ศาลอาญา ลงนามร่วมหน่วยงานภาคี บันทึกข้อตกลงความร่วมมือทำงานบริการสังคม แทนค่าปรับ

รายงานข่าว เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 63 ที่ศาลอาญา นายชูชัย วิริยะสุนทรวงศ์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา นายประสพ เรียงเงิน ผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม พลตำรวจโท โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายวิตถวัลย์ สุนทรขจิต อธิบดีกรมคุมประพฤติ และพลตำรวจตรี สุคุณ พรหมายน รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการทำงานบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ แทนค่าปรับในศาลอาญา โดยมี นางเมทินี ชโลธร รองประธานศาลฎีกา และในฐานะประธานที่ปรึกษาโครงการ “ศาลยุติธรรมห่วงใย ฝ่าภัยโควิด” ให้เกียรติเป็นสักขีพยาน

อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา กล่าวว่า โครงการทำงานบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับในศาลอาญา เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “ศาลยุติธรรมห่วงใย ฝ่าภัยโควิด” การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและการลดการคุมขังที่ไม่จำเป็น ตามนโยบายของประธานศาลฎีกา ศาลอาญาได้นำนโยบายดังกล่าวที่ให้ลดการคุมขังที่ไม่จำเป็นมาขับเคลื่อนโดยนำการทำงานบริการสังคมแทนค่าปรับมาใช้ในศาลอาญาในเชิงรุก และมอบหมายให้นายสุรจิตร เปลี่ยนขำ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาเป็นประธานคณะทำงานโครงการทำงาน บริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับในศาลอาญา เพื่อเป็นทางเลือกให้จำเลยที่ศาลพิพากษา ลงโทษปรับสถานเดียวหรือพิพากษารอการลงโทษและปรับ แต่ไม่มีเงินเพียงพอที่จะชำระค่าปรับ สามารถยื่นคำร้องขอทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับต่อศาลชั้นต้นได้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 30/1 ซึ่งปัจจุบันยังมีจำเลยผู้ต้องโทษปรับจำนวนมากที่ไม่ทราบถึงสิทธิดังกล่าวทำให้ต้องถูกกักขังแทนค่าปรับเพียงเพราะความยากจน

ศาลอาญาได้บูรณาการความร่วมมือกับกระทรวงวัฒนธรรม กรุงเทพมหานคร กรมคุมประพฤติ และกองบัญชาการตำรวจนครบาล เพื่อให้มีการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ความรู้ให้ผู้ต้องโทษปรับทราบถึงสิทธิที่จะขอทำงานแทนค่าปรับ ให้คำแนะนำและช่วยเหลือแก่ผู้ต้องโทษปรับและไม่มีเงินชำระค่าปรับในการยื่นคำร้องขอทำงานแทนค่าปรับ รวมทั้งสนับสนุน ส่งเสริม และดูแลเพื่อให้การทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับ ของผู้ต้องโทษปรับครบถ้วนตามเงื่อนไขและบรรลุความมุ่งหมายของบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว

มาตรการดังกล่าวทำให้ผู้ต้องโทษปรับที่ไม่สามารถชำระค่าปรับได้ มีทางเลือกที่จะไม่ต้องถูกกักขังแทนค่าปรับ โดยไม่จำเป็นซึ่งช่วยลดความแออัดในเรือนจำ และลดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคในสถานที่กักขัง นอกจากนี้การทำงานบริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์ถือเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ต้องโทษปรับได้แสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและยังทำให้ผู้ต้องโทษปรับรู้สึกว่าได้ใช้ความรู้ความสามารถบำเพ็ญความดี ชดเชยให้แก่สังคมผ่านงานที่ทำด้วย ซึ่งโครงการนี้จะต้องมีการติดตามประเมินผลร่วมกับหน่วยงานภาคีเป็นระยะ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลทั้งแก่ผู้ต้องโทษปรับเองและสังคมโดยรวม