เสียงจากบริษัทจดทะเบียนแนะภาครัฐดำเนินการ เพื่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทย

โดย สุมิตรา ตั้งสมวรพงษ์ ฝายวิจัย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ฝ่ายวิจัย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ร่วมมือกับ สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย และบริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด สำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนใน SET และ mai (CEO Survey: Economic Outlook 2022) ซึ่งรวบรวมข้อมูลในช่วงวันที่ 25 สิงหาคม – 19 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา ได้รับข้อมูลที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งจากผู้บริหารระดับสูงของบริษัทจดทะเบียนที่ร่วมเสนอความคิดเห็นภายใต้หัวข้อ “ประเด็นสำคัญที่ท่านอยากให้ภาครัฐดำเนินการเพื่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและธุรกิจของท่าน” ซึ่งเป็นข้อเสนอแนะสำคัญสำหรับภาครัฐพิจารณาดำเนินการเพื่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ซึ่งมีความสอดคล้องกับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในเวทีโลก

สถานการณ์ประเทศไทยในมุมมองระดับโลกและระดับภูมิภาค
ในขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) คาดการณ์ว่า สถานการณ์เศรษฐกิจโลก ปี 2565 และในระยะต่อไปจะมีการชะลอตัวเป็นวงกว้าง เนื่องจากอัตราเงินเฟ้ออยู่มีแนวโน้มสูงขึ้นและความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นทั่วโลก (Inflation and Uncertainty) จากความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ และสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 แต่ในขณะเดียวกันมองว่า ในปี 2566 เป็นโอกาสสำคัญของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย ที่มีแนวโน้มที่เศรษฐกิจเติบโตสวนทางกับเศรษฐกิจของประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว แม้ว่าจะมีความเสี่ยงจากการได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า อัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้น และกำลังซื้อภายในประเทศที่ลดลง สอดคล้องกับผลสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนใน SET และ mai ปี 2565 ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้เผยแพร่ก่อนหน้านี้
ประเทศไทยมีจุดเด่นจากตัวพื้นที่ตั้งของประเทศ (country location) ที่เอื้อประโยชน์ในการขนส่งในภูมิภาค ทรัพยากรธรรมชาติที่สวยงาม ความผสมผสานของศิลปวัฒนธรรมจากหลากหลายเชื้อชาติ ตลอดจนความมีรสชาติของอาหารการกิน ส่งผลให้ประเทศไทยได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ และได้รับการจัดอันดับเป็นอันดับ 4 ของประเทศเป้าหมายในการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยว จากการจัดอันดับโดย Visa Global Travel Intentions Survey และประเทศไทยได้รับการจัดอันดับเป็นอันดับ 1 ในเอเชีย หรือ อันดับ 11 ของโลก สำหรับวัยเกษียณ จากการจัดอันดับ Global Retirement Index ปี 2565 ที่จัดทำโดย International Living magazine

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยจะสามารถจะสามารถปรับตัวเพื่อตอบรับโอกาสได้มากน้อยเพียงใดนั้น สามารถพิจารณาเบื้องต้นได้ จากความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในเวทีโลก ที่เปิดเผยใน IMD World Competitiveness Ranking 2022 ซึ่งจัดทำโดย World Competitiveness Center ซึ่งประเมินความสามารถในการแข่งขันในสายตาของของผู้บริหาร 4,200 ท่าน จาก 63 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก ใน 20 มุมมอง พบว่า อันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย อยู่อันดับที่ 33 ลดลงจากอันดับที่ 28 ในปีก่อน โดยมุมมองที่ได้อันดับสูงที่สุด 3 ด้าน ได้แก่ ด้านการจ้างงาน (employment) ที่อยู่อันดับ 4 จากทั้งหมด 63 อันดับ ตามมาด้วยด้านนโยบายภาษี (tax policy) ซึ่งเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีรูปแบบต่างๆ อยู่ที่อันดับ 7 และด้านตลาดแรงงาน (labor market) อยู่ที่อันดับ 13 ขณะที่มุมมองได้อันดับต่ำที่สุด 3 ด้าน คือ ด้านการศึกษา (education) อยู่ที่อันดับ 55 จากทั้งหมด 63 อันดับ ขณะที่ด้านเศรษฐกิจภายในประเทศ (domestic economy) และด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (health and environment) อยู่อันดับเท่ากันคือ อันดับ 51 จากทั้งหมด 63 อันดับ

