ไทยในบทการแก้ไขปัญหาโลกร้อน สู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน

ภัยพิบัติทางธรรมชาติในรูปแบบต่าง ๆ ที่รุนแรงและเกิดบ่อยครั้งขึ้นในภูมิภาคต่าง ๆ ของโลก สร้างความตะหนักเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มขึ้น จนนำไปสู่การจัดตั้งรัฐภาคีว่าด้วยอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change หรือ UNFCCC) ในปี พ.ศ. 2535

ประเทศไทย ในฐานะสมาชิกรัฐภาคี ได้ให้ร่วมมือกับประชาคมโลกต่อสู้กับปัญหานี้มาโดยตลอด แม้ประเทศไทยจะมีสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยมาก เมื่อเทียบกับประเทศอุตสาหกรรม หรือเป็นประเทศผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณร้อยละ 1 ของโลก

ประเทศไทยได้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจัดทำแผนแม่บทรับรองการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2556–2593

ทั้งนี้ แผนแม่บทดังกล่าว เป็นแผนงานที่บูรณาการการทำงานของหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐ เอกชน และประชาสังคมให้สอดคล้องกับบริบทเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมไทย และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง พัฒนาความรู้และกลไกในการกระตุ้นให้เกิดแผนบูรณาการเพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างมีประสิทธิภาพในทุกระดับ รวมถึงส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนที่เข้มแข็ง ร่วมมือกับประชาคมโลกในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยไม่ทำให้เกิดผลกระทบเชิงลบต่อการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมของไทย หรือสร้างอุปสรรคต่อการพัฒนาและความสามารถในการแข่งขันของไทย

นอกจากนี้ ยังได้จัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (2555–2559) ซึ่งกำหนดให้ปรับกระบวนทัศน์ และทิศทางการพัฒนาประเทศอย่างบูรณาการ และเตรียมพร้อมไปสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Low-carbon society) รวมทั้งการแก้ปัญหาความยากจน และเสริมสร้างความมั่นคง ทางอาหาร โดยแบ่งแผนปฏิบัติงานออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว และเตรียมการสำหรับการติดตามและประเมินผลการดำเนินงาน รวมถึงปรับปรุงแผนแม่บททุก ๆ 10 ปี เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพโดยรวมของแผนแม่บทและการดำเนินงาน

ขณะเดียวกัน ยังได้จัดตั้งองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ใน พ.ศ. 2550 เพื่อวิเคราะห์ กลั่นกรอง และให้ความเห็นเกี่ยวกับการให้คำรับรองโครงการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตามกลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism หรือ CDM) โดยปัจจุบัน ได้รับรองโครงการ CDM กว่า 182 โครงการ โดยมีส่วนช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดย อบก. มีแผนที่จะพัฒนาตลาดคาร์บอนแบบสมัครใจของไทย (Domestic Voluntary Carbon Market) เพื่อสร้างกลไกสนับสนุนการดำเนินการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และเชื่อมโยงกับตลาดคาร์บอนในประเทศต่าง ๆ

นอกจากนั้น ที่ผ่านมาประเทศไทยยังได้ประกาศแผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปี (พ.ศ.2554–2573) โดยมีเป้าหมายลดความเข้มข้นการใช้พลังงาน (Energy Intensity) ลงร้อยละ 25 และแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก 10 ปี(2555–2564) โดยมีเป้าหมายที่จะใช้พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกให้ได้ร้อยละ 25 ใน พ.ศ. 2564

อย่างไรก็ดี ประเทศไทยได้กำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก ภายใน พ.ศ. 2573 ให้ได้ ร้อยละ 20 ถึง 25 หรือพยายามลดการปล่อยลงจาก 555 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ให้ได้ 111-139 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ภายใน พ.ศ. 2573

บทบาทของประเทศไทยในฐานะประธานกลุ่ม 77 ได้แสดงความพร้อม สร้างความเชื่อมั่นในศักยภาพ ที่จะประสานความร่วมมือระหว่างประเทศต่าง ๆ ในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ กระตุ้นให้นานาประเทศตระหนักถึงปัญหาภาวะโลกร้อนว่าต้องร่วมกันแก้ไขอย่างเร่งด่วน พร้อมทั้งได้ดำเนินการเชิงยุทธศาสตร์ รณรงค์ประชาสัมพันธ์และสร้างจิตสำนึกในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง ขยายผลออกไปยังกลุ่มเด็กและเยาวชนซึ่งจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบในอนาคต ปรับปรุงหลักสูตรการศึกษา เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้ตระหนักรู้ถึงสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

#คุณภาพสิ่งแวดล้อมคือคุณภาพชีวิต

#กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม

อ้างอิง
http://www.voathai.com/content/paris-climate-agreement-ss/3101747.html
http://www.environnet.in.th/?page_id=3677Environnet.in.th
http://www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/cop21-5/blog/54884/