แพทย์แนะฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ เร่งสร้างภูมิ เกราะป้องกันโรคปอดอักเสบ ลดอาการป่วยรุนแรงและเสียชีวิต

สถานการณ์โรคปอดอักเสบ ถือเป็นโรคติดเชื้อที่มีอุบัติการณ์การเสียชีวิตทั่วโลกกว่า 2.5 ล้านคน ในปี 2562 โดยในจำนวนนี้เป็นเด็กกว่า 672,000 คน และในสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้มีจำนวนผู้ป่วยเสียชีวิตเพิ่มขึ้นอีกกว่า 2 ล้านคน ในปี 2563 รวมเป็นจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งสิ้นกว่า 4 ล้านคน ภายในระยะเวลาเพียง 2 ปี ซึ่งสูงกว่าจำนวนการเสียชีวิตจากโรคติดเชื้ออื่นๆ

ศ. นพ. ธีระพงษ์ ตัณฑวิเชียร

ศ. นพ. ธีระพงษ์ ตัณฑวิเชียร อาจารย์ประจำหน่วยโรคติดเชื้อ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้ช่วยผู้อำนวยการและรักษาการหัวหน้าฝ่ายวิจัยและบริการคลินิก สถานเสาวภา สภากาชาดไทย เปิดเผยถึงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อหลักๆ ในปัจจุบันที่จะนำไปสู่ภาวะของ ‘โรคปอดอักเสบ’ หรือที่รู้จักกันดีว่า ‘โรคปอดบวม’ โรคปอดอักเสบ หมายถึงการอักเสบที่เนื้อปอด ประกอบด้วยถุงลมปอดและเนื้อเยื่อโดยรอบ ทำให้ปอดทำหน้าที่ได้น้อยลง เกิดอาการหายใจหอบเหนื่อย หายใจลำบาก ซึ่งผู้ป่วยอาจมีอาการรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้

พบว่าสาเหตุของปอดอักเสบส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อ โดยหลักๆ เกิดจากเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งเชื้อไวรัสที่พบได้บ่อย มีอยู่ 3 ตัวหลักๆ ได้แก่ ไวรัสไข้หวัดใหญ่ (Influenza virus), ไวรัสโควิด-19 (Coronavirus;SAR CoV-2) และไวรัสอาร์เอสวี (Respiratory syncytial virus – RSV) ส่วนเชื้อแบคทีเรียพบได้บ่อย คือ นิวโมคอคคัส (Streptococcus pneumoneae) ขณะที่ปอดอักเสบจากเชื้อรายังพบได้น้อยและมักจะเกิดในกลุ่มที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ปลูกถ่ายอวัยวะ หรือได้รับยาเคมีบำบัด เป็นต้น

ปอดอักเสบนับเป็นโรคที่พบได้บ่อยในคนทั่วไปและทุกวัย และเป็นโรคที่พบได้มากขึ้นในกลุ่มเสี่ยงประมาณร้อยละ 8-10 ของผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อเฉียบพลันทางระบบหายใจ ซึ่งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับ 1 ของโรคติดเชื้อในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี โดยกลุ่มเสี่ยงของโรคปอดอักเสบ ได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป ผู้ที่มีโรคประจำตัว รวมถึงผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ ฯลฯ

ศ. นพ. ธีระพงษ์ กล่าวเสริมว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะเริ่มมีอาการจากการติดเชื้อของทางเดินหายใจส่วนบนก่อน เช่น เจ็บคอ มีน้ำมูก แล้วถึงมีอาการไอและหายใจหอบตามมา ซึ่งเกิดได้จากโรคไข้หวัดใหญ่ โรคโควิด-19 หรือโรค RSV ซึ่งอาการสำคัญของโรคปอดอักเสบ คือ มีไข้ ไอ เจ็บหน้าอก และหอบเหนื่อย โดยผู้ป่วยจะมีอาการแตกต่างกันในแต่ละกลุ่มอายุ เช่น โรค RSV ถือเป็นปัญหาหลักและมีความรุนแรงในกลุ่มเด็กเล็ก และจากผลการวิจัยปัจจุบันพบว่า RSV ก็เป็นปัญหาสำคัญในกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะต้องนอนโรงพยาบาลและมีโอกาสเสียชีวิตด้วย ส่วนไข้หวัดใหญ่พบได้ในทุกอายุ พบบ่อยในเด็กแต่จะมีอาการรุนแรงน้อยกว่าในผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ และกลุ่มที่มีโรคประจำตัว สำหรับโควิด-19 พบได้ทุกอายุ แต่เด็กจะไม่ค่อยมีอาการและยังมีความเสี่ยงที่จะเป็นปอดอักเสบน้อยกว่าผู้สูงอายุและกลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยง ขณะที่เชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัส มักจะทำให้เกิดปอดอักเสบที่รุนแรงในผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ และกลุ่มที่มีโรคประจำตัว รวมถึงกลุ่มที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ

ด้วยทุกวันนี้ ผู้คนทั่วโลกต่างเริ่มกลับมาใช้ชีวิตเป็นปกติหลังจากยกเลิกมาตรการล็อคดาวน์โควิด-19 การใส่หน้ากากและมีการเดินทางมากขึ้น ขณะที่เชื้อที่ก่อให้เกิดโรคปอดอักเสบยังคงมีอยู่ด้วยกันถึง 4 ตัวหลักๆ ได้แก่ ไข้หวัดใหญ่, โควิด-19, อาร์เอสวี และนิวโมคอคคัส ทำให้ยิ่งมีโอกาสแพร่กระจายจากคนสู่คนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในฤดูหนาวปลายปีนี้ รวมถึงเดือนมกราคม – มีนาคม และฤดูฝนในเดือนพฤษภาคม – ตุลาคมปีหน้า ซึ่งมีความเสี่ยงที่ผู้ป่วยปอดอักเสบจะมีอาการรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากพบว่าร้อยละ 10-30 ของผู้ป่วยที่มีปอดอักเสบจะมีการติดเชื้อร่วมกันตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไปได้ และมีความเสี่ยงที่จะเชื้อลงปอดอาการหนักจนต้องเข้ารักษาในไอซียูในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นอีกด้วย

สำหรับแนวทางป้องกันโรคปอดอักเสบที่ได้ผลลัพธ์ที่คุ้มค่ามากที่สุด คือ การฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคปอดอักเสบ ซึ่งประกอบด้วยวัคซีนไข้หวัดใหญ่ วัคซีนโควิด-19 และวัคซีนนิวโมคอคคัส ขณะที่ขณะนี้ยังไม่มีวัคซีน RSV แต่คาดว่าจะมีในอีก 1-2 ปีข้างหน้า โดยวัคซีนในกลุ่มดังกล่าวนี้ มีความสำคัญอย่างมากสำหรับกลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยงที่จะมีปอดอักเสบรุนแรง ได้แก่ เด็กเล็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ, ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป, ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคปอดเรื้อรัง โรคไตวาย โรคตับวาย โรคพิษสุราเรื้อรัง รวมถึงกลุ่มที่ได้รับยาภูมิคุ้มกัน เช่น ยารักษามะเร็ง ยารักษาโรคภูมิคุ้มกันตัวเอง เป็นต้น เพราะวัคซีนในกลุ่มนี้จะช่วยป้องกันโรคปอดอักเสบและลดความรุนแรงของโรคได้

ขณะเดียวกัน กลุ่มที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวอาจจะมองว่าไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนในกลุ่มนี้ แต่ความเป็นจริงแล้ว ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ซ่อนอยู่และอาจส่งผลกระทบตามมา โดยควรจะคำนึงถึงคุณค่าของการฉีดวัคซีน หรือฉีดเพื่อบุคคลอันเป็นที่รัก เช่น ฉีดเพื่อป้องกันและลดการแพร่เชื้อให้คนรอบข้าง คนในครอบครัวที่อาจอยู่ในกลุ่มเสี่ยง ฉีดเพื่อลดการป่วยที่รุนแรง และฉีดเพื่อลดการสูญเสียที่มองไม่เห็น (indirect cost) เช่น หากป่วยก็ต้องนอนพักรักษาตัวหลายวัน ทำให้สูญเสียรายได้จากการทำงาน ซึ่งล้วนเป็นคุณประโยชน์ของการฉีดวัคซีนทั้งสิ้น

ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) ยังสนับสนุนการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรค พร้อมระบุว่า ‘วัคซีน’ เป็นสิ่งที่มนุษย์คิดค้นและทำให้คนรอดตายมากที่สุดเป็นอันดับ 2 รองจากน้ำสะอาด ซึ่งพิสูจน์ได้จากโควิด-19 ซึ่งหากในปี 2021 ที่โควิด-19 แพร่ระบาด แล้วหากในปีนั้นเราไม่มีวัคซีนโควิด-19 คนทั่วโลกจะเสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้นถึง 19.6 ล้านคน ขณะที่ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด 19 ที่ผ่านมาอยู่ที่ประมาณ 6.5 ล้านคนทั่วโลก

ทั้งนี้การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นวัคซีนที่เข้าถึงได้ง่ายและสะดวกที่สุดในปัจจุบัน กระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้แนะนำให้ประชาชนฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นประจำปีทุกปี โดยเฉพาะผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงสูงที่จะเกิดปอดอักเสบรุนแรงโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยประชาชนสามารถเข้ารับการฉีดได้ที่โรงพยาบาลหรือคลินิกใกล้บ้านท่าน