“สวนป่าชุมชน” CPF หนุนชุมชนบริหารจัดการพื้นที่ป่า ยึดหลักเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม

“ป่าชุมชน” พื้นที่ป่าไม้ที่คนในชุมชนมีส่วนร่วมบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้และต้นไม้ บนหลักการสร้างความเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำ ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรธรรมชาติเกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อรักษาพื้นที่ป่าและความสมบูรณ์ของนิเวศป่าไม้ สร้างกลไกการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ด้วยการวางแผน พัฒนา การบริหารจัดการ การใช้ประโยชน์จากป่าให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของชุมชนทั้งในเชิงเศรษฐกิจ คือ การสร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชน ด้านสังคม เกิดการพัฒนาอาชีพตามศักยภาพของชุมชน เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เป็นแหล่งเรียนรู้ธรรมชาติ และด้านสิ่งแวดล้อม รักษาระบบนิเวศ ปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ

บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ดำเนินธุรกิจโดยบูรณาการแนวคิดการดำเนินงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม ริเริ่ม “โครงการซีพีเอฟรักษ์นิเวศ” เพิ่มพื้นที่สีเขียวในสถานประกอบการของบริษัทมาตั้งแต่ปี 2557 ทั้งในรูปแบบของการปลูกต้นไม้ สร้างสวนป่าเชิงนิเวศ ขยายผลสู่การสร้างเครือข่ายป่าชุมชน

“ศูนย์เรียนรู้สวนป่ารักษ์นิเวศ โครงการหมู่บ้านเกษตรกรรมกำแพงเพชร” ต.เทพนคร อ.เมือง จ.กำแพงเพชร เป็นสวนป่านิเวศในฟาร์มสุกรแห่งแรกของไทย ที่มาจากแนวคิดพลิกพื้นที่ว่างเปล่าในฟาร์มเลี้ยงสุกรเป็นป่านิเวศในชุมชน เมื่อปี 2557 จากความมุ่งมั่นของซีพีเอฟ ที่จะสร้างธุรกิจฟาร์มสุกรรูปแบบใหม่ มุ่งเน้นความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน บนพื้นที่กว่า 30 ไร่ ที่เกิดจากความร่วมมือของภาคีเครือข่ายภาครัฐ เอกชน และชุมชน ร่วมพัฒนาพื้นที่ของโครงการหมู่บ้านเกษตรกรรมกำแพงเพชร ด้วยการสร้างป่านิเวศที่สมบูรณ์ เกิดความหลากหลายทางชีวภาพทั้งพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ มีการอนุรักษ์พันธุ์ไม้หายากในท้องถิ่น เป็นแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียนให้กับชุมชน สถานศึกษาและผู้ที่สนใจ

ศูนย์เรียนรู้สวนป่ารักษ์นิเวศ ที่นี่ เป็นแหล่งรวบรวมป่า 6 ประเภท ได้แก่ ป่าพันธุ์ไม้หายาก ป่าชายน้ำ ป่านิเวศแนวป้องกัน ป่าเต็งรัง ป่าเศรษฐกิจ และป่าเบญจพรรณ มีต้นไม้มากกว่า 24,000 ต้น เป็นพันธุ์พืชกว่า 200 ชนิด พันธุ์ไม้หายากกว่า 140 ชนิด สามารถเก็บต้นกล้าที่งอกจากเมล็ดตามธรรมชาตินำมาอนุบาลเพื่อขยายพันธุ์ อาทิ ต้นกระทิง หว้า ชัยพฤกษ์ และภู่นายพล นอกจากนี้ ยังมีพันธุ์สัตว์ที่อาศัยในผืนป่าอีกกว่า 70 ชนิด ซึ่งปัจจุบัน มีฐานการเรียนรู้ 3 ฐาน คือ ศาลาชากังราว ศาลากล้วยไข่ และศาลาวนเกษตร เป็นแหล่งข้อมูลสำหรับผู้มาเยี่ยมชม โดยมีวิทยากรประจำศูนย์เรียนรู้ฯ ที่เป็นเยาวชน เกษตรกรในโครงการฯ และตัวแทนของซีพีเอฟ ทำหน้าที่ให้ข้อมูลในแต่ละฐาน พร้อมทั้งนำเทคโนโลยีที่ทันสมัย มาประยุกต์ใช้เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่มาเยี่ยมชมสวนป่าฯ โดยนำ QR Code มาใชเพื่อการเรียนรู้ด้วยตัวเอง และพัฒนาโปรแกรมการศึกษาดูงาน (Integrated Learning Center) ที่เหมาะสมกับกลุ่มที่เข้าเยี่ยมชม

พิเชษฐ์ ใหญ่แก่นทราย ประธานหมู่บ้านเกษตรกรรมกำแพงเพชร กล่าวว่า สวนป่ารักษ์นิเวศฯ สร้างประโยชน์ให้กับชาวชุมชนอย่างมาก ทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้ระบบนิเวศพืชและสัตว์ เป็นที่อยู่และขยายพันธุ์ของสัตว์ท้องถิ่น เป็นแหล่งเรียนรู้วิธีการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ที่ช่วยสร้างจิตสำนึกรักษ์ธรรมชาติและสามารถนำไปต่อยอดปลูกในพื้นที่อื่นๆได้ ป่าที่สมบูรณ์กลายเป็นแหล่งอาหาร เปรียบเหมือนตลาดสดของชุมชน เพราะในป่ามีทั้งพืช ผัก สมุนไพร เห็ด และปลา เป็นแหล่งเพาะกล้าไม้ป่าเพื่อจำหน่ายหรือแจกให้กับผู้ที่สนใจ พื้นที่สีเขียวที่เพิ่มขึ้น กลายเป็นแหล่งพักผ่อน ออกกำลังกาย และเป็นแหล่งท่องเที่ยวของชุมชน

