แนะกินหมูยุคนิวนอร์มอล ต้องใส่ใจเลือก และปรุงสุก

นายสัตวแพทย์ ปราโมทย์ ตาฬวัฒน์ กรรมการคณะกรรมการกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร และกรรมการ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สก.) เปิดเผยว่า การเลี้ยงหมูของไทยทุกวันนี้ มีการพัฒนาขีดความสามารถในการผลิตตามหลักอาหารปลอดภัย (food safety) ได้มาตรฐานสากล มีการจัดการโรงเรือนตามมาตรฐานสวัสดิภาพสัตว์ (animal welfare) เพื่อให้สัตว์อยู่สบาย เมื่อไม่ป่วยจึงไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ เพื่อให้ผลิตเนื้อสัตว์ที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภคมากขึ้น

นายสัตวแพทย์ ปราโมทย์ ตาฬวัฒน์ กรรมการคณะกรรมการกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร และกรรมการ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

ในกระบวนการผลิตเนื้อหมูที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ปลอดภัย ปลอดสาร ตั้งแต่ต้นทางจนถึงมือผู้บริโภคนั้น เริ่มจากการผลิตสุกรพันธุ์ดี ที่เติบโตขึ้นท่ามกลางการจัดการฟาร์มที่ถูกสุขลักษณะ มีสภาพแวดล้อม ที่เหมาะสม และการป้องกันโรคอย่างเข้มงวด หมูทุกตัวต้องผ่านการตรวจ วิเคราะห์รับรองว่าปลอดโรคและปลอดสารจากห้องปฏิบัติการของบริษัท ผ่านการรับรองของกรมปศุสัตว์

ก่อนถูกนำไปแปรรูปและตัดแต่งภายในโรงงานที่มีเทคโนโลยีการผลิตทันสมัย ได้มาตรฐานระดับโลกด้านความปลอดภัยของอาหาร (Food Safety) มีระบบควบคุมการตัดแต่ง เนื้อหมู และความปลอดภัย สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ทันที เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจในคุณภาพผลิตภัณฑ์เนื้อหมูสะอาด ปลอดสาร ปลอดภัย

นอกจากนี้ โรคแอฟริกันสไวน์ฟีเวอร์ หรือ โรค ASF ในสุกร ที่กำลังคุกคามอุตสาหกรรมการเลี้ยงหมูในหลายประเทศนั้น โดยเฉพาะจีน รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านของไทยอย่างเวียดนาม กัมพูชา เมียนมา และลาว สำหรับประเทศไทย จากความร่วมมือกับระหว่างรัฐ เอกชน และเกษตรกร ช่วยกันยกระดับการป้องกันโรค ASF อย่างแข็งแกร่ง จึงส่งผลให้ ไทยเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคซีแอลเอ็มวีที (CLMVT) ที่สามารถปกป้องโรค ASF ได้จนถึงทุกวันนี้

อย่างไรก็ตาม โรค ASF เป็นโรคที่ติดต่อกันเฉพาะในหมูเท่านั้น ไม่ติดต่อสู่คน และสัตว์ชนิดอื่น ขออย่าเข้าใจผิด หรือ ตื่นตระหนกเกินไป กินเนื้อหมูได้ เป็นปกติ ปลอดภัย 100% ไม่มีอันตรายใดๆ ที่สำคัญเนื้อหมูยังเป็นเนื้อสัตว์ที่อร่อย และการปรุงสุกที่สาธารณสุขแนะนำมาตลอดก็ยังคงเป็นสิ่งที่ทุกคนพึงกระทำให้เป็นนิสัย หมูที่ปรุงสุกต้มในน้ำเดือด 20 นาที ก็ช่วยให้ปลอดภัยจากเชื้อไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา และยีสต์ทุกชนิด

นอกจากผู้ผลิตต้องให้ความสำคัญเรื่อง คุณภาพและความปลอดภัยของเนื้อหมู แล้ว ผู้บริโภคเองควรมีความรู้ในการเลือกบริโภคอาหารให้ถูกหลักอนามัย เพื่อหลีกเลี่ยงการได้รับสารเคมีอันตรายที่แฝงมากับอาหารที่มาจากการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน

ในการเลือกซื้อเนื้อหมู ผู้บริโภคควรเลือกซื้อเนื้อหมูจากแหล่งที่ไว้ใจได้ น่าเชื่อถือ และสามารถ ตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาของวัตถุดิบ ช่วยให้มั่นใจได้ว่า ผลิตภัณฑ์ที่เลือกซื้อไปปลอดสารเร่งเนื้อแดง และปลอดภัยจากยาปฏิชีวนะและสารตกค้างต่างๆ

นอกจากนี้ ผู้บริโภคยังสามารถสังเกตสินค้าได้จากตรารับรองจากหน่วยงานราชการ เช่น ตราสัญลักษณ์ “ปศุสัตว์OK” ที่กรมปศุสัตว์ออกให้กับร้านจำหน่ายเนื้อสัตว์ที่ได้มาตรฐานการรับรองจากกรมปศุสัตว์ นอกจากนี้ ควรปรุงเนื้อหมูให้สุกก่อนรับประทาน เพียงเท่านี้ การบริโภคเนื้อหมูจะอร่อย และปลอดภัยหายห่วง