สิงห์อาสา ผนึกกำลังมหาวิทยาลัยภาคใต้และตะวันออก สร้างกลุ่มรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเล

สิงห์อาสา โดย มูลนิธิพระยาภิรมย์ภักดี และ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด สร้างกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเล ผนึกเครือข่ายนักศึกษา 12 มหาวิทยาลัยภาคใต้และภาคตะวันออก รวมถึงกรมอุทยานแห่งชาติ และ SDG Move (ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน) ดูแลและรักษาทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน โดยเริ่มที่อุทยานแห่งชาติธารโบกขรณี และอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ ซึ่งเป็นแหล่งรวมสัตว์น้ำที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศในท้องทะเลไทย

สิงห์อาสา พร้อมด้วยเครือข่ายนักศึกษาสิงห์อาสามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ตและวิทยาเขตสุราษฎร์ธานี, กลุ่มนักดำน้ำจิตอาสาเพื่อการอนุรักษ์ “Sea You Strong” ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และ SDG Move (ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน) จัดโครงการ “สิงห์อาสาอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเล” ลงพื้นที่ทำกิจกรรมอนุรักษ์ทะเล ณ อุทยานแห่งชาติธารโบกขรณี และอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศในท้องทะเลไทย รวมทั้งยังเป็นแหล่งกำเนิดอันอุดมสมบูรณ์ของหญ้าทะเลและปะการัง ซึ่งถือเป็นบ้านของสัตว์ทะเล ที่ปัจจุบันเสื่อมโทรมลงไปมาก

โครงการ “สิงห์อาสาอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเล” เพื่อดูแลและรักษาทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน เป็นหนึ่งในภารกิจของสิงห์อาสาที่มุ่งอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้านต่างๆ ทั้งต้นน้ำ แหล่งน้ำ สายน้ำ และทะเล โดยมีการพาเด็กๆเยาวชนในท้องถิ่น ไปเรียนรู้การปลูกหญ้าทะเล ที่เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำและแหล่งอาหารสัตว์ทะเลที่หายากและใกล้สูญพันธุ์อย่างเช่น พะยูนและเต่าทะเล ฯลฯ รวมถึง การดำน้ำเก็บกู้อวนประมงตามแนวปะการังจากกลุ่ม Sea you strong ที่หมู่เกาะห้อง และหมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ จำนวนรวมทั้งสิ้น 11 เกาะ ภายใต้การดูแลของอุทยานแห่งชาติธารโบกขรณี และอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี ซึ่งได้รับผลกระทบจากการลักลอบทำประมงผิดกฎหมาย ทำให้เกิดความเสื่อมโทรมใต้ทะเล นอกจากนี้ยังมีการอบรมปลูกจิตสำนึกให้กับเยาวชน ได้เห็นถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ทะเลไทย

คุณอรรถสิทธิ์ พรหมสุข ผู้จัดการฝ่ายงานกิจกรรมเพื่อสังคม บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด กล่าวว่า “สิงห์อาสา นอกจากจะมีภารกิจหลักในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนทั่วประเทศ ทั้งจากภัยพิบัติ และสถานการณ์ความเดือดร้อนต่างๆ ที่สังคมต้องการความช่วยเหลือ พลังจากเครือข่ายที่เรามี โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากนักศึกษาหลายสถาบันทั่วประเทศยังได้ร่วมงานกันในการดูแลสิ่งแวดล้อม ทั้งในการดูแลป่าต้นน้ำในพื้นที่ภาคเหนือ ดูแลแหล่งน้ำในเขตภาคอีสานและภาคกลาง และสิ่งแวดล้อมทางทะเลในพื้นที่ภาคตะวันออกและภาคใต้ ซึ่งได้ทำงานร่วมกับหลายมหาวิทยาลัย กลุ่ม SDG Move (มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) ตลอดจนหลายหน่วยงานรัฐ

“โครงการ สิงห์อาสาอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเล ที่จ.กระบี่ในวันนี้ ได้ร่วมกับ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเลและการจัดการชายฝั่ง (MSCM) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต จัดกิจกรรมปลูกหญ้าทะเลซึ่งเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของพะยูนซึ่งเป็นสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ รวมทั้งการดำน้ำเก็บกู้ซากอวนและเครื่องมือทำประมงผิดกฏหมายในพื้นที่ขยายพันธุ์สัตว์ทะเลของกลุ่ม Sea You Strong หน่วยงานภาครัฐและนักดำน้ำท้องถิ่น รวมทั้งการดึงเยาวชนท้องถิ่นมีส่วนร่วม เพื่อความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง สิ่งเหล่านี้จะเป็นพื้นฐานที่สำคัญต่องานอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเลต่อไป” คุณอรรถสิทธิ์ กล่าว

