สิงห์อาสา – ม.ขอนแก่น รับมือเอลนีโญ ลุยสร้างแหล่งน้ำชุมชนเพิ่มในจ.มหาสารคาม

สิงห์อาสา ลงพื้นที่ในจ.มหาสารคาม สร้างแหล่งน้ำชุมชนเพิ่มเติม ซึ่งเป็นแหล่งน้ำที่สามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งที่จะมาถึง เนื่องจากการคาดการณ์ภูมิอากาศของคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ว่าปีนี้ประเทศไทยจะเข้าสู่ภาวะเอลนีโญ ที่ส่งผลกระทบให้เกิดภัยแล้งรุนแรง ทำให้หลายจังหวัดโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอีสานที่ส่วนใหญ่จะต้องใช้น้ำเพื่อการเกษตรอยู่ในสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ สิงห์อาสา จึงผนึกกำลัง คณะเกษตรศาสตร์ ม.ขอนแก่น ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 สร้างต้นแบบแหล่งน้ำชุมชน บรรเทาความเดือดร้อนชาวบ้าน ให้มีน้ำไว้ใช้ทั้งในช่วงหน้าแล้งและภาวะปกติ ควบคู่กับการนำรถน้ำออกให้บริการแจกจ่ายให้แก่ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนในภาคอีสาน

สิงห์อาสา โดย มูลนิธิพระยาภิรมย์ภักดี และ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ร่วมกับ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และบริษัท มหาสารคามเบเวอเรช จำกัด บริษัทในเครือฯ พร้อมด้วยเครือข่ายนักศึกษาสิงห์อาสาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 16 สถาบัน สร้างต้นแบบแหล่งน้ำชุมชนอย่างยั่งยืนต่อเนื่อง ในโครงการ “สิงห์อาสาสร้างแหล่งน้ำชุมชนอย่างยั่งยืน” ด้วยการขุดบ่อเพื่อเป็นแหล่งน้ำให้ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์ พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องการสร้างแหล่งน้ำชุมชนอย่างยั่งยืน ควบคู่กับการนำรถน้ำออกให้บริการแจกจ่ายน้ำสะอาดให้กับชาวบ้านในพื้นที่ที่ได้รับความเดือดร้อนที่ โรงเรียนบ้านหนองแคนโนนงามโชคชัย ต.ห้วยเตย อ.กุดรัง จ.มหาสารคาม ทั้งนี้ จะขยายไปยังพื้นที่อื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งต่อไป

ผู้ช่วยศาสตราจารย์มัลลิกา ศรีสุธรรม อาจารย์สาขาวิชาปฐพีศาสตร์และสิ่งแวดล้อม คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า “กระบวนการเติมน้ำใต้ดินเป็นแนวทางที่จะช่วยแก้ปัญหาน้ำแล้งได้อย่างยั่งยืน การสร้างแหล่งน้ำชุมชนอย่างยั่งยืน จึงเป็นอีกหนึ่งหนทางที่จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำได้ โดยพื้นที่ที่เราเลือกในแต่ละครั้งเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง มีน้ำไม่เพียงพอ โดยเราจะขุดบ่อในรูปแบบบ่อเปิดและบ่อปิด โดยบ่อปิดจะใช้วิธีขุดให้ลึกถึงชั้นบาดาลแล้วฝังท่อลงไป เพื่อช่วยเติมความชุ่มชื้นให้แก่ดินโดยรอบ และบ่อเปิดจะเป็นแหล่งน้ำสาธารณะที่ทุกคนสามารถผันน้ำไปใช้ได้ตลอดทั้งปี ทำให้แหล่งน้ำดังกล่าวมีปริมาณน้ำที่เพียงพอให้กับคนในชุมชน ซึ่งทางคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ส่งเสริมความรู้ให้เกษตรกรปลูกพืชที่ยึดเกาะดิน ป้องกันน้ำหลาก ได้แก่ ต้นยางนาและไผ่ซางหม่นด้วย ทั้งนี้ ประชาชนควรติดตามสภาพอากาศที่แปรปรวนอย่างใกล้ชิด เตรียมตัวหาภาชนะเพื่อสำรองน้ำ หรือเตรียมขุดบ่อ ขุดสระ ไว้กักเก็บปริมาณน้ำฝนด้วย”

นายชาญชัย ทรัพย์มั่นคงทวี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท มหาสารคามเบเวอเรช จำกัด กล่าวว่า “บริษัท มหาสารคามเบเวอเรช จำกัด มีนโยบายที่ชัดเจนในการให้ความใส่ใจและดูแลสังคมรอบข้างมาโดยตลอด เพื่อดูแลพี่น้องชาวมหาสารคามและพื้นที่ใกล้เคียง ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ตามแนวคิดและวิถีปฎิบัติที่เราได้ทำมาอย่างต่อเนื่องเพื่อ “องค์กร ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม มีความสุขร่วมกันอย่างยั่งยืน” สำหรับโครงการสิงห์อาสาสร้างแหล่งน้ำชุมชนอย่างยั่งยืนในครั้งนี้ เรามาช่วยสร้างแหล่งน้ำชุมชนเพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ ทั้งในชีวิตประจำวันและใช้เพื่อการเกษตรในฤดูแล้งที่กำลังจะมาถึงนี้ ซึ่งจากการทำงานร่วมกับ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ทำให้ทราบว่า มีความเป็นไปได้สูงที่จะมีภาวะฝนทิ้งช่วงจากสถานการณ์เอลนีโญ(El Nino) ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวบ้าน ซึ่งการสร้างแหล่งน้ำชุมชน จะช่วยให้ชาวมหาสารคามมีน้ำไว้ใช้ทั้งในฤดูแล้งและปกติอย่างยั่งยืน เมื่อมีน้ำพอกินพอใช้ก็จะสามารถต่อยอดไปสู่การสร้างรายได้ประกอบอาชีพได้

ตั้งแต่ปี 2564 สิงห์อาสาได้สร้างต้นแบบแหล่งน้ำชุมชน บรรเทาความเดือดร้อนชาวบ้านมาแล้วในพื้นที่ภาคอีสานหลายแห่ง และตลอดระยะเวลากว่า 12 ปี สิงห์อาสาพร้อมด้วยเครือข่ายนักศึกษาสิงห์อาสาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 16 สถาบัน ได้ลงพื้นที่ทำกิจกรรมต่างๆ ได้แก่ การแจกจ่ายน้ำดื่มสะอาดให้กับชาวบ้าน ติดตั้งธนาคารน้ำสิงห์ ซึ่งเป็นแท้งค์น้ำให้ชาวบ้านได้มีน้ำใช้ ทำท่อประปาเพื่อใช้เป็นเส้นทางลำเลียงน้ำจากภูเขาเข้าสู่หมู่บ้านในพื้นที่ห่างไกล และสร้างแหล่งน้ำชุมชน นำองค์ความรู้เรื่องการเติมน้ำใต้ดินมาสร้างแหล่งน้ำชุมชนและถ่ายทอดให้ชาวบ้าน เพื่อให้มีน้ำไว้ใช้อุปโภคบริโภคอย่างยั่งยืน ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่พี่น้องภาคอีสานได้เป็นอย่างดี โดยในครั้งนี้ ประกอบด้วย คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมด้วยเครือข่ายสถาบันการศึกษา 16 สถาบันภาคอีสานที่เข้าร่วมโครงการ ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, มหาวิทยาลัยนครพนม, มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน, มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม, มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี, มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด, มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์, มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์, มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ,มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี, มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา, มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ, วิทยาลัยเทคนิคขอนแก่น และวิทยาลัยเทคนิคมหาสารคาม