้าที่ของการเป็นตลาดรองที่สำคัญของประเทศ ซึ่งช่วยหนุนความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมของชาตินั่นเอง!

คุณนายพารวย

ที่มา คอลัมน์ "รู้เก็บรู้ออมรู้ใช้รู้ลงทุน..สู่ความมั่งคั่ง"  หน้าเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