เกษตรกรเลี้ยงหมูชี้อากาศแปรปรวน ทำต้นทุนเพิ่ม โอดราคาขายต่ำกว่าทุน

นายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดเผยว่า ศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร คาดการณ์สถานการณ์ภัยแล้งปี 2565 อาจมีแนวโน้มขาดแคลนน้ำ โดยไทยเริ่มเข้าสู่ช่วงฤดูแล้งตั้งแต่ช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นมา อุณหภูมิเริ่มสูงขึ้นตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม และอาจแล้งต่อเนื่องยาวนานไปจนถึงกลางเดือนพฤษภาคม 2565 จะทำให้ปริมาณน้ำทั้งในแหล่งน้ำธรรมชาติและแหล่งน้ำชลประทานแห้งลง ซึ่งผู้เลี้ยงประสบปัญหาภัยแล้งกันมาตลอด จากบทเรียนทุกปีที่ผ่านมา ทางเกษตรกรจึงกักเก็บน้ำไว้ใช้สำหรับฤดูแล้ง

สิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

“ปีนี้อากาศค่อนข้างแปรปรวน ตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา เดี๋ยวหนาว เดี๋ยวร้อน หมูปรับตัวไม่ได้ เกิดความเครียดสะสม ทำให้มีอัตราเสียหายมากขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนการเลี้ยงสูงขึ้น ขณะเดียวกันจากประสิทธิภาพในการทำให้โรงเรือนมีความเย็นในระดับคงที่ตามที่กำหนดไว้ บางฟาร์มใช้การปั่นมอเตอร์พัดลม โดยใช้น้ำมันต้องเสียค่าใช้จ่ายด้านพลังงานเพิ่ม เพื่อให้ความเย็นในโรงเรือนอยู่ในระดับที่กำหนดไว้ จำเป็นต้องใช้น้ำมากขึ้นใช้ไฟฟ้าเดินระบบมากขึ้นช่วงฤดูร้อนจึงเป็นช่วงที่ผู้เลี้ยงต้องดูแลหมูมากกว่าปกติ ทั้งหมดนี้ล้วนทำให้ต้นทุนการเลี้ยงเพิ่มขึ้น โดยคณะอนุกรรมการต้นทุนการผลิตสุกร ได้ประเมินต้นทุนการผลิตสุกรขุนไตรมาส 2/2565 ที่กิโลกรัมละ 98.81 บาท เป็นต้นทุนที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์” นายสิทธิพันธ์ กล่าว

นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า ปัจจุบันราคาสุกรหน้าฟาร์มมีราคากิโลกรัมละ 92-98 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำกว่าต้นทุนแล้ว สำหรับความเสียหายของสุกรที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2564 ที่ผ่านมา และยังมีอัตราเสียหายจากการเลี้ยง ที่ได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศแปรปรวนดังกล่าว ทำให้ปัจจุบันมีปริมาณสุกรขุนที่ออกสู่ตลาดขณะนี้มีจำนวนลดน้อยลง และมีน้ำหนักต่อตัวต่ำกว่า 100 กิโลกรัม ส่งผลต่อรายได้ของเกษตรกรที่ต่ำลงตามไปด้วย

นายสิทธิพันธ์ กล่าวด้วยว่า หากประสบปัญหาแล้ง ผู้เลี้ยงจะมีค่าน้ำเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งปกติจะมีการใช้น้ำอยู่ที่ 30-40 ลิตรต่อตัวต่อวัน โดยจะทำให้มีค่าน้ำเพิ่มเป็น 300-600 บาทต่อสุกรขุน 1 ตัว หรือ 3-6 บาทต่อสุกร 1 กิโลกรัม จากเฉลี่ยแล้วราคาน้ำต่อเที่ยวจะอยู่ที่ประมาณ 3,000 บาทต่อน้ำ 1 หมื่นลิตร สำหรับฟาร์มขนาดเล็กต้องใช้น้ำราว 2 เที่ยวต่อวัน ต้นทุนในส่วนนี้จะเพิ่มขึ้นถึง 6,000 บาทต่อวัน หากเป็นฟาร์มใหญ่ขาดแคลนนํ้ามาก ต้นทุนจะสูงขึ้นมากขึ้นไปอีก กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบกับต้นทุนการเลี้ยงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้