เกษตรกรเลี้ยงกุ้ง จี้รบ. ทบทวนนำเข้ากุ้งจากต่างประเทศ

นายอักษร ขจรกาญจนกุล ประธานชมรมกุ้งตรังพัฒนา เปิดเผยถึงกรณีการอนุมัติให้นำเข้ากุ้งจากเอกวาดอร์และอินเดียว่า เกษตรกรรู้สึกประหลาดใจกับการตัดสินใจของกรมประมงในครั้งนี้มากที่อนุมัติเรื่องดังกล่าวแบบไม่ทันตั้งตัว ทั้งที่ผ่านมา กรมประมงก็ปกป้องเกษตรกรมาตลอด เนื่องจากกุ้งที่นำเข้าจะทำให้ราคากุ้งในประเทศตกต่ำ ไม่มีเสถียรภาพ มีความเสี่ยงเรื่องโรคที่ติดมากับกุ้ง รวมถึงเกิดปัญหาคุณภาพความปลอดภัย การปนเปื้อนของสารเคมีต้องห้ามและยาปฏิชีวนะ จะสร้างความเสียหายกับผู้เลี้ยงและห่วงโซ่การผลิต

“เกษตรกรขอเรียกร้องให้รัฐบาลและกระทรวงเกษตรฯ ทบทวนนโยบายการนำเข้ากุ้งจากทั้งสองประเทศนี้อีกครั้ง โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศและอนาคตของเกษตรกรเลี้ยงกุ้งไทย ที่มุ่งมั่นพัฒนาการเลี้ยงจนเป็นที่่ยอมรับในระดับโลก ก่อนที่การนำเข้าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำลายห่วงโซ่การผลิตตลอดไป”

ที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ ยืนยันกุ้งทะเลที่มาจากการเพาะเลี้ยงที่จะนำเข้ามาในประเทศไทย ต้องมาจากแหล่งผลิตต้นทางที่มีระบบควบคุมโรคและระบบความปลอดภัยทางชีวภาพที่มีประสิทธิภาพตามมาตรฐานสากลในระดับเดียวกับประเทศไทย ซึ่งประเทศต้นทางที่ไทยจะนำเข้าสินค้ากุ้งทะเลนั้นจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กรมประมงกำหนดอย่างเข้มงวด

นายอักษร กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมเกษตรกรเลี้ยงกุ้งมาโดยตลอด ทั้งมาตรการส่งเสริมการเลี้ยงกุ้งแบบพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเลี้ยง โดยเฉพาะด้านการผลิตที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน GAP (Good Aquaculture Practice) และมาตรฐานสากล รวมถึงการเจาะตลาดใหม่เพื่อเพิ่มช่องทางการส่งออก นอกจากนี้ การนำกุ้งจากต่างประเทศมาแปรรูปบรรจุใหม่ และนำไปส่งออกขายต่างประเทศในนามประเทศไทย อาจกระทบภาพลักษณ์กุ้งคุณภาพดีของไทยที่สร้างชื่อเสียงในระดับโลกมายาวนาน

“เป็นเรื่องที่ช็อกเกษตรกรมากที่รัฐบาลอนุญาตให้นำเข้ากุ้ง ทั้งที่ผ่านมากระทรวงเกษตรฯ ระงับการนำเข้ามาโดยตลอด ทำให้เกษตรกรมุ่งมั่นพัฒนาระบบการเลี้ยงเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิต โดยมีราคาเป็นแรงจูงใจในการเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง หากมีการนำเข้ากุ้ง จะทำให้ราคาในประเทศตกต่ำ ทำลายภาคการผลิตของเกษตรกรทั้งระยะสั้นและระยะยาว” นายอักษร กล่าว

สำหรับคาดการณ์ผลผลิตกุ้งของไทยปี 2565 จะอยู่ที่ 300,000 ตัน เพิ่มขึ้นจาก 280,000 ตัน ในปี 2564 เนื่องจากปัญหาโรคระบาดกุ้ง เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นไม่มาก