ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 25 มี.ค. 64 สิงห์อาสา โดย มูลนิธิพระยาภิรมย์ภักดี และ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ได้จัดกิจกรรมสร้างฝายชะลอน้ำจากวัสดุธรรมชาติ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ณ ดอยอินทรีย์ ต.ดอยฮาง อ.เมือง จ.เชียงราย โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยจัดการต้นน้ำห้วยหมากเลี่ยม สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 15 (เชียงราย) กรมอุทยานแห่งชาติฯ, สถานีควบคุมไฟป่าลำน้ำกก, ชาวชุมชนดอยอินทรีย์ และเครือข่ายนักศึกษาสิงห์อาสาภาคเหนือ 10 สถาบัน นำโดยสถาบันการศึกษาในจ.เชียงราย ได้แก่ วิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงราย, ม.แม่ฟ้าหลวง, ม.ราชภัฏเชียงราย และสถาบันอื่นๆ ในพื้นที่ภาคเหนือ ได้แก่ ม.เชียงใหม่, ม.แม่โจ้, ม.ราชภัฏเชียงใหม่, ม.เทคโนโลยีราชมงคลล้านนา, ม.ราชภัฏลำปาง, ม.มหามกุฏราชวิทยาลัย และม.พะเยา ร่วมอบรมสร้างความรู้ความเข้าใจและสร้างฝายชะลอน้ำจำนวน 3 ฝาย โดยใช้วัสดุธรรมชาติ เพื่อฟื้นฟูพื้นที่ป่าต้นน้ำ และยังทำหน้าที่เป็นแนวกันไฟเปียก ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยลดโอกาสเกิดไฟป่า สร้างความชุ่มชื้นให้ป่าต้นน้ำ
นายมานพ รอดแก้ว นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ หัวหน้าหน่วยจัดการต้นน้ำห้วยหมากเลี่ยม สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 15 (เชียงราย) เปิดเผยว่า พื้นที่ที่ทำฝายในวันนี้เหมาะสมกับการทำฝายชะลอน้ำ เพราะการสร้างฝายชะลอน้ำจะช่วยสร้างความชุ่มชื้นให้ดิน ช่วยดักตะกอนที่ไหลมากับน้ำ ลดความตื้นเขินของปลายน้ำ เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ และเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ ที่สำคัญคือฝายเปรียบเสมือนแนวกันไฟธรรมชาติ ที่จะช่วยบรรเทาความรุนแรงของไฟป่า ลดพื้นที่ป่าต้นน้ำเสียหาย
ด้าน สุรสิทธิ์ ปุสุรินทร์คำ อาจารย์จากวิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงราย กล่าวว่า น้ำมีความสําคัญต่อวิถีการดํารงชีวิตของสิ่งมีชีวิตและพืชพรรณ จึงเป็นที่ชัดเจนว่ามนุษย์มีความต้องการใช้น้ำเพิ่มมากขึ้นทุกขณะ ดังนั้น การสร้างฝายชะลอน้ำจึงเป็นที่กักเก็บน้ำขนาดเล็ก ที่ช่วยสร้างความชุ่มชื้น เป็นการอนุรักษ์และพัฒนาระบบนิเวศน์ ช่วยสร้างระบบวงจรน้ำคืนแก่ป่า ซึ่งฝายที่เราทำนี้ได้ใช้วัสดุตามธรรมชาติที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น เช่น ต้นไม้ กิ่งไม้ ดิน ก้อนหิน ฯลฯ มีรูปแบบที่เรียบง่าย ใช้เวลาน้อย และไม่ใช้วัสดุที่ทำลายธรรมชาติ เป็นฝายที่กลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกับระบบนิเวศน์ของพื้นที่ ซึ่งหลังจากที่ทำฝายเสร็จก็จะส่งมอบให้กับชาวบ้านในท้องถิ่นร่วมกันดูแลซ่อมแซมรักษาฝายต่อไป
