อุปสงค์-อุปทาน สะท้อนราคาไข่ไก่

ไข่ไก่

โดย อุษณีย์ รักษ์กสิกิจ : usanee.rak@gmail.com

การเลี้ยงไก่ไข่ถือเป็นอาชีพของเกษตรกรไทยมาเป็นเวลายาวนาน ในจำนวนฟาร์มเลี้ยงไก่ไข่ 2,915 ฟาร์มทั่วประเทศ มีเกษตรกรผู้เลี้ยงรายเล็กและรายย่อยถึง 1,830 ฟาร์ม รายกลางจำนวน 923 แห่ง และอีก 162 ฟาร์มที่เหลือเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ ซึ่งผู้เลี้ยงในแต่ละกลุ่มเหล่านี้จะมีการรวมตัวกันในลักษณะของชมรม สหกรณ์ หรือสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ เพื่อคอยดูแลช่วยเหลือในการประกอบอาชีพการเลี้ยงไก่ไข่ซึ่งกันและกัน ช่วยสร้างความมั่นคงในอาชีพเป็นไปตามนโยบายของรัฐ

หากแต่ช่วงเวลาเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา จะพบว่า เกษตรกรต่างต้องเผชิญกับภาวะราคาตกต่ำมาอย่างต่อเนื่อง จากสถิติราคาไข่ไก่ตั้งแต่ปี 2557 – 2562 ราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มเฉลี่ยที่เกษตรกรขายได้นั้นต่ำกว่าต้นทุนมาโดยตลอด โดยในปี 2557 ขาดทุน 0.12 บาทต่อฟอง ปี 2558 ขาดทุน 0.14 บาทต่อฟอง ปี 2559 เป็นปีเดียวที่มีกำไรอยู่ที่ 0.06 บาทต่อฟอง ปี 2560 ขาดทุน 0.21 บาทต่อฟอง ปี 2561 ขาดทุน 0.30 ต่อฟอง

ที่มาของข้อมูล : กรมปศุสัตว์ / สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

อาจมีคำถามว่าขาดทุนทุกปีแล้วเกษตรกรอยู่ได้อย่างไร เรื่องนี้ต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า สถานการณ์ไข่ไก่ในรอบหนึ่งปีนั้น จะมีการขึ้นลงของราคาตลอดทั้งปี พบว่าในแต่ละปีจะมีช่วงที่ราคาไข่ไก่สูงเพียง 4-5 เดือน ขณะที่ช่วงราคาตกต่ำมีมากถึง 7-8 เดือน โดยมีระดับของอุปสงค์-อุปทาน หรือกลไกตลาด เป็นตัวกำหนด เมื่อใดที่ปริมาณไข่มีน้อย ความต้องการบริโภคมีมาก ราคาก็จะสูง เมื่อใดที่ไข่ไก่มีปริมาณมากเกินกว่าความต้องการ ราคาไข่ไก่ก็จะตกต่ำลง และยังมีปัจจัยอื่นที่เป็นตัวกำหนดราคาในแต่ละช่วง ทั้งด้านต้นทุนการผลิต ปริมาณการเลี้ยงแม่พันธุ์ไก่ไข่ ภาวะโรค ฤดูกาล สภาวะอากาศ และช่วงเทศกาลต่างๆ

การเลี้ยงไก่ไข่ของเกษตรกรที่ผ่านมาในแต่ละปีจึงมีทั้งช่วงขาดทุน และบางช่วงที่ไข่ไก่ราคาอยู่เหนือต้นทุนบ้างดังกล่าวข้างต้น ที่ผ่านมาจึงมีทั้งเกษตรกรที่ต้องเลิกเลี้ยงไปเพราะแบกรับต้นทุนกับภาวะราคาตกต่ำไม่ไหว ที่ยังเลี้ยงอยู่ก็พยายามประคับประคองอาชีพเดียวนี้ไว้ โดยต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ด้วยการปรับลดปริมาณแม่ไก่ยืนกรงให้เหมาะสม หรือแม้แต่รายย่อยที่หารายได้เสริมจากการเลี้ยงปลาคู่ควบไปด้วย จึงมีรายได้จากปลาช่วยถึงอยู่ได้ทั้งที่ขายไข่ขาดทุน ทำให้ผ่านพ้นวิกฤติมาได้