ปี 2559 ซีพีเอฟต่อยอดส่งเสริมป่าชุมชนแห่งที่ 2 ใน “โครงการปลูกป่านิเวศ หมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้า” อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา บนพื้นที่ 14 ไร่ ส่งเสริมชุมชนหมู่บ้านเกษตรกรรมหนองหว้า เรียนรู้เทคโนโลยีการเลี้ยงสุกรที่ทันสมัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยรวบรวมพันธุ์ไม้ยืนต้น ไม้เศรษฐกิจ ไม้หายาก และพืชสมุนไพรกว่า 109 ชนิด รวมพันธุ์ไม้มากกว่า 50,000 ต้น ประยุกต์หลัก “การปลูกป่านิเวศ” ตามทฤษฎีการปลูกป่าของ ‘ศ.ดร.อาคิระ มิยาวากิ’ ด้วยการปลูกพันธุ์ไม้พื้นเมืองที่เหมาะกับสภาะแวดล้อมในพื้นที่ ใช้เทคนิคการปลูกต้นไม้แบบถี่ 3 ต้นต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร แบบสุ่มคละชนิดพันธุ์ไม้ ให้เหมือนป่าธรรมชาติ ซึ่งช่วยร่นระยะเวลาการเจริญเติบโตของป่าธรรมชาติ จาก 100 ปี เหลือ 10 ปี ก่อเกิดเป็นรูปแบบป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง สร้างระบบนิเวศที่ดี ด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานราชการในพื้นที่ ซีพีเอฟ เกษตรกร ชุมชนใกล้เคียง รวมทั้งปลูกจิตสำนึกคนรุ่นใหม่นักเรียนของสถานศึกษาในพื้นที่มีส่วนร่วมในกิจกรรมปลูกต้นไม้

สมชาย พงษ์พันธ์ เกษตรกรในหมู่บ้านฯ กล่าวว่า จากผืนดินว่างเปล่าเมื่อ 5 ปีก่อน วันนี้ต้นไม้เติบใหญ่กลายเป็นผืนป่าที่สมบูรณ์ เป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต สร้างแหล่งอาหารของชุมชน ชาวชุมชนได้รับประโยชน์จากป่านิเวศฯ ที่ทุกคนร่วมกันสร้าง เพราะให้ทั้งพื้นที่สีเขียว ความร่มรื่น เป็นคลังอาหารของคนในชุมชน ซึ่งในพื้นที่ป่ามีทั้งไม้ยืนต้น พืชสมุนไพร เห็ด ซึ่งคนในชุมชนสามารถเข้าไปเก็บมาปรุงอาหาร เป็นศูนย์เรียนรู้ต้นแบบของชุมชน สำหรับผู้ที่สนใจ

ซีพีเอฟ ยังให้การสนับสนุนกิจกรรมปลูกต้นไม้ ใน “โครงการปลูกป่าชุมชน” บนพื้นที่อื่นๆ อาทิ ฟาร์มสุกรพ่อแม่พันธุ์หนองคาย ต.หนองปลาปาก อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย ร่วมกับ บริษัท เอซีวายซี จำกัด ซึ่งเป็นคู่ค้าของซีพีเอฟ ปลูกฝังชุมชนทำโครงการป่าชุมชน บนพื้นที่ 178 ไร่ ติดฟาร์ม ปลูกต้นไม้ในพื้นที่กว่า 24,000 ต้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นไม้ยืนต้นและไม้เศรษฐกิจ อาทิ ต้นประดู่ป่า สัก แดง ยางนา มะค่าโมง และพะยูง สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่สนับสนุนการปลูกไม้เศรษฐกิจ และสนับสนุนชุมชนอนุรักษ์ป่าและปลูกป่าเพิ่มเติม โดยในอนาคตที่นี่ จะเป็นศูนย์เพาะชำกล้าไม้ จำหน่ายกล้าไม้และเมล็ดพันธุ์ เป็นรายได้เข้ากองทุนเพื่อใช้ในการอนุรักษ์ป่าของชุมชนต่อไป

ต้นกล้าเล็กๆที่ค่อยๆเติบโตสู่ต้นไม้ใหญ่ที่แข็งแรงในพื้นที่โครงการสวนป่าชุมชน ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการกักเก็บคาร์บอน สนับสนุนเป้าหมายของเครือเจริญโภคภัณฑ์ มุ่งสู่องค์กรที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutral) ภายในปี 2573 และสนันสนุนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals : SDGs) รับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change ) ภายใต้แผนกลยุทธ์ CPF 2030 Sustainability in Action ที่มีเป้าหมายเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ประเทศไทย 20,000 ไร่ ภายในปี 2573 โดยส่วนหนึ่งมาจากการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในสถานประกอบการทั่วประเทศ 5,000 ไร่ ซีพีเอฟ เดินหน้าส่งเสริมให้ฟาร์มและโรงงานของบริษัทปลูกต้นไม้ ที่สำคัญ คือ การสร้างเครือข่ายความร่วมมือโดยชุมชน สนับสนุนการดำเนินโครงการป่าชุมชนให้อำนวยประโยชน์อย่างทั่วถึง เพื่อให้ชุมชนพร้อมทำหน้าที่ดูแลรักษาป่าอย่างยั่งยืน