นางสาว วาสนา บุญเกิด นักศึกษาแผนกเทคโนโลยีศิลปกรรม แกนนำเครือข่ายนักศึกษาสิงห์อาสาจากวิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงราย กล่าวว่า คนรุ่นใหม่สามารถช่วยกันดูแลทรัพยากรท้องถิ่นของตนเองได้ โดยการตระหนัก รู้จักใช้ประโยชน์อย่างสมดุล ซึ่งการสร้างเครือข่ายคนรุ่นใหม่จะช่วยให้การดูแลทรัพยากรมีความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น สำหรับโครงการสิงห์อาสาสู้ไฟป่า รักษาต้นน้ำ เครือข่ายนักศึกษาสิงห์อาสาภาคเหนือ 10 สถาบัน จะร่วมกันดูแลทรัพยากรน้ำในพื้นที่ภาคเหนือ เช่น วิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงรายเป็นแกนนำทำฝายชะลอน้ำ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงเป็นแกนนำเฝ้าระวังไฟป่า ดูแลป่าต้นน้ำ เป็นต้น
โดยกิจกรรมสร้างฝายจากวัสดุธรรมชาติ เป็นกิจกรรมภายใต้โครงการ “สิงห์อาสาสู้ไฟป่า รักษาต้นน้ำ” ซึ่งเป็น 1 ใน 4 ภารกิจ “ต้นน้ำ แหล่งน้ำ สายน้ำ และความยั่งยืน” ตอกย้ำเป้าหมายการดำเนินงานของ สิงห์อาสา เนื่องในวาระครบรอบ 10 ปี เป็นภารกิจที่ดูแลรักษาป่าต้นน้ำอย่างครบวงจร โดยมีแผนจะทำฝายชะลอน้ำในอีกหลายพื้นที่ที่เหมาะสม เพื่อคืนความชุ่มชื้นให้กับป่าต้นน้ำ
นอกจากนี้ภายในโครงการ “สิงห์อาสาสู้ไฟป่า รักษาต้นน้ำ” ยังมีการอบรมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับวิธีทำแนวกันไฟป่าที่มีประสิทธิภาพให้แก่ชาวบ้าน อาสาสมัครป้องกันไฟป่าในพื้นที่ ปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่ป่าต้นน้ำ พร้อมกับสนับสนุนการทำงานของหน่วยงานต่างๆ อาทิ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, มูลนิธิกระจกเงา, ศูนย์ศึกษาวิจัยและปฏิบัติการเพื่อลดปัญหาการเกิดไฟป่า หมอกควันในประเทศไทยและในภูมิภาค ม.แม่ฟ้าหลวง, อาสาสมัครป้องกันไฟป่าในพื้นที่ โดยสนับสนุนอุปกรณ์ที่ใช้ในการป้องกันไฟป่า อาทิ เครื่องมือทำแนวกันไฟที่ได้มาตรฐาน รองเท้าเซฟตี้ รวมทั้งอุปกรณ์อื่นๆ ที่จำเป็น และยังสนับสนุนอาหาร-น้ำดื่มสำหรับเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครปฏิบัติงาน
ทั้งนี้ เนื่องในวาระครบรอบ 10 ปี สิงห์อาสา ในปีนี้ ได้จับมือกับเครือข่ายสิงห์อาสาที่มีอยู่ทั่วประเทศ อาทิ เครือข่ายนักศึกษาสิงห์อาสา, บริษัทในเครือบุญรอดฯทั้งหมด รวมถึงหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ขับเคลื่อนให้ 4 ภารกิจหลักในการดูแลทรัพยากรน้ำ “ต้นน้ำ แหล่งน้ำ สายน้ำ และความยั่งยืน” ที่มีเป้าหมายครอบคลุมทุกภูมิภาคให้ประสบผลสำเร็จสูงสุดในการพัฒนา ฟื้นฟู อนุรักษ์ และจัดสรรทรัพยากรน้ำให้ยั่งยืนสืบไป