เริ่มต้นจากศูนย์ พลิกธุรกิจเกษตรสู่ระดับ 100 ล้าน

คุยกับ 2 SME รุ่นใหม่หัวใจเกษตร เจ้าของรางวัล “เซเว่น อีเลฟเว่น เอสเอ็มอียั่งยืน”

แม้ประเทศไทยจะได้ชื่อว่าเป็น “ประเทศเกษตรกรรม” แต่อาชีพที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตรกรรม กลับถูกมองเป็นอาชีพ “ไกลตัว” คนรุ่นใหม่ ทั้งจากสภาพสังคมที่มีอาชีพใหม่ๆ ให้เลือกทำหลากหลายมากขึ้น ทั้งโอกาสการเข้าถึงองค์ความรู้ในภาคเกษตรกรรม แต่สำหรับ 2 ผู้ประกอบการ SME รุ่นใหม่ในวัยเพียง 30 กว่าๆ แห่ง บริษัท เอส.พี.เอส. ฟรุ๊ตส์ จำกัด และบริษัท ไทย เบสท์ โปรดักส์ โฮลดิ้ง จำกัด เจ้าของรางวัลเซเว่น อีเลฟเว่น เอสเอ็มอียั่งยืน 2021 ประเภท SME สินค้าเกษตร กลับไม่คิดเช่นนั้น ทั้งคู่เริ่มต้นธุรกิจด้านเกษตรกรรมโดยไม่มีพื้นฐาน จนปัจจุบันสามารถสร้างยอดขายได้ปีละกว่า 100 ล้านบาท  

ใฝ่เรียนรู้ สร้างความต่าง ผลิตสินค้ามีคุณภาพ

สมพงศ์ แสงสุรวงศ์ กรรมการ บริษัท เอส. พี. เอส. ฟรุ๊ตส์ จำกัด

สมพงศ์ แสงสุรวงศ์ กรรมการ บริษัท เอส. พี. เอส. ฟรุ๊ตส์ จำกัด ผู้ผลิตกล้วยหอมส่งขายในเซเว่นฯ เล่าย้อนความให้ฟังว่า ตัวเขาเองไม่ได้มีพื้นฐานด้านเกษตรกรรมมาก่อน หลังเรียนจบด้านการโรงแรมก็เริ่มทำธุรกิจร้านกาแฟของตนเอง ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดี แต่ทำได้เพียงแค่ปีเดียวก็ต้องเลิกกิจการ เพราะเจ้าของที่ต้องการพื้นที่ร้านคืน ทำให้ต้องมองหาอาชีพอื่น จึงลองก้าวเข้าสู่อาชีพเกี่ยวกับสินค้าด้านการเกษตรที่มีโอกาสการเติบโตสูงและมีตลาดค่อนข้างกว้าง

เขาเริ่มต้นจากการร่วมทุนกับเพื่อนในการรับซื้อกล้วยหอมจากเกษตรกร เพื่อจำหน่ายให้กับห้างโมเดิร์นเทรด เพราะมองว่ากล้วยเป็นพืชเศรษฐกิจที่น่าสนใจ เมื่อสร้างยอดขายได้อย่างน่าพอใจ จึงมองหาที่ดินย่าน จ.ปทุมธานีเพื่อปลูกกล้วยจำหน่ายเอง เริ่มต้นทำแค่เพียง 10 ไร่  หลังจากนั้นประมาณ 3-4 ปี ก็เริ่มนำสินค้าเข้าจัดจำหน่ายในเซเว่น อีเลฟเว่น ขายแบบกล้วยหอมแพ็คเดี่ยว วันละ 200-300 ลูก ปัจจุบันบริษัทมียอดจัดจำหน่ายใน เซเว่น อีเลฟเว่น เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 5,000-6,000 ลูกต่อวัน โดยเคยทำยอดขายได้สูงสุดถึงวันละ 10,000-20,000 ลูกต่อวัน 

“พอเราเริ่มต้นจากศูนย์ เราจึงต้องศึกษาค้นคว้าหาข้อมูลเพิ่มเติมอย่างมาก ตลอดจนขอรับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ซึ่ง เซเว่น อีเลฟเว่น ถือเป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่เข้ามามีส่วนช่วยให้คำปรึกษาด้านการตลาดและการวางระบบต่างๆ เนื่องจากสินค้าเกษตรเป็นสินค้าที่มีการแข่งขันและอัตราเสี่ยงจากการเน่าเสียค่อนข้างสูง ดังนั้น การพัฒนาสินค้าให้คงคุณภาพเหมือนเพิ่งออกจากสวนจึงเป็นสิ่งสำคัญ เราควบคุมคุณภาพตั้งแต่ต้นทาง พร้อมกับการสร้างจุดเด่นให้กับสินค้า ไม่ใช้สารเคมีฆ่าแมลง พร้อมสุ่มตรวจสารเคมีตกค้างทุกครั้งก่อนบรรจุลงบรรจุภัณฑ์ในโรงงานที่ได้มาตรฐาน GMP เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค” สมพงศ์ กล่าว

