ออมสิน พักหนี้ 3 เดือนทันที พร้อมปล่อยกู้ฉุกเฉินปลอดดอกเบี้ยช่วยพี่น้องชาวใต้เดือดร้อนน้ำท่วมหนัก

วิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ธนาคารออมสินได้เร่งให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติน้ำท่วมใน จ.นครศรีธรรมราช กับ จ.สุราษฎร์ธานี โดยนำถุงยังชีพและน้ำดื่มไปแจกจ่ายเพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าเป็นการด่วนแล้วกว่า 3,500 ชุด และหน่วยบริการอาหารฟรีทุกวัน โดยในสองจังหวัด มีลูกค้าเงินฝากและสินเชื่อธนาคารออมสินกว่า 957,000 ราย และพื้นที่ใกล้เคียง ธนาคารออมสินได้ออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับผู้ประสบภัยอย่างเร่งด่วน โดยได้ออกมาตรการพักชำระหนี้ให้กับลูกค้าสินเชื่อทุกประเภท แบ่งเป็น 3 ระดับตามความหนักเบาของผลกระทบที่ได้รับ

  • ระดับความรุนแรงสูง และทางการประกาศให้เป็นพื้นที่ประสบภัย ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบที่พักอาศัย/สถานประกอบการเสียหายส่งผลให้รายได้ลดลง และ/หรือมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ธนาคารฯ ผ่อนปรนให้พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 3 เดือน
  • ระดับความรุนแรงปานกลาง ที่มีน้ำท่วมขังเกินกว่า 7 วัน และมีค่าใช้จ่ายปรับปรุง/ซ่อมแซม ให้พักชำระเงินต้นและชำระแต่ดอกเบี้ย 50% ในระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี
  • ระดับความรุนแรงขั้นต้น ที่ถูกภัยน้ำท่วมและมีน้ำท่วมขังเกินกว่า 7 วัน ให้พักชำระเงินต้นไม่เกิน 2 ปี และชำระเงินแต่ดอกเบี้ย ขยายเวลาชำระหนี้เท่ากับระยะเวลาพักชำระเงินต้น

ขณะเดียวกัน ออมสินยังให้ประชาชนที่ประสบภัยกู้เงินฉุกเฉิน “สินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ” เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากเหตุน้ำท่วม/ภัยพิบัติ รายละไม่เกิน 50,000 บาท ไม่คิดดอกเบี้ยในปีแรก หลังจากนั้นคิดดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 0.85 ต่อเดือน (Flat Rate) ชำระเงินเป็นรายเดือน 3-5 ปี โดยปลอดชำระเงินงวด 3 เดือนแรกนอกจากนี้ ยังให้สินเชื่อเคหะแก่ผู้ประสบภัยพิบัติ เพิ่มเติมสำหรับลูกค้าเดิมและประชาชนทั่วไปที่ได้รับผลกระทบเพื่อซ่อมแซมต่อเติมที่อยู่อาศัยส่วนที่เสียหายได้ถึง 100% ของราคาประเมิน แต่ไม่เกิน 500,000 บาท โดยดอกเบี้ยปีแรก 0% ปีที่ 2-3 = 3.00% ต่อปี และ ปีที่ 4 เป็นต้นไป = MRR-0.75% ต่อปี และสินเชื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ลูกค้าสินเชื่อธุรกิจของธนาคาร วงเงินกู้สูงสุด 10% ของวงเงินกู้เดิมแต่ไม่เกิน 5 ล้านบาท ผ่อนนานสูงสุด 5 ปี โดยปลอดชำระเงินต้น 1 ปี อัตราดอกเบี้ยปีแรก 3.50% ปีที่ 2 เป็นต้นไป = MLR (ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยธนาคาร MRR = 6.245% และ MLR = 6.150% ต่อปี)