สาธารณสุข แจงตัดงบบัตรทอง มาเป็นเงินเดือนขรก.ใหม่รับมือโควิด-19

นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ตาม พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มาตรา 46 (2) ครอบคลุม ถึงค่าใช้จ่ายของหน่วยบริการในส่วนเงินเดือนและค่าตอบแทนบุคลากร รัฐบาลได้นำงบค่าใช้จ่ายรายหัวส่วนนี้มาใช้เป็นเงินเดือนค่าตอบแทนของข้าราชการบรรจุใหม่ 45,684 ตำแหน่ง เพื่อรับมือสถานการณ์โรคโควิด 19 นั้น ช่วยสร้างขวัญกำลังใจให้บุคลากรสาธารณสุขที่ร่วมต่อสู้โควิด-19

นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข

รัฐบาลได้สนับสนุนกระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยจัดสรรงบกลางปี 63 ครั้งที่ 1 จำนวน 1,233 ล้านบาท และรอบ 2 จำนวน 5,488 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นของ สปสช. 3,260 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังสนับสนุนงบกลางเพื่อจัดหาหน้ากากอนามัย หน้ากาก N95 และชุดป้องกันส่วนบุคคล (PPE) จำนวน 1,551 ล้านบาท เพื่อใช้ในสถานการณ์โควิด 19 และรัฐบาลยังได้เตรียมไว้สนับสนุนอีกกว่า 45,000 ล้านบาท ขอยืนยันว่าการดำเนินการครั้งนี้ ทำให้บุคลากรกระทรวงสาธารณสุขมีขวัญกำลังใจมากขึ้น สามารถลดภาระเงินบำรุงของหน่วยบริการอีกด้วย และมีการจัดนวัตกรรมในการดูแลรักษาผู้ป่วย เช่น การส่งยาให้ผู้ป่วยที่บ้านผ่าน อสม. การขยายบริการปฐมภูมิ เพื่อประชาชนจะได้ประโยชน์จากการได้รับบริการจากโรงพยาบาลมากขึ้น 

นอกจากนี้ รัฐบาลให้การสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติม ในการจัดบริการประชาชนให้กับกระทรวงสาธารณสุข และ สปสช. อย่างต่อเนื่องในทุกปี เช่นปี 2561 สปสช. ได้รับการสนับสนุน 5,186 ล้านบาท ปี 2562 จำนวน 5,000 ล้านบาท ทำให้โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขไม่มีปัญหาวิกฤตทางการเงินระดับ 7 ในไตรมาส 2 นี้ (มีนาคม 2563) หากงบประมาณที่ใช้ในการบริการประชาชนไม่เพียงพอ รัฐบาลพร้อมให้การสนับสนุนเพิ่มเติม เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่ดีที่สุด

ทั้งนี้ การชี้แจงดังกล่าว เกิดขึ้นหลังจากมีการออกมาโพสเฟสบุคส่วนตัวของนพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ จังหวัดสงขลา ถึงมติครม.ทีให้โอนงบประมาณ 2563 และตัดงบ “บัตรทอง” 2,400 ล้านบาท และงบของกระทรวงสาธารณสุข1,200 ล้านบาท รวมเป็น 3,600 ล้านบาท มาตั้งเป็นงบสำรองฉุกเฉิน แก้ไขปัญหา ช่วยเหลือเยียวยา และบรรเทาผลกระทบ จากการแพร่ระบาดโควิด-19 ว่า ที่ผ่านมา โรงพยาบาลต่างๆ แทบไม่เคยได้รับงบประมาณที่เป็นตัวเงินจากรัฐบาลเลย มีเพียงการส่งเป็นหน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์เจล ชุด PPE เป็นต้น แต่ไม่มีงบเป็นตัวเงินมาเติมในกระเป๋าเงินบำรุงของโรงพยาบาล แต่ละโรงพยาบาลต้องใช้เงินบำรุงที่เก็บสะสมไว้เองมาเป็นเงินใช้จ่ายมากมายในช่วงน 3 เดือนที่ต่อสู้กับโควิด-19 และเกือบทุกที่ต้องเปิดรับเงินบริจาคจากประชาชน ซึ่งสามารถช่วยโรงพยาบาลได้อย่างมาก

การไม่สนับสนุนงบให่กระทรวงสาธารณสุขหรือ สปสช. เพิ่มนั้น ก็พอจะเข้าใจได้ เพราะรัฐบาลมีรายจ่ายสำคัญในการพยุงเศรษฐกิจและดูแลประชาชนที่ยากลำบาก โรงพยาบาลต่างๆ จึงแทบไม่มีใครออกมาเรียกร้องว่า “เข้าเนื้อ ของบเพิ่ม” แต่การมาตัดงบของสายสุขภาพลงไป 3,600 ล้านบาทนั้น เข้าใจไม่ได้เลย และไม่เข้าใจเลยว่า “ทำไมรัฐบาลจึงเพี้ยนเช่นนี้”

กระทรวงสาธารณสุขมีโรงพยาบาลเกือบ 1,000 แห่ง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) อีก 10,000 แห่ง ทุกแห่งทำงานเต็มที่สู้ศึกโควิด ทุกแห่งควรได้รับเงินสนับสนุนเพิ่ม แต่นี่ไม่เคยให้งบเราแล้วยังมาตัดงบเราอีก วิธีคิดแช่นนี้ “สอบตกโดยสิ้นเชิง”