ขณะที่มุมมองของผู้ใช้บริการจากหน่วยงานภาครัฐ ที่จัดทำโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) ซึ่งประเมิน “ดัชนีการรับรู้การทุจริต” (Corruption Perceptions Index) ที่เป็นดัชนีสะท้อนภาพลักษณ์การทุจริตคอร์รัปชันของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ได้เปิดเผยในเดือนมกราคม 2565 ว่า ในปี 2564 ได้ประเมินจากผู้ใช้บริการของภาครัฐใน 180 ประเทศทั่วโลก พบว่า ประเทศไทยอยู่ที่อันดับ 110 หรือได้รับคะแนนเพียง 35 จาก 100 คะแนน ซึ่งจากคะแนนที่ต่ำกว่า 50 คะแนน ถือว่า ปัญหาเรื่องการคอร์รัปชั่นเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ
อย่างไรก็ตาม สำหรับภาคเอกชนมีทิศทางตรงกันข้ามกับดัชนีการรับรู้การทุจริตที่กล่าวมาข้างต้นอย่างชัดเจน โดยจากการประเมินด้านบรรษัทภิบาล ASEAN Corporate Governance Scorecard 2021 Updates เปิดเผยว่า ประเทศไทยได้รับคะแนนประเมินเฉลี่ยสูงที่สุดในอาเซียนต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 6 และยังได้รับรางวัล ASEAN Asset Class Award สำหรับ บริษัทที่ได้คะแนนตั้งแต่ 97.50 คะแนนขึ้นไป โดยมีบริษัทจดทะเบียนไทยได้รับรางวัลนี้จำนวน 42 บริษัท จากทั้งหมด 135 บริษัท ซึ่งถือว่ามากที่สุดใน 6 ประเทศอาเซียนที่ร่วมการประเมินอีกด้วย
จากสถานการณ์ประเทศไทยตามที่กล่าวมาข้างต้น เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้บริหารระดับสูงบริษัทจดทะเบียนไทย ร่วมตอบแบบสอบถามเพื่อให้ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐเพื่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทย ซึ่งสรุปประเด็นสำคัญ ดังนี้

ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนอยากให้ภาครัฐเป็นผู้นำเชิงรุก ทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางการแข่งขัน มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ไม่ทุจริตต่อหน้าที่ (คอร์รัปชั่น)
จากสถานการณ์แวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ภาคธุรกิจต้องมีการเร่งปรับตัว แต่การปรับตัวที่จะสามารถดำเนินการได้รวดเร็วปฏิเสธไม่ได้ว่าต้องได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐในการกำหนดนโยบายตลอดจนจนปรับกฎระเบียบให้เอื้อต่อการทำธุรกิจและช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชน ซึ่งผู้บริหารสูงสุดของบริษัทจดทะเบียนได้ให้ข้อเสนอแนะให้ภาครัฐปรับตัว ดังนี้

• การเป็นผู้นำเชิงรุก (Proactive Leadership) ของภาครัฐ ตลอดจนการมีความสามารถในการประเมินสถานการณ์เป็นภาพรวม (แทนการแยกการทำงานเป็นรายหน่วยงาน) การเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง นำหน้าภาคเอกชนอย่างจริงจังในด้านที่ภาครัฐมีศักยภาพมากกว่าภาคเอกชน เป็นภาพลักษณ์ของภาครัฐในอุดมคติของผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนไทย
• เร่งปรับเปลี่ยนกฎหมาย ระเบียบ ขั้นตอนการดำเนินงาน ให้ทันต่อธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป
• มีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ ไม่มีการทุจริตต่อหน้าที่ (คอร์รัปชั่น)
• สร้างเสถียรภาพการเมืองไทย ผ่านการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์และยุติธรรม
• เร่งการเบิกจ่ายงบประมาณ และเบิกจ่ายงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ

นโยบายของภาครัฐที่มีทิศทางชัดเจน รัดกุม ต่อเนื่อง และนำไปปฏิบัติได้จริง ให้เวลาผู้ประกอบการปรับตัว จะช่วยเสริมสร้างความมั่นใจให้นักลงทุน และช่วยให้ภาคเอกชนสามารถวางแผนการลงทุนได้สอดคล้องกับนโยบายภาครัฐ

ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนได้เสนอแนะถึงทิศทางและนโยบายภาครัฐว่า ภาครัฐควรกำหนดนโยบายที่มีทิศทางชัดเจน รัดกุม ต่อเนื่อง และนำไปปฏิบัติได้จริง ที่สำคัญในการกำหนดนโยบายใดๆ ควรให้เวลาผู้ประกอบการปรับตัวเพื่อลดปัญหาในขั้นตอนการลงมือปฏิบัติเมื่อนโยบายนั้นๆ มีผลบังคับใช้ ซึ่งการกำหนดนโยบายที่ชัดเจน มีความต่อเนื่อง (แม้ว่ามีการเลือกตั้งใหม่) จะช่วยเสริมสร้างความมั่นใจให้นักลงทุน และช่วยให้ภาคเอกชนสามารถวางแผนการลงทุนได้สอดคล้องกับนโยบายการส่งเสริมของภาครัฐ และในมีความต่อเนื่องในการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ อาทิ

  • เร่งพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (The Eastern Economic Corridor (EEC) ให้มีความต่อเนื่องและเห็นความสำเร็จเป็นรูปธรรม และมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนที่ชัดเจน
    • กำหนดแผนการส่งเสริมการลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศที่ชัดเจน เพื่อดึงดูดให้นักลงทุนรายใหม่เข้ามาลงทุน หรือ ให้คงรักษา / ขยายฐานการผลิตให้อยู่ในประเทศไทย
    • ให้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี เพื่อกระตุ้นในภาคเอกชนในต่างประเทศเข้ามาเปิดตลาดในประเทศ หรือย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทย
    • ปรับลดขั้นตอนความยุ่งยากในการขออนุมัติการลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศ
    • อำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายแรงงานจากต่างประเทศเข้ามาทำงานในประเทศไทย โดยเฉพาะในสาขาที่ขาดแคลน
    • ผลักดันประเทศไทยให้มีบทบาทในภูมิภาคมากขึ้น ทั้งการเป็นศูนย์กลางการลงทุนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาทิ การใช้เวที APEC ที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมในเดือนพฤศจิกายนนี้ ในการต้อนรับผู้นำจากนานาประเทศ เพื่อต่อยอดความร่วมมือทางเศรษฐกิจระดับมหภาค
    • เร่งพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานต่างๆ ตลอดจนระบบคมนาคมขนส่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
  • ส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง
    • เปิดประเทศเต็มรูปแบบ ต้อนรับการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างประเทศ โดยให้สิทธิประโยชน์และ/แรงจูงใจที่เหมาะสมสำหรับนักลงทุนแต่ละกลุ่ม ทั้งกลุ่มนักเดินทางที่มาทำงาน (Workation) กลุ่มพำนักระยะยาว (Long-term resident visa: LTR) และกลุ่มท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical Tourism)
    • กำหนดแนวทางที่ชัดเจนในการสนับสนุนให้ประเทศเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ (Medical Hub) ของภูมิภาค รวมทั้งกำหนดทิศทางที่ชัดเจนในการแข่งขันในธุรกิจการแพทย์
    • ส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ โดยคงมาตรการปัจจุบันที่มีอยู่แล้ว อาทิ มาตรการเพิ่มวันหยุดยาว โครงการเราเที่ยวด้วยกัน เป็นต้น
    • สนับสนุนผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมในธุรกิจท่องเที่ยวให้มีการพัฒนารูปแบบการให้บริการให้มีความน่าสนใจและเป็นเอกลักษณ์ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยว
    • ยกระดับจุดท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงให้ก้าวอีกระดับ อาทิ การพัฒนาจากโครงการ Phuket Free Port ให้ภูเก็ตเป็น Shopping Paradise ของนักท่องเที่ยวอย่างแท้จริง
  • กระตุ้น / สร้าง กำลังซื้อภาคประชาชน
    • สร้างงาน / กระตุ้นให้เกิดการจ้างงาน หรือให้สิทธิ์ประโยชน์แก่ภาคเอกชนที่ช่วยเพิ่มการจ้างงาน
    • คง / เพิ่ม แนวทางในการกระตุ้นกำลังซื้อของประชาชน โดยให้ความสำคัญกับการกำหนดมาตรการที่แตกต่างกันตามความเหมาะสมสำหรับประชาชนในแต่ละกลุ่ม (no one for all, not broad based measures) อาทิ โครงการคนละครึ่ง โครงการช้อปดีมีคืน เป็นต้น
    • เร่งปรับโครงสร้างหนี้ของประชาชน ทั้งหนี้ภาคครัวเรือนและธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) เพื่อให้ประชาชนมีความสบายใจในการจับจ่ายใช้สอย
  • ลงทุนภาครัฐทดแทนการชะลอตัวของภาคเอกชน และมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนอย่างชัดเจน
    • ลงทุนภาครัฐอย่างมีประสิทธิภาพ โดยอยากให้รัฐระดมลงทุนสาธารณูปโภคมากขึ้น เพื่อชดเชยการลดการลงทุนของภาคเอกชนที่หดตัวอย่างรุนแรงในขณะนี้
    • ส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชน โดยออกมาตรการตลอดจนนโยบายที่ชัดเจน ในการพัฒนาธุรกิจต่างๆ ซึ่งจะช่วยให้ภาคเอกชนทราบถึงทิศทางการลงทุนที่ชัดเจน และนำมาซึ่งการลงทุนเพิ่มเติมของภาคเอกชน อาทิ การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี (Investment Incentives) เพื่อดึงดูดการลงทุน การเพิ่มช่องทางในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เป็นต้น
  • การเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้นโยบายการเงิน การคลัง / การออกนโยบายหรือมาตรการต่างๆ
    • กระตุ้นเศรษฐกิจด้วยเครื่องมือการคลังและการเงิน ที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ อาทิ การควบคุมอัตราเงินเฟ้อ การเพิ่มอัตราดอกเบี้ย การลดความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน / การอ่อนตัวของค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินตราต่างประเทศสกุลอื่นๆ
    • ให้เวลาภาคเอกชนในเตรียมตัว ก่อนออกมาตรการใดๆ ของหน่วยงานภาครัฐ ที่อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของภาคธุรกิจ ขอให้ปรับแบบค่อยเป็นค่อยไป อาทิ
    • การปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ
    • การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
    • การต่ออายุการลดเงินนำเข้ากองทุน FIDF จาก 0.46% เหลือ 0.23% ควรต่ออายุต่อไปอีก 1 ปีเพื่อเห็นภาพความชัดเจนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย เป็นต้น

