สิงห์อาสา ลงพื้นที่ป้องแปลงหญ้าทะเลที่ใหญ่ที่สุดฝั่งอ่าวไทย ที่ จ.สุราษฎร์ฯ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สิงห์อาสา ร่วมกับ เครือข่ายมหาวิทยาลัย 18 สถาบันในพื้นที่ภาคใต้และภาคตะวันออก ลงพื้นที่ดูแลแปลงหญ้าทะเลผืนใหญ่ที่สุดฝั่งอ่าวไทยที่ จ.สุราษฎร์ธานี ป้องกันการเสียพื้นที่หญ้าทะเลประมาณ 500-700 ไร่ต่อปี หวังเป็นพื้นที่ดูดซับและกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคใต้ ลดปัญหาโลกรวน พร้อมขยายต่อในหลายพื้นที่จังหวัดชายทะเลทั้งภาคใต้และภาคตะวันออก

ทั้งนี้ จากข้อมูลสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประเทศไทยมีพื้นที่แหล่งหญ้าทะเลประมาณ 160,628 ไร่ แต่การสำรวจเมื่อปี 2564 พบว่า มีพื้นที่หญ้าทะเล เพียง 99,325 ไร่ แบ่งเป็นฝั่งทะเลอันดามัน จำนวน 65,209 ไร่ และฝั่งอ่าวไทย จำนวน 34,116 ไร่ บอกได้ว่าประเทศไทยยังมีพื้นที่อีกมากที่สามารถฟื้นฟูหญ้าทะเลให้กลับมาเป็นระบบนิเวศที่สมบูรณ์ โดยเฉพาะภาคใต้ จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งมีพื้นที่หญ้าทะเลกว่า 16,000 ไร่ ถือเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่หญ้าทะเลมากที่สุดทางฝั่งอ่าวไทย จากการสำรวจพบว่าบริเวณพื้นที่เกาะเสร็จ เป็นเกาะเกิดใหม่ในสุราษฎร์ฯ มีระบบนิเวศชายทะเลที่เหมาะกับการปลูกหญ้าทะเลรวมถึงป่าชายเลน ที่จะเป็นทั้งแหล่งที่อยู่อาศัย และแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ เช่น ปูม้าในช่วงวัยอ่อน ปลาหลายชนิด รวมไปถึงการเป็นแหล่งอาหารของพะยูนและเต่าทะเล สัตว์สงวนของไทยที่อยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์ เกาะเสร็จ จึงมีความพร้อมของธรรมชาติที่จะทำให้หญ้าทะเลมีโอกาสอยู่รอดได้

การลงพื้นที่ครั้งนี้ สิงห์อาสา โดย มูลนิธิพระยาภิรมย์ภักดี และ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ได้ร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กลุ่มประมงพื้นบ้านในพื้นที่ และบริษัท สุราษฎร์ธานีเบเวอเรช จำกัด หนึ่งในเครือบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ร่วมดูแลและฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเลควบคู่กับการดูแลคุณภาพชีวิตคนในชุมชนอย่างยั่งยืนในโครงการ “สิงห์อาสาอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเล” โดยมีการปลูกหญ้าทะเลกว่า 10,000 ต้น ปลูกป่าชายเลน 5,000 ต้น และปล่อยพันธุ์ปูม้ากว่า 100,000 ตัว เพื่อสร้างพื้นที่หญ้าทะเลและระบบนิเวศทางทะเลที่สมบูรณ์ ที่เกาะเสร็จ ต.พุมเรียง อ.ไชยา จ. สุราษฎร์ธานี ซึ่งหลังจากนี้จะขยายพื้นที่ปลูกหญ้าทะเลในจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศต่อไป

ผศ.พรเทพ วิรัชวงศ์ หัวหน้าสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเลและสิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประมง มทร.ศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง ผู้เชี่ยวชาญด้านการปลูกหญ้าทะเล ที่ปรึกษาโครงการ กล่าวว่า “พื้นที่ของหญ้าทะเล มีศักยภาพในการเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนฯ อย่าง Blue Carbon หรือคาร์บอนฯ ที่ดูดซับโดยระบบนิเวศทางทะเล ซึ่งบลูคาร์บอนมีความสามารถในการกักเก็บคาร์บอนฯ สูงกว่าป่าไม้เกือบ 10 เท่า การมีหญ้าทะเลจึงเป็นตัวชี้วัดความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ แต่หญ้าทะเลกำลังพบเจอกับภัยคุกคามหลายอย่าง เช่น การเดินเรือทับหญ้าทะเล การพัฒนาชายฝั่งให้เป็นโรงแรมหรือสถานที่ท่องเที่ยว นับเป็นโอกาสดีที่ “สิงห์อาสา” ได้เข้ามาปลูกหญ้าทะเลเพิ่มเติมให้กับเกาะเสร็จ รวมไปถึงดำเนินการฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเลอื่นๆ คืนความอุดมสมบูรณ์ ร่วมกับเด็กนักเรียนจากโรงเรียนและชาวบ้านในพื้นที่ และเครือข่ายสิงห์อาสาจากสถาบันการศึกษาต่างๆ”

นายอมร เสานอก ผู้จัดการฝ่ายโรงงาน บริษัท สุราษฎร์ธานีเบเวอเรช จำกัด หนึ่งในเครือ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด กล่าวว่า “ในฐานะประชาชนของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ให้ความสำคัญกับการร่วมแก้ไขป้ญหาสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศทางทะเลมาอย่างต่อเนื่อง โครงการสิงห์อาสาอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเล ถือเป็นโอกาสจะทำให้ผู้คนในพื้นที่ได้ตระหนักถึงความสำคัญของหญ้าทะเลในการช่วยลดภาวะโลกรวน ร่วมกันสร้างจิตสำนึกไม่ทำลายหญ้าทะเล และยังส่งผลในเรื่องกระตุ้นการท่องเที่ยวในจังหวัดสุราษฎร์ธานีที่มีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติสูง ซึ่งจะเป็นการอนุรักษ์ที่เอื้อประโยชน์ให้ทั้งธรรมชาติทั้งผู้คนอย่างเป็นระบบ”

โดยเครือข่ายมหาวิทยาลัย 18 สถาบันในพื้นที่ภาคตะวันออกและภาคใต้ ที่เข้าร่วมโครงการ ประกอบด้วย มทร.ศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง, สงขลา, ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี, สงขลา, ภูเก็ต ,ตรัง , ม.หาดใหญ่ , มรภ.สงขลา, มรภ.สุราษฎร์ธานี, มรภ.นครศรีธรรมราช, มรภ.ภูเก็ต, ม.บูรพา จ.ชลบุรี, วิทยาเขตจันทบุรี, ม.เกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา, มทร.ตะวันออก วิทยาเขตบางพระ, ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาเขตระยอง, มรภ.ราชนครินทร์ จ.ฉะเชิงเทรา, มรภ.รำไพพรรณี จ.จันทบุรี

สำหรับปีนี้ สิงห์อาสา ยังร่วมมือกับเครือข่ายต่างๆ ทุกภาคส่วน เพื่อมุ่งเน้นภารกิจในการดูแลทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน ทั้งดูแลป่าต้นน้ำในเขตจังหวัดภาคเหนือ การดูแลแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคในจังหวัดภาคอีสาน การดูแลสายน้ำในจังหวัดภาคกลาง และภารกิจสร้างความยั่งยืนให้ทะเลไทยทั้งภาคตะวันออกและภาคใต้ เพื่อให้ “องค์กร ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม มีความสุขร่วมกันอย่างยั่งยืน”