ไข่ไก่ถือว่าเป็นสินค้าอ่อนไหว เนื่องจากแม่ไก่ไข่เป็นสิ่งมีชีวิต มีผลผลิตออกมาทุกวัน แต่เมื่อใดที่มีปัจจัยมากระทบย่อมส่งผลถึงปริมาณไข่ไก่ทันที  โดยเฉพาะเรื่องของสภาพอากาศ  ที่หากอากาศร้อนจนเกินไป ไก่จะเครียด กินอาหารได้น้อย แม่ไก่จะให้ไข่น้อยไปโดยปริยาย ดังเช่นปัจจุบันนี้ที่ประเทศไทยเข้าหน้าร้อน แม่ไก่เริ่มส่งสัญญาณไข่ลดแล้ว ซึ่งก็เป็นเช่นนี้ทุกปี

ขณะที่เดือนมีนาคมของทุกปีเป็นช่วงปิดภาคเรียนที่การบริโภคของนักเรียนจะต่ำลง ผนวกกับปีนี้มีสถานการณ์ COVID-19 เข้ามาทำให้ปริมาณนักท่องเที่ยวหายไป คนบริโภคไข่หายไปจำนวนมาก ปริมาณไข่เหลือล้นตลาด ราคาก็ตกต่ำลงอีก เกษตรกรจึงวางแผนการผลิตด้วยการเข้าเลี้ยงแม่ไก่น้อยลง ทำให้ปริมาณไข่ไก่สมดุลขึ้น จึงเพิ่งเริ่มเห็นราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มของเกษตรกรขยับขึ้นบ้าง ล่าสุดอยู่ที่ฟองละ 2.60 บาท ขณะที่ต้นทุนการผลิตสูงถึงฟองละ 2.69-2.70  บาท และเมื่อดูสถิติราคาไข่ไก่ช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ จะพบว่าไข่ไก่คละหน้าฟาร์มอยู่ที่ฟองละ 2.50- 2.70 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำกว่าหรือเท่ากับต้นทุนการผลิตเท่านั้น เกษตรกรยังไม่มีกำไรจากการขายไข่แต่อย่างใด

ที่มาของข้อมูล : กรมปศุสัตว์ / สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

และจากปริมาณการผลิตของเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ที่ในแต่ละปีสามารถผลิตไข่ไก่ได้ถึงกว่า 15,000 ล้านฟอง หรือวันละประมาณ 40-41  ล้านฟอง โดยเป็นการผลิตเพื่อรองรับการบริโภคในประเทศถึง 98% ของไข่ไก่ทั้งหมด ซึ่งคนไทยบริโภคไข่วันละประมาณ 39-40 ล้านฟอง จึงมีไข่คงเหลือในระบบ 1–2 ล้านฟองต่อวันละ ปริมาณไข่ไก่ส่วนเกินนี้ผู้ประกอบการจะทำการส่งออกเดือนละไม่เกิน 60 ตู้คอนเทนเนอร์ หรือเดือนละประมาณ 20 ล้านฟอง คิดเป็น  1-2% ของไข่ที่ผลิตได้ เพื่อบริหารจัดการสมดุลของอุปทานในประเทศไม่ให้ไข่ไก่ล้นตลาดนั่นเอง ขณะที่ปัจจุบันปริมาณผลผลิตไข่ไก่ 40-41 ล้านฟองยังคงออกสู่ตลาดอย่างเสมอ ประชาชนจึงไม่ต้องตื่นตระหนกกับ “ดีมานด์เทียม” ที่เพิ่มขึ้นมาถึง 3-5 เท่า ที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ เพราะถึงอย่างไรไข่ไก่ก็มีเพียงพอต่อการบริโภค และผู้ประกอบการก็พร้อมจัดส่งตลอดเวลา ผู้บริโภคไม่จำเป็นต้องซื้อไข่ไก่กักตุน  จากข้อมูลทั้งหมดนี้ สรุปได้ว่าไข่ไก่เป็นสินค้าเกษตรที่ขึ้นอยู่กับดีมานด์-ซัพพลาย ราคาขึ้นลงตามสถานการณ์ในขณะนั้น ดังเช่นวันนี้ที่ราคาขยับขึ้นก็เพราะกลไกตลาดเริ่มทำงาน จากการวางแผนการผลิตอย่างรอบคอบของเกษตรกร เพราะไม่มีใครอยากแบกรับภาระขาดทุนเหมือนอย่าง 10 ปีที่ผ่านมาอีก…วันนี้ต้องขอให้ผู้บริโภคเห็นใจเกษตรกร อย่าได้กดราคา เหมือนกดหัวเกษตรกรเลย