รู้เก็บรู้ออมรู้ใช้รู้ลงทุน : วางแผนจัดการหนี้ (1)

ที่ผ่านมาเราพูดถึงการเก็บออมเงินและการลงทุนเพื่อสร้างความมั่งคั่งให้กับชีวิตแต่หลายชีวิตในขณะนี้ ยังอยู่ในวังวนของการเป็นหนี้–หมุนหนี้ จนไม่สามารถหลุดพ้นจาก “ชีวิตลูกหนี้” ได้

สิ้นเดือนเหมือนสิ้นใจ พอเงินเดือนออกก็มีเจ้าหนี้และรายจ่ายมารออยู่หน้าตู้เอทีเอ็มทุกเดือน ไหนจะค่าผ่อนบัตรเครดิต ค่ารูดบัตรเงินสด ค่าผ่อนรถ ผ่อนบ้าน หรือค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำ-ไฟ ค่าโทรศัพท์ แถมบางคนยังเป็นหนี้นอกระบบ วนจ่ายแต่ดอกเบี้ยร้อยละ 20 จ่ายไปเท่าไรหนี้เงินต้นก็ยังอยู่ครบ!!

ในเว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์ www.set.or.th  หน้า “เงินทองต้องวางแผน” หัวข้อการ “วางแผนหนี้สิน” มีข้อแนะนำในการบริหารจัดการหนี้ แต่ก่อนอื่นให้แยกประเภทหนี้ระหว่าง “หนี้ดี” กับ “หนี้ไม่ดี” ก่อน

“หนี้ดี” คือหนี้ที่ทำให้เรามีความมั่งคั่งขึ้น คือมีรายได้หรือมีมูลค่าทรัพย์สินเพิ่มขึ้น และต้องเป็นหนี้ที่ไม่กระทบต่อสภาพคล่องในการดำรงชีวิตประจำวัน!!

เช่น หนี้กู้ซื้อบ้านเพื่ออยู่อาศัย แม้มีภาระต้องผ่อนบ้านทุกเดือน แต่ความมั่งคั่งจะเพิ่มขึ้นจากการค่อยๆสะสมความเป็นเจ้าของ (เงินต้นที่ไปหักหนี้ออกทุกเดือน) รวมถึงมูลค่าบ้านและที่ดินที่สูงขึ้นตามระยะเวลา อย่างนี้ถือว่าการเป็นหนี้ซื้อบ้านสามารถสร้างความมั่งคั่งให้กับเราได้ นอกจากนี้ บ้านยังได้ประโยชน์เป็นที่อาศัย ไม่ต้องไปจ่ายค่าเช่าบ้าน

สิ่งที่ต้องพิจารณาต่อมาคือ เงินที่ผ่อนบ้านรายเดือน ทำให้เรามีปัญหาสภาพคล่องหรือไม่ ถ้าผ่อนแล้วไม่มีปัญหาสภาพคล่อง ไม่ทำให้ต้องอัตคัดขัดสน อันนี้ถือว่าเป็น “หนี้ดี” แต่ถ้าตรงกันข้าม ผ่อนบ้านแล้วถึงขนาดเงินไม่พอใช้จ่าย จนต้องไปกู้หนี้ยืมสินมาเพื่อกินอยู่ในชีวิตประจำวันเพิ่มอีก อย่างนี้ก็ถือเป็น “หนี้ไม่ดี”

หรือการกู้เงินซื้อรถยนต์ หากพิจารณาจากเกณฑ์ความมั่งคั่งการซื้อรถยนต์จัดเป็น “หนี้ไม่ดี” เพราะทันทีที่เราขับรถออกจากโชว์รูม “มูลค่า”หรือราคาของรถยนต์ มีแต่ลดลงหรือเสื่อมลงเรื่อยๆ

แต่หากเราใช้รถยนต์เพื่อเดินทางไปทำงาน แล้วทำให้เราลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางได้ โดยต้องรวมค่าผ่อนรถ+ค่าน้ำมัน+ค่าดูแลรักษาแล้ว ยังจ่ายน้อยกว่าค่าเดินทางที่ต้องจ่ายอยู่เดิม

หรือหากใช้รถยนต์ไปสร้างอาชีพสร้างรายได้ เช่น ใช้บรรทุกสินค้าไปขายหรือรับจ้างส่งของส่งคน ที่สร้างรายได้ให้มากขึ้น เพียงพอกับค่าใช้จ่ายเรื่องรถ และทำให้มีเงินเหลือออมมากขึ้น ถือว่าการเป็นหนี้ผ่อนรถยนต์สามารถสร้างความมั่งคั่งให้เราได้และไม่กระทบกับการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ถือเป็น “หนี้ดี”

แต่บางคนที่ซื้อรถยนต์ เพื่อสร้างความสะดวกสบาย หรูหรา ขับโชว์สาว ทั้งที่ยังไม่มีความพร้อมทางการเงิน ภาระค่าผ่อนรถ–ค่าน้ำมัน ทำให้ชักหน้าไม่ถึงหลัง ต้องหยิบยืมหรือรูดบัตรเครดิต–บัตรเงินสดมาผ่อนรถ อย่างนี้เป็น “หนี้ไม่ดี” แน่ๆ แถมจะทำให้ชีวิตตก “หลุมดำแห่งชีวิตลูกหนี้” เป็นจุดเริ่มต้นที่บั่นทอนสุขภาพการเงินและสุขภาพจิตต่อไปแน่ๆ

ลองสำรวจตัวเองกันดูนะคะ ว่าหนี้ที่อยู่ในวังวนของเราตอนนี้ เป็น “หนี้ดี” หรือ“หนี้ไม่ดี” ทางที่ดีอย่าพยายามสร้างหนี้ที่ไม่จำเป็น แต่หาก “เป็นหนี้” แล้ว ต้องใช้หนี้และพยายามคุมหนี้ทุกประเภท อย่าให้มีภาระจ่ายเกิน 50% ของรายได้ในแต่ละเดือน เพราะเรายังต้องกินต้องใช้ทุกวัน!!

ครั้งหน้าจะเขียนวิธีบริหารจัดการหนี้สิน เพื่อหาหนทางปลดหนี้…ปลดล็อกชีวิตหนี้… โปรดติดตาม!!

ที่มา คอลัมน์ รู้เก็บรู้ออมรู้ใช้รู้ลงทุน..สู่ความมั่งคั่ง โดยคุณนายพารวย หน้าเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