อ.อุดมลักษณ์ คงสังข์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเลและการจัดการชายฝั่ง (MSCM) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต กล่าวว่า “ปีนี้เป็นปีที่เราได้ทำงานเรื่องสิ่งแวดล้อมทางทะเล ร่วมกันกับทางสิงห์อาสา ซึ่ง ม.สงขลานครินทร์ เป็นมหาวิทยาลัยที่อยู่ในเขตภาคใต้ สิ่งเร่งด่วนที่เราต้องร่วมกันรักษาคือปัญหาสิ่งแวดล้อมทางทะเล สำหรับพื้นที่ภาคใต้ที่พบคือปัญหาขยะทั้งชายฝั่งและในทะเล การเสื่อมโทรมของระบบนิเวศทางทะเล การกัดเซาะชายฝั่ง ซึ่งส่งผลให้แหล่งอาหารและแหล่งอนุบาลของสัตว์ทะเลลดน้อยลง เช่น หญ้าทะเล ที่มีบทบาทและหน้าที่สำคัญในฐานะผู้ผลิตของระบบนิเวศทะเล ด้วยโครงสร้างของแหล่งหญ้าทะเลมีความซับซ้อนเหมาะสมต่อการเป็นแหล่งที่อยู่อาศัย อนุบาลตัวอ่อน แหล่งหากิน และแหล่งหลบซ่อนศัตรูโดยเฉพาะสัตว์ทะเลขนาดใหญ่หายากและใกล้สูญพันธุ์อย่างเช่น เต่าทะเล และพะยูน ที่กินหญ้าทะเลเป็นอาหารหลัก จากการสำรวจพบว่าแหล่งหญ้าทะเลในกระบี่ มีทั้ง หญ้าคาทะเล หญ้าชะเงาเต่า หญ้าชะเงาใบมน หญ้าชะเงาใบฟันเลื่อย หญ้าเงา หญ้าเงาแคระ หญ้ากุยช่ายเข็ม หญ้ากุยช่ายทะเล ฯลฯ ที่ผ่านมามีปัญหาพื้นที่หญ้าทะเลลดลง สาเหตุจากทั้งตะกอนดินจากฝั่ง
การสร้างโป๊ะในแนวหญ้าทะเล กิจกรรมปลูกหญ้าทะเลในวันนี้จะทำให้เด็กๆในพื้นที่รู้จักประโยชน์ของหญ้าทะเล ตระหนักถึงผลกระทบและช่วยป้องกันไม่ให้หญ้าทะเลหายไปจากท้องถิ่นตนเอง”

คุณสิรณัฐ สก๊อต ในฐานะประธานกลุ่ม “Sea you strong” กล่าวว่า “โครงการนี้เกิดขึ้นจากการเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมทางทะเล ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญต่อทุกชีวิตบนโลก เราอยากเข้าไปมีส่วนในการช่วยเหลือ และสร้างการอนุรักษ์แบบยั่งยืน โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีความสำคัญที่สุดในทะเลก็คือ พื้นที่เขตอุทยานซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์หรือแหล่งขยายพันธุ์ ทุกวันนี้ใต้ทะเลในพื้นที่เขตอุทยานได้รับผลกระทบจากปัญหาเรื่องขยะ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นขยะที่มาจากแผ่นดินใหญ่หรือชายฝั่ง และการลักลอบทำประมงไม่ถูกวิธี ทำลายชีวิตสัตว์น้ำในพื้นที่ขยายพันธุ์ และยังทำลายแนวปะการังรวมทั้งทำลายความสมบูรณ์ของสภาพแวดล้อมทางทะเล โดยเฉพาะอวนและอุปกรณ์ในการดักจับสัตว์น้ำต่าง ๆ ไปรบกวนและทำลายบ้านของสิ่งมีชีวิตในทะเล ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง การเก็บกู้ซากอวนและเครื่องมือดักจับสัตว์น้ำในเขตเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ ตลอดจนการให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ปลูกจิตสำนึกต่อเยาวชนในพื้นที่จึงเป็นสิ่งที่จะเกิดผลดีต่อการอนุรักษ์ทะเลไทย โดนเราได้วางเป้าหมายในการดำน้ำเก็บกู้ซากอวนใน 11 จุดสำคัญในพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติธารโบกขรณี และอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี ได้แก่ เกาะห้อง, เกาะเหลากา, เกาะเหลาเหรีย, เกาะปากกา, เกาะเหลาลาดิง, เกาะกายา, เกาะ ปากเบี้ย, เกาะหานตุ, เกาะปาหูเซียเกาะแดง และเกาะเสม็ด สำหรับกลุ่มนักดำน้ำจิตอาสา Sea you strong เข้ามาทำงานอนุรักษ์ทะเลนี้โดยได้รับความร่วมมือจากอุทยานฯ นักดำน้ำท้องถิ่น และนักวิทยาศาสตร์ทางทะเลที่ให้คำแนะนำเพื่อให้สิ่งที่พวกเราทำเป็นไปอย่างถูกวิธีและได้ผลดีที่สุด”

โครงการ “สิงห์อาสาอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเล” เกิดจากการร่วมมือกันหลาย ทั้ง เครือข่ายนักศึกษาสิงห์อาสา 12 สถาบัน ภาคใต้และตะวันออก ได้แก่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี, มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต, มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี, มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ วิทยาเขตวังไกลกังวล, มหาวิทยาลัยบูรพา, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตบางพระ, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาเขตระยอง รวมถึงกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กลุ่ม Sea You Strong นักชีววิทยาทางทะเล นักดำน้ำท้องถิ่น และกลุ่ม SDG Move เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเล ทั้งนี้ สิงห์อาสายังมีภารกิจดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน อาทิ ทรัพยากรน้ำ ป่าไม้ อากาศ ร่วมกับเครือข่ายทั่วประเทศ โดยในปีนี้มุ่งเน้นที่การดูแลทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน ทั้งดูแลป่าต้นน้ำในเขตจังหวัดภาคเหนือ การดูแลแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคในจังหวัดภาคอีสาน และการดูแลสายน้ำในจังหวัดภาคกลาง รวมถึงภารกิจสร้างความยั่งยืนให้ทะเลไทย