วัตถุดิบราคาพุ่งแรง อุปสรรคสำคัญคนเลี้ยงสัตว์

บทความโดย ธนา วรพจน์วิสิทธิ์

ต้นทุนการผลิตหมูของไทยพุ่งสูงมากจากหลายสาเหตุ โดยสาเหตุหลักมาจากโรคระบาดที่ทำให้ปริมาณหมูหายไปจากระบบ 30-40 % ขณะที่การยกระดับมาตรการป้องกันโรคนั้นต้องใช้เงินลงทุนไม่น้อย  แต่สิ่งหนึ่งที่มองข้ามไม่ได้ก็คือ “ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์” ซึ่งเป็นต้นทุนหลักของการเลี้ยงสัตว์ เพราะปี 2564 เป็นปีที่ระดับราคาวัตถุดิบทุกตัวพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ กระทบต้นทุนการเลี้ยงสัตว์ถึง 30% ทั้งหมดเป็นต้นทุนการผลิตหมูที่เรียกว่าสูงเกินกว่าเกษตรกรจะคุ้มทุน

ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ ปรับขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของ 2563 โดยราคาเมล็ดถั่วเหลืองและกากถั่วเหลืองแพงขึ้น 30% จากกิโลกรัมละ 13 บาท เป็นกิโลกรัมละ 18 บาท ส่วนราคาข้าวโพด ณ เดือนกันยายน 2564 ขยับพุ่งสูงถึง 11.50 บาท/กก. อาหารเสริม-วิตามิน-เกลือแร่ที่นำเข้าจากต่างประเทศ ล้วนมีการปรับตัวสูงขึ้นกว่า 20-30%    

ถ้าเจาะลึกมาที่วัตถุดิบหลักอย่าง “ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์”  ซึ่งเป็นสินค้าการเมืองที่เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์และโรงงานอาหารสัตว์ต้องรับซื้อที่ราคาขั้นต่ำ กก.ละ 8 บาท แต่ไม่เคยมีเพดานราคา ส่งผลให้ราคาข้าวโพดพุ่งต่อได้อย่างไม่จำกัด ที่สำคัญ รัฐบาลยังทำประกันราคาข้าวโพด ปี64/65 รวม 1,863 ล้านบาท บวกกับมาตรการคู่ขนานอีก 45 ล้านบาท ยิ่งสะท้อนให้เห็นการที่รัฐให้ความสำคัญกับเกษตรกรพืชไร่มากกว่าเกษตรกรภาคปศุสัตว์ซึ่งไม่เคยได้รับการประกันราคาใดๆ  ไม่เพียงเท่านั้นการประกันราคาข้าวโพดนี้มีมูลค่าน้อยที่สุดในบรรดาพืชไร่ 5 ชนิดที่รัฐให้การประกัน ก็เพราะบังคับเกษตรกรคนเลี้ยงสัตว์ทำประกันขั้นต่ำไว้ให้แล้วนั่นเอง  เมื่อมีทั้งประกันรายได้โดยรัฐและมีทั้งประกันรายได้จากการบังคับโรงงานอาหารสัตว์เช่นนี้ จึงหมายถึงการรับประกัน 2 ชั้นช่วยเหลือเกษตรกรพืชไร่อย่างเต็มที่

ขณะเดียวกัน ตลอดเวลาที่ผ่านมารัฐบาลกลับละเลยผู้เลี้ยงสัตว์ มีมาตรการคุมราคาสินค้าประเภทเนื้อสัตว์ เช่น เนื้อสุกรหน้าฟาร์มที่ราคา 80 บาท/กก. ซึ่งไม่สะท้อนต้นทุนการผลิตที่แท้จริง ปัจจุบันที่สถานการณ์โรคระบาดหมู ทำให้หมูหายไปจากระบบ 30-40% ส่งผลให้ปริมาณไม่สอดคล้องความต้องการบริโภคในช่วงเทศกาล จึงได้เห็นราคาหมูหน้าฟาร์มสูงเกินกว่า 80.- บาทเพราะไม่มีหมูเพียงพอ เกิดการแย่งซื้อหมู ราคาจึงขยับตามหลักอุปสงค์-อุปทาน กระทบตั้งแต่หน้าฟาร์มไปจนถึงเขียง และร้านอาหารต่างๆ

ซึ่งถ้ารัฐยอมรับว่าราคาต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ทำให้ต้นทุนการผลิตหมูสูงขึ้น นอกเหนือจากต้นทุนการป้องกันโรคและการสูญเสียหมูที่ต้องรวมเป็นต้นทุนของฟาร์ม การแก้ปัญหาของภาครัฐจะเป็นไปอย่างถูกทาง สามารถช่วยลดต้นทุนให้ผู้เลี้ยงหมูได้ลืมตาอ้าปากและส่งผลให้สถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติได้เร็วยิ่งขึ้น

ข้าวโพดไทยมีต้นทุนการผลิตสูงกว่าในหลายประเทศ รัฐบาลไทยยังมีนโยบายและมาตรการต่างๆ ในการกำกับดูแล ไม่เพียงการขอความร่วมมือโรงงานอาหารสัตว์ให้ซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในราคาไม่ต่ำกว่า 8 บาท/กก., แต่มีการจำกัดเวลานำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมีมาตรการควบคุมการนำเข้าข้าวสาลี 3 : 1 ส่วนด้วย ล้วนทำให้ที่ผ่านมาราคาข้าวโพดไทยสูงกว่าราคาตลาดโลกเสมอ  ต่อมาเมื่อรัฐบาลมีโครงการประกันรายได้ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2562/2563 เป็นปีแรก รัฐบาลกลับไม่ยกเลิกมาตรการเดิมที่เคยใช้ เกษตรกรเลี้ยงสัตว์จึงต้องแบกรับภาระราคาข้าวโพดตลอดมา

ดังนั้น เพื่อให้ห่วงโซ่การผลิตอาหารเป็นไปอย่างสอดคล้องเป็นเหตุเป็นผล และช่วยให้อุตสาหกรรมอาหารของประเทศสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก รวมถึงเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ไม่ล้มหายตายจาก เช่นที่เกิดขึ้นกับกลุ่มผู้เลี้ยงหมู รัฐบาลควรมีมาตรการช่วยเหลือเร่งด่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “การกำหนดเพดานราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์” ไม่ใช่ปล่อยให้พุ่งสูงขึ้นอย่างไร้ขีดจำกัด รวมถึง ควรทบทวนมาตรการอื่นๆที่เป็นอุปสรรคด้วย   

นอกจากนี้ รัฐควรมีแผนระยะกลางและระยะยาว ที่คำนึงถึงเกษตรกรพืชไร่และเกษตรกรปศุสัตว์ทั้งระบบ เช่น การเพิ่มผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ โดยควรเร่งปรับประสิทธิภาพการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อลดต้นทุน ควบคู่ไปกับการสร้างมาตรฐานการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตอบโจทย์ประเทศคู่ค้า จะช่วยให้การดาเนินธุรกิจทั้งห่วงโซ่ปศุสัตว์เดินหน้าต่อไปได้

สำหรับ “กากถั่วเหลือง” เป็นหนึ่งในวัตถุดิบนำเข้าที่ยังต้องเสียภาษีนำเข้า 2% ซึ่งถือเป็นภาระเมื่อเทียบกับหลายประเทศที่ไม่มีภาษี ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตอาหารสัตว์ของไทยสูงกว่าประเทศอื่นๆ และมีผลต่อเนื่องไปถึงต้นทุนในภาคปศุสัตว์และอุตสาหกรรมอาหารของไทยดังที่กำลังปรากฏเป็นปัญหาของผู้เลี้ยงหมูในขณะนี้ ดังนั้น การช่วยลดต้นทุนค่าวัตถุดิบอาหารสัตว์ด้วยการยกเว้น “ภาษีนำเข้าวัตถุดิบ” จะเป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะทำให้ต้นทุนการผลิตเนื้อสัตว์ของเกษตรกรลดลง ขณะที่ปัจจุบันฟาร์มปศุสัตว์กว่า 90% ใช้อาหารสัตว์สำเร็จรูป การยกเว้นภาษีนำเข้าวัตถุดิบจึงเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรได้อย่างทั่วถึง

จากบทเรียนสถานการณ์หมูที่กำลังเกิดขึ้น รัฐควรพิจารณานโยบายให้เอื้อต่อการควบคุมต้นทุนการผลิตของเกษตรกรปศุสัตว์ และจูงใจให้เกษตรกรกล้าที่จะลงหมูเข้าเลี้ยง เมื่อผนวกกับแนวทางอื่นๆ เช่น การปล่อยให้ราคาขายเป็นไปตามกลไกตลาด การสนับสนุนเกษตรกรเข้าถึงสินเชื่อหรือแหล่งทุน ฯลฯ ก็จะช่วยให้สถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็วและสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก.