ทุกภาคส่วนทั่วโลกตื่นตัวแก้ไขโลกร้อน ความหวังลดอุณหภูมิโลก

ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบในวงกว้าง ไม่เพียงแต่สร้างความตื่นตัวด้านความร่วมมือจากภาครัฐนานาชาติเท่านั้น ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมและภาคประชาชนทั่วโลกต่างก็ตื่นตัวในเรื่องนี้  การรณรงค์ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ให้กลายเป็นศูนย์ คือความท้าทายสำคัญที่หน่วยงานตั้งเป้าหมายไปพร้อม กับการดำเนินธุรกิจ

มีรายงานว่า ชาวอเมริกัน 6 ใน 10 คน ตื่นตัวแสดงข้อกังวลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา บริษัทเอกชนชั้นนำกว่า 500 แห่งทั่วโลก แสดงความมุ่งมั่นที่จะกำหนดเป้าหมายในการดูแล ปกป้องสภาพภูมิอากาศ โดยนำเทคโนโลยี และวิทยาศาสตร์ยุคใหม่เข้ามาเป็นเครื่องมือที่ช่วยดูแลเรื่องนี้

บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำและแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซระดับโลก อย่าง แอมะซอน (Amazon) ประกาศว่า จะทุ่มงบประมาณ 2,000ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 61,800 ล้านบาท เพื่อจัดตั้งกองทุน ‘Climate Pledge Fund’ เพื่อส่งเสริมนวัตกรรมที่ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ให้กลายเป็นศูนย์สำหรับเศรษฐกิจในอนาคต รวมถึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์บนพื้นฐานการทำธุรกิจที่มีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำสอดคล้องกับพันธกิจตามความตกลงปารีส (Paris Agreement)

ขณะเดียวกันแอมะซอน ยังตั้งเป้าที่จะใช้พลังงานหมุนเวียนให้ได้ในสัดส่วน 100% ภายในปีปี พ.ศ.2568 ปัจจุบัน แอมะซอน มีโครงการด้านพลังงานหมุนเวียนอยู่ในบริษัทมากถึง 91 โครงการ ในจำนวนนี้ประกอบด้วยโปรเจกต์พลังงานลมและแสงอาทิตย์ 31 แห่ง และหลังคาโซลาร์เซลล์อีก 60 แห่ง ซึ่งสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ไม่ต่ำกว่าปีละประมาณ 7.6 ล้านเมกะวัตต์ชั่วโมง (MWh) มากเพียงพอที่จะผลิตกระแสไฟให้กับพลเมืองในสหรัฐอเมริกา ประมาณ 680,000 ครัวเรือน รวมถึงวางแผนซื้อรถตู้พลังงานไฟฟ้า100,000 คัน เพื่อนำมาใช้จัดส่งสินค้าให้กับผู้บริโภคเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยคาดว่าจะเริ่มใช้งานได้จริงวิ่งบนท้องถนนภายในปี 2564

เช่นเดียวกับมาร์ส  (Mars, Incorporated) บริษัทผู้ผลิตอาหารชั้นนำ ประกาศว่า จะใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ในการดำเนินงานภายในปี 2583 และยืนยันว่า ปัจจุบัน ไฟฟ้ามากกว่าครึ่งหนึ่งที่บริษัทใช้มาจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน และบริษัทใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ในหลายประเทศ ได้แก่ สหรัฐ สหราชอาณาจักร เม็กซิโก และออสเตรเลีย มาร์สได้ตั้งงบประมาณ 1,000 ล้านดอลลาร์ในการดำเนินกลยุทธ์สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน เพื่อเร่งให้เกิดความก้าวหน้าในการรับมือกับภัยคุกคามของโลก โดยตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในทุกกระบวนการผลิต ลง 27% ภายในปี 2568 และ 67% ภายในปี 2593

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2562  โซนี่อินเตอร์แอ็กทีฟเอ็นเตอร์เทนเมนต์ (Sony Interactive Entertainment) บริษัทอุตสาหกรรมเกมยักษ์ใหญ่ ประกาศนโยบายสำคัญโดยจับมือกับองค์การสหประชาชาติหรือยูเอ็น ดำเนินโครงการทที่แสดงให้เห็นว่า อุตสาหกรรมเกมและสิ่งแวดล้อม สามารถเดินหน้าไปด้วยกันได้อย่างยั่งยืน โดยประกาศมาตรการแรก คือ ลดอัตราการใช้พลังงานของเครื่องเกมคอนโซลรุ่นใหม่ให้น้อยลง โดยตั้งเป้าหมายให้สามารถหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ได้มากถึง 16 ล้านเมตริกตัน และคาดว่าจะลดได้ถึง 29 ล้านเมตริกตัน ในอีก 10 ปีข้างหน้า

การกำหนดให้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในการดูแลปัญหาโลกร้อน ไม่ได้เป็นมีเพียงภาครัฐหรือเอกชนเท่านั้น ภาควิชาการในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ทั่วโลก ก็เข้ามามีบทบาทนี้เช่นกัน

โดยมีรายงานข่าวว่า คณะนักวิทยาศาสตร์ ของ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษได้ริเริ่ม ก่อตั้ง “ศูนย์เพื่อการฟื้นฟูสภาพภูมิอากาศโลก” (Centre for Climate) เพื่อหาแนวทางให้โลกมีระดับคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นกลางในอนาคต โดยใช้เทคโนโลยีเข้าแทรกแซงและควบคุมระบบภูมิอากาศของโลกในวงกว้าง เพื่อหยุดยั้งภัยพิบัติที่เกิดจากอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นในทุกปี

ศูนย์ดังกล่าวได้จับมือกับ ทาทาสตีล บริษัทผู้ผลิตเหล็กกล้ารายใหญ่ ริเริ่มโครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่ถูกปล่อยจากโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินหรือแก๊ส หรือโรงงานผลิตเหล็ก แล้วกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไว้ใต้ดิน รวมถึงหาแนวทางอื่น ๆ ในการขจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากชั้นบรรยากาศโลก และช่วยลดอุณหภูมิโลกให้กลับคืนสู่ระดับที่ไม่เสี่ยงต่อภาวะโลกร้อน

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ทุกภาคส่วนทั่วโลก ตื่นตัวขึ้นกำหนดบทบาทและตระหนักถึงวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะเชื่อร่วมกันว่า หากในอนาคต เรื่องนี้ล้มเหลว ผลลัพธ์ของความล้มเหลวอาจจะก่อให้เกิดความเสียหายที่ยากจะหลบเลี่ยงหรือคาดเดาได้ทั่วโลก