‘เฉลิมชัย’ สั่งกรมชลประทาน จับตาปัญหาความเค็มรุกล้ำแม่น้ำท่าจีนรายชั่วโมง

ลดผลกระทบเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยไม้บริเวณคลองจินดา พร้อมเร่งบรรทุกน้ำจืดช่วย ขณะที่ปริมาณน้ำ “ลุ่มเจ้าพระยา” เหลือน้อย เกษตรกรทำนา เกินแผน 2.6 ล้านไร่

นายสัญญา แสงพุ่มพงษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมชลประทาน  เปิดเผยว่า นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ สั่งการให้กรมชลประทาน เฝ้าระวังคุณภาพน้ำ เพื่ออุปโภค-บริโภค บริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นรายชั่วโมง ภายใต้การบริหารจัดการน้ำฤดูแล้งเพื่อแก้ปัญหาความเค็ม โดยเฉพาะการควบคุมความเค็มในบริเวณคลองจินดา หลังจากเมื่อวันที่ 2 ก.พ. ค่าความเค็มพุ่งสูงถึง 2.29 กรัมต่อลิตร สูงกว่าเกณฑ์เฝ้าระวังที่ 0.25 กรัมต่อลิตร และค่ามาตรฐานเพื่อการผลิตน้ำประปาต้องไม่เกิน 0.50 กรัมต่อลิตร

สัญญา แสงพุ่มพงษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมชลประทาน 

โดยรมว.เกษตรและสหกรณ์ สั่งการให้ระบายน้ำเพื่อเจือจางความเค็ม และติดตั้งเครื่องวัดความเค็มแบบเรียลไทม์ 8 แห่งในแม่น้ำท่าจีน และให้กรมชลประทานประชุมร่วมกับเกษตรกรชาวสวนกล้วยไม้ที่ได้รับผลกระทบจากค่าความเค็มสูงเกินมาตรฐาน ส่งผลให้ไม่มีน้ำจืดรดกล้วยไม้ โดยให้เกษตรกรสามารถเปิดรับน้ำและสูบน้ำจากแม่น้ำท่าจีนได้เมื่อค่าความเค็มน้อยกว่า 0.75 กรัมต่อลิตร และส่งรถบรรทุกน้ำจืดช่วยเหลือชาวสวนกล้วยไม้ที่ขาดแคลนน้ำจืด

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ลุ่มน้ำเจ้าพระยาเมื่อวันที่ 1 พ.ย.2563 ปริมาณน้ำใช้การได้มีประมาณ 5,771 ล้าน ลบ.ม.หรือประมาณ 32% ของความจุฯ และวันที่ 2 ก.พ.2564 ปริมาณน้ำใช้การได้เหลือประมาณ 4,295 ล้าน ลบ.ม.หรือประมาณ 24% ของความจุฯ ซึ่งตามแผนจัดสรรน้ำใช้ในฤดูแล้ง มีการจัดสรรไว้ประมาณ 4,000 ล้าน ลบ.ม. ขณะนี้ใช้ไปแล้ว 2,290 ล้าน ลบ.ม. หรือประมาณ 57% ของน้ำที่จัดสรรไว้ใช้ในฤดูแล้ง ส่งผลให้น้ำเหลือใช้ประมาณ 1,710 ล้าน ลบ.ม.หรือประมาณ 43% จากปริมาณที่จัดสรรไว้

ขณะนี้ สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำในอ่างขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศจำนวน 447 แห่ง มีปริมาณน้ำรวมกัน 44,261 ล้าน ลบ.ม. หรือ 58% ของความจุอ่างฯ ปริมาณน้ำใช้การได้ 20,331 ล้าน ลบ.ม. หรือ 39%  โดยอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำใช้การน้อยกว่าหรือเท่ากับ 30% ของความจุฯ มีจำนวน 5 แห่ง คือ ภูมิพล สิริกิติ์ แม่มอก วชิราลงกรณ และคลองสียัด

ปริมาณน้ำไหลลงอ่างและระบาย ช่วงฤดูแล้ง ปี 2563/64 ของอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 35 แห่ง ระหว่าง 1 พ.ย. 63 – ปัจจุบัน ปริมาณน้ำไหลลงอ่าง 4,718.13 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำระบายจากอ่าง 5,880.91 ล้าน ลบ.ม. การใช้น้ำมีมากกว่าแผนที่กำหนดไว้ รวมถึงอิทธิพลจากน้ำทะเลหนุนสูงบริเวณอ่าวไทย ส่งผลให้เกิดความเค็มหนุนสูง กระทบกับน้ำในการทำน้ำประปา และบางเวลาน้ำประปาอาจมีรสชาติเปลี่ยนไป

สำหรับแผนทำนาทั่วประเทศ มีแผนเพาะปลูกข้าวนาปรัง 1.90 ล้านไร่ เพาะปลูกแล้ว 4.261 ล้านไร่  แยกเป็นเพาะปลูกในแผน 1.627 ล้านไร่ คิดเป็น 86% ของแผน และเพาะปลูกนอกแผน 2.634 ล้านไร่ ในลุ่มเจ้าพระยา กรมชลประทานได้รณรงค์ลดการทำนาต่อเนื่องในฤดูแล้ง ปี 2563/64 หรือไม่ให้มีการทำนาเลย ส่วนการเพาะปลูกข้าวนาปีปี 2563 ทั่วประเทศ แผนเพาะปลูกข้าวนาปี 16.79 ล้านไร่ ปลูกแล้ว 14.45 ล้านไร่ คิดเป็น 86% ของแผน เก็บเกี่ยวแล้ว 14.02 ล้านไร่ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา แผนเพาะปลูกข้าวนาปี 8.1 ล้านไร่ ปลูกแล้ว 6.39 ล้านไร่ คิดเป็น 79% ของแผน เก็บเกี่ยวแล้ว 6.35 ล้านไร่

สำหรับ ผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 2563/64 ทั้งประเทศ 1 พ.ย. 63 – 30 เม.ย. 64 วางแผนการจัดสรรน้ำรวม 17,122 ล้าน ลบ.ม. จัดสรรน้ำไปแล้ว 7,946 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 46% ของแผนฯ เฉพาะลุ่มเจ้าพระยา วางแผนการจัดสรรน้ำรวม 4,000 ล้าน ลบ.ม. มีการใช้น้ำไปแล้ว 2,290 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 57% ของแผนฯ ด้านลุ่มน้ำแม่กลอง วางแผนจัดสรรน้ำรวม 3,000 ล้าน ลบ.ม. จัดสรรน้ำไปแล้ว 624 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น  21% ของแผนฯ