ภาคเอกชนเสนอให้ภาครัฐพัฒนาโครงการสร้างพื้นฐานและสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน ตลอดจนการปรับปรุงระบบการศึกษาและผู้สำเร็จการศึกษามีความพร้อมสำหรับตลาดแรงงาน

  • เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) และสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน (Public Health) ของประเทศ
  • ส่งเสริมและผลักดันโครงการ Digital Supply Chain Finance ที่จะนำข้อมูลจากบริการด้านการค้าและการชำระเงินมาใช้ในการตรวจสอบเอกสารสำหรับการให้สินเชื่อ ซึ่งด้วยระบบเชื่อมโยงข้อมูลที่ไม่ซับซ้อน ให้มีการใช้งานอย่างทั่วถึง
  • พัฒนาคุณภาพประชากรของประเทศ โดยการลงทุน / เพิ่มงบประมาณด้านการให้การศึกษา (Education) และให้ความสำคัญกับการส่งเสริมทักษะวิชาชีพ (Hard Skills) และทักษะความสามารถเชิงสมรรถนะ (Soft Skills) ที่ช่วยให้สามารถทำงานและสื่อสารกับผู้อื่น ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ให้คนไทยทุกช่วงวัยมีศักยภาพทางการแข่งขันมากกว่าปัจจุบัน
  • พัฒนาแรงงานให้เป็นแรงงานมีฝีมือ (Skilled labor)
  • ภาครัฐควรสนับสนุนและกำหนดนโยบายที่ชัดเจนสำหรับธุรกิจแต่ละประเภท เพื่อเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันให้ภาคเอกชนให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ในระยะยาว
  • สนับสนุนและควบคุมให้การแข่งขันในแต่ละธุรกิจเป็นไปอย่างเท่าเทียมกัน (fair competition)
  • ลดขั้นตอนหรืออุปสรรคในการทำธุรกิจ (Ease Doing Business) โดยเฉพาะสำหรับธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก
  • ส่งเสริมให้ภาคธุรกิจสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง ได้ง่ายขึ้น รวดเร็ว และทันต่อเหตุการณ์
  • กำหนดนโยบาย / มาตรการ ที่ช่วยลดต้นทุนการผลิต อาทิ
    • บริหารพลังงานให้ต้นทุนอยู่ในระดับต่ำสุด เพื่อลดผลกระทบจากค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ และต้นทุนของภาคเอกชน
    • อำนวยความสะดวกในการนำเข้าวัตถุดิบ เพื่อช่วยลดต้นทุนสินค้าและวัตถุดิบในการผลิต
    • สนับสนุนให้เกิดแหล่งรวมข้อมูลผู้ผลิตสินค้าและบริการภายในประเทศ (supplier database) เพื่ออํานวยความสะดวก และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดซื้อจัดจ้าง
  • ในด้านการพัฒนาสินค้าและบริการ ภาครัฐควรสนับสนุนการสร้างสรรนวัตกรรม (R&D) ตลอดจนการใช้เทคโนโลยีพัฒนาธุรกิจให้มีความเป็นอัตโนมัติหรือเป็นดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น
  • กำหนดนโยบายที่ชัดเจนในการพัฒนาเพื่อความเติบโตอย่างยั่งยืน การมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม และการบริหารพลังงาน
    • สร้างองค์ความรู้ และเผยแพร่ความรู้ ตลอดจนการรณรงค์ให้ประชาชนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการพัฒนาเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน
      • การพัฒนาองค์ความรู้ เรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environment, Social, and Governance: ESG) และเผยแพร่จากภาคธุรกิจ ไปยังสังคมและชุมชน
      • การให้ความรู้เกี่ยวกับโมเดลเศรษฐกิจใหม่ที่เรียกว่า “เศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว” (Bio-Circular-Green Economy: BCG) ที่พัฒนาต่อยอดจากจุดแข็งของประเทศไทย ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพและความหลากหลายทางวัฒนธรรม เชื่อมโยงกับการพัฒนาเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)
    • กำหนดเป้าหมายและนโยบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และ Net zero carbon ตลอดจนส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาคธุรกิจมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจและระบบเศรษฐกิจ
      • มาตรการสนับสนุนการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก อาทิ การพัฒนาตลาดคาร์บอน เป็นต้น
      • มาตรการส่งเสริมการผลิตและการใช้รถยนต์ที่ใช้พลังงานทางเลือก อาทิ การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี (Tax Incentives Program) แก่ผู้ผลิตและผู้ใช้รถยนต์ที่ใช้พลังงานทางเลือก
    • ส่งเสริมการลงทุนในบริษัทที่มีผลิตภัณฑ์ / มาตรการ ช่วยรักษ์โลก (ESG Products and ESG Instruments)
    • ออกนโยบายหรือแนวทางในการส่งเสริมที่เหมาะสมในแต่ละประเภทธุรกิจ ได้แก่

ธุรกิจเพื่อสุขภาพ

  • ควรกำหนดแนวทางในการส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันกันอย่างเสรี เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในระดับโลก
  • ควรวางแผนผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ของภูมิภาคอย่างเป็นรูปธรรม

อสังหาริมทรัพย์

  • ควรมีนโยบายกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์ อาทิ การปรับลดค่าธรรมเนียมต่างๆ (ค่าธรรมเนียมการโอนที่ดิน / อสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น
  • ควรมีมาตรการลดผลกระทบจากสภาพการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป อาทิ การขยายวันสิ้นสุดสัญญาโดยยกเว้นค่าปรับ การผ่อนปรนเงื่อนไขการได้รับเงินชดเชยค่าวัสดุที่ราคาสูงขึ้น (k – escalation factor)

บริการ / ค้าปลีก

  • ควรส่งเสริมให้สามารถประกอบธุรกิจอย่างสะดวกและง่ายดาย เพราะในขณะนี้ธุรกิจบริการจะเป็นอุตสาหกรรมสำคัญในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

สื่อสิ่งพิมพ์

  • ควรมีนโยบายส่งเสริมการเรียนรู้ รักการอ่าน
  • ควรมีโครงการสนับสนุนธุรกิจหนังสือ การพัฒนาเนื้อหา (content) มากกว่าที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน

พลังงาน

  • ควรกำหนดนโยบายชัดเจนเกี่ยวกับการผลิตและใช้พลังงานทดแทน เพื่อลดการพึ่งพิงพลังงานจากต่างประเทศ