สิงห์อาสา ร่วมกับ คณะเกษตรฯ มข. สร้างแหล่งน้ำชุมชมอย่างยั่งยืนแห่งที่สอง ที่ จ.มหาสารคาม

รายงานข่าว เปิดเผยว่า เมื่อ 1 มิ.ย. 65 สิงห์อาสา โดย มูลนิธิพระยาภิรมย์ภักดี และ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ร่วมกับ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, บริษัท ขอนแก่นบริวเวอรี่ จำกัด บริษัท และบริษัท มหาสารคามเบเวอเรช จำกัด บริษัทในเครือฯ พร้อมด้วยเครือข่ายนักศึกษาสิงห์อาสาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 16 สถาบัน จัดโครงการ “สิงห์อาสาสร้างแหล่งน้ำชุมชนอย่างยั่งยืน” สร้างบ่อน้ำเพื่อเป็นแหล่งน้ำให้ชาวบ้านไว้ใช้ตลอดทั้งปี พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องการสร้างแหล่งน้ำชุมชนอย่างยั่งยืนให้แก่ชาวบ้าน เพื่อการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นและให้ชาวบ้านภาคอีสานมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถมีน้ำไว้ใช้อุปโภคบริโภคทั้งในภาวะปกติและในช่วงหน้าแล้ง ทั้งยังสามารถนำน้ำไปใช้ในการทำการเกษตรสร้างรายได้อีกด้วย โดยในครั้งนี้ได้ทำแหล่งน้ำชุมชนต้นแบบแห่งที่สองที่โรงเรียนบ้านดงน้อย ต.เสือโก้ก อ.วาปีปทุม จ.มหาสารคาม หลังจากสร้างแหล่งน้ำชุมชนแห่งแรกที่บ้านนาสีนวน ต.ขัวเรียง อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น ซึ่งแหล่งน้ำทั้งสองแห่งนับเป็นการสร้างแหล่งน้ำได้มากถึง 20,000 ลูกบาศก์เมตร สามารถช่วยเหลือพี่น้องประชาชนได้กว่า 600 หลังคาเรือน

คุณรังสฤษดิ์ ลักษิตานนท์ ผู้ช่วยประธานกรรมการบริหารอาวุโส บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด เปิดเผยว่า พื้นที่ทางภาคอีสาน มักพบปัญหาภัยแล้ง ขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภคเป็นประจำทุกปี ทำให้ชาวบ้านมีปริมาณน้ำกิน น้ำใช้ รวมถึงทำการเกษตรไม่เพียงพอ โดยในปีนี้ สิงห์อาสาได้ร่วมกับเครือข่ายที่มีความเชี่ยวชาญอย่างคณะเกษตรศาสตร์ ม.ขอนแก่น นำองค์ความรู้เรื่องการเติมน้ำใต้ดินมาสร้างแหล่งน้ำชุมชนและถ่ายทอดให้ชาวบ้าน ให้มีน้ำกินน้ำใช้อย่างยั่งยืน และยังคงร่วมมือกับเครือข่ายนักศึกษาสิงห์อาสาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 16 สถาบันเฝ้าระวังลงพื้นที่มอบน้ำสะอาดเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากภัยแล้งให้แก่พี่น้องภาคอีสาน ซึ่งเป็นภารกิจที่ทำมายาวนานกว่า 10 ปี กระจายไปยังพื้นที่ประสบภัยแล้ง 20 จังหวัดในภาคอีสาน ทั้งนี้ ยังเตรียมดำเนินโครงการสร้างแหล่งน้ำชุมชนอย่างยั่งยืนในพื้นที่อื่นๆ ร่วมกับคณะเกษตรศาสตร์ ม.ขอนแก่น ในปีต่อไปด้วย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์มัลลิกา ศรีสุธรรม ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า เมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา คณะฯ ได้ร่วมกับสิงห์อาสา สร้างแหล่งน้ำชุมชนอย่างยั่งยืนที่จ.ขอนแก่น และครั้งนี้ได้ขยายโมเดลมาที่จ.มหาสารคาม เพื่อช่วยเหลือพี่น้องภาคอีสานในจังหวัดใกล้เคียง โดยมีเครือข่ายนศ.สิงห์อาสาจากหลายสถาบันมาร่วมในกิจกรรมด้วย ซึ่งข้อมูลที่ทำการศึกษาพบว่าลักษณะพื้นที่และระบบโครงข่ายชลประทานของจ.มหาสารคามไม่สอดคล้องกับขนาดของพื้นที่เช่นกัน ทำให้มีน้ำไม่เพียงพอ โดยนำกระบวนการเติมน้ำใต้ดินมาช่วยแก้ปัญหาน้ำแล้งได้อย่างยั่งยืน ซึ่งมีการสร้างทั้งรูปแบบบ่อเปิดและบ่อปิด โดยบ่อเปิดจะเป็นแหล่งน้ำสาธารณะที่ทุกคนสามารถผันน้ำไปใช้ได้ตลอดทั้งปี และบ่อปิดจะใช้วิธีขุดให้ลึกถึงชั้นบาดาลแล้วฝังท่อลงไป เพื่อช่วยเติมความชุ่มชื้นให้แก่ดินโดยรอบ เมื่อมีน้ำเพียงพอ ดินมีความชุ่มชื้น การปลูกพืช ทำการเกษตรก็จะได้ผล

คุณบุญถม พลยุง ผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านดงน้อย กล่าวว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกร ทำนาปลูกข้าว ปลูกพืชตามฤดูกาล เช่น แตงโม ทำให้น้ำมีความสำคัญมาก แต่พื้นที่ตรงนี้แล้งมาโดยตลอด น้ำไม่เพียงพอ จะนำน้ำไปทำเกษตรก็ลำบาก ในปี 2560 เคยแล้งจัดจนข้าวในนาแห้งตาย ต้องขอขอบคุณทางสิงห์อาสาและมข.ที่มองเห็นปัญหาตรงนี้ มาสร้างบ่อน้ำให้ ชาวบ้านจะได้มีน้ำไว้กิน ไว้ใช้ ทำอาชีพตลอดทั้งปี เป็นประโยชน์อย่างมาก

สำหรับเครือข่ายนักศึกษาสิงห์อาสาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 16 สถาบัน ได้แก่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี, มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน นครราชสีมา, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ขอนแก่น, มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ, มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม, มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด, มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์, มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์, มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ, มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี, มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา, วิทยาลัยเทคนิคขอนแก่น และวิทยาลัยเทคนิคมหาสารคาม จะดำเนินงานตามพันธกิจ สร้างแนวร่วมในการดูแลประเทศที่ประกาศไว้ โดยจะเฝ้าระวัง ลงพื้นที่สำรวจและเข้าช่วยเหลือบริเวณที่ประสบภัยแล้ง หรือประสบปัญหาอื่นๆใน 20 จังหวัดภาคอีสานต่อไป

ทั้งนี้ สิงห์อาสาและ คณะเกษตรศาสตร์ ม.ขอนแก่น จะช่วยสนับสนุนองค์ความรู้อย่างต่อเนื่องเพื่อให้การสร้างแหล่งน้ำชุมชนขยายพื้นที่ครอบคลุมทั่วทั้งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อให้ประชาชนและเกษตรกรผู้ใช้ได้มีโอกาสประกอบอาชีพเกษตรกรรมได้อย่างเต็มที่ พร้อมเป็นกำลังใจให้แก่ชาวบ้านต่อไป เพื่อให้ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น