ปัจจุบัน ผลผลิตของสมพงศ์มาจาก 2 ทางคือ 1.จากสวนที่ จ.ปทุมธานี ซึ่งขยายจาก 10 ไร่ สู่ประมาณ 100 ไร่ในปัจจุบัน และ 2.จากกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ จ.ปทุมธานีและจังหวัดใกล้เคียงอีกประมาณ 100 ไร่ ทำให้เขามีสินค้าเพียงพอต่อการจัดจำหน่ายทั้งในห้างโมเดิร์นเทรดและเซเว่น อีเลฟเว่น สร้างรายได้รวมประมาณ 100 ล้านบาทต่อปี

สร้างมาตรฐานระดับสากล ส่งสินค้าเกษตรไทยสู่ตลาดโลก

กิตติศักดิ์ พิพัฒน์คณาพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทย เบสท์ โปรดักส์ โฮลดิ้ง จำกัด

หลังชิมลางเป็นพนักงานเงินเดือนได้เพียง 3 ปี กิตติศักดิ์ พิพัฒน์คณาพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทย เบสท์ โปรดักส์ โฮลดิ้ง จำกัด เจ้าของมะพร้าวและผลไม้สดในเซเว่น อีเลฟเว่น ก็เริ่มออกตามหาความฝันของตัวเอง ด้วยความมุ่งมั่นพร้อมเพื่อนสนิทกับการเป็นเจ้าของธุรกิจอะไรสักอย่าง เด็กหนุ่มในวัย 26 ปี ณ ตอนนั้น จึงเริ่มศึกษาเทรนด์ความต้องการของตลาดอย่างจริงจังจนมาพบว่า สินค้าเกษตรในตลาดสุขภาพมีอัตราการเติบโตที่ดี และ “มะพร้าว” ก็เป็นสินค้าที่ตอบโจทย์ โดยเฉพาะตลาดจีน 

แต่ในช่วงหลังจีนเข้ามาทำตลาดเอง ทำให้ต้องหาสินค้าชนิดอื่นและตลาดใหม่ๆ มาทดแทน ทำให้ในวันนี้ ไทย เบสท์ โปรดักส์ โฮลดิ้ง มีสินค้าเพื่อการส่งออกรวม 10 ประเทศ ไม่ว่าจะเป็น สิงคโปร์ อินโดนีเซีย โซนตะวันออกกลาง หลากหลายสินค้าเกษตร เช่น เงาะ มังคุด  ลำไย เป็นต้น สำหรับในประเทศไทยผู้บริโภคสามารถซื้อสินค้าได้ในเซเว่น อีเลฟเว่น เนื่องจากมีสาขาครอบคลุมทั่วประเทศและมีแผนขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง 

“ต้องยอมรับว่าการทำธุรกิจด้านสินค้าเกษตรมีความเสี่ยงค่อนข้างสูง ดังนั้นเราจึงต้องดูแลเครือข่ายเกษตรกรของเราให้ดี ด้วยการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ซึ่งกันและกัน เพื่อนำไปพัฒนาผลผลิตให้มีประสิทธิภาพและควบคุมคุณภาพให้ได้ตามมาตรฐาน เพื่อให้ได้ของที่ดีมีคุณภาพพร้อมส่งต่อให้ผู้บริโภค ด้วยความที่เราใส่ใจผลผลิตตั้งแต่ต้นทาง ส่งผลให้ในปี 2564 เราคาดว่าจะมียอดขายอยู่ที่ประมาณ 200 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ที่มียอดขาย 150 ล้านบาท ในอนาคตเรามีแผนที่จะนำเทคโนโลยีต่างๆมาใช้ เพื่อให้เกิดนวัตกรรมทั้งในส่วนกระบวนการผลิตและตัวสินค้า พร้อมเตรียมจัดทำมาตรฐาน Global GAP เพื่อยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐานสากล พร้อมขยายตลาดไปสู่ทวีปยุโรป” กิตติศักดิ์ กล่าว

อาชีพด้านการเกษตรหรือธุรกิจสินค้าเกษตร ยังคงมีแนวโน้มการเติบโตที่ดีอย่างต่อเนื่อง เพราะประเทศไทยเป็นแหล่งวัตถุดิบที่มีคุณภาพเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ ยิ่งได้รับการสนับสนุนที่ดี เมื่อผนวกกับความมุ่งมั่นและตั้งใจจริงในการศึกษาและดำเนินธุรกิจ ก็สามารถประสบความสำเร็จเช่นเดียวกับ New Gen SME ทั้ง 2 รายข้างต้น และเป็นอีกหนึ่งในกำลังสำคัญที่ช่วยสร้างฐานเศรษฐกิจของประเทศให้แข็งแกร่งต่อไป