รู้เก็บรู้ออม : Happy Money สุขเงิน สร้างได้

เปิดทำงานหลังวันหยุดยาวรอบนี้ พวกเรายังต้องเผชิญกับผลกระทบจากโควิด–19 ระลอก 3 นอกจากต้องดูแลตัวเองให้ปลอดเชื้อแล้ว ยังต้องดูแลเงินในกระเป๋ากันให้ดีด้วย!!

เมื่อปลายเดือน เม.ย.ตลาดหลักทรัพย์ฯ จับมือ 3 พันธมิตร คือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) และกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เดินหน้าโครงการ “Happy Money สุขเงิน สร้างได้ พลังความร่วมมือเพื่อฟื้นฟูและสร้างภูมิคุ้มกันด้านการเงินสำหรับคนไทย” หลังพบข้อมูลที่ตอกย้ำว่า สถานการณ์การเงินของคนไทยอยู่ในภาวะเปราะบาง เพราะขาดความรู้ด้านการเงินที่ถูกต้อง ทำให้คนไทยมีหนี้สูง ขาดเงินออม แถมมาโดนโควิดซ้ำเติม!!

โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ จะเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ด้านการออมและการวางแผนการเงินอย่างเป็นระบบ และสนับสนุนให้ 3 องค์กรที่ร่วมโครงการ ส่งต่อความรู้ให้กับสมาชิก ซึ่งครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายที่เป็นแรงงานในระบบกว่า 14 ล้านคน แรงงานนอกระบบ 24 ล้านคน และนักเรียนนักศึกษา 1.7 ล้านคน

ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้จัดโครงการ “Happy Money สุขเงิน สร้างได้” มาตั้งแต่ปี 52 โดยร่วมกับองค์กรภาครัฐและเอกชนแล้ว 523 แห่ง สร้างพี่เลี้ยงการเงิน 6,003 คน สร้างพื้นที่เรียนรู้ด้านการออมการวางแผนการเงิน ครอบคลุมพนักงานในองค์กรต่างๆแล้ว 2.4 ล้านคน คาดว่าสิ้นปีนี้จะส่งเสริมความรู้ประชาชนรวมกว่า 3 ล้านคนทั่วประเทศ เพื่อสร้างความมั่นคงทางการเงินแก่ประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม

วันเปิดโครงการความร่วมมือกับ 3 พันธมิตรได้มีการเสวนาหัวข้อ “ปฏิบัติการรวมพลัง สร้างคนไทยใส่ใจเรื่องการเงิน” ซึ่งมีความรู้ ข้อคิดที่มีคุณค่าที่ “คุณนายพารวย” อยากนำมาส่งต่อให้สมาชิกของเราได้นำไปปรับใช้เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงินให้ตัวเอง

“ดร.กฤษฎา เสกตระกูล” รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานพัฒนาความยั่งยืนตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์ฯ บุคคลสำคัญโครงการนี้ ฉายภาพว่า คนไทยขาดภูมิคุ้มกันทางการเงิน เนื่องจากไม่มีเงินออมฉุกเฉินและออมไม่พอ พบว่าครัวเรือนไทยไม่มีเงินออม 27% และคนไทยกว่า 80% มีเงินออมไม่พอใช้จ่ายใน 6 เดือน และยังขาดความรู้ด้านวางแผนการเงิน เมื่อต้องเผชิญกับวิกฤติโควิดซ้ำเติม ทำให้หนี้ครัวเรือนปี 63 สูงถึง 13.77 ล้านล้านบาท คนเป็นหนี้อายุน้อยลงนั่นคือ 60% ของคนไทยอายุ 29-30 ปีเป็นหนี้กันแล้ว และ 1 ใน 5 ของกลุ่มอายุ 29 ปีเป็นหนี้เสีย!!

“ดร.กฤษฎา” ชี้ว่า วิธีขจัดปัญหาและสร้างความสุขทางการเงินอย่างยั่งยืน ต้องใช้หลักคิดพื้นฐาน 3 ข้อ คือ “หมดหนี้มีออม–ลงทุนเพิ่มค่า–วางแผนก่อนแก่” ซึ่งการที่จะ “หมดหนี้แล้วมีเงินออม” ได้นั้น ต้องวางแผนการใช้จ่าย–บริหารหนี้สิน–วางแผนออมเงิน ส่วน“การลงทุนเพิ่มค่า” นั้นต้องให้ความสำคัญกับการวางแผนลงทุน–วางแผนภาษี สำหรับ “การวางแผนก่อนแก่” ต้องมุ่งเรื่องการวางแผนประกัน–วางแผนมรดกและวางแผนเกษียณ

ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ได้พัฒนาเนื้อหาข้อมูลและรูปแบบการให้ความรู้ ผ่านบทความ คลิปวิดีโอ อินโฟกราฟิก อีบุ๊ก อีเลิร์นนิ่ง และ Happy Money App ซึ่งองค์กรที่สนใจร่วมส่งเสริมความรู้ด้านการเงินกับตลาดหลักทรัพย์ฯ สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.set.or.th/happymoney


ที่มา คอลัมน์ รู้เก็บรู้ออมรู้ใช้รู้ลงทุน..สู่ความมั่งคั่ง โดยคุณนายพารวย หน้